สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

คุณอยู่ไหนเมื่อ 2ก.ค.2540

คุณอยู่ไหนเมื่อ 2ก.ค.2540
โดย : เสถียร ตันธนะสฤษดิ์
จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

สำหรับผมนั้นกำลังนอนหลับอยู่ เพียงเพื่อถูกปลุกขึ้นมาด้วยโทรศัพท์ ตอนประมาณ ตีสาม ของวันที่ 2 ก.ค.2540

คนที่โทรมาปลุกเป็นเจ้าหน้าที่ทางการไทย บอกให้ไป ประชุมด่วนที่บางขุนพรหม เวลา 7:00 นาฬิกา พร้อมกับกรรมการผู้จัดการและบอกว่าไม่ต้องโทรไปเพราะเจ้าหน้าที่คนดังกล่าวได้จัดการโทรเรียบร้อยแล้ว สิ่งแรกที่ทำหลังจากวางโทรศัพท์ก็คือ บอกภรรยาว่าวันที่รอคอยมาแล้ว (เดี๋ยวท่านผู้อ่านก็จะรู้ว่ารอคอยอะไร โปรดติดตาม) และโทรหานายซึ่งเป็น CFO และก็ตื่นขึ้นมาเลย และสำหรับผมทุกอย่างมันเพิ่งจะเริ่มต้น และสำหรับคนไทย (และคนในเอเชียแปซิฟิกบางประเทศ) เหตุการณ์จากนั้นไป นี่คือฝันร้ายจริง ๆ

ประเทศไทยประกาศลอยตัวค่าเงินบาทในวันที่ 2 ก.ค.2540 หลังจากที่ต่อสู้กับตลาดอัตราแลกเปลี่ยนอยู่เป็นเวลานาน และสุดท้ายก็แพ้ ค่าเงินบาท, สถานการณ์ทางสังคมเศรษฐกิจ หรือความวุ่นวายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น หรือแม้กระทั่งความยากลำบากของผู้คน ก็เป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปและสามารถหาอ่านได้หรือจะฟังผู้คนที่อยู่ในเหตุการณ์เล่าให้ฟังก็คงจะได้ ผมจะไม่ใช้พื้นที่ตรงนี้เพื่อเรื่องเหล่านี้ แต่จะใช้ไปในทางที่สามารถนำไปใช้เผื่อจะมีประโยชน์อยู่บ้างในการป้องกันหรือบรรเทาความรุนแรงหากเกิดเหตุการณ์ที่คล้ายคลึงกันขึ้นมาอีก

มีการสรุปบทเรียนและข้อเสนอแนะอยู่ในหนังสือที่ชื่อว่า รายงานผลการวิเคราะห์และวินิจฉัยข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานการณ์วิกฤตทางเศรษฐกิจ เสนอโดยคณะกรรมการศึกษาและเสนอแนะมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารการจัดการระบบการเงินของประเทศ (ศปร.) 31 มี.ค.2541 จัดพิมพ์โดยมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยในความเห็นของผม เป็นรายงานที่ดีมากเก็บรายละเอียดและวิเคราะห์ได้ถูกต้อง ตามที่เป็นจริงพร้อมทั้งข้อเสนอแนะที่นำไปปฏิบัติได้ (ถ้าจะทำ) เป็นรายงานที่เหมาะมาก ที่ทุกคนที่เกี่ยวข้องต้องนำมาทบทวนเตือนสติตนเองให้นำเอาประวัติศาสตร์มารับใช้ปัจจุบันและก็ยิ่งเหมาะมากที่การเรียนวิชาทางการเงินระหว่างประเทศและเศรษฐศาสตร์ด้านนโยบายการเงินการนำไปใช้ให้เป็นประโยชน์กับผู้เรียนเพราะเป็นเรื่องจริงเหตุการณ์จริงและเกิดผลกระทบกับพวกเราด้วยกันเอง

นอกจากว่าคนไทยโดยทั่วไปจะลืมง่ายกันไปเสียก่อนและอาจเป็นรายงานที่หลาย ๆ คนอยากลืมแต่คงลืมไม่ลงหรอกครับ ในรายงานดังกล่าวส่วนที่ท่านต้องไม่พลาดเลยก็คือ 1) บทสรุปความเห็น/ข้อเสนอแนะของศปร. 2) บทที่สอง การปกป้องค่าเงินบาทกรกฎาคม 2539 ถึงกรกฎาคม 2540 และ 3) บทที่สาม บทบาทของบุคคลต่าง ๆ ในการรักษาค่าเงินบาท หากท่านได้อ่าน สามส่วนนี้ท่านจะรู้สึกและซาบซึ้งเลยทีเดียวว่าตัวละครแต่ละตัวนั้น เขามีชั้นเชิงมากน้อยต่างกันไป สะท้อนให้เห็นถึงแนวธรรมเนียมปฏิบัติ (Culture) และแนวนิยม (Norm) ขององค์กรโดยมีทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยเป็นเดิมพันในการต่อสู้ครั้งนี้ ซึ่งทุกท่านก็ทราบดีว่าใครแพ้ใครชนะ คงไม่ต้องกล่าวกันไปอีกให้เสียเวลา

ในความเห็นของผมนั้นในฐานะที่ดำเนินชีวิต “อยู่ใน” ในสถานการณ์มาโดยตลอดในห้วงเวลาดังกล่าวความทรงจำในชีวิตช่วงนั้น ไม่มีทางที่จะเลือนออกไปได้และมีความตั้งใจที่จะถ่ายทอดให้ผู้คนรุ่นหลังๆ ทราบและเข้าใจว่าอะไรเกิดขึ้นและนำมาปรับใช้ปัจจุบันได้อย่างไรตลอดไป ผมขอสรุปเรื่องนี้ ดังนี้นะครับ

1) Mentality ไอ้ประเภทคิดว่าจะเอาชนะตลาดได้นั้น ควรจะเรียนรู้ได้เลยว่าไม่มีใครหรอกที่จะทำได้และการที่เข้าปกป้องระบบอัตราแลกเปลี่ยนจนตัวตายนั้น (ทุนสำรอง “ละลาย” ไปกว่าสามหมื่นล้านเหรียญ) ก็ไม่เคยมีใครทำ ปรากฏการณ์ “เจ๊งคามือ” จึงเป็นผลงานที่ต้องตราไว้ในความทรงจำขอให้อ่านบทที่สามตามที่ได้กล่าวข้างต้นก็จะรู้เองว่าใครบ้างที่ ศปร. ระบุว่าจะเป็นผู้รับผิดชอบ

2) Action taken ขออนุญาต quote จากรายงานศปร.ในสิ่งที่ Mr.Camdessus ซึ่งเป็นผู้อำนวยการ IMF ในขณะนั้นได้ให้สัมภาษณ์นิตยสาร Time ฉบับวันที่ 23 มีนาคม 2540 ดังนี้

“For a long time we’d urged them to make changes.

I personally visited there (Thailand) four times, a couple of them secretly. The Thais were telling us they couldn’t change. They were doing too little, too late.”

ผมคงไม่ต้องแปลนะครับ คำสำคัญอยู่ที่ too little, too late. นั่นแหละ หากเราได้มองเห็นและติดตามความเป็นไปของการกระทำของเหล่าบรรดาธนาคารกลางต่างๆ ในยุคปัจจุบันไม่ว่าจะเป็น Fed, ECB หรือแม้แต่ MAS และ PBoC เราก็คงจะเห็นว่าเขาไม่เพียงแต่ไม่ too little, too late. แล้วเขาเหล่านั้นยัง “ชิงลงมือ” ทำก่อนด้วยซ้ำไป

3) ฟังให้มาก “สมัยก่อน” นั้นเข้าใจว่าฟังน้อยมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าพูดภาษาไทยมา “สมัยนี้” ก็มีการปรับปรุงและ “ยอมฟัง” มากขึ้น จากรายงานศปร.ก็มีข้อเสนอแนะในลักษณะเดียวกัน ขออนุญาต quote นะครับ “นอกจากนี้ ศปร. เห็นว่าควรมีการประชุมกันระหว่างผู้บริหารสถาบันทุกแห่งที่เกี่ยวข้องกับระบบการเงินของประเทศเป็นประจำ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการประสานงานและมีการแลกเปลี่ยนระหว่างหน่วยงานเพื่อให้ได้ข้อสรุปเชิงนโยบายที่ดีที่สุด อันจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศโดยรวม” หาก “ฟังให้มาก” แล้ว เวลาจะ “สั่ง” ก็จะเป็นการสั่งที่มีประสิทธิผลนะครับ

4) อย่าตื่นตระหนก ในช่วงนั้นก็มีความตื่นตระหนกกันเป็นอย่างมาก มีข่าวลือออกมาตลอดว่า ธนาคารไทยไม่ว่าใหญ่หรือเล็กไม่มั่นคง อาจเจ๊ง หรือโดนรัฐบาลสั่งปิดเหมือนกับที่ได้ปิดบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์จำนวนมาก ทำให้มีการ “แห่ถอน” เงินฝากออกไปเป็นจำนวนมากและอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล ไม่เว้นแม้กระทั่งสหกรณ์ออมทรัพย์ของพนักงานหน่วยราชการสำคัญบางแห่ง และก็นำไปฝากไว้กับสถาบันการเงินของต่างชาติที่มีสาขาอยู่ในไทย เพียงเพราะว่าเชื่อว่าจะปลอดภัย ทั้งที่จริงแล้วสถาบันการเงินเหล่านั้นมีข้อจำกัดการรับผิดชอบ (Limited Liability) เพียงเท่ากับสถานะของสาขาที่ตั้งอยู่ในประเทศไทยเท่านั้น สำนักงานใหญ่ไม่ว่าจะเป็น นิวยอร์ก, ลอนดอน หรือที่อื่นใดเขาไม่รับผิดชอบ ความตื่นตระหนกดังกล่าวนอกจากไม่ได้ก่อให้เกิดผลดีต่อตนเองเท่านั้น ยังไปสนับสนุน “กระสุน” ให้กับสถาบันดังกล่าวเข้ามาเก็งกำไรเงินบาทมากขึ้นไปอีก

จริง ๆ ยังมีอีกหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเพียงแต่ว่าไม่สามารถนำมากล่าวในที่นี้ได้ เนื่องจากไปเกี่ยวพันกับบุคคลที่สาม และไม่มีเอกสารอ้างอิงได้ สถานะของเหตุการณ์เหล่านั้นก็เลยกลายเป็น “เกร็ดประวัติศาสตร์” ให้คนรุ่นนั้นเล่าปากเปล่าให้คนรุ่นหลังฟังเท่านั้น (ถ้าอยากฟังผมเล่าคงต้องเลี้ยงข้าวผมสักมือ แล้วจะเล่าให้ฟัง) สุดท้ายนี้ผมก็อยากจะขอบคุณรายงาน ศปร.ฉบับนี้ เป็นอย่างมากถึงแม้ว่าจะมี อายุกว่า 17 ปีแล้วก็ตาม แต่ผมถือว่าเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชิ้นสำคัญของ ระบบเศรษฐกิจไทยเพียงแต่คนไทยอย่าเป็นคนลืมอะไรง่าย ๆ ดังที่เขาได้ปรามาสไว้ ก็แล้วกัน ท้ายสุดจริง ๆ ผมฝากว่า ท่านยังสามารถติดตามบทความของผมได้อีกที่ satiancomment.blogspot.com สวัสดี



สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : คุณอยู่ไหน 2ก.ค.2540

view