สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

คิดก่อน ถ่าย-แชร์ ก่อนเป็น มนุษย์กล้อง นักละเมิดสิทธิ

จากประชาชาติธุรกิจ

ที่มา นสพ.มติชนรายวัน โดย อรพรรณ จันทรวงศ์ไพศาล



ทศวรรษแห่งการบันทึกภาพความประทับใจรอบตัวอย่างง่ายดาย แค่มีโทรศัพท์มือถือเพียงเครื่องเดียว ก็สามารถ "ถ่าย" แล้ว "แชร์" เรียกความใจเเละเป็นกระเเสสังคมอย่างรวดเร็ว

ยุคสมัยนี้จึงเกิดมนุษย์สายพันธุ์ใหม่ที่ถูกชาวโซเชียลขนานนามว่า "มนุษย์กล้อง"

ผลงานของมนุษย์กล้องหลายครั้งเป็นการสะท้อนปัญหาและนำไปสู่การแก้ไข แต่ก็มีอีกหลายกรณีที่มาจากการบิดเบือนเพื่อเรียกร้องความสนใจจากโลกออนไลน์ หรืออาจเกิดจากความรู้ไม่จริง ทำให้บุคคลในภาพเกิดความเสียหาย

นำไปสู่การตั้งคำถามถึงความเหมาะสมและสิทธิส่วนบุคคล โดยเฉพาะบุคลลในภาพที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ หรือ "ถูกประจาน" เพราะภาพถ่ายและภาพเคลื่อนหลายครั้งไม่ได้มาจากความเต็มใจของบุคคลที่อยู่ในภาพ

เปิดเว็บไซต์พันทิป (pantip.com) ผู้ให้บริการเว็บบอร์ดชื่อดัง พบกระทู้ "ถึงมนุษย์กล้องที่ชอบไปถ่ายรูปตามร้านอาหาร ผมขอให้คิดเยอะๆ หน่อยได้ไหมครับ" โดยสมาชิกหมายเลข 1853853 เป็นอีกกรณีหนึ่งที่สะท้อนปัญหานี้ได้อย่างชัดเจน

เนื้อหาของกระทู้พูดถึงเหตุการณ์การไปรับประทานอาหารแล้วมีคนยกกล้องขึ้นมาในมุมที่เขายืนอยู่

"ผมอยากเดินไปบอกแล้วขอกดดูภาพว่าติดผมไปด้วยไหม แต่ด้วยความที่ว่าผมเป็นมนุษย์ธรรมดา ไม่ได้เป็นคนใหญ่คนโตผมคงไม่กล้าทำ แต่บางครั้งการเล็งกล้องไปยังกลุ่มคนที่คุณไม่รู้จักในร้านอาหารของมนุษย์กล้อง พวกคุณรู้ไหมว่ามันเป็นมารยาทที่เลวมาก"

น่าสนใจว่าความคิดเห็นที่แสดงตอบกลับมา แม้ส่วนใหญ่จะเห็นด้วยกับกระทู้นี้และโยงไปถึงการถ่ายรูปคนอื่นในสถานที่อื่นต้องมีมารยาทและเคารพสิทธิส่วนบุคคลของคนอื่นก็ตาม แต่ก็มีคนจำนวนไม่น้อยที่มองเป็นเรื่องปกติธรรมดาของยุคสมัย ใครก็ถ่ายภาพได้ง่ายๆ ไม่เหมือนสมัยก่อน ฉะนั้นคนถูกถ่ายจึงต้องทำใจ หากทนไม่ได้ก็ต้องเดินไปบอกมนุษย์กล้องเอาเอง

อีกตัวอย่างที่น่าสนใจ กรณีของคู่รักชาย-ชายที่นั่งกุมมือกันบนรถไฟฟ้า คนหนึ่งเป็นชายไทยผมสีบลอนด์ทอง ส่วนอีกคนเป็นหนุ่มต่างชาติหน้าตาดีร่างสูงใหญ่

หลังรูปเผยแพร่ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์หนาหู บ้างชื่นชม บ้างอิจฉา กลายเป็นกระแสโด่งดังในโลกออนไลน์พักใหญ่ ไม่นานจากนั้น ม่อน-นพรุจ เคนดิ หนุ่มไทย วัย 29 ปี และ ฮอสตัน เคนดิ หนุ่มเยอรมัน วัย 27 ปี คู่รักในภาพ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Naparuj Mond Kaendi ถึงผู้ที่เป็นต้นตอของภาพแอบถ่ายบนรถไฟฟ้าดังกล่าว ออกมาแสดงความขอโทษ เพราะเป็นต้นเหตุที่ทำให้ชีวิตวุ่นวาย


"จริงๆ ตอนนี้อยากให้คนที่ยืนถ่ายรูปอยู่ตรงประตูรถไฟฟ้าตอนนั้นออกมา...′ขอโทษ′ มันเริ่มไปไกลมาก...ไปมากแล้ว คุณอาจจะกำลังดีใจว่ารูปภาพที่คุณละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวของคนอื่นได้ถูกเผยแพร่มากมาย คุณอาจจะคิดว่า ดีซะอีก ฉันทำให้อินี่ดัง′ ...อินี่ไม่ดังค่ะ อินี่ทุกข์ใจ แฟนอินี่ก็ทุกข์ใจ ครอบครัวทั้ง 2 ฝ่ายก็ทุกข์ใจ อยากบอกแค่นี้"




ฉลองรัฐ เฌอมาลย์ชลมารค - เสน่ห์ จามริก - พล.ต.ต.พิสิษฐ์ เปาอินทร์ (จากซ้ายไปขวา)


ดร.ฉลองรัฐ เฌอมาลย์ชลมารค รองคณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต วิเคราะห์สาเหตุของพฤติกรรมนี้ว่ามาจากการมีอุปกรณ์อยู่ใกล้มือ และมีวิธีการเผยแพร่ออกไปง่าย ทำให้เกิดการถ่ายและแชร์ที่แพร่หลายขึ้น ส่วนคนที่เผยแพร่หรือได้ภาพมาจะมีความรู้สึกดีใจที่ได้ภาพที่คนอื่นไม่มี แล้วเมื่อมีคนส่งต่อทำให้ได้รับการยอมรับหรือมีคนมาเห็นชอบ

"คนที่สนใจเพราะรู้สึกว่าการเสพเรื่องพวกนี้ทำให้เขามีอำนาจ ได้รู้ความลับ ได้ตัดสินคน และบางครั้งก็กลายเป็นธุรกิจด้วย สังเกตจากภาพยนต์บางเรื่อง มีการสร้างเนื้อหาเกี่ยวกับใช้กล้องถ่ายรูป หรือมีลักษณะการถ่ายแบบแอบถ่าย แอบดู เพราะทำให้ผู้ชมรู้สึกเหมือนอยู่ในสถานการณ์จริง กลายเป็นธุรกิจต่อเนื่อง"

"ต้องระวังเรื่องสิทธิส่วนบุคคล ไม่ใช่มีกล้องในมือแล้วจะถ่ายรูปใครก็ได้"

ดร.ฉลองรัฐเน้นย้ำและอธิบายต่อว่า ตามหลักนิเทศศาสตร์ การที่จะถ่ายรูปใครก็ต้องขออนุญาตก่อน และการที่จะเผยแพร่จะต้องพิจารณาว่าภาพนั้นสร้างผลกระทบให้เขาเสียหายหรือไม่ ส่วนคนที่ถูกละเมิดสิทธิในเชิงกฎหมายการแอบถ่ายโดยเจ้าตัวไม่อนุญาตยังไงก็เป็นความผิด โดยเฉพาะเมื่อเราจะนำไปเผยแพร่ เพราะถ้าเป็นรูปที่เขาดูไม่ดีแล้วนำไปเผยแพร่ไม่ถูกต้องในเชิงจริยธรรมและเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ทำให้เขาเสื่อมเสียชื่อเสียง จะมีความผิดตามกฎหมาย สามารถเอาผิดฟ้องร้องได้ว่าเป็นการสบประมาท ทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง เสื่อมเกียรติ ทำให้ไม่สบายใจ ทำมาหากินไม่ได้

"ทุกวันนี้เรามีกฎหมายเยอะแยะ แต่ยังมีเหตุการณ์แบบนี้ซ้ำไปซ้ำมา ซึ่งหลายครั้งคนที่สร้างผลกระทบก็ไม่ได้รู้เรื่องกฎหมายด้วยซ้ำ เพราะการที่อุปกรณ์และเทคโนโลยีมันอยู่ใกล้ตัวทำให้รู้สึกว่าทำแบบนี้มันง่าย แต่พอง่ายเลยไม่ได้ไตร่ตรองว่าสร้างผลกระทบไหม ว่าถูกต้องไหม ทั้งที่เรื่องของการแอบถ่ายมีผลกระทบมาก นอกจากจะละเมิดสิทธิส่วนบุคคลแล้ว คนที่ถูกแอบถ่ายแล้วถูกนำมาเผยแพร่ เขาอาจจะเสียใจ อับอาย ประกอบอาชีพไม่ได้ หรืออาจจะคิดสั้นฆ่าตัวตายได้" ดร.ฉลองรัฐกล่าว

ขณะที่ เสน่ห์ จามริก ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ บอกว่า กรณีการถ่ายภาพบุคคลทั่วไปแล้วจะละเมิดสิทธิส่วนบุคคลหรือไม่ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ เช่น ช่างภาพอาชีพถ่ายภาพข่าวเหตุการณ์ทั่วไป หรือบางสถานการณ์ไม่จำเป็นจะต้องขออนุญาต แต่กรณีการที่อยู่ๆ จะถ่ายรูปคนอื่นแล้วนำไปแชร์ต่อ ถือเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล แต่จะรุนแรงแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ เช่น มีการนำไปใช้ประโยชน์ต่อ

"ตั้งแต่มีเทคโนโลยีต่างๆ ก็มีเรื่องการละเมิดสิทธิเยอะแยะไปหมด โดยที่กฎหมายก็ยังทำอะไรไม่ได้ การจะจัดการแก้ปัญหานี้จึงเป็นเรื่องยากและคงไม่สามารถออกกฎหมายติดตามได้ทั้งหมด เพราะกฎหมายตามพฤติกรรมทางสังคมของคนไม่ทัน ฉะนั้นเรื่องนี้อยู่ที่การสร้างจิตสำนึก ปลูกฝังให้คนเคารพสิทธิ เผยแพร่ความรู้พูดคุยผ่านสื่อ เพื่อให้คนที่จะถูกละเมิดรับรู้เอาไว้ เป็นเรื่องที่ต้องเพิ่มคุณค่าทางสังคมมากกว่า กฎหมายคงทำอะไรมากไม่ได้" เสน่ห์ทิ้งท้าย

ถ่ายสนุก คอมเมนต์เอามันส์ ระวังโดนจับ-ปรับไม่รู้ตัว

ฟังคำเตือนจาก พล.ต.ต.พิสิษฐ์ เปาอินทร์ อดีตผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ ปอท. ระบุว่า การถ่ายภาพบุคคลโดยที่เจ้าของไม่อนุญาต ถือเป็นการกระทำที่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ถ้านำภาพไปเผยแพร่ทำให้บุคคลในภาพเกิดความเสียหายจะมีความผิดทางอาญา และหากเป็นภาพลักษณะลามกก็จะมีความผิดเพิ่มขึ้นอีก

"นอกจากนี้ยังมีกรณีเผยแพร่ประเภทคลิปความรุนแรง คือมีการทะเลาะ หรือแสดงอาการเหวี่ยงวีนในสื่อใดก็ตาม หากทำให้บุคคลในคลิปนั้นๆ เกิดความเสียหาย เจ้าตัวก็สามารถฟ้องร้องดำเนินคดีกับบุคคลที่ถ่ายคลิปได้เช่นกัน ในข้อหาละเมิดสิทธิส่วนบุคคลทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง ซึ่งหากมีการแจ้งความดำเนินคดี จะต้องดูที่มาของภาพและข้อความว่าผิดข้อไหนบ้าง จากมีการเผยแพร่ในสื่อออนไลน์จะมีความผิดเพิ่มเติมตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ด้วย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท"

แม้จะมีการลงโทษจริงแต่ก็มีคนทำผิดให้เห็นอยู่แทบทุกวัน

"ผมมองว่า เนื่องจากมีมือถืออยู่กับตัว เวลาจะทำอะไรเลยไม่ค่อยยั้งคิดกัน ดังนั้นก่อนจะทำอะไรต้องคิดให้ดีก่อนว่าสิ่งที่ทำทำให้คนอื่นเสียหายหรือเปล่า ผิดกฎหมายหรือไม่ จากการทำงานตรงนี้มา ผมเห็นหลายครั้งเวลาถูกจับมักจะบอกว่ารู้เท่าไม่ถึงการณ์บ้างอะไรบ้าง ซึ่งมันไม่ใช่ คุณโตกันแล้ว คำนี้ใช้แก้ตัวไม่ได้ ที่ผ่านมามีคนที่ทำผิดกฎหมายตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์เยอะมาก ส่วนหนึ่งมาจากคนไทยกลุ่มนี้ไม่ค่อยมีความรับผิดชอบ แนวโน้มการกระทำความผิดจะเพิ่มขึ้นแน่นอน ตราบใดที่ยังไม่มีการสร้างจิตสำนึก"

"กระทำด้วยความอยากดัง อยากเป็นข่าว โดยไม่คำนึงถึงสิ่งที่จะตามมา บางกรณีก็เป็นเหมือนแฟชั่น มีคลิปนั้น คลิปนี้ออกมา คนก็เอาอย่างกัน" พล.ต.ต.พิสิษฐ์บอกเล่าจากประสบการณ์จริง

เมื่อถามว่ากฎหมายสามารถจัดการปัญหานี้ได้หรือไม่?

พล.ต.ต.พิสิษฐ์ตอบทันทีว่า "กฎหมายอย่างเดียวไม่พอ" ต้องสร้างจิตสำนึกทางสังคมควบคู่ไปด้วย ส่วน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ที่ใช้ในปัจจุบัน ยังต้องแก้ไขอีกเยอะ เพราะฉบับนี้ใช้มาตั้งแต่ปี 2550 ร่วม 10 ปีแล้ว



"สังคมรอบข้างก็เปลี่ยนแปลงแล้ว เทคโนโลยีก็รุดหน้าไปเยอะ ต้องมีการแก้ไขปรับปรุงให้ทันสมัย หากไม่มีการแก้ไขตั้งแต่ต้น วันข้างหน้าเราจะลำบาก"


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : คิดก่อน ถ่าย-แชร์ มนุษย์กล้อง นักละเมิดสิทธิ

view