สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ความพยายามครั้งที่ 100 ดีกว่าท้อถอยก่อนเริ่มทำ (3)

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ Thai Startup Cafe

โดย พงศ์พีระ ชวาลาธวัช www.facebook.com/thaistartupcafe

ตอนที่แล้วผมพูดค้างไว้ในเรื่องของการเตรียมตัวก่อนการขึ้น Pitch ใครอยากอ่านย้อนหลังเพื่อจะได้ติดต่อกันครบถ้วนสมบูรณ์ หาอ่านได้ที่เว็บไซต์ prachachat.net หรือจากเพจ Facebook ของผม

สำหรับวันนี้เราจะว่าต่อในสิ่งที่ 10 ที่ต้องเตรียมก่อนการ Pitch งานครับ ขั้นตอนนี้คือข้อ 10 ว่าด้วย Question and Answer Plan คือแผนที่ หินที่สุด ตั้งแต่กล่าวมา เพราะเป็นสิ่งที่ไม่สามารถเตรียมได้เต็มที่ 100% สักที แต่เป็นสิ่งที่ "นักลงทุน" ทุกคนคาดหวังจะได้เห็น เนื่องจากสิ่งนี้คุณไม่สามารถหลอกพวกเขาได้

ยังจำได้ไหม ผมเคยบอกว่าเราต้องลงพื้นที่ไปสัมภาษณ์เก็บข้อมูลมากขนาดไหน นั่นแหละคือสิ่งที่จะกลับมาเป็น เกราะป้องกัน ในการตอบคำถามของเรา เพราะถ้าเรามีข้อมูลจากพื้นที่ที่ไม่มีใครรู้ นอกจากเราคนเดียว จะทำให้เราดูดีมากในสายตานักลงทุน

หลังจากลงพื้นที่จนนำมาทำเป็นแผนธุรกิจแล้ว ให้เราลองนำแผนธุรกิจนี้ไปคุยกับคนที่ "ไว้ใจได้" สัก 10 คน เพื่อฟังว่าเขามีข้อซักถาม ข้อกังขา ข้อสงสัย อย่างไร แล้วนำสิ่งเหล่านั้นกลับมาทำเป็นการบ้านจนกว่าสามารถรับมือกับคำถามของคนทั้ง 10 คนได้ นั่นแหละถึงจะเป็นขั้นตอนของการทำ Slides เพื่อดักคำถามจากคนที่มาฟังไว้ก่อน แม้กระทั่ง จุดอ่อน ของตัวเรา ที่เราจะเจอตอนสัมภาษณ์ ผมแนะนำให้เราเอาขึ้นมาฆ่าตัวเราเองเสียก่อน เพื่อเป็นการรับมือและแก้ไขให้ได้ จะด้วยวิธีอะไร แบบไหน ซึ่งจะดูดีมากในสายตาของผู้ลงทุน

สมมุติว่าคุณได้เตรียมข้อมูลจนเป็นที่พอใจแล้ว และคุณต้องโดนถามตอบกลางสาธารณชน ซึ่งเป็นสิ่งที่เรากลัวกันทุกคนรวมทั้งผมด้วย แต่ความกลัวนั้นไม่ได้ช่วยให้การตอบคำถามดีขึ้น แต่ การฝึกฝนการตอบ ต่างหากจึงจะทำให้เราสามารถรับมือกับคำถามแปลก ๆ ได้

คำถามมักจะมีอยู่หลากหลายประเภท เช่น คำถามกวน เพื่อให้เราหลุดประเด็น เช่น ถามว่าธุรกิจของคุณจะรอดจริงเหรอ ?  ปกตินักลงทุนที่มีเงินลงทุนจริง ๆ จะไม่ถามคำถามแบบนี้ ก็ขออย่าโมโห แต่ให้รับมือนิ่ง ๆ แล้วตอบในแนวทางว่าธุรกิจนี้รอดได้เพราะอะไร หรือรุ่งเพราะอะไร แล้วข้ามไปคำถามอื่นต่อไปเลย

บ้างเป็นคำถามแบบชี้นำเพื่อหวังผลบางอย่าง เช่น ถามเรื่องทำไมเราต้องทำ Startup ตัวนี้ แล้วลากไปเรื่อยเพื่อให้บรรลุจุดที่ว่าถ้าอยากทำมาก ๆ แล้วทำไมเราไม่ลงเงินทุนเสียเอง เป็นต้น หรือคำถามยาก ๆ ทดลองภูมิปัญญา เช่น ถ้า Startup คุณโดนก๊อบปี้คุณจะทำอย่างไง อันนี้เป็นคำถามยอดฮิตที่หลายคนก็รู้ว่าธุรกิจในโลกนี้ก๊อบปี้กันทั้งนั้น แต่เราจะหาจุดยืนจากการก๊อบปี้ได้ยังไงต่างหากที่สำคัญในการทำ Startup

คำถามบางคำถามก็มีที่ไม่สามารถตอบได้เลย แต่ขอบอกว่า "จงอย่าอึ้ง" และอย่าตอบไปแบบมั่ว ๆ เพราะส่วนใหญ่คนที่ถามมักจะรู้อยู่แล้วว่าคุณรู้จริงหรือกำลังแถอยู่ เพราะถ้าแถแล้วถูกซักจนมุม เราจะเสียเครดิต อย่าแถนะครับ

แต่ให้ตอบในแนวว่าเราไม่ทราบ แต่ถ้าจะว่ากันจริง ๆ แล้วเราก็น่าจะมีวิธีในการวางแผนการป้องกันได้ 3 ขั้นตอน (แล้วก็เล่าตรรกะความคิดให้ผู้ถามฟัง เพื่อเขาจะได้ทราบว่าถึงเราไม่รู้แต่เราก็มีสมองที่จะคิดต่อไปเหมือนกัน)

ลักษณะของการพูดตอบคำถาม ควรจะวางตัวให้ดีด้วย อันดับหนึ่งเลยคือ ควร "ยิ้ม" เพื่อแสดงท่าทีความเป็นมิตรไว้ก่อน จากนั้นถ้า "งง" กับคำถาม แนะนำว่าให้พยายามถามอีกรอบในแบบของเรา ว่าคำถามแบบนี้ถูกหรือไม่ ถ้าใช่ค่อยตอบ อย่าตอบมั่วเด็ดขาด หรือบางคนจะชอบถาม 2 คำถามในประโยคเดียว คนที่มีทักษะจะรู้ทันทีว่าต้องแยกประเด็นออกมาเสียก่อนว่ามี 2 ประเด็น

แล้วตอบคำถามแรกก่อนค่อยไปคำถามที่ 2 หรือบางคำถามที่เราตอบแล้ว ดูจากหน้าตาคนถามยังนิ่ง ๆ เงียบ ๆ ให้ถามเพื่อความแน่ใจอีกทีว่า "ผมได้ตอบคำถามคุณหรือเปล่าครับ" ถ้ายังไม่เคลียร์ให้พยายามตอบให้ชัดที่สุด แต่ไม่ยาวจนเกินไปเพราะจะทำให้กินเวลาคำถามของคนอื่น และเราเองก็จะเสียโอกาส เพราะการถามตอบคือจุดที่สร้างคะแนนที่ดีที่สุดของ Startup

11.เสื้อผ้าหน้าผม เป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้กัน ผมเคยไปงาน Pitch งานหนึ่ง แต่ก็แทบวิ่งออกจากงานไม่ทัน เพราะคนในงานใส่สูทกันทุกคน โชคดีที่ผมมีสูทอยู่ในรถสามารถงัดออกมาใช้ได้ทัน ไม่งั้นก็ไม่รอด เขาว่าคนเรามักจะตัดสินคนจากภายนอกในเวลาแค่ 5 วินาที ผมว่าน่าจะจริง และน่าจะเป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องระวัง ครับ

12.ความกล้า ข้อนี้สำคัญมากถึงมากที่สุด เพราะถึงตอนที่คุณอยู่บนเวทีไม่มีใครช่วยคุณได้อีกแล้ว ยกเว้นตัวคุณเท่านั้น ฝรั่งเคยมีการทำสถิติกันเลยว่าความกลัวของคนบางคนนั้น คือการพูดในที่สาธารณะ มาเป็นอันดับหนึ่ง มากกว่ากลัวงูกลัวหนูเชียวนะครับ สิ่งที่จะสามารถลบความกลัวออกไปได้มากที่สุด คือ การฝึกฝน

ยิ่งฝึกฝนในการนำเสนอ ฝึกฝนในการตอบคำถามมากแค่ไหน ก็ยิ่งจะทำให้เรากลัวน้อยลง

เชื่อหรือไม่ว่าผมเคยฝึกซ้ำแล้วซ้ำอีกจนหลับก็ยังจำ Script ตัวเองได้ กลายเป็นว่าถึงวัน Pitch งานจริง ได้รับ Feedback ว่า Pitch ได้จนดูไม่ตื่นเต้น ราบเรียบเหมือนไม่มีชีวิตชีวา พูดง่าย ๆ คือมันอัตโนมัติจนไม่มีความตื่นเต้น เลยดูจืดเกินไป

ซึ่งสิ่งนี้เป็น "ข้อเสีย" ของคนที่เจนจัดเวที และไม่กลัว พอไม่กลัวก็เลยดูเหมือนทุกอย่างง่าย ทำให้บางทีขาดสีสันไป ผมว่าจุดตรงกลางกำลังดีครับ เขาเรียกจุดสั่นสู้นะครับ มาถึงตรงนี้ที่ต้องเตรียมตัวก่อนการ Pitch ผมอยากให้ทุกคนได้ฝึกฝนให้พร้อมและมีความกล้า มีสติที่มั่นคงในการ Pitch ครับ

เทคนิคสุดท้ายที่ผมจะให้ คือ สูดหายใจลึก ๆ นับ 3 2 1 ในใจ แล้วเดินขึ้นเวที พร้อมแล้วลุยเลยครับ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ความพยายาม ครั้งที่ 100 ดีกว่าท้อถอย ก่อนเริ่มทำ

view