สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เอสเอ็มอีนวัตกรรม กับอนาคตธุรกิจ

เอสเอ็มอีนวัตกรรม กับอนาคตธุรกิจ
โดย : เรวัต ตันตยานนท์
จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

การทำธุรกิจในปัจจุบัน โดยเฉพาะผู้ที่คิดอยากเริ่มต้นธุรกิจใหม่ หรือ Startup จำเป็นที่จะต้องสร้างสรรค์นวัตกรรมให้เกิดขึ้นกับธุรกิจของตน

แต่พฤติกรรมเฉพาะที่มักเกิดขึ้นในหมู่ของเอสเอ็มอีนวัตกรรม คือ การเล็งผลเลิศต่อความคิดสร้างสรรค์หรือแนวนวัตกรรมของตนเอง

ด้วยความรู้สึกในอารมณ์ที่ว่า นวัตกรรมหรือความแปลกใหม่ที่คิดได้นี้ จะต้องทำความร่ำรวย บางทีอาจถึงขั้นร่ำรวยมหาศาล ให้กับเจ้าของความคิด ทำให้บางครั้งเกิดสิ่งบดบังตา ไม่เชื่อหรือไม่รับฟังความคิดเห็นต่างของคนรอบข้าง ที่นักวิชาการเรียกว่า ”Innovation Hype””

แม้เป็นเสียงเตือนจากความหวังดีโดยบริสุทธิ์ใจ ชี้ให้เห็นช่องโหว่หรือจุดบกพร่องของไอเดีย ก็จะต้องเกิดการผิดใจกัน หาว่าจะมาขัดขวางความสำเร็จ

แล้วก็มุทะลุทำต่อไปจนทุนหมดหน้าตัก แล้วสุดยอดนวัตกรรมที่คิดไว้ก็กลายเป็นเพียง “ไอเดียดีๆ ไอเดียหนึ่ง” โดยไม่สามารถทำให้เกิดขึ้นได้จริง

บางรายอาจประสบความสำเร็จในการสร้างผลิตภัณฑ์ต้นแบบขึ้นมาได้ พัฒนาปรับปรุงต่อจนคิดว่าได้ผลิตภัณฑ์ที่พร้อมปล่อยออกสู่ตลาด แต่ขายไม่ได้ หรือขายได้เพียงเล็กน้อย ต่างไปจากที่ตั้งเป้ามาก ไม่ประสบความสำเร็จในการทำตลาด

บางท่านก็จะเปรียบเทียบว่า “นวัตกรรม” ที่ไม่ประสบความสำเร็จในเชิงพาณิชย์ ก็คือ “สิ่งประดิษฐ์” หรือ “สิ่งแปลกใหม่” สำหรับตั้งโชว์ให้คนดูเท่านั้นเอง เพราะไม่มีใครต้องการซื้อมาใช้

การนำแนวคิดนวัตกรรมออกสู่ตลาดในเชิงพาณิชย์ เป็นเรื่องที่นักวิชาการด้านนวัตกรรมและการบริหารธุรกิจทำการศึกษาไว้ค่อนข้างมาก และมีทฤษฎีหรือข้อสรุปที่ได้จากการศึกษาพฤติกรรมที่เกิดขึ้นจริง มาใช้เป็นแนวทางให้นักธุรกิจนวัตกรรมในปัจจุบันได้ใช้เป็นบทเรียนเพื่อหลีกเลี่ยงความผิดพลาด

การบริหารธุรกิจนวัตกรรมจึงมีแง่มุมที่แตกต่างออกไปจากการบริหารธุรกิจที่ดำเนินอยู่แล้วในหลายๆ ด้านและหากนักธุรกิจนวัตกรรม โดยเฉพาะที่ได้รับการศึกษาในสาขาบริหารธุรกิจที่มักจะเน้นพื้นฐานหลักสูตรไปด้านการบริหารจัดการธุรกิจแบบปกติทั่วไป จะต้องระมัดระวังเลือกใช้กลยุทธ์บางอย่างที่ได้เรียนมากับธุรกิจนวัตกรรม

เนื่องจากธรรมชาติที่แตกต่างกันระหว่างการนำเสนอสิ่งแปลกใหม่ให้กับตลาดที่ยังไม่รู้จักคุ้นเคยกับการนำเสนอสิ่งที่ตลาดรู้จักกันดีอยู่แล้ว

แม้แต่ในปัจจุบัน ผู้บริโภคบางส่วนก็ยังมองไม่เห็นความแตกต่างระหว่างโทรศัพท์มือถือธรรมดากับสมาร์ทโฟน จึงซื้อสมาร์ทโฟนมาใช้แทนโทรศัพท์มือถือเสียเลยเพราะดูทันสมัยดีเท่านั้น

ซึ่งไม่ตรงกับความคิดสร้างสรรค์ของผู้สร้างนวัตกรรมให้กับสมาร์ทโฟนเลยสักนิดเดียว

แต่ก็โชคดีที่ยังขายสินค้าได้ หากเกิดขายไม่ได้ขึ้นมา ก็จะกลายเป็นนวัตกรรมที่ล้มเหลวไป

ตัวอย่างที่น่าจะง่ายที่สุดที่ธุรกิจที่ดำเนินอยู่แล้วแตกต่างไปจากธุรกิจนวัตกรรม ก็คือ การทำแผนธุรกิจ หรือการกำหนดภาพในอนาคตที่ต้องการให้เป็นไปของธุรกิจ

ผู้ที่ผ่านหลักสูตรการบริหารธุรกิจแทบทุกคน จะต้องรู้จักกับการทำแผนธุรกิจมาแล้ว แต่แนวคิดการทำแผนธุรกิจ มักจะมีกรอบอยู่ที่เป็นธุรกิจทำค่อนข้างจะรู้จักกันอยู่แล้ว

สำหรับธุรกิจนวัตกรรม เจ้าของหรือผู้บริหาร จะต้องเปลี่ยนแนวจากการทำแผนธุรกิจ มาเป็นทำ “แผนนวัตกรรม”

โดยปกติแล้ว แผนธุรกิจ มักจะประกอบด้วย 4 ส่วนหลัก คือ แผนการตลาด แผนการบริหารจัดการ แผนการผลิตหรือแผนเทคโนโลยี และแผนการเงิน

ส่วนแผนนวัตกรรม นั้นจะต้องมีองค์ประกอบเพิ่มเติม เพื่อสะท้อนภาพของแผนและกลยุทธ์ในการจัดการสิ่งใหม่ที่ตลาดและผู้บริโภคยังไม่เคยรู้จัก

สิ่งที่จะแตกต่างไปโดยสิ้นเชิงในแผนการตลาดก็คือคำอธิบายหรือเหตุผลยืนยันเกี่ยวกับการทำนายการเปลี่ยนแปลงในอนาคตของผู้บริโภค ไม่ว่าจะเรื่องวิถีชีวิตและรสนิยมที่จะเปลี่ยนไป ซึ่งอาจต้องวิเคราะห์ไปถึงการเปลี่ยนแปลงในบริบทของกระแสโลก หรือ เมกะเทรนด์ ต่างๆ ในขณะที่ แผนธุรกิจทั่วไป จะมีการวิเคราะห์ในวงที่แคบกว่า เนื่องจากตลาดมีการรับรู้เกี่ยวกับธุรกิจอยู่แล้ว จึงใช้เพียงการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมภายในภายนอก และการวิเคราะห์ส่วนผสมการตลาด

แผนธุรกิจนวัตกรรม ยังอาจต้องวิเคราะห์ตลาดในแง่ของการยอมรับของผู้บริโภค และกลยุทธ์การกระจายของการยอมรับ การชี้บ่งถึง “หุบเหว” หรือสถานการณ์ที่จะทำให้นวัตกรรมไม่สามารถกระจายต่อจากกลุ่มผู้สนใจยอมรับนวัตกรรมใหม่ ไปยังผู้บริโภคกลุ่มใหญ่โดยทั่วไป และเตรียมแผนสำรองในการแก้ไขสถานการณ์ หากสถานการณ์ “หุบเหว หรือ กับดักนวัตกรรม” นี้เกิดขึ้นกับธุรกิจ

แผนธุรกิจนวัตกรรม จะต้องมีการวิเคราะห์ความเสี่ยงของธุรกิจที่เข้มข้นขึ้น รวมไปถึงการจัดหาและเตรียมวัตถุดิบและทรัพยากรที่ไม่อาจหาได้ในตลาด อันเนื่องมาจากความใหม่ของนวัตกรรม รวมไปถึงทรัพยากรบุคคลที่จะมารองรับธุรกิจนวัตกรรมนี้ด้วย เพราะอาจต้องใช้องค์ความรู้ใหม่ๆ ที่ไม่มีใครมีประสบการณ์มาก่อน

ดังนั้น ในแผนการเงินสำหรับธุรกิจนวัตกรรม จึงต้องครอบคลุมในเรื่องของ การลงทุนเพื่อสร้างองค์ความรู้หรือเทคโนโลยีใหม่ที่จำเป็น หรือที่เป็นหัวใจของนวัตกรรม ให้ครบถ้วนเพียงพอ

รวมไปถึงงบประมาณสำหรับการทำวิจัยพัฒนา การทดสอบและสร้างต้นแบบ การจัดหาเทคโนโลยี รวมไปถึงงบประมาณด้านการตลาดที่จะต้องให้ความรู้กับลูกค้าเป้าหมายและผู้บริโภคเพื่อการเข้าใจและยอมรับนวัตกรรมที่นำเสนอ

หากต้องมีการตัดสินใจเลือกเทคโนโลยีที่จะนำมาใช้ แผนนวัตกรรม ก็จะต้องมีการวิคราะห์ข้อดีข้อเสียเปรียบเทียบกันเพื่อยืนยันว่าการตัดสินใจเลือกเทคโนโลยีเป็นไปอย่างถูกต้องรัดกุมตรงตามวัตถุประสงค์ของธุรกิจในระยะยาว

อนาคตและความสำเร็จของธุรกิจนวัตกรรมและ Startup จะอยู่ที่การวางแผนภาพในอนาคตของธุรกิจที่ชัดเจนและมีความเป็นไปได้ท่ามกลางความไม่แน่นอนในอนาคต ผ่านการเตรียมแผนนวัตกรรมที่ละเอียดรัดกุมในทุกมุมมอง

ไม่ใช่มีแต่ความฮึกเหิม ความเชื่อมั่นในตนเอง และการยอมลองผิดลองถูก แต่อย่างเดียว



สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : เอสเอ็มอีนวัตกรรม  อนาคตธุรกิจ

view