สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ดื้อยาหรือยาผิด โดย วีรพงษ์ รามางกูร

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์คนเดินตรอก

การที่ราคาพลังงานลดลงกว่าครึ่ง หนึ่ง กล่าวคือ ราคาน้ำมันดิบลดลงกว่า 120 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ลงมาเหลือเพียงประมาณ 50-60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล น่าจะช่วยให้เศรษฐกิจของสหรัฐและยุโรปฟื้นตัวอย่างแข็งแรง เพราะทั้งอเมริกาและยุโรปเป็นประเทศที่ต้องนำเข้าน้ำมันและแก๊สธรรมชาติ สุทธิ

แต่การณ์ก็มิได้เป็นอย่างที่คาดที่มองว่า เศรษฐกิจอเมริกาทำท่าเหมือนจะฟื้นตัวอย่างแข็งแรงอัตราการว่างงานลดลงจากที่ เคยสูงกว่าร้อยละ10ลงมาอยู่ที่ร้อยละ5 เท่านั้น ในขณะที่นักเศรษฐศาสตร์ก็คาดการณ์ไว้ว่า ราคาน้ำมันที่ลดลงบวกกับการเพิ่มปริมาณเงิน จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของยุโรปให้ฟื้นตัว เช่นเดียวกันกับประเทศญี่ปุ่นที่ทำตามอย่างสหรัฐอเมริกาและยุโรปในการเพิ่ม ปริมาณเงิน เพื่อหวังว่าเป็นมาตรการที่จะทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัว

เหตุผลหรือกลไกที่ธนาคารกลางสหรัฐก็ดี ยุโรปก็ดี ญี่ปุ่นก็ดี ใช้นโยบายคิว.อี.หรือการผ่อนคลายเชิงปริมาณ หรือพูดง่าย ๆ ก็คือการเพิ่มปริมาณเงินเข้ามาในระบบธนาคาร หรือสถาบันการเงิน โดยหวังว่าเมื่อสถาบันการเงินมีเงินเพิ่มขึ้น หรือสามารถสร้างเงินเพิ่มขึ้นหรือสามารถให้กู้ยืมได้มากขึ้น ในกรณีที่ธนาคารประกาศลดสัดส่วนเงินสำรองต่อปริมาณเงินฝากลง ธนาคารก็จะได้ลดอัตราดอกเบี้ย เมื่อดอกเบี้ยลดลง ค่าเงินของตนก็จะอ่อนลง เมื่อเทียบกับเงินของประเทศที่เป็นคู่ค้าและคู่แข่ง เมื่อค่าเงินของตนอ่อนลงตนก็จะสามารถส่งออกได้มากขึ้น เพราะราคาสินค้าส่งออกของตนราคาถูกลง ผู้ผลิตสินค้าและบริการเพื่อส่งออกจะได้รายได้สูงขึ้น ขณะเดียวกันราคาสินค้านำเข้าเมื่อคิดเป็นเงินสกุลของตนจะมีราคาแพงขึ้น ทำให้มีการนำเข้าน้อยลง ผู้บริโภคจะหันมาใช้สินค้าอุปโภคบริโภคเพิ่ม ผู้ลงทุนก็จะใช้สินค้าประเภททุนในประเทศมากขึ้น ดุลการค้า ดุลบัญชีเดินสะพัดก็จะดีขึ้น การผลิตในประเทศหรือการขยายตัวของผลิตภัณฑ์ในประเทศจะสูงขึ้น การจ้างงานเพิ่มขึ้น การว่างงานน้อยลง

แต่สถานการณ์ในอเมริกาก็ดี ที่ยุโรปก็ดี ที่ญี่ปุ่นก็ดี มิได้เป็นไปอย่างที่คาดการณ์กันเอาไว้

ในระยะเวลาครึ่งหลังของปีกลายและครึ่งแรกของปี 2015 เศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาทำท่าจะฟื้นตัวอย่างเข้มแข็ง เศรษฐกิจของยุโรปทำท่าจะถึงจุดต่ำสุดแล้ว เศรษฐกิจของญี่ปุ่นทำท่าจะฟื้นตัว ทำให้นักเศรษฐศาสตร์มีการคาดการณ์ว่าจีนคงจะสามารถรักษาอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไว้ที่ร้อยละ 7 ต่อปีไว้ได้ แต่จนถึงขณะนี้เวลาย่างมาไม่ถึง 3 เดือน ความมั่นใจที่ว่าเศรษฐกิจของสหรัฐจะฟื้นตัวอย่างยั่งยืน เศรษฐกิจยุโรปและญี่ปุ่นจะฟื้นตัว ความมั่นใจที่ว่าก็ได้อันตรธานหายไปเสียแล้ว

มาถึงขณะนี้ จึงมีการตั้งคำถามว่า การเพิ่มปริมาณเงินเข้ามาในระบบอย่างมากจะช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้นั้น จริงหรือไม่ เป็นการให้ยาผิด หรือเป็นเพราะเศรษฐกิจดื้อยาเสียแล้ว



ในทางทฤษฎีเศรษฐศาสตร์มหภาค เมื่อพูดถึงนโยบายหรือมาตรการในการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจตกต่ำเกินไปหรือร้อนแรงเกิน มีสำนักคิดที่มีความคิดต่างกันอยู่ 2 สำนัก

สำนักแรกคือ สำนักที่เดินตามแนวคิดของ ลอร์ด จอห์น เมนาร์ด เคนส์ และอีกสำนักหนึ่งเรียกว่า สำนักชิคาโก หรือสำนักนโยบายการเงินนิยม ซึ่ง ดร.มิลตัน ฟรีดแมน เป็นผู้นำทางด้านความคิด

สำนักชิคาโกหรือพวกนโยบายการเงินนิยมมีความเห็นว่า ปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจมีความสำคัญที่สุด ปัญหาของระบบเศรษฐกิจก็คือ รัฐบาลหรือทางการเข้ามาแทรกแซงระบบเศรษฐกิจมากเกินไป ถ้าหากปล่อยให้กลไกทางเศรษฐกิจทำงานอย่างเต็มที่ ขณะเดียวกันธนาคารกลางจัดการให้ระบบปริมาณเงินอยู่ในระดับที่เหมาะสม ปล่อยให้อัตราดอกเบี้ยและอัตราแลกเปลี่ยนเป็นไปตามกลไกตลาด ระบบเศรษฐกิจจะปรับตัวเอง ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำก็จะไม่เกิด

ส่วนอีกสำนักหนึ่งมีความเห็นว่า ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำเป็นปรากฏการณ์ที่เราจะพบได้อยู่เสมอ เท่า ๆ กับภาวะเศรษฐกิจที่รุ่งเรือง เป็นวัฏจักรที่อธิบายได้ ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องพยายามทำให้เศรษฐกิจไม่ร้อนแรงเกินไปในช่วงเศรษฐกิจขาขึ้น ไม่ตกต่ำเกินไปในช่วงเศรษฐกิจขาลง ในช่วงเศรษฐกิจขาขึ้นนั้น การลดปริมาณเงินลงเพื่อทำให้ดอกเบี้ยแพงขึ้นและค่าเงินแข็งขึ้น เป็นมาตรการที่ได้ผล มีประสิทธิภาพที่จะทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวหรือลดความร้อนแรงลงได้

เหตุผล ดังกล่าวจะไม่เป็นจริงในช่วงเศรษฐกิจขาลงหรือในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำอย่างที่ เป็นอยู่ในขณะนี้กล่าวคือการใช้นโยบายการเงินโดยการเพิ่มปริมาณเงินเข้ามาใน ระบบผ่านระบบธนาคารพาณิชย์เพื่อทำให้ดอกเบี้ยมีอัตราต่ำลงอัตราแลกเปลี่ยน อ่อนค่าลง อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น จะไม่ได้ในการกระตุ้นการลงทุนของภาคเอกชน มาตรการดังกล่าวจะไม่เป็นผลหรือไม่มีประสิทธิภาพในการกระตุ้นการลงทุน รวมทั้งไม่เพิ่มการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคของครัวเรือน สภาวการณ์ดังกล่าว เคนส์ เรียกว่า "กับดักสภาพคล่อง" กล่าวคือเป็นสถานการณ์ที่มีการออมมากกว่าการลงทุน สถาบันการเงินรับเงินฝากมาแล้วปล่อยไม่ออก เพราะไม่มีการลงทุนของภาคเอกชน หรือมีก็น้อย

ในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจตกต่ำดังกล่าว มาตรการที่ถูกต้องคือการเพิ่มการขาดดุลงบประมาณของภาครัฐบาล เพิ่มทั้งรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่น เพิ่มการใช้จ่ายในโครงการลงทุนโครงสร้างต่าง ๆ กระตุ้นการใช้จ่ายในการให้บริการของภาครัฐให้มากขึ้น เพื่อชดเชยกับการที่เอกชนไม่ลงทุน เพราะเอกชนยังมีกำลังการผลิตเหลือเฟือ การผลิตยังไม่เต็มกำลังการผลิต การเพิ่มปริมาณเงินอย่างเดียวไม่ทำให้เกิดการสร้างงานและการลงทุนในภาคเศรษฐกิจ

ปัญหา ที่เพิ่มเติมเข้ามาอีกก็คือนอกจากภาคการผลิตยังมีกำลังการผลิตเหลือเฟือแล้ว ในภาคการเงินเงินทุนก็ยังมีเหลือมากด้วยและเหลือเพิ่มมากขึ้นจนทำให้อัตรา ดอกเบี้ยที่แท้จริงติดลบ

ปัญหาของสหรัฐอเมริกาและยุโรปในการตั้งงบ ประมาณขาดดุลก็คือรัฐสภาของสหรัฐได้ออกกฎหมายจำกัดยอดหนี้สาธารณะของรัฐบาล กลางและรัฐบาลท้องถิ่นไว้เพราะเหตุว่ารัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นได้กู้มา มากจนทำให้ยอดหนี้สาธารณะสูงติดเพดานแล้ว

ส่วนกรณีของสหภาพยุโรประดับการพัฒนาของประเทศต่างๆ ในยุโรปมีไม่เท่ากัน เยอรมนี ฝรั่งเศสและประเทศสแกนดิเนเวียมีความสามารถในการแข่งขันสูงกว่าประเทศยุโรปอื่น ๆ เช่น อิตาลี สเปน โปรตุเกส ไอร์แลนด์ ทำให้เกิดความไม่สมดุลเมื่อมารวมกันเป็นสหภาพยุโรปในเขตเงินยูโร ประเทศที่ขาดดุลและไม่มีเงินตราของตนที่จะลดค่าจึงเหลือเพียงมาตรการทางนโยบายการคลัง แต่ขณะเดียวกันก็ติดเงื่อนไขของธนาคารกลางยุโรป ซึ่งในระยะนี้ธนาคารกลางยุโรปควรจะหาทางลดเงื่อนไขสำหรับการขาดดุลงบประมาณของประเทศสมาชิกลง มิฉะนั้นสมาชิกบางประเทศอาจจะต้องออกจากเขตเงินยูโรไปก็ได้

เศรษฐกิจของโลกทุกวันนี้จึงเป็นปัญหาของการใช้ยาผิดไม่ใช่การดื้อยาอย่างที่เข้าใจกัน

รัฐสภาสหรัฐอเมริกาและยุโรปอาจจะต้องแก้กฎหมายอนุญาตให้รัฐบาลอเมริกาและยุโรปเพิ่มการขาดดุลได้มากกว่านี้


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ดื้อยาหรือยาผิด วีรพงษ์ รามางกูร

view