สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ทำอย่างไรให้รักตัวเอง : 20 วิธีที่จะสร้างคุณค่าแก่ตนเอง

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

บทความโดย - Barrie Davenport แปลโดย - สุนทรี ปานนิลวงศ์
       
       ทำไมเราจึงรู้สึกลำบากใจที่จะรักตัวเอง?
        
       
       ถึงแม้เราจะคิดว่าตัวเองมีคุณค่า แต่ในใจของเราอาจจะไม่รู้สึกเช่นนั้นจริงๆ บ่อยครั้งเมื่อคนที่รักเราชมเราว่า “เธอสวย สง่า และมีความสามารถ” เรามักไม่ค่อยเชื่อ แต่ถ้าหากเสียงกระซิบเบาๆ ภายในใจบอกเราว่า “เราน่าเกลียด โง่ และไม่มีใครรัก” เรากลับเลือกที่จะเชื่อมัน
       
       ภายใต้สภาวะทางอารมณ์หลากหลายที่เราต้องเผชิญ ไม่ว่าจะเป็นความหดหู่เศร้าใจหรือปัญหาด้านความสัมพันธ์ เรื่องเหล่านี้ล้วนแต่ทำให้เราต้องดิ้นรนที่จะรักตัวเอง และเมื่อใดก็ตามที่เรารู้สึกด้อยค่า ไม่สามารถยอมรับกับข้อบกพร่องหรือจุดอ่อนของตัวเอง อารมณ์ของเราก็จะขุ่นมัว (ซึ่งแสดงออกด้วยอาการหดหู่หรือตื่นเต้น) หรือไม่ก็แสดงพฤติกรรมในเชิงลบ (ด้วยอาการโกรธขึ้ง ประพฤติตัวก้าวร้าวหรือดื้อเงียบ หรือแม้แต่เกิดความผิดปกติในการทำงานของอวัยวะภายในร่างกาย)
       
       ความรู้สึกมีคุณค่าในตัวเองเป็นสิ่งสำคัญสำหรับทุกคนที่ต้องการบรรลุเป้าหมายและความสำเร็จในชีวิต เมื่อเราไม่รักตัวเอง เราก็จะประนีประนอมกับความสัมพันธ์และทุกเรื่องในชีวิตของเรา ซึ่งมันจะทำให้เราไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ และไม่รู้สึกอิ่มเอิบกับความสุขและความสำเร็จได้อย่างแท้จริง ความรู้สึกด้อยค่าเช่นนี้จะกัดกร่อนความสุขของเราด้วยการกระทำหลายรูปแบบที่ล้วนแต่ทำลายตัวของเราเอง เช่น
       
       • อาการอยากได้นั่นนี่ รู้สึกไม่ปลอดภัย และต้องการให้คนเอาใจใส่ (Neediness, insecurity, and people-pleasing)
       • อาการต่อต้าน และมีความไวสูงต่อการตอบสนอง อาจถึงขั้นภูมิแพ้ (Defensiveness and hypersensitivity)
       • ความสัมพันธ์ที่ยุ่งเหยิงและยุ่งยาก (Difficult, chaotic relationships)
       • อาการกินผิดปกติ (Eating disorders)
       • อาการตื่นตัว ตกใจง่าย และกลัวมากเมื่อกระทำผิด (Hyper vigilance, extreme fear of making mistakes)
       • พฤติกรรมดื้อเงียบ (Passive-aggressiveness)
       • อุดมคตินิยม หรือการพยายามทำตัวให้สมบูรณ์แบบ (Perfectionism)
       • การสร้างระยะห่างหรือพื้นที่ส่วนตัวระหว่างบุคคล (Poor personal boundaries)
       • ทักษะในการติดต่อสื่อสารต่ำ (Poor communication skills)
       • ทักษะในการเข้าสังคมต่ำ (Poor social skills)
       • แสดงความสำส่อนทางเพศ (Promiscuity)
       • ความผิดปกติทางเพศ มีปัญหาทางเพศ (Sexual dysfunction)
       • ทำงานได้ผลงานต่ำกว่าที่ควร ผลสัมฤทธิ์ต่ำกว่าที่ควร (Underachievement)
       • แสดงพฤติกรรมบ้างาน (Workaholic behaviors)
       • ทำตัวไม่น่าเชื่อถือ ดูเสมือนใส่หน้ากาก (Inauthenticity, wearing a mask)
       
       การรักตัวเองอาจเป็นเรื่องยาก เพราะว่าในโลกนี้ไม่มีสิ่งใดที่สะท้อนให้เห็นว่าเราต้องเชื่อมั่นในตัวเอง เราอาจยอมรับในหลักการว่าตัวเราเองมีคุณค่าจากการให้กำลังใจและสนับสนุนของครอบครัวและเพื่อนๆ ที่รักเรา แต่ในโลกแห่งความเป็นจริงที่เต็มไปด้วยคำวิจารณ์ การเปรียบเทียบ และการตัดสิน เรามักจะถูกบอกว่าเรายังดีไม่พอ และเราก็เชื่อมัน
       
       เรามักลืมที่จะไว้ใจและยึดมั่นกับความเชื่อและวิจารณญาณของตัวเอง แต่ในทางกลับกัน เรากลับนิ่งเฉยและพอใจที่จะให้คนอื่นมาสร้างความภาคภูมิใจให้แก่เรา ถ้าคนเหล่านั้นไม่ชอบในสิ่งที่เราเป็น เราก็จะดิ้นรนเพื่อเปลี่ยนแปลงตัวเองไปเป็นอีกคนที่โลกพอใจและอนุญาตให้เราเป็น
       
       การทำแบบนี้จะทำให้เราก้าวไปติดกับดักของ “อคติเชิงลบ” ที่ยิ่งมีมากก็จะทำให้เรามุ่งความสนใจไปกับความเชื่อและการกระทำในด้านลบมากกว่าด้านบวก เราจะถูกเหนี่ยวรั้งให้จดจ่อกับข้อผิดพลาดและจุดอ่อนของตนเองมากกว่าคุณสมบัติเชิงบวกที่เรามีอยู่
       
       การพยายามสร้างคุณค่าในตัวเองเป็นเรื่องที่ท้าทาย มันจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่คนจำนวนมากทุกข์ทรมานกับความต่ำต้อยของตัวเอง ดังนั้น หากเราต้องการสร้างคุณค่าในตัวเองอย่างแท้จริง เราต้องเรียนรู้ที่จะคิดหาวิธีการใหม่ๆ และตอบสนองกับข้อมูลที่เราได้รับรอบๆ ตัวเรา

        และนี่คือความคิดเห็น / ข้อเสนอแนะที่จะทำให้คุณรู้จักรักตัวเอง
       
       1. กำหนดนิยามของ “คุณค่า” ที่คุณต้องการ (Define worthiness for yourself)
       
       ขอให้คุณตรวจสอบค่านิยมหรือหลักการของตนเอง คิดถึงสิ่งที่คุณคิดว่าถูกต้อง และระบุให้ชัดเจนว่าอะไรคือสิ่งที่คุณเชื่อ บุคคลประเภทไหนที่คุณอยากเป็น และคุณต้องการใช้ชีวิตอย่างไร (ต้องเป็นสิ่งที่ทำได้และเป็นจริงได้เท่านั้น) จากนั้นให้สร้างระบบปฏิบัติการส่วนตัวสำหรับชีวิตของคุณ โดยไม่ต้องสนใจกับสิ่งที่คนอื่นคิดว่าดีที่สุดสำหรับคุณ
       
       2. ตระหนักรู้ในความคิดของตัวเอง (Become aware of your thoughts)
       
       ขอให้คุณเริ่มต้นโดยการให้ความสนใจกับความคิดของตัวเอง และพยายามทบทวนว่าคุณมีความคิดเชิงลบเกี่ยวกับตัวเองบ่อยครั้งหรือไม่ การตระหนักรู้แบบนี้จะทำให้คุณหลุดพ้นจากความคิดแม้เพียง 2-3 นาที ทั้งนี้ คุณต้องพยายามลดทอนความคิดในเชิงลบด้วยการรู้จักกับตัวตนของมัน โดยคุณอาจพูดกับตัวเองว่า “เราคิดในเชิงลบอีกแล้ว ดูสิว่ามันกำลังทำอะไรกับเราอยู่”
       
       3. กลั่นกรองการรับรู้ (Filter your perceptions)
       
       เมื่อคุณรู้จักรูปแบบความคิดของคุณมากขึ้นแล้ว ขอให้คุณเริ่มกลั่นกรองความคิดของคุณโดยการพิจารณาความเป็นจริง จงถามตัวเองว่า “ความคิดของฉันมันเป็นจริงหรือไม่? มันเป็นเรื่องจริงทั้งหมดหรือเป็นแค่เพียงการรับรู้ความจริงเท่านั้น?” ขอให้คุณพยายามท้าทายความรู้สึกในเชิงลบ และหาเหตุผลที่จะมาโต้แย้งกับความคิดเชิงลบเหล่านั้น จงทำในสิ่งที่ช่วยผ่อนคลายการยึดติดกับความเชื่อที่ทำให้คุณจำกัดตัวเอง
       
       4. สร้างสภาวะแวดล้อมใหม่ๆ (Create new environments)
       
       ถ้าสภาวะแวดล้อมหรือสถานการณ์ใดๆ มีส่วนทำให้คุณรู้สึกด้อยคุณค่า คุณต้องเปลี่ยนสภาวะแวดล้อมเช่นนั้น โดยการนำตนเองไปอยู่ในสถานการณ์ที่ทำให้คุณรู้สึกประสบผลสำเร็จ ได้รับการยอมรับ และมีความสุขให้บ่อยขึ้น คุณต้องพยายามใช้จุดแข็งของตัวเองเพื่อทำในสิ่งที่คุณถนัดมากกว่าการดิ้นรนทำในสิ่งที่จะทำให้คุณรู้สึกแย่และตกต่ำลง
       
       5. คบกับคนที่ทำให้คุณดีขึ้น (Find the right tribe)
       
       ถ้าคุณอยู่ในกลุ่มของคนที่ชอบวิจารณ์และตัดสินผู้อื่น มันจะยิ่งตอกย้ำให้คุณรู้สึกด้อยค่า ดังนั้น ขอให้คุณคบกับเพื่อนที่พร้อมให้กำลังใจ แสดงความห่วงใย สนุกสนาน และอยู่ด้วยแล้วมีความสุข คุณควรเลิกคบกับคนที่ทำให้คุณรู้สึกต่ำต้อย เป็นพวกชอบควบคุม หรือปฏิบัติกับคุณแบบแย่ๆ ใช่ ! มันอาจไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำแบบนี้ แต่การเลิกคบเพื่อนที่ไม่ดีแบบนี้เพียงหนึ่งคนจะส่งผลให้ความรู้สึกของคุณดีขึ้นอย่างมากมายในแต่ละวัน
       
       6. พยายามฝึกการมองโลกในแง่ดี (Practice realistic optimism)
       
       ถ้าคุณไม่เชื่อว่าคุณเป็นที่ชื่นชอบ และเชื่อว่าการคิดเช่นนั้นเป็นเรื่องที่ผิด แทนที่คุณจะพูดถึงตัวเองแบบนั้น ขอให้คุณพยายามพูดกับตัวเองด้วยคำพูดในเชิงบวกจะดีกว่า ตัวอย่างเช่น คุณอาจพูดว่า “วันนี้ ฉันอาจจะทำงานไม่สำเร็จตามที่ตั้งใจไว้ แต่ฉันรู้ดีว่าฉันสามารถแก้ไขตัวเองให้ดีขึ้นและมันทำให้ฉันรู้สึกดี” คิดอยู่เสมอว่าการแก้ไขปรับปรุงเป็นเรื่องที่ทำได้เสมอ และมันจะช่วยสร้างความรู้สึกที่ดีขึ้นให้กับตัวคุณ
       
       7. เรียนรู้ที่จะยอมรับ (Learn the power of acceptance)
       
       บางครั้งคุณอาจรู้สึกไม่ชอบหน้าตาหรือร่างกายของตัวเอง หรือบางทีคุณดูเป็นคนที่ไม่ร่าเริงหรือน่าสนใจในสายตาของผู้อื่น และเมื่อคุณเห็นคนอื่น คุณก็คิดปรารถนาที่จะเป็นเหมือนพวกเขาเหล่านั้น แต่ในความเป็นจริง หลายสิ่งในชีวิตมันเปลี่ยนแปลงไม่ได้ คุณมีทางเลือกระหว่างการดิ้นรนเพื่อเป็นเหมือนพวกเขา หรือเรียนรู้ที่จะยอมรับมัน และหากคุณยอมรับมันได้ คุณก็จะมีพลังงานเหลือเพียงพอที่จะไปทำสิ่งที่สร้างสรรค์และเป็นประโยชน์มากขึ้น วิธีที่จะฝึกการยอมรับให้ได้ผล คือการเผชิญหน้ากับข้อบกพร่องของคุณอย่างตรงไปตรงมา และพยายามผ่อนคลายจิตใจของตนเองให้มากขึ้น
       
       8. เปลี่ยนแปลงในสิ่งที่คุณทำได้ (Change what you can)
       
       ขอให้คุณทำอะไรก็ได้ที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวก ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนพฤติกรรม ทางเลือกและการกระทำใดๆ ที่จะทำให้คุณรู้สึกรักตัวเองให้มากขึ้น แต่คุณต้องจำไว้ว่าการเปลี่ยนแปลงภายนอกเพียงอย่างเดียวจะไม่ทำให้คุณชื่นชมตัวเองเพิ่มขึ้นมากนัก คุณจะรู้สึกดีมากขึ้นหากคุณจะลงมือกระทำสิ่งใดๆ ที่จะส่งผลต่อความคิดและความเชื่อของคุณ
       
       9. ภูมิใจกับความแตกต่างหรือเอกลักษณ์ในตัวคุณ (Celebrate your differences)
       
       ในบางครั้ง สิ่งที่เรารู้สึกไม่ชอบใจเกี่ยวกับตัวเองอาจจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุดและมีความเป็นเอกลักษณ์โดดเด่นที่สุดในสายตาผู้อื่นก็ได้ ถ้าคุณเป็นแกะดำของครอบครัว คุณอาจเชื่อว่าคุณดูแปลกไม่เหมือนคนอื่น แต่เมื่อคุณเติบโตขึ้น คนอื่นอาจมองว่าคุณมีบุคลิกภาพหรือมีวิถีชิวิตที่น่าสนใจและมีเสน่ห์ดึงดูด ดังนั้น อย่าดิ้นรนที่จะเปลี่ยนแปลง แต่จงภูมิใจในเอกลักษณ์ของเรา
       
       10. หมั่นฝึกความกตัญญูหรือการซาบซึ้งในพระคุณของผู้อื่น (Practice gratitude)
       
       ในเวลาที่คุณคิดกับตัวเองในเชิงลบ ขอให้เปลี่ยนหรือหักเหความสนใจไปสู่สิ่งที่ทำให้คุณซาบซึ้งใจ คุณอาจจะจดบันทึกทุกเรื่องที่ทำให้คุณรู้สึกซาบซึ้งใจ จากที่สำคัญน้อยและไปจนถึงสำคัญมากที่สุด แต่อย่าเพียงแค่จดเนื้อหาเพียงย่อๆ แต่ขอให้ดูรายละเอียดของแต่ละเรื่องและคิดว่าคุณจะรู้สึกอย่างไรหากไม่เกิดเรื่องเหล่านี้ มีผลการศึกษาที่พิสูจน์ชัดว่าการฝึกความกตัญญูหรือการซาบซึ้งในพระคุณของผู้อื่นจะทำให้คุณมีมุมมองกับชีวิตในเชิงบวกและมีความสุขมากขึ้น
       
       11. รู้จักแสดงความเห็นอกเห็นใจในตัวเอง (Show compassion for yourself)
       
       คุณต้องหัดเสแสร้งว่าคุณคือเพื่อนที่ดีที่สุดของตัวเอง และรู้จักที่จะแสดงความเห็นอกเห็นใจตนเองเหมือนกับที่คุณทำกับคนอื่นๆ แทนที่จะทำให้ตัวเองรู้สึกต่ำต้อย คุณต้องใช้คำพูดที่กระตุ้นและให้กำลังใจแก่ตนเอง คุณต้องคิดอยู่เสมอว่าคุณสมควรที่จะได้รับความมีน้ำใจเช่นเดียวกับคนอื่น ดังนั้น คุณต้องปฏิบัติกับตัวเองดีๆ เช่นกัน
       
       12. เรียนรู้ที่จะใช้ทักษการสื่อสารที่ชาญฉลาด (Learn healthy communication skills)
       
       การที่คุณสามารถสื่อสารถึงความรู้สึกและความกลัวของตัวเองแบบมีวุฒิภาวะ ไม่เผชิญหน้ารุนแรง และในแบบที่ชาญฉลาดจะส่งผลต่อความนับถือในตัวคุณ อีกทั้งยังช่วยให้ความสัมพันธ์ของคุณกับผู้อื่นดีขึ้นด้วย คนทุกคนมีความรู้สึกไม่ปลอดภัยหรือไม่มั่นคง แต่แทนที่จะซ่อนหรือลดทอนสิ่งเหล่านี้ลง คุณควรพยายามปรับปรุงสภาวะทางอารมณ์เพื่อลดปฏิกิริยาตอบโต้และสร้างความน่าเชื่อถือให้มากขึ้น
       
       13. พอใจที่จะสร้างขอบเขตของตัวคุณ (Be willing to set boundaries)
       
       เมื่อใดที่คุณไม่รักตัวเอง มันหมายถึงการอนุญาตให้คนอื่นเอาเปรียบตัวคุณ บางครั้งเราอาจไม่รู้ว่าสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น เพราะเราไม่เคยที่จะกำหนดขอบเขตที่ชัดเจนระหว่างสิ่งที่คุณต้องการให้ผู้อื่นปฏิบัติกับคุณกับสิ่งที่คุณไม่ต้องการ การทำแบบนี้อาจดูยากหากคุณปล่อยให้ผู้อื่นทำเช่นนี้จนเคยชิน ดังนั้น ขอให้คุณเริ่มบอกถึงขอบเขตของคุณและพยายามที่จะฝึกการอยู่ในขอบเขตนั้นอย่างแน่วแน่
       
       14. รู้จักพูดเพื่อตัวเอง (Speak up for yourself)
       
       ส่วนหนึ่งในการสร้างและปฏิบัติตัวภายในขอบเขตของตัวคุณคือการรู้จักที่จะพูดเพื่อตัวเอง ถ้าใครพูดหรือทำสิ่งใดที่คุณไม่ชอบ หรือคุณมีความเห็นที่ต้องปิดบังเพราะอาจทำให้คนอื่นกลัวหรือโกรธ คุณต้องพยายามก้าวข้าม “เขตสบาย” (comfort zone) ของตัวเองและกล้าพูดถึงสิ่งที่อยู่ในใจของคุณออกมา คุณสามารถทำสิ่งเหล่านี้ได้อย่างสบายๆ แต่แน่วแน่ ถึงแม้ว่าจะต้องฝืนใจเสแสร้งทำมันในตอนแรกๆ ก็ตาม
       
       15. ดูแลและใส่ใจตัวเอง (Take care of yourself)
       
       คุณควรแสดงความรักและเห็นอกเห็นใจในตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการปฏิบัติกับร่างกาย จิตใจ หรือแม้แต่อารมณ์ โดยการทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกาย พักผ่อนให้เพียงพอ ไปพบแพทย์ ดูแลความสะอาดของร่างกาย และหาวิธีที่จะกระตุ้นจิตใจให้สงบเงียบและสบาย เมื่อคุณทำสิ่งเหล่านี้กับตัวเองเหมือนกับที่ปฏิบัติกับผู้อื่น คุณก็จะรู้สึกมีคุณค่ามากยิ่งขึ้น
       
       16. พยายามทำในสิ่งที่รัก (Find your passion)
       
       เมื่อคุณพบบางอย่างที่คุณรัก ไม่ว่าจะเป็นงานหรือแม้แต่งานอดิเรก คุณจะพบว่าชีวิตต้องการอะไร การได้ทำในสิ่งที่รักทำให้คุณยินดีตื่นแต่เช้าและกระตือรือร้นที่จะทำสิ่งเหล่านั้นด้วยทักษะและความถนัดที่คุณมีอยู่ และมันจะนำไปสู่การยอมรับในตัวเองโดยที่คุณไม่ต้องเสแสร้งเป็นในสิ่งที่คุณไม่ได้เป็น
       
       17. ทำตัวให้ง่ายและสมดุล (Simplify and create balance)
       
       ชีวิตที่ยุ่งเหยิง สับสน และเร่งรีบล้วนแต่ดูดพลังงานและทำให้คุณเหนื่อยล้า คุณต้องคิดว่าสมดุลชีวิตที่ต้องการเป็นอย่างไร และเริ่มที่จะตัดทิ้งงานหรือภาระผูกพันใดๆ ที่ไม่เกี่ยวกับชีวิตของคุณออกไปบ้าง เพื่อที่จะทำให้คุณมีช่องว่างหรือมีอากาศหายใจพอที่จะทำสิ่งที่คุณรัก ทำงานเพื่อตัวเอง และสามารถจัดสรรเวลาและพลังงานได้ดีขึ้น การปล่อยให้ตัวเองมีช่องว่างบ้างถือเป็นวิธีหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าคุณรักตัวเอง
       
       18. จัดการกับบาดแผลหรือสิ่งที่ทำให้บาดเจ็บในอดีต (Deal with past wounds)
       
       ถ้ามีอะไรในวัยเด็กหรือในอดีตที่ผ่านมาที่ส่งผลกระทบต่อความนับถือในตัวเองของคุณ หรือเป็นข้อจำกัดต่อการรักตัวเอง ขอให้คุณพยายามหาวิธีการที่จะรักษาบาดแผลเหล่านั้น โดยคุณอาจคุยกับที่ปรึกษาที่สามารถช่วยเหลือให้คุณค้นพบถึงอดีตที่เจ็บปวด และร่วมมือกันหาวิธีที่จะสร้างความสัมพันธ์ระหว่างคุณและผู้อื่นให้ดีขึ้น
       
       19. ฝึกฝนการให้อภัย (Practice forgiveness)
       
       คุณจะรักตัวเองได้ก็ต่อเมื่อคุณรู้จักที่จะให้อภัยตัวเองและผู้อื่นที่ทำให้คุณเสียใจ การให้อภัยตัวเองก็เหมือนกับการที่คุณให้อภัยคนที่คุณรักโดยไม่รู้สึกฝืนใจและทำด้วยความเห็นอกเห็นใจ การตอกย้ำตัวเองครั้งแล้วครั้งเล่าไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อะไร ขอเพียงแค่คุณทำในสิ่งที่ควรทำเพื่อแก้ไขสิ่งที่ผิด ยึดมั่นในความดีงาม ส่วนผลลัพท์จะเป็นอย่างไร ก็ปล่อยมันไป และถ้ามีใครทำให้คุณเจ็บ ก็รู้จักให้อภัยแก่พวกเขาถึงแม้ว่าเขาจะไม่ได้ร้องขอ การรู้จักให้อภัยเป็นก้าวสำคัญสำหรับความนับถือตัวเอง และสำหรับทุกสิ่งทุกอย่าง
       
       20. แสดงให้ผู้อื่นเห็นถึงความรักที่คุณต้องการ (Show the love you want to others)
       
       ถ้าคุณอยากได้ความรัก คุณต้องเข้าใจ เห็นอกเห็นใจ และปฏิบัติกับผู้อื่นในแบบเดียวกัน อย่าพยายามให้ความรักเพียงแค่ต้องการทำให้ใครคนหนึ่งรู้สึกว่าเรามีคุณค่า หรือแค่เพียงหวังสิ่งตอบแทน คุณต้องให้ความรักที่ไม่มีเงื่อนไขโดยไม่คาดหวัง ยิ่งคุณสามารถรักผู้อื่นได้อย่างใจกว้างมากเท่าใด คุณก็จะมีความรักให้กับตัวเองมากเท่านั้น
       
       การเรียนรู้ที่จะรักตัวเองเป็นกระบวนการ เมื่อคุณเริ่มไว้ใจตัวเอง และกำหนดความต้องการและความปรารถนาของตนเองได้แล้ว คุณจะต้องการเหตุผลและการสนับสนุนจากคนอื่นน้อยลง คุณต้องสร้างประสบการณ์และความสัมพันธ์ที่สอดคล้องกับความเชื่อและความปรารถนาที่แท้จริงของตนเอง และมันจะนำคุณไปสู่ความมีคุณค่าและการเป็นที่รักได้อย่างยั่งยืน
       
       ด้วยความพยายามที่เต็มไปด้วยการเอาใจใส่และการเปลี่ยนทัศนคติ คุณจะพบว่าคุณสามารถนับถือตัวเองและควรค่าแก่การได้รับความรักของตนเอง
       
       “คุณมีค่าคู่ควรที่จะได้รับความรักและความชื่นชอบเหมือนกับคนอื่นๆ ในโลกนี้” (You yourself, as much as anybody in the entire universe, deserve your love and affection)


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ทำอย่างไร รักตัวเอง 20 วิธี สร้างคุณค่าแก่ตนเอง

view