สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

โอกาสของคนทุกคน

โอกาสของคนทุกคน
โดย : แจ็ค มินทร์ อิงค์ธเนศ

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

เกริ่นนำเรื่องงานวิจัยเก่าแก่ของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดไปในฉบับที่แล้วว่าด้วยการติดตามการเติบโตของเหล่าอัจฉริยะ

ที่มีไอคิวมากกว่า 140 เป็นจำนวนถึง 1,500 คนโดยเป็นงานวิจัยระยะยาวที่สุดในโลก คือ 50 ปีจนได้ข้อสรุปเบื้องต้นว่าการมีไอคิวสูงนั้นไม่ได้เป็นหลักประกันใดๆ ถึงความสำเร็จของพวกเขาในอนาคต


กรณีศึกษาที่น่าสนใจเป็นอัจฉริยะคนหนึ่งที่คณะผู้วิจัยตามติดมาตั้งแต่อายุ 6-8 ขวบที่ฉายแววโดดเด่น ด้วยการอ่านวรรณกรรมของเช็คสเปียร์ได้ครบถ้วน ซึ่งแน่นอนว่าการอ่านหนังสือที่สลับซับซ้อน และมีความสวยงามทางวรรณกรรมระดับโลกนั้นย่อมมีระดับสติปัญญาที่เหนือกว่าคนทั่วไป ซึ่งเมื่อผู้วิจัยทดสอบก็ไม่แปลกใจที่เด็กคนนี้จะมีไอคิวสูงถึง 198


เด็กคนนี้เรียนข้ามชั้นได้อย่างรวดเร็วจนพร้อมที่จะเข้ามหาวิทยาลัยตั้งแต่อายุ 13-14 ปีเท่านั้น ซึ่งระบบการศึกษาของอเมริกาก็เปิดกว้างจนเราเห็นข่าวคนเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยชื่อดังเช่น MIT, Cal Tech ด้วยอายุน้อยๆ เป็นประจำ ซึ่งเด็กที่ถูกศึกษาวิจัยครั้งนี้เลือกที่เข้าเรียนใน Harvard และจบการศึกษาด้วยอายุเพียง 17 ปีเท่านั้น


หลังจากนั้นด้วยผลการเรียนอันโดดเด่นทำให้เขาได้ทุนไปศึกษาต่อในยุโรปและใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นอีก หลายปีก่อนจะกลับมายังอเมริกาในช่วงปี ค.ศ.1970 โดยมีรายได้มาจากการให้เช่าหอพักที่เขาเก็บเงินซื้อ แต่โชคร้ายที่เขามีอายุไม่ยืนยาวนัก งานวิจัยชิ้นนี้จึงบันทึกไว้เพียงว่าเขามีอาชีพ “ให้เช่าหอพัก” เท่านั้น


ลองนึกถึงชีวิตของอัจฉริยะที่มีไอคิวสูงเสียดฟ้าแถมเรียนจบมหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งของอเมริกาด้วยวัยเพียง 17 ปีเท่านั้นด้วยสติปัญญาและความสามารถของเขาแน่นอนว่ามีหลายๆ คนคาดหวังที่จะเห็นเขาสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ให้โลก ไม่ว่าจะเป็นยารักษาโรค แร่ธาตุใหม่ๆ วิทยาการก้าวหน้าจนอาจพิชิตรางวัลโนเบลได้ แต่ท้ายที่สุดแล้วโลกก็ได้แต่เพียงจารึกว่าเขาเป็นเพียงเจ้าของหอพักให้คนเช่าเท่านั้น


ไอทีไร้พรมแดนตอนที่แล้วก็ชี้ให้เห็นว่างานวิจัยนี้ศึกษาวิจัยเหล่าอัจฉริยะมากถึง 1,500 คน ซึ่งไม่ได้มีความสำเร็จในชีวิตที่โดดเด่นอะไรเลย ยิ่งคัดเลือกให้เหลือเพียง 100 คนที่ดูมีภาษีดีกว่าคนอื่นๆ มาเปรียบเทียบกับคนธรรมดาที่ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานจนเป็นเจ้าของธุรกิจ นักวิชาการ ผู้บริหารแล้วก็พบว่าทั้ง 2 กลุ่มที่อัจฉริยะและคนธรรมดาที่เติบโตขึ้นมาได้นั้นแทบจะไม่มีอะไรต่างกันเลย


งานวิจัยของสแตนฟอร์ดชิ้นนี้ทำให้ผมนึกถึงชีวิตของคนธรรมดาๆ ที่นอกจากไม่ได้มีสติปัญญาที่โดดเด่นแล้วยังมีพื้นเพมาจากครอบครัวหาเช้ากินค่ำเพราะพ่อแม่เป็นเพียงกรรมกรขายแรงงานเท่านั้น


หนำซ้ำตลอดวัยเรียนเขายังถูกเพื่อนฝูงล้อเลียนอยู่เป็นประจำด้วยรูปร่างหน้าตาที่ค่อนไปทางขี้เหร่ เขาจึงตั้งใจเรียนอย่างเดียวโดยเฉพาะวิชาภาษาอังกฤษเพราะบ้านเกิดของเขาในประเทศจีนนั้นหาคนพูดภาษาอังกฤษได้ไม่มากนัก


เมื่อเรียนจบเขาก็ได้เป็นครูสอนภาษาอังกฤษสมใจ และเมื่อยุคอินเทอร์เน็ตมาถึงเขาก็มองเห็นโอกาส ที่จะสร้างธุรกิจใหม่แต่เขาคงจะไม่เคยคิดว่าบริษัทของเขานั้นจะเติบโตถึงขนาดที่จะไปเข้าตลาดหลักทรัพย์ในอเมริกาพร้อมเป็นหุ้นที่แพงที่สุดในประวัติศาสตร์ของอเมริกาด้วยการระดมทุนได้สูงสุดเกือบ 7 แสนล้านบาท แซงหน้าแชมป์เก่ายักษ์ใหญ่อย่างวีซ่าไปแบบไม่เห็นฝุ่น


เขาคนนี้คือ “แจ็ค มา” เจ้าของอาลีบาบา ที่เป็นเพียงคนธรรมดาๆ ไม่ได้เฉียดเข้าใกล้คำว่าอัจฉริยะเลย แต่ความมุ่งมั่นเอาจริงเอาจัง และความมั่นใจในตัวเองทำให้เขาค่อยๆ ก้าวไปสู่ความสำเร็จได้ทีละน้อย จนเติบโตสู่ระดับโลกได้สำเร็จ


ในเมื่อคนส่วนใหญ่ในโลกไม่ใช่อัจฉริยะ และคนที่ประสบความสำเร็จในโลกก็ล้วนไม่ใช่อัจฉริยะหรือคนไอคิวสูง โอกาสที่เราจะสำเร็จหรือล้มเหลวจึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับสติปัญญาแต่เพียงอย่างเดียว แต่เปิดกว้างให้ทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน



สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : โอกาสของคนทุกคน

view