สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

แฉขบวนการ ส.ค.1 บินได้

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...กองบรรณาธิการโพสต์ทูเดย์/ธนวัฒน์ เพ็ชรล่อเหลียน,ประสิทธิ์ ตั้งประเสริฐ

แม้ว่าปฏิบัติการทวงคืนพื้นที่ป่าสงวนและที่ดิน ส.ป.ก. ที่ถูกบุกรุกจากนายทุนและเจ้าของรีสอร์ทต่างๆ โดยเฉพาะบุกรุกอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ที่ อ.ปากช่อง และ อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา จะมีการดำเนินการอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง

แต่ปรากฏว่าพื้นที่ที่ถูกบุกรุกส่วนใหญ่ เจ้าของที่ดินจะอ้างว่ามีเอกสารสิทธิการครอบครองที่ดินอย่างถูกต้องตามกฎหมายจากกรมที่ดิน ทำให้เจ้าหน้าที่ไม่สามารถยึดคืนที่ดินกลับคืนมาได้ แม้จะทราบในพิกัดแผนที่ว่าที่ดินผืนดังกล่าวอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติหรือเขต ส.ป.ก.ก็ตาม ทำให้ต้องมีการพิสูจน์ว่าเอกสารสิทธิที่ดินเหล่านั้นออกมาโดยชอบหรือไม่

สรรเสริญ อัจจุตมานัส เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ระบุว่า ก่อนที่ไทยจะเริ่มใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 ประเทศไทยได้มีการออกโฉนดที่ดิน โดยกระทรวงเกษตราธิการ ภายใต้ พ.ร.บ.การออกโฉนดที่ดิน รัตนโกสินทรศก 127 (พ.ศ. 2451) และมีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายเรื่อยมาจนถึง พ.ร.บ.การออกโฉนดที่ดิน (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2486

โดยกฎหมายฉบับนี้มีหลักการที่สำคัญ คือ ใครที่ครอบครอง ใครที่ทำกิน และใครที่เสียค่าอากรให้นายอากรในช่วงระยะเวลาหนึ่งๆ สามารถขอเอกสารสิทธิในการครอบครองที่ดินได้ 

ต่อมาไทยยกเลิก พ.ร.บ.การออกโฉนดที่ดิน และเปลี่ยนมาใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 รัฐบาลประกาศให้ประชาชนที่ถือครองที่ดินทำกินต่างๆ มาแจ้งการถือครองที่ดิน จากนั้นกรมที่ดินจะออกหลักฐานการแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) ให้ชาวบ้าน โดยเอกสาร ส.ค.1 จะระบุความกว้าง ยาว และทิศต่างๆ ว่าติดกับพื้นที่ใดบ้าง เป็นต้น เมื่อชาวบ้านได้ ส.ค.1 ส่วนใหญ่จะนำไปออกเอกสารสิทธิที่ดิน เช่น น.ส.3 และโฉนดที่ดินต่อไป

สรรเสริญ กล่าวต่อว่า จนกระทั่งประเทศไทยมีการออก พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 และประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติต่างๆ ซึ่งในบางพื้นที่มีการประกาศเขตป่าสงวนทับที่ดินของชาวบ้าน ซึ่งทำให้ชาวบ้านได้รับผลกระทบ และพบว่ามีชาวบ้านได้รับผลกระทบไม่มากนัก ทางการจึงเปิดทางให้ชาวบ้านนำหลักฐาน ส.ค.1 มาแสดงว่าครอบครองที่ดินมาตั้งแต่ก่อนปี 2497 ก็ให้ทำกินต่อไปได้

ยกเว้นพื้นที่ที่เป็นป่าสงวนในเขตต้นน้ำ รัฐบาลจะให้ย้ายออกจากพื้นที่ทันที โดยจัดหาที่ดินและเงินชดเชยให้ แต่หากเป็นเขตป่าสงวนทั่วไป หากรัฐบาลมีเงื่อนไขให้ออกจากพื้นที่แลกกับการชดเชยต่างๆ ก็จะขึ้นอยู่กับความสมัครใจของชาวบ้านว่าจะยอมรับเงื่อนไขหรือไม่

พร้อมกันนั้น รัฐบาลได้ผ่อนผันให้ชาวบ้านที่ถือครองที่ดินมาก่อนปี 2497 แต่ไม่ได้แจ้งขอออกเอกสาร ส.ค.1 สามารถมาแจ้งสิทธิครอบครองที่ดินเพิ่มเติมได้ โดยมีการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 58 ทวิ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ให้เจ้าหน้าที่ออกสำรวจรังวัดที่ดิน หากสอบสวนและพิสูจน์ได้ว่ามีการทำประโยชน์ในที่ดิน ก็ให้เจ้าหน้าที่สามารถออกโฉนดหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.2) แล้วแต่กรณี และห้ามโอนให้ผู้อื่นเป็นเวลา 5-10 ปี หรือเรียกกันว่า “การจัดที่ดินหัวไร่ปลายนา”

“ประเด็นที่ทำให้เกิดปัญหาตอนนี้ คือ มีการแอบอ้างว่ามีเอกสารสิทธิ ส.ค.1 กับใบจอง (น.ส.2) ที่ได้มาจากการถือครองที่ดินมาตั้งแต่ก่อนปี 2497 ซึ่งถือเป็นช่องโหว่ที่สำคัญมาก หรือแม้แต่ที่ดินที่ได้จัดสรรเป็นนิคมสร้างตนเอง (น.ค.) ก็มีการนำไปออกเป็นโฉนดและนำออกมาซื้อขายกันได้ เช่น กรณีที่ดินคีรีมายา รีสอร์ท ที่ซื้อที่ดิน น.ค.ที่ออกมาเมื่อปี 2535 แต่ที่ดิน น.ค.ดังกล่าวมันบวมมาทับที่ดินที่ประกาศเป็นเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมในปี 2534 กว่า 600 ไร่” เลขาธิการ ส.ป.ก. กล่าว 

ขณะที่กระบวนการนำที่ดินในเขตป่าสงวนหรือที่ดินที่ประกาศให้เป็นเขต ส.ป.ก.มาออกเป็น ส.ค.1 หรือและ น.ส.3 หรือการนำ ส.ค.1 มาสวมทับที่ป่าสงวนและ ส.ป.ก.จะต้องเป็นคนที่รู้เรื่องที่ดินในบริเวณนั้นเป็นอย่างดี เช่น ผู้ปกครองในท้องที่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และข้าราชการที่อยู่มานาน เพราะรู้ที่มาที่ไปของที่ดิน จากนั้นก็เข้าสู่กระบวนการนำที่ดินไปออกเอกสารสิทธิกับเจ้าหน้าที่กรมที่ดิน

เช่น การนำ ส.ค.1 ในท้องที่เดียวกันหรือท้องที่อื่นๆ หรือ ส.ค.1 ที่มีการออกเป็นโฉนดแล้ว และ ส.ค.1 ที่ไม่ได้ออกเป็นโฉนด จะมีกระบวนการนำ ส.ค.1 มาสวมทับที่ดินป่าสงวนและที่ดิน ส.ป.ก.ได้ เนื่องจากในใบ ส.ค.1 บางใบไม่มีการทำลายต้นขั้ว เมื่อมีการออกเป็นโฉนดไป ขณะที่ ส.ค.1 ที่ว่านี้ก็ไม่ได้มีการระบุพิกัดแผนที่โดยละเอียด มีเพียงข้อมูลที่แสดงอาณาเขตคร่าวๆ เท่านั้น จึงเปิดช่องให้มีการนำไปแสวงหาประโยชน์ได้จากความไม่ชัดเจนในพิกัดแผนที่ 

“ส.ค.1 มันบินไปได้ทั่ว หากเราไม่โละทิ้ง มันก็จะบินไปเรื่อยๆ และปัจจุบันนี้ก็คาดว่ายังมี ส.ค.1 ที่ยังรอออกเป็นโฉนดจำนวนมาก หากไม่เร่งเคลียร์ตรงนี้ ในอนาคตก็คาดว่าจะมี ส.ค.1 บินไปครอบพื้นที่อื่นๆ ได้อีก ขณะนี้จึงเป็นโอกาสที่ คสช.จะเคลียร์ตรงนี้” สรรเสริญ กล่าว

ด้านแหล่งข่าวระดับสูงของกรมป่าไม้ระบุว่า กระบวนการบุกรุกที่ป่าสงวนแห่งชาติส่วนหนึ่งมาจากการที่กรมที่ดินเปิดโอกาสให้ชาวบ้านที่บุกรุกแผ้วถางป่านั้น หากมีเอกสารสิทธิที่เรียกว่าใบ ภ.บ.ท.5 หรือเอกสารที่แสดงว่าได้เสียภาษีบำรุงท้องที่ตาม พ.ร.บ.ภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ. 2508 และแม้ว่าการถือครองใบ ภ.บ.ท.5 จะไม่สามารถนำมาใช้เป็นหลักฐานในการออกเอกสารสิทธิที่ดินได้ แต่เปิดช่องให้มีการใช้ “ดุลพินิจ” ในการนำ ภ.บ.ท.5 มาเป็นใบเบิกทางเพื่อออกเอกสารสิทธิที่ดิน

“ใบ ภ.บ.ท.5 จะปรากฏเฉพาะชื่อผู้ที่เสียภาษีบำรุงท้องที่เท่านั้น ไม่ได้แสดงหลักฐานการครอบครอง ไม่สามารถออกเป็นโฉนดได้ แต่เจ้าหน้าที่รัฐได้อะลุ้มอล่วยให้ผู้ที่แสดงหลักฐานนี้มาเป็นหลักฐานในการครอบครองและใช้ประโยชน์ที่ดินมาก่อนหน้าที่จะประกาศเขตป่าสงวน ซึ่งเปรียบเสมือนกับการทำให้ ภ.บ.ท.5 กลายเป็นใบเบิกทางให้มีการเดินเรื่องไปจนกระทั่งสามารถออกเป็นเอกสารสิทธิที่ดินได้ในเวลาต่อมา โดยเฉพาะในเวลาต่อมามีการซื้อขาย ภ.บ.ท.5 ให้กับนายทุนก่อนนำไปเป็นหลักฐานในการออกเอกสารสิทธิที่ดิน” แหล่งข่าวเปิดเผย

แหล่งข่าวยังระบุว่า กระบวนการออกสำรวจและเดินรังวัดที่ดินทั่วประเทศของเจ้าหน้าที่กรมที่ดิน ตามระเบียบคณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2532) เปิดช่องให้มีการนำเอกสาร ส.ค.1 ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็น ส.ค.1 ที่นายทุนและนักการเมืองบางคนซื้อมาจากชาวบ้าน เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการสวมในที่ดินแปลงสวยๆ และออกเป็นเอกสารสิทธิที่ดินต่อไป และมีบางกรณีที่ ส.ค.1 ที่ได้มานั้น ไม่สามารถพิสูจน์หรือมีหลักฐานว่าได้มาอย่างไร

“เคยมีการสำรวจพบว่ามีการเข้าครอบครองที่ดินในเขตป่าสงวน 1.7 แสนแปลง โดยอาศัยช่องโหว่ต่างๆ โดยเฉพาะที่ดินบนเกาะ ซึ่งจะมีกระบวนการที่สามารถทำให้ออกโฉนดทับพื้นที่ป่าได้ แต่ทั้งหมดนี้จะต้องมีข้าราชการร่วมมือ และหากสืบย้อนไปจริงๆ ก็พบที่มาที่ไป เช่น ที่ดินเขาใหญ่ หากกางแผนที่ของกรมแผนที่ทหาร ก็จะพบหลักฐานที่สืบย้อนไปได้ว่านายทุนและผู้มีอิทธิพลคนใดบุกรุกป่าบ้าง” แหล่งข่าวระบุ

ตะวัน ศรีกานิล เครือข่ายผู้รักษ์เขาใหญ่ ระบุว่า การบุกรุกพื้นที่ป่าเขาใหญ่นั้น ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นนอกเขตอุทยาน เช่น พื้นที่ส่วนที่เป็นภูเขา ซึ่งไม่น่าจะออกโฉนดได้ แต่กลับพบว่ารีสอร์ทบางแห่งตั้งอยู่บนภูเขาและสามารถดำเนินการจนกระทั่งมีการออกโฉนดรับรองการครอบครองที่ดินได้ แต่ชาวบ้านที่มีบ้านรั้วติดกันกลับไม่มีหลักฐานที่นำไปออกโฉนดได้

“พื้นที่ อ.วังน้ำเขียว น่าจะมีบ้านพักและรีสอร์ทที่บุกรุกเขตป่าสงวนแห่งชาติมากกว่า 20 แห่ง เช่นที่ ต.ระเริง อ.วังน้ำเขียว ถนนวังน้ำเขียว-เขาแผงม้า-ปากช่อง มีกลุ่มนายทุน นักธุรกิจ นักการเมือง เข้าไปจับจองพื้นที่กันจำนวนมาก และแทบจะทุกรายผิดกฎหมาย โดยเฉพาะหลังเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปลายปี 2554 ทำให้คนที่มีกำลังซื้อจำนวนไม่น้อยเริ่มซื้อที่ดินหรือบ้านหลังที่สองรอบพื้นที่เขาใหญ่ ส่งผลให้อสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่ดังกล่าวราคาเพิ่มสูงขึ้น และเป็นแรงจูงใจให้มีการบุกรุกที่ดินรอบอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่มากขึ้น” ตะวัน กล่าว

ไล่จับอย่างเดียวแก้ปัญหาไม่จบ

ในมุมมองภาคประชาชนซึ่งต่อสู้เรื่องที่ดินทำกินคนยากคนจนมาตลอดชีวิตอย่าง ประยงค์ ดอกลำใย ที่ปรึกษาขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) วิพากษ์ว่า ปัญหาเรื่องการบุกรุกที่ดินหรือผืนป่าเป็นเพียงปลายเหตุที่เรื้อรังมาอย่างยาวนาน ซึ่งไม่อาจแก้ไขให้หมดไปได้ หากยังไม่พิจารณาที่ต้นเหตุที่แท้จริง

“ยังไม่สายที่จะจำแนกให้ชัดระหว่างท้องถิ่นดั้งเดิมกับผู้บุกรุกใหม่ นั่นเพราะรากฐานของปัญหาอยู่ที่การกระจุกตัวของการถือครองที่ดิน” ประยงค์ กล่าว และอธิบายเพิ่มเติมว่า 2 ประเด็นที่ทำให้ปัญหาเรื้อรังมานานคือ ประเทศไทยไม่กำหนดเพดานถือครองที่ดิน และไม่เคยบังคับใช้มาตรการทางภาษี

“การมองปัญหาบุกรุกที่ดินรัฐเป็นแค่ปลายเหตุ ต้นเหตุก็คือชาวบ้านทั่วไปไม่สามารถเข้าถึงที่ดินที่มีเอกสิทธิ์ได้” นักพัฒนารายนี้สรุปประเด็น

ประยงค์ กล่าวต่อไปว่า คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 66/2557 สะท้อนว่า คสช.ก็ยอมรับว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาที่สลับซับซ้อน โดยคำสั่งระบุชัดว่าต้องดำเนินการโดยไม่ให้กระทบต่อผู้ยากไร้ ผู้ไม่มีที่ดินทำกิน และผู้ที่อาศัยอยู่ก่อนมีประกาศ

อย่างไรก็ดี ส่วนตัวเชื่อว่าการทวงคืนผืนป่าและที่ดินร่วม 26 ล้านไร่ ตามที่ คสช.วางเป้าหมายไว้คงไม่มีทางสำเร็จได้ หากยังใช้ยุทธศาสตร์เดิมคือใช้อำนาจรัฐและใช้เจ้าหน้าที่ดำเนินการเพียงอย่างเดียว

“มันจำเป็นที่ต้องให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการรักษาและบริหารพื้นที่เหล่านั้น เช่น การให้กรรมสิทธิ์รวมแก่ชุมชน แล้วกำหนดให้ชัดว่าต้องห้ามขายหรือเปลี่ยนมือ และต้องห้ามบุกรุกเพิ่มจากพื้นที่ที่ได้รับไป” ประยงค์ เสนอแนวทางแก้ปัญหา

ประยงค์ เสนออีกว่า มีการพูดถึงปี 2545 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยมีภาพถ่ายทางอากาศทั่วประเทศ โดยขณะนั้นมีพื้นที่ป่าประมาณ 88 ล้านไร่ แต่จากปี 2545 เป็นต้นมา พบว่าการบุกรุกรุนแรงขึ้นมาก ดังนั้นหากใช้ภาพถ่ายปี 2545 เป็นเกณฑ์ ก็จะช่วยให้ได้ป่าและที่ดินคืนมาเท่าเดิม

“ที่ไหนมีสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำหลังปี 2545 ก็ให้รื้อทำลายให้หมด แต่หากมีก่อนปี 2545 ก็มาพิจารณาดูว่าเป็นของชาวบ้านผู้ใช้ประโยชน์ทำกินจริง หรือเป็นคนนอกที่เข้าทำกิน หรือเป็นคนนอกที่เข้าไปแสวงหาผลประโยชน์อื่นๆ” นักพัฒนารายนี้กล่าว

ที่ปรึกษาพีมูฟให้คำอธิบายอีกว่า ถ้าเป็นคนนอกเข้ามาทำกินอาจใช้วิธีให้เช่าพื้นที่ แต่ถ้าเป็นกลุ่มหลังสุดก็ควรใช้มาตรการทางกฎหมาย และอาจถึงขั้นต้องเอาผิดย้อนหลังกับเจ้าหน้าที่รัฐที่ปล่อยปละละเลยให้มีการบุกรุกด้วย ขณะเดียวกันต้องดำเนินคดีให้ทรัพย์สินตกเป็นของรัฐ และจากนั้นให้รัฐมาบริหารจัดการ โดยให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมฟื้นฟูในลักษณะป่าชุมชน

“ดีกว่ามาไล่จับกันแบบนี้ เพราะชาวบ้านจำนวนมากได้รับความเดือดร้อนด้วย ชาวบ้านก็จะกลายเป็นศัตรูไปด้วย ดังนั้นรัฐบาลต้องกำหนดยุทธศาสตร์กันใหม่” ประยงค์ กล่าว และย้ำว่า คสช.จำเป็นต้องทบทวนแผนแม่บทที่ประกาศออกมาใหม่

"โบนันซ่าโมเดล" ทวงคืนป่าทั่วประเทศ

พ.อ.สมหมาย บุษบา คณะทำงานด้านกฎหมายกองทัพภาคที่ 2 กล่าวว่า จะใช้ “โบนันซ่าโมเดล” ปฏิบัติการทวงคืนผืนป่าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่และทั่วประเทศที่กลุ่มนายทุนบุกรุกครอบครองเพื่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ ทั้งรีสอร์ทและโรงแรมเกิดขึ้นจำนวนมาก หลังยึดคืนที่ดินบริษัท โบนันซ่า อินเตอร์เนชั่นแนล สปีดเวย์ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา จำนวน 166 ไร่ หลังจากนั้นก็จะดำเนินการตรวจสอบ คีรีมายา รีสอร์ท อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ที่มีพื้นที่ประมาณ 1,400 ไร่

ทั้งนี้ พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่คาบเกี่ยวทั้งสิ้น 2 ส่วน ประกอบด้วย พื้นที่ของนิคมสร้างตนเองลำตะคอง และพื้นที่ของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ซึ่งก็จะต้องมาตรวจสอบอีกครั้งว่าพื้นที่ที่อยู่ในเขตนิคมเป็นใครที่ออกโฉนด ซึ่งพื้นที่ในที่ของนิคมนั้นสามารถที่จะออกโฉนดได้ แต่จะต้องออกให้ไปเพื่อเป็นการทำเกษตรกรรมในการยังชีพเพียงเท่านั้น แต่หากมีการใช้ที่ดินที่ผิดวัตถุประสงค์ ก็จะต้องตรวจสอบว่าใช้ผิดวัตถุประสงค์นั้นได้อย่างไร เช่นเดียวกันกับที่ดินของ ส.ป.ก.ด้วย

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการในรายปัจจุบันนั้นอาจจะได้มาจากการซื้อขายเปลี่ยนมือก็ถือว่าสุจริต แต่เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงก็จะต้องมีการตรวจสอบว่ามีการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่เมื่อไร และเอกสารสิทธิที่ได้มานั้นได้มาโดยชอบหรือไม่ ซึ่งขั้นตอนการตรวจสอบนั้นก็สามารถที่จะตรวจสอบได้ง่าย เนื่องจากมีสารบบในการตรวจสอบอยู่แล้ว อีกทั้งมาลงพื้นที่จริงก็จะยิ่งทราบได้ว่าอยู่ในพื้นที่ของนิคม หรือพื้นที่ ส.ป.ก.

นอกจากนี้ รวมทั้งจะเร่งตรวจสอบการออกเอกสารสิทธิในพื้นที่โครงการมูนแดนซ์ อ.ปากช่อง จำนวน 175 แปลง เนื้อที่รวม 284 ไร่ ได้ออกเอกสารสิทธิในลักษณะ 2 รูปแบบ ประกอบด้วย เอกสารสิทธิ ส.ค.1 (ใบแจ้งการครอบครองที่ดิน) เป็นเอกสารการครอบครองก่อนที่จะมีการประกาศเป็นพื้นที่ป่าสงวน 2505 และการออกเอกสารสิทธิ น.ส.3 ก. (หนังสือรับรองการทำประโยชน์) ในปี 2519 ด้วยวิธีเดินสำรวจ

หลังจากนั้นก็นำเอกสาร น.ส.3 ก. ทั้งหมดมาขึ้นโฉนด ดังนั้นต้องมาตรวจสอบตาม พ.ร.บ.ที่ดิน เพื่อดูว่าการออกโฉนดนั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ แต่อย่างไรก็ตามหลักความเป็นจริงตั้งแต่ที่ได้มีการออกเอกสารสิทธิ ส.ค.1 ในช่วงก่อนจะมีการประกาศเป็นพื้นที่ป่าสงวนนั้น จะมีผู้ที่ครอบครองพื้นที่มากสุดไม่เกิน 40-50 ไร่ เนื่องจากในสมัยก่อนนั้นการจับจองแผ้วถางพื้นที่ยังไม่มีเครื่องจักรที่จะเป็นเครื่องทุ่นแรง เพราะจะใช้แรงงานคนที่เป็นการแผ้วถาง หรือบางพื้นที่จะมีได้ก็แค่เพียงเอกสาร ส.ป.ก. 4-01 ของทางปฏิรูปที่ดินที่เป็นเอกสารเหมือนโฉนดที่ดินที่ออกให้เกษตรกรได้มีพื้นที่ในการทำกินเท่านั้น

“ดังนั้น กรมที่ดินจะต้องเป็นแม่งานหลักในการตรวจสอบว่าที่ดินทั้งแปลงได้มาจากไหน ก่อนที่เจ้าของโครงการจัดสรรจะนำมารวมเป็นโฉนดที่ดินขายให้กับลูกค้า แต่ที่ดินที่ครอบครองอยู่นั้นมีที่มาอย่างถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ ต้องมาตรวจสอบกันอย่างละเอียดอีกครั้ง” พ.อ.สมหมาย กล่าว

อย่างไรก็ตาม ขอยืนยันว่ากองทัพภาคที่ 2 นั้นไม่ใช่แม่งานหลักในการดำเนินการตรวจสอบ เป็นเพียงหน่วยงานที่จะสนับสนุนและอำนวยความสะดวกแก่หน่วยงานหลักที่เป็นเจ้าภาพร้องขอเข้ามา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการให้ข้อเท็จจริง ทางกองทัพก็จะหาข้อเท็จจริงมาให้ หรือแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศ โดยทางคณะทำงานด้านกฎหมายกองทัพภาคที่ 2 ยืนยันว่าการดำเนินการตรวจสอบทุกครั้งไม่ได้มีการเลือกปฏิบัติอย่างแน่นอน

สำหรับพื้นที่ที่เจ้าหน้าที่สามารถปฏิบัติการทวงคืนผืนป่ากลับมาได้ในปัจจุบัน ล่าสุดในพื้นที่ จ.นครราชสีมา ที่อยู่ใกล้กับที่ตั้งของกองทัพภาคที่ 2 คณะทำงานทวงคืนผืนป่าสามารถดำเนินการทวงคืนได้แล้วจำนวนมากกว่า 9 หมื่นไร่ ขณะที่จังหวัดต่างๆ ในพื้นที่กองทัพภาคที่ 2 อย่างเช่นที่อุบลราชธานี เลย ศรีสะเกษ อุดรธานี ยโสธร และร้อยเอ็ด รวมยึดพื้นที่ป่ากลับคืนได้แล้วกว่า 1 แสนไร่

อย่างไรก็ตาม หากเทียบกับป่าที่ยังไม่สามารถทวงคืนกลับมาได้นั้น ยังมีอีกเป็นอีกจำนวนมาก ซึ่งหากเป็นทำเลเลี้ยงสัตว์ที่ได้มีการขึ้นทะเบียนไว้ตามจังหวัดต่างๆ มีอยู่ประมาณ 10 ล้านไร่ แต่กระจายอยู่ทั่วทุกภาค แต่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะมีปริมาณมากที่สุด ดังนั้นทุกหน่วยงานจะต้องช่วยกันรับเป็นภาระหน้าที่ในการติดตามผืนป่ากลับคืนมา


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : แฉขบวนการ ส.ค.1 บินได้

view