สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

โอกาสของคนไอคิวสูง

โอกาสของคนไอคิวสูง

โดย :

โอกาสของคนไอคิวสูง
โดย : แจ็ค มินทร์ อิงค์ธเนศ

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

การพิจารณาคัดเลือกบุคลากรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นในบ้านเราหรือต่างประเทศ เกณฑ์สำคัญที่ยังใช้กันอยู่เป็นหลักก็คือคะแนนสอบ

หรือภูมิหลังจากสถาบันการศึกษาชั้นนำซึ่งสะท้อนถึงสติปัญญาและความสามารถในการเรียนรู้นั่นเอง

ผลสอบหรือระดับสติปัญญาเหล่านี้บ่งชี้อะไรให้ผู้สมัครได้บ้าง คำตอบก็คือการเลือกคนเหล่านี้เข้าร่วมงานหมายถึงการได้คนไอคิวสูงแน่นอน แต่เขาหรือเธอผู้นั้นจะประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานหรือไม่ จะสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ให้องค์กรได้ไหม กลับไม่มีใครกล้ายืนยัน

ย้อนกลับไปเมื่อปี ค.ศ. 1921 ก็เคยมีคนตั้งคำถามเช่นเดียวกันนี้ และนักวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดคือ Lewis Terman จึงได้แสวงหาคนที่มีระดับไอคิวตั้งแต่ 140 ขึ้นไปซึ่งรวบรวมได้ถึง 1,500 คนซึ่งมีอายุต่างกันตั้งแต่ 3-28 ปีมาศึกษาพฤติกรรม

เพราะความสงสัยในเรื่องนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับคนทั่วไป แต่นักจิตวิทยาอย่าง Terman ก็สงสัยว่าเหตุใดผู้ที่ประสบความสำเร็จในชีวิตจึงมีทักษะในการคิดและตัดสินใจผิดจากคนทั่วไป และไอคิวที่บ่งบอกถึงระดับความสามารถในการใช้สมองนั้นจะมีผลต่อความสำเร็จในชีวิตหรือไม่

ถึงวันนี้เราจะศึกษาตัวแปรอีกมากที่มีผลต่อความสำเร็จในชีวิตเช่นอีคิว แต่อย่าลืมว่างานวิจัยของ Terman นั้นจัดทำขึ้นมาตั้งแต่เมื่อ 94 ปีที่แล้ว และยังเป็นโครงการระยะยาวที่ตั้งเป้าติดตามพฤติกรรมของกลุ่มตัวอย่างถึง 50 ปีซึ่งแน่นอนว่าอายุผู้วิจัยคงไม่ยืนยาวถึงขั้นนั้น

เมื่อ Terman เสียชีวิตลงในปี 1956 นักวิจัยของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดจึงเดินหน้าติดตามผลต่อจนครบ 50 ปีตามที่ตั้งใจไว้และเปิดเผยผลวิจัยออกมาซึ่งสร้างความแปลกใจให้ผู้คนในสมัยนั้นพอสมควร เพราะการศึกษามันสมองระดับอัจฉริยะเป็นจำนวนมากถึง 1,500 คนนั้นน่าจะมีคนที่สร้างความสำเร็จในระดับโลกได้มากมาย

เพราะความคุ้นเคยถึงบรรยากาศการเรียนในชั้นเรียนที่เรามักจะเห็นเพื่อนที่เรียนเก่งๆ หรือนักเรียนหัวกะทิของโรงเรียนถูกตั้งความคาดหวังไว้สูงลิ่ว และกลายเป็นคนโปรดที่ทั้งอาจารย์และนักเรียนต้องเอาใจเพราะเชื่อว่าเขาต้องเติบโตไปเป็นคนสำคัญในอนาคตแน่นอน

ผลวิจัยกลับสร้างความแปลกใจเป็นวงกว้าง เพราะเอาเข้าจริงๆ แล้วกลุ่มตัวอย่างทั้ง 1,500 คนนั้นไม่มีใครได้รางวัลโนเบล ไม่มีใครลุกขึ้นมาสร้างนวัตกรรมแปลกใหม่ให้โลกได้รู้จัก ถึงแม้ว่าโดยเฉลี่ยจะมีโอกาสมากกว่าคนทั่วไป เช่นได้ศึกษาต่อในชั้นสูงขึ้น และสามารถสอบเข้าเรียนในสาขาวิชาที่ทำรายได้สูง เช่นทนายความ แพทย์ วิศวกร ได้ แต่ก็ไม่มีใครที่โดดเด่นจนเป็นบุคคลสำคัญของประเทศได้เลยแม้แต่คนเดียว

ยิ่งมาศึกษาเปรียบเทียบกันคนทั่วไปที่ไม่ได้มีสติปัญญาเป็นเลิศเหมือนคนกลุ่มนี้ แต่กลับผ่านเข้ามาศึกษาในสาขาวิชาเดียวกันได้ก็จะยิ่งพบว่าทั้ง 2 กลุ่มนี้แทบจะไม่มีความแตกต่างกันเลย แม้ว่ากลุ่มที่มีไอคิวสูงอาจเรียนเร็วกว่า สำเร็จการศึกษาก่อนคนทั่วไปหลายปี แต่ชีวิตการทำงานแทบกลับไม่ต่างกันเลย

น่าเสียดายที่คณะผู้วิจัยไม่รู้จักองค์ประกอบอื่นๆ ที่ส่งผลต่อความสำเร็จในหน้าที่การงาน แต่งานวิจัยของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดชิ้นนี้ก็ทำให้เราเห็นว่าโอกาสในการประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานนั้นไม่ได้ถูกสงวนไว้ให้คนที่เรียนเก่งแต่เพียงอย่างเดียว

จริงอยู่ว่าระดับสติปัญญาอาจเป็นใบเบิกทางให้เขาได้เปรียบในแง่ของการเรียนรู้และสำเร็จการศึกษาในสาขาที่มีโอกาสในการทำรายได้สูงกว่า แต่ในระยะยาวแล้วการจะประสบความสำเร็จได้ยังมีตัวแปรอีกมากที่ความเฉลียวฉลาดอาจไม่ได้เป็นข้อได้เปรียบอีกต่อไป



สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : โอกาส คนไอคิวสูง

view