สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ภาษีที่ดิน เร่งราคาประเมินขยับ

ภาษีที่ดิน-เร่งราคาประเมินขยับ

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย..เกียรติศักดิ์ ผิวเกลี้ยง

ถึงตอนนี้การเดินหน้าปฏิรูปภาษีจะถูกเบรกเป็นการชั่วคราว ทำให้การออกกฎหมายเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างถูกดองไปด้วย แต่ สมหมาย ภาษี รมว.คลัง ยืนยันว่ายังเดินหน้ากฎหมายนี้เป็นการภายในต่อไป เพราะมีเรื่องเกี่ยวเนื่องกับกฎหมายดังกล่าวที่ต้องดำเนินการเป็นการเตรียมพร้อม เมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้จะดำเนินการได้ทันที

การดำเนินการที่เกี่ยวเนื่องและสำคัญที่สุด คือ การประเมินราคาที่ดินรายแปลงทั่วประเทศ เพราะหากราคาประเมินรายแปลงยังทำไม่ได้ทั้งประเทศ การเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างก็ยังเก็บไม่ได้แม้ว่ากฎหมายจะมีผลบังคับใช้แล้วก็ตาม

ตามโรดแมปเดิมกระทรวงการคลัง คาดว่า ร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จากผ่านคณะรัฐมนตรี (ครม.) รวมถึงสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และมีผลบังคับใช้ในปีนี้ และจะมีการเริ่มเก็บภาษีจริงในวันที่ 1 ม.ค. 2560 หรือประมาณ 1 ปี ถึง 1 ปีครึ่ง เพื่อให้กรมธนารักษ์ทำราคาประเมินที่ดินรายแปลงให้ครบเสียก่อน แต่ถึงการออกกฎหมายไม่เป็นไปตามแผนเดิมที่วางไว้ แต่การประเมินราคาที่ดินรายแปลงให้ครบ 32 ล้านแปลงทั่วประเทศยังเดินหน้าต่อไป

จักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล อธิบดีกรมธนารักษ์ เปิดเผยว่า การประเมินราคาที่ดินรายแปลงครบ 32 ล้านแปลง ยังเป็นตามแผนเดิมที่กระทรวงการคลังมอบหมายมา คือ 1 ปีครึ่งนับตั้งแต่วันนี้ ตอนนี้มีการประเมินราคาที่ดินเป็นรายแปลงแล้ว 8 ล้านแปลง คาดว่าปีนี้จะประเมินราที่ดินรายแปลงได้เพิ่มอีก 4-5 ล้านแปลง และปีหน้าจะประเมินรายแปลงได้ครบทั้งหมด

สำหรับการประเมินที่ดินรายแปลงปีนี้ยังทำได้น้อย เพราะเป็นเรื่องของการว่าจ้างกำลังคน และการวางระบบ ซึ่งตามแผนจะดำเนินการให้เสร็จภายในปีนี้ ทำให้ปีหน้าการประเมินราคาดินรายแปลงจะได้เต็มระบบและมีความรวดเร็วมากขึ้น

ก่อนหน้านี้ กรมธนารักษ์ได้ประชุมกับธนารักษ์จังหวัดทั่วประเทศให้มีการเตรียมความพร้อมล่วงหน้า ให้มีการเตรียมจ้างพนักงานมาทำการประเมินที่ดิน เพราะเป็นการเปลี่ยนแผนจากที่เดิมจะว่าจ้างผู้ประเมินเอกชนมาดำเนินการ แต่ตามแผนต้องใช้เวลานานหลายปี ไม่ทันกับการรองรับการออกกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง กรมธนารักษ์จึงดึงเรื่องมาดำเนินการเองทั้งหมด

จักรกฤศฏิ์ กล่าวว่า กรมธนารักษ์อยู่ระหว่างการเร่งปรับเปลี่ยนการใช้งบประมาณ 2558 ที่ได้รับจัดสรรจำนวน 200 ล้านบาท เพื่อมาจ้างลูกจ้างชั่วคราวของกรมธนารักษ์ทั่วประเทศ เพื่อมาทำการประเมินที่ดินรายแปลง ขณะนี้ได้ประชุมกับธนารักษ์ทั่วประเทศให้เตรียมจ้างคนไว้ให้พร้อม เมื่อเปลี่ยนแปลงการใช้งบประมาณสำเร็จก็จะได้ว่าจ้างและทำงานได้ทันที

ทั้งนี้ เดิมงบประมาณ 200 ล้านบาท ที่ได้รับจัดสรรให้จ้างบริษัทรับจ้างประเมินที่ดินเอกชนมาประเมินที่ดินรายแปลง ซึ่งตามแผนต้องใช้เวลานานถึง 8 ปี ซึ่งนานเกินไป จึงปรับการใช้เงินมาเป็นกรมธนารักษ์ดำเนินการเอง คาดว่าจะไช้เวลาไม่เกิน 1 ปีครึ่ง

นอกจากนี้ กรมธนารักษ์ยังได้เตรียมของบกลางของปีงบประมาณ 2558 เพิ่มเติม จ้างบริษัทที่ปรึกษาทำฐานข้อมูลที่ดินทั้งระบบ ซึ่งเบื้องต้นเอกชนเสนอราคาดำเนินการที่แปลงละ 10 บาท รวมเป็นเงินประมาณ 320 ล้านบาท จะทำให้การบริหารที่ดินมีประสิทธิภาพและเป็นระบบที่ทันสมัยมากขึ้น

จักรกฤศฏิ์ กล่าวว่า ราคาประเมินที่ดินใหม่รายแปลงใหม่ต้องเพิ่มขึ้นจากเดิมอย่างแน่นอน เพราะราคาประเมินเก่าใช้มาเป็นเวลาใกล้ครบ 4 ปี ซึ่งราคาประเมินใหม่จะส่งผลดีในหลายเรื่อง อันดับแรก คือ รองรับกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งแม้ว่าจะถูกชะลอออกไป แต่คาดว่าสุดท้ายรัฐบาลก็จะเดินหน้าต่อ เพราะเป็นกฎหมายที่มีผลดี ทำให้การเก็บรายได้ของท้องถิ่นมากขึ้น ลดภาระงบประมาณส่วนกลางที่ต้องจ่ายอุดหนุนให้กับท้องถิ่น ทำให้รัฐบาลมีเงินไว้เพื่อการลงทุนพัฒนาประเทศมากขึ้น

นอกจากนี้ การเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างยังเป็นการลดความเหลื่อมล้ำของคนรวยและคนจนในประเทศไทย และยังเป็นกฎหมายที่ทำให้การกระจายการถือครองที่ดินจากคนรวยที่ครอบครองที่ดินจำนวนมากไปสู่คนที่ไม่มีที่ดินมากขึ้น เพราะกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะเก็บภาษีที่ดินที่ทิ้งไว้รกร้างว่างเปล่าในอัตราที่สูง

ราคาประเมินที่ดินรายแปลงที่จะขยับเพิ่มขึ้น ยังส่งผลดีกับรายได้ของรัฐบาลทำให้การเก็บค่าธรรมเนียมจากการทำธุรกรรมโอนซ์้อขายมากขึ้น ในส่วนของผู้เป็นเจ้าของที่ดินที่ดูเหมือนจะต้องมีภาระมากขึ้น แต่ในความเป็นจริงราคาประเมินที่ดินเพิ่มขึ้น ราคาซื้อขายก็จะขยับเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาประเมินทุกครั้งไป

การประเมินราคาที่ดินรายแปลงเพื่อรองรับกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างแล้ว กรมธนารักษ์ยังเตรียมขยับปรับเปลี่ยนการประเมินที่ดินของประเทศครั้งใหญ่ จากเดิมที่ราคาประเมินใหม่จะมีการประกาศใหม่ทุก 4 ปี ก็จะมีการแก้ไขกฎหมายให้สามารถประเมินราคาที่ดินใหม่ได้ตลอดเวลา เนื่องจากเมื่อกรมธนารักษ์วางระบบการประเมินที่ดินรายแปลงเรียบร้อยแล้ว ก็จะทำการประเมินราคาที่ดินให้สอดคล้องกับปัจจุบันอยู่ตลอดเวลา ให้สะท้อนความเป็นจริงมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีกับทุกฝ่ายทั้งภาครัฐ และเจ้าของที่ดิน ที่จะได้ประเมินได้รวดเร็วว่าราคาที่ดินที่ถือครองอยู่มีราคาแนวโน้มเป็นอย่างไร

"ต่อจากนี้จะมีการประเมินที่ดินใหม่ต่อเนื่อง เพราะเมื่อระบบฐานข้อมูลสมบูรณ์ หากมีราคาประเมินใหม่เปลี่ยนแปลงไปจากราคาเดิมก็สามารถประกาศใช้ราคาประเมินใหม่ได้ทันที ไม่ต้องรอ 4 ปี ซึ่งไม่สอดคล้องกับราคาที่ดินที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ตามการพัฒนาของประเทศทำให้ราคาที่ดินของไทยขยับเพิ่มขึ้นตลอดเวลา" จักรกฤศฏิ์ กล่าว


หนุนรัฐเดินหน้าเก็บภาษีที่ดิน ชี้ชะลอจัดเก็บฉุดปฏิรูปการคลัง

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์

       นักวิชาการแนะรัฐเดินหน้า “ภาษีที่ดินฯและภาษีมรดก” เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ แนะออกมาตรการภาษีบวกแพกเกจหวังสร้างแรงสนับสนุนจากทุกภาคส่วน ชี้หากรัฐชะลอจัดเก็บภาษีที่ดินฯ ฉุดการปฏิรูปการคลังล่าช้า ส่งผลรัฐก่อหนี้เพิ่มเพื่อนำเงินมาใช้จ่าย
       
       ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิปดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวถึงการการปฏิรูปภาษีเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ : ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และภาษีมรดก ว่า รัฐบาลควรใช้โอกาสขณะนี้ดำเนินการผลักดันการปฏิรูปภาษีทั้งระบบเพื่อลดความ เหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ก่อให้เกิดความเป็นธรรมมากขึ้น และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน
       
       สำหรับยุทธวิธีในการดำเนินการควรจะเสนอเป็นมาตรการรวมทั้งแพกเกจ เพื่อให้ได้รับการสนับสนุนจากภาคส่วนต่างๆ ในสังคม เก็บภาษีเพิ่มเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ปฏิรูปด้วยการเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ลดภาษีด้วยการลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีนิติบุคคล เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน กระตุ้นให้เกิดการทำงาน การลงทุน และการขยายกิจการเพิ่มขึ้น
       
       ทั้งนี้ ประโยชน์ของยุทธศาสตร์ของการปฏิรูปภาษี คือ การสร้างความเป็นธรรม เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน การสร้างฐานรายได้ที่ยั่งยืนระยะยาว และมากพอที่จะนำไปลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจต่างๆ ในการบริการประชาชน รวมทั้งการลงทุนทางด้านการศึกษา สาธารณสุข และระบบสวัสดิการต่างๆ
       
       ผศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวต่อว่า การชะลอการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง อาจทำให้การปฏิรูปการคลังล่าช้าออกไปทั้งระบบ และทำให้รัฐบาลจำเป็นต้องก่อหนี้สาธารณะเพิ่มเติมเพื่อนำมาใช้จ่าย อย่างไรก็ดี การเดินหน้าดำเนินการพร้อมกับการประชาสัมพันธ์น่าจะทำให้เกิดความสำเร็จได้ ในรัฐบาลชุดนี้ เพราะเป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ และประชาชน รวมทั้งจะเป็นผลงานสำคัญในเรื่องการปฏิรูปเศรษฐกิจ
       
       ทั้งนี้ การกระจุกตัวของการถือครองที่ดินในสังคมไทยถือว่าเป็นปัญหาที่อยู่ในระดับ รุนแรงมากๆ เนื่องจากกลุ่มที่ถือครองที่ดินสูงสุด 20% แรกถือครองที่ดินมากกว่ากลุ่มที่ถือครองที่ดินต่ำสุด 20% ล่างสุด มากถึง 325 เท่า ซึ่งกลุ่มที่ถือครองที่ดินสูงสุด 20% แรกนี้ยังถือครองที่ดินคิดเป็น 80% กว่า และคนที่ร่ำรวยที่สุดของประเทศนี้ 10% แรก ถือครองที่ดินเกือบ 90% ของทั้งประเทศ
       
       ผลการวิจัยทางเศรษฐศาสตร์ว่าด้วยการเหลื่อมล้ำในการถือครองที่ดินยัง พบว่า มีค่าสัมประสิทธิ์ความไม่เสมอภาค หรือกระจายการถือครองที่ดินสูงถึง 0.89 ซึ่งการที่ค่า Gini Coeficient มีค่าสูงเกือบ 0.9 สะท้อนถึงความไม่เป็นธรรม และความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจที่รุนแรง
       
       ผศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวว่า ระบบภาษีของไทยนั้นเป็นภาระต่อผู้มีรายได้น้อยมากกว่าผู้มีรายได้สูง เนื่องจากรัฐบาลไทยพึ่งภาษีทางอ้อมเป็นหลัก การใช้จ่ายของภาครัฐหลายส่วนก็เอื้อต่อคนรวยมากกว่าคนจน และก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างเมืองใหญ่ กับชนบท เช่น การก่อสร้างถนนและขนส่วนมวลชนขนาดใหญ่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล การเน้นก่อสร้างถนนมากกว่าระบบขนส่งมวลชน การอุดหนุนการจัดการศึกษาในระดับอุดมศึกษามากกว่าระดับพื้นฐานเป็นต้น
       
       “หากไม่แก้ปัญหาเหล่านี้ก็ยากที่จะทำให้ระบบการเมืองไทยมีเสถียรภาพ และประชาธิปไตยมีความเข้มแข็งอย่างแท้จริง” ผศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าว
       
       สำหรับภาวะเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2/58 นี้ จะขยายตัวได้ประมาณ 6-6.7% กระเตื้องขึ้นอย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับไตรมาส 2/57 และเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับไตรมาสแรก และยังเชื่อว่า GDP จะเติบโตตามที่คาดการณ์ไว้คือ 2.7-3% และปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยทั้งปีมาอยู่ที่ 3-3.9% ลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับ 4% ที่ได้คาดการณ์ไว้เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2557


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ภาษีที่ดิน เร่งราคาประเมิน ขยับ

view