สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เปิดแผนพลังงานประเทศ

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...อนัญญา มูลเพ็ญ

การประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) ซึ่งมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติเป็นประธาน เมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2558  มีวาระสำคัญที่จะเป็นการวางแนวทางการพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยในอนาคต  นั่นคือการเห็นชอบแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP 2015) ซึ่งจะใช้สำหรับวางแผนการผลิตไฟฟ้าของประเทศต่อไปในระยะยาวตลอดระยะเวลา ระหว่างปี 2558 – 2579 หรือในอีก 21 ปีข้างหน้า 

การต้องมีแผนระยะยาวนี้เพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าในประเทศที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด(พีค) ที่ได้มีการทำลายสถิติทุกปี ซึ่งในปี 2558 นี้พบว่ามีพีคสูงสุดในช่วงปลายเดือนเม.ย. ที่ขึ้นไปแตะระดับสูงกว่า 27,000 เมกะวัตต์

ชวลิต พิชาลัย ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.)  กล่าวว่า  ตามแผน PDP 2015 ที่ได้รับการอนุมัติของ กพช.  ไปแล้วนั้น ได้มีการปรับลดค่าพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าให้สอดคล้องกับทิศทางการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ลดลงจากเดิมคาดว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี)จะขยายตัวเฉลี่ยปีละ 4.41% เหลือปีละ 3.94%  รวมทั้งมีการปรับแผนให้สอดคล้องกับแผนอนุรักษ์พลังงาน แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก

สำหรับการคาดการณ์กำลังการผลิตไฟฟ้านั้น คาดว่า ประเทศไทยจะมีปริมาณการผลิตไฟฟ้าใหม่ 57,459 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันที่มีกำลังการผลิตอยู่ 37, 612 เมกะวัตต์ เมื่อหักกำลังผลิตที่ปลดออก 24,736 เมกะวัตต์  ทำให้กำลังการผลิตรวมปี 2579 ซึ่งเป็นปีสิ้นสุดแผน กำลังการผลิตไฟฟ้ารวมทั้งประเทศอยู่ที่ รวมอยู่ที่ 70,335 เมกะวัตต์

ทั้งนี้ แยกเป็นการผลิตโดยโรงไฟฟ้าถ่านหิน 9 แห่ง  กำลังผลิตรวม 7,365 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ 15 แห่ง กำลังผลิต 17,478 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์  2 แห่ง กำลังผลิต 2,000 เมกะวัตต์  โรงไฟฟ้ากังหันแก๊ซ  5 แห่ง กำลังผลิต 1,250 เมกะวัตต์   เป็นการผลิตของโคเจเนอเรชั่น  25 ราย กำลังผลิต 4,119 เมกะวัตต์  พลังงานหมุนเวียน  12,105 เมกะวัตต์  พลังงานสูบกลับ 3 แห่ง กำลังผลิต 2,101 เมกะวัตต์ และซื้อจากต่างประเทศ 11,016 เมกะวัตต์

ผู้อำนวยการ สนพ. กล่าวว่า การจัดทำแผน PDP ฉบับใหม่ให้ความสำคัญ กับ 3 ด้านหลัก ด้วยกัน คือ 1.ด้านความมั่นคงของระบบไฟฟ้าของประเทศ โดยคำนึงถึงการกระจายแหล่งและชนิดเชื้อเพลิง เพื่อลดสัดส่วนการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติที่ปัจจุบันสูงถึง 65% ให้เหลือไม่เกิน 40% ในปี 2579 เพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียนเป็น  15-20% จากปัจจุบัน 8%  ส่วนการใช้ถ่านหินสะอาด(รวมลิกไนต์)สัดส่วน 20-25%  จากปัจจุบัน 20%  นิวเคลียร์ 0-5% จากปัจจุบันไม่มีการใช้เชื้อเพลิงประเภทนี้ และซื้อไฟฟ้าพลังงานน้ำจากต่างประเทศ 15-20% จากปัจจุบัน 7%

2.ด้านสิ่งแวดล้อม โดยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของปัญหาภาวะโลกร้อนลง 37% ในปี 2579 ส่งผลให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าลดลงถึง 89,672 ล้านหน่วย (GWh) ในปี 2579 และ 3.ด้านเศรษฐกิจโดยกำหนดให้ราคาค่าไฟฟ้ามีความเหมาะสม สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงและบริหารระบบผลิต ระบบส่ง และระบบจำหน่ายอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชนน้อยที่สุด

“คาดว่าราคาค่าไฟฟ้าเฉลี่ยตลอดอายุของแผนพีดีพีฉบับนี้อยู่ที่ 4.587 บาท/หน่วย โดยเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 1.9%  ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้แสดงความเป็นห่วงว่าค่าไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นจะกระทบกับผู้มีรายได้น้อย ทางกระทรวงพลังงานได้ชี้แจงว่า มีโครงการช่วยเหลือสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าน้อยกว่า 90 หน่วยต่อเดือน ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมจะใช้ไฟฟ้าแพงกว่าภาคครัวเรือน"  ชวลิต กล่าว

คุรุจิต นาครทรรพ รองปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า อีกวาระสำคัญที่ กพช. ให้ความเห็นชอบคือ กรอบแนวทางการดำเนินการบริหารจัดการแหล่งก๊าซธรรมชาติที่สัมปทานจะสิ้นสุดอายุ ตามที่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้รายงานว่าในปี 2565 – 2566 จะมีแปลงสัมปทานก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่จะหมดอายุหลายแปลงบริเวณแหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณ ของบริษัทชฟรอน และแหล่งก๊าซบงกชของ บริษัท ปตท.สผ.และผู้ร่วมทุน

สำหรับความสำคัญของแหล่งผลิตข้างต้นนั้น คือเป็นแหล่งที่มีกำลังการผลิตรวมสูงถึง 2,200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน หรือเทียบเท่ากับ 76% ของปริมาณการผลิตก๊าซในอ่าวไทย หรือเท่ากับ 44% ของปริมาณการจัดหาก๊าซธรรมชาติของประเทศ โดยเมื่อสิ้นอายุสัมปทานพื้นที่เหล่านี้จะยังมีปริมาณสำรองก๊าซที่มีศักยภาพอยู่ อย่างไรก็ดีหากไม่มีการลงทุนเพิ่มเติมในการขุดเจาะสำรวจหลุมใหม่ก็จะทำให้ปริมาณก๊าซฯที่นำขึ้นมาใช้ลดลงอย่างรวดเร็ว และจะส่งผลให้ภาครัฐต้องนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจีเพื่อใช้การผลิตไฟฟ้าทดแทนระหว่างปี 2561 – 2565 ประมาณ 2.1 – 2.5 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันและจะทำให้ค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft)เพิ่มขึ้นได้สูงสุดถึง 85 สตางค์ต่อหน่วย

ทั้งนี้ แนวทางที่กระทรวงพลังงานเสนอ และ กพช.ให้การอนุมัติเกี่ยวกับเรื่องนี้มี 4 แนวทาง คือ  1.ให้ความสำคัญการจัดหาระดับการผลิตและการลงทุนในแหล่งก๊าซฯดังกล่าว 2. คัดเลือกผู้ดำเนินงานด้วยการเปิดกว้างให้ผู้ที่ลงทุนปัจจุบันและรายใหม่เข้ามาโดยต้องแก้ไขกฏหมายปิโตรเลียมซึ่งอาจเป็นระบบสัมปทาน ระบบแบ่งปันผลผลิต(PSC ) หรือ รับจ้างผลิต 3. เพิ่มสัดส่วนของรัฐในแหล่งนี้จากเดิมไม่มีเลย 4.ศึกษาเรียกเก็บผลประโยชน์เข้ารัฐที่เหมาะสม  โดยมอบกระทรวงพลังงานคณะกรรมการปิโตรเลียมนำกรอบไปศึกษาและหาข้อยุติภายในระยะเวลา 1 ปี

นอกจากนี้ เพื่อให้รับกับแผนการผลิตไฟฟ้าในอนาคต กพช. ได้รับทราบแผนการลงทุนของ บริษัท ปตท.  2  ส่วน รวมเงินลงทุนทั้งสิ้น 208,500 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นการใช้งบประมาณของ ปตท. เอง ไม่ได้ใช้งบประมาณแผ่นดิน  โดยส่วนแรกซึ่งเป็นการลงทุนในโครงข่ายระบบท่อส่งก๊าซธรรมขาติ มูลค่าลงทุนรวม 143,000 ล้านบาท นั้น แบ่งการลงทุนเป็น 3 ระยะ ซึ่งการประชุมครั้งนี้อนุมัติให้ดำเนินการลงทุนในระยะที่ 1 มูลค่า 13,900 ล้านบาท ประกอบด้วย โครงการขยายท่อก๊าซโรงไฟฟ้าขนอม โครงการปรับปรุงท่อก๊าซจากสถานีก๊าซแหล่งอุบลในอ่าวไทย และโครงการปรับปรุงสถานีควบคุมความดันก๊าซวังน้อย – แก่คอย

ขณะที่ระยะที่ 2  ที่มูลค่าลงทุนรวม 117,100 กำหนดแล้วเสร็จปี 2564คือการลงทุนท่อส่งก๊าซบนบกเส้นที่5 จากระยองไปไทยน้อย โรงไฟฟ้าพระนครเหนือและใต้ และระบบท่อส่งก๊าซบนบกจากสถานีควบคุมความความดันก๊าซ ราชบุรี วังน้อยที่6 ไปราชบุรี  และระยะที่ 3  เงินลงทุนรวม 12,000 กำหนดการแล้วเสร็จปี 2564 คือการก่อสร้างสถานีความดันก๊าซบนระบบท่อส่งก๊าซราชบุรี วังน้อย และสถานีเพิ่มความดันก๊าซ กลางทางบนระบบท่อก๊าซบนบกเส้นที่5 รวมถึงการลงทุนในส่วนที่2 ที่เป็นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการจัดหา นำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว เงินลงทุนรวม 65,000 ล้านบาท กำหนดการแล้วเสร็จปี 2565-2567  ได้แก่ LNG Receiving Terminal แห่งใหม่จ.ระยอง และ FSRU ในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทย อ.จะนะ จ.สงขลานั้น ให้ ปตท. ไปศึกษารายละเอียดและเสนอต่อ กบง. เพื่อเห็นชอบแล้วจึงเสนอต่อ กพช. ต่อไป

คุรุจิต กล่าวว่า นอกจากนี้ กพช. ยังให้เลื่อนกำหนดวันออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในแบบ FiT (Feed-in Tariff) ภายใต้กลไกการแข่งขันด้านราคา จากเดิมภายในไตรมาสแรกของปี 2558 เป็นภายในเดือนกรกฎาคม 2558 โดยไม่รวมพลังงานน้ำและขยะในการประกาศรอบนี้ และสำหรับพลังงานน้ำและขยะจะไม่ดำเนินการด้วยกลไกการแข่งขันด้านราคาเนื่องจากมีข้อจำกัดด้านพื้นที่และควรดำเนินการส่งเสริมเป็นการเฉพาะตามนโยบายรัฐบาล และการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุเวียนในระยะต่อไปให้คำนึงถึงความเหมาะสมของสายส่งไฟฟ้าในพื้นที่ต่างๆด้วย หลังจากพบว่าสายส่งที่จะรับไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในพื้นที่ของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) เหลืออยู่ถึง 1,800 เมกะวัตต์

ขณะที่พื้นที่ในความรับผิดชอบของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ที่รับผิดชอบพื้นที่ทั่วประเทศยกเว้นกรุงเทพและปริมณฑลเหลือความสามารถสายส่งที่รับไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้เพียง 2000 เมกวะวัตต์ภายในปี 2561 ซึ่งอาจทำให้ต้องมีการลงทุนเพิ่มเติม

ส่วนประเด็น การจำหน่ายหุ้นของบริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ SPRC ให้แก่ประชาชนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่เดิม กพช.กำหนดว่าให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จในเดือน มิ.ย.ปีนี้ แต่ในขณะที่การดำเนินการยังไม่แล้วเสร็จ กพช.จึงมีมติให้เลื่อนออกไปเป็นภายในปี 2558 โดยมอบหมายให้กระทรวงพลังงานเจรจากับ SPRC เพื่อกำหนดระยะเวลาเข้าจดทะเบียนและจำหน่ายหุ้นที่เหมาะสม และดำเนินการแก้ไขสัญญาฯ ต่อไป

อิฐบูรณ์ อ้นวงษา  หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค  กล่าวว่า แผนพีดีพีที่จัดทำขึ้นครั้งนี้  มีหลายประเด็นที่จะทำให้เกิดปัญหาในอนาคต โดยเฉพาะปริมาณสำรองไฟฟ้าที่สูงเกินไปในช่วง10 ปีจากนี้  ซึ่งจะมีผลให้ค่าไฟฟ้าฐานและค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (เอฟที) สูงขึ้น   ในขณะที่สัดส่วนการใช้เชื้อเพลิง

แม้จะพยายามลดสัดส่วนของการใช้ก๊าซธรรมชาติผลิตไฟฟ้าลง แต่การคาดการณ์ความต้องการใช้ก๊าซฯที่จะเพิ่มขึ้นจาก 5,900 ล้านลูกบาศก์ฟุต(ลบ.ฟุต) ต่อวัน เป็น  7,000 ล้านลบ.ฟุตต่อวัน ซึ่งท้ายสุดถ้าไม่มีแหล่งก๊าซฯที่เพิ่มขึ้นก็ต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(แอลเอ็นจี) ในขณะที่การเพิ่มสัดส่วนถ่านหิน ก็จะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนที่ทำธุรกิจนี้อยู่ด้วย แล้วจะบอกว่าทำเพื่อให้เกิดความมั่นคงด้านพลังงานได้อย่างไร เพราะอยู่ในอิทธิพลของธุรกิจเชื้อเพลิงฟอสซิลอยู่ดี

ด้าน ศุภกิจ นันทะวรการ ผู้จัดการฝ่ายนโยบายสาธารณะ มูลนิธินโยบายสุขภาวะ   กล่าวว่า ปี 2566-2567 สำรองไฟจะสูงเฉลี่ย 40%  จากระดับที่เหมาะสมไม่เกิน 15% โดยมีกำลังผลิตไฟฟ้าส่วนเกินอยู่  9,500 เมกะวัตต์หรือคิดเป็นมูลค่าก่อสร้างโรงไฟฟ้ารวมระบบส่งในการรองรับสูงถึง 2.5 แสนล้านบาททำให้เป็นภาระค่าไฟกับประชาชน


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : เปิดแผนพลังงานประเทศ

view