สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

การแข่งขันและการผูกขาดทางการค้า

การแข่งขันและการผูกขาดทางการค้า
โดย : เรวัต ตันตยานนท์
จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




ขึ้นชื่อว่าการแข่งขัน ย่อมต้องมีผู้อยากได้ชัยชนะเหนือผู้อื่น และผู้ที่ไม่ชนะอาจต้องตกอยู่ในความเสียเปรียบไม่ว่าในแง่ใดแง่หนึ่ง

ผู้เล่นโดยทั่วไปจึงมักมุ่งที่จะ "คว้าชัยชนะ" ให้ได้ แม้ว่าในบางครั้งอาจได้มาด้วยการเอาเปรียบหรือใช้ความไม่โปร่งใสต่อผู้แข่งขันรายอื่น

ในระบบการค้าเสรีก็เช่นกัน เจ้าของหรือผู้บริหารธุรกิจย่อมจะต้องเผชิญการแข่งขันในเชิงการค้าอยู่ตลอดเวลาโดยธรรมชาติ และต้องการบริหารธุรกิจของตนเพื่อสร้างกำไรหรือขยายฐานธุรกิจออกไปสู่ความมั่นคงและยั่งยืนของธุรกิจ ซึ่งหมายถึงสถานภาพทางเศรษฐกิจและการเงินที่มั่นคงของเจ้าของธุรกิจควบคู่กันไปด้วย

ดังนั้น หากไม่มีกฎเกณฑ์มากำหนดวิธีการแข่งขันที่เป็นธรรม การแข่งขันก็อาจเกินเลยไปถึงการสร้างการผูกขาด เพื่อดึงผลประโยชน์จากการค้าทั้งหมดมาเป็นของตนแต่ผู้เดียว

สำหรับประเทศไทย เรามี พระราชบัญญัติ การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2542 มาใช้เป็นเกณฑ์ปฏิบัติในเรื่องของการแข่งขันและการผูกขาดทางการค้า ซึ่งครอบคลุมการแข่งขันสำหรับธุรกิจเกษตร อุตสาหกรรม พาณิชยกรรม การเงิน การประกันภัย และการบริการต่างๆ

สรุปได้ว่า ไม่ว่าธุรกิจใด ก็ย่อมที่จะต้องอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์และข้อบังคับเดียวกันทั้งสิ้น

กฎหมายกำหนดให้ มี “คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า” ซึ่งประกอบด้วย ประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานกรรมการ ปลัดกระทรางพาณิชย์เป็นรองประธานกรรมการ ปลัดกระทรวงการคลังและผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมีความรู้และประสบการณ์ทางนิติศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ พาณิชยศาสตร์ การบริหารธุรกิจหรือการบริหารราชการแผ่นดิน จำนวนไม่น้อยกว่า 8 คน แต่ไม่เกิน 12 คน ซึ่งคณะรัฐมนตรีเป็นผู้แต่งตั้ง และต้องมีผู้ทรงคุณวุฒิภาคเอกชน ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง เป็นคณะกรรมการ

นอกจากนี้ คณะกรรมการยังต้องไม่เป็นข้าราชการการเมือง ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กรรมการหรือผู้ดำรงตำแหน่งที่รับผิดชอบในการบริหารพรรคการเมือง อีกด้วย

แสดงว่า นักการเมืองทั้งหลาย จะถูกกันออกไปจากการทำหน้าที่กรรมการในการแข่งขันทางการค้า ไม่สามารถชี้บอกให้ได้ว่าใครควรเป็นผู้ชนะหรือแพ้ตามใจชอบ

สำหรับประเทศเรา กฎเกณฑ์การคุ้มครองสังคมทั่วไป จะเริ่มจากธุรกิจที่ “มีอำนาจเหนือตลาด” ซึ่งหมายถึง ผู้ที่สามารถ กำหนดราคาสินค้าหรือบริการได้อย่างไม่เป็นธรรม หรือ บังคับ จำกัด โดยทางตรงหรือทางอ้อมไม่ให้ลูกค้าของตนสามารถทำธุรกิจหรือมีโอกาสเลือกซื้อสินค้าอื่นได้อย่างไม่เป็นธรรม หรือ หยุด ลด หรือจำกัดการซื้อขายสินค้าหรือให้บริการของตนเองโดยไม่มีเหตุผลอันควร หรือ ทำลายหรือทำให้สินค้าเสียหายเพื่อลดปริมาณให้ต่ำกว่าความต้องการของตลาด หรือ แทรกแซงการประกอบธุรกิจของผู้อื่นโดยไม่มีเหตุอันควร

พฤติกรรมเหล่านี้ ถือได้ว่าเข้าข่ายการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมหรือการผูกขาดครอบงำตลาด

นอกจากนี้ กฎหมายไทย ยังกำหนดไม่ให้มีการควบรวมธุรกิจเข้าด้วยกันในลักษณะอันอาจก่อให้เกิดการผูกขาดหรือความไม่เป็นธรรมในการแข่งขัน โดยการควบรวมธุรกิจ อาจเป็นในแนวดิ่ง เช่น ผู้ผลิต ควบรวมกับผู้จำหน่ายและผู้ให้บริการ หรือในแนวราบ เช่นผู้ผลิตรวมกับผู้ผลิต ผู้จำหน่ายรวมกับผู้จำหน่าย เป็นต้น

รวมถึงการเข้าซื้อกิจการ การเข้าซื้อทรัพย์สิน หรือซื้อหุ้น ทั้งหมดหรือบางส่วนจากธุรกิจอื่นเพื่อให้ได้ซึ่งอำนาจในการควบคุมนโยบายหรือบริหารธุรกิจ

และยังห้ามไม่ให้ธุรกิจรวมตัวกันเพื่อกำหนดราคาซื้อหรือขายสินค้าหรือบริการให้เป็นราคาเดียวกัน การตกลงสมรู้กันเพื่อให้อีกฝ่ายหนึ่งได้ชนะการประมูล หรือไม่ให้อีกฝ่ายหนึ่งเข้าร่วมในการประมูล

การกำหนดแบ่งท้องที่หรือพื้นที่ให้มีผู้ทำธุรกิจได้ภายในท้องที่หรือพื้นที่นั้นได้เฉพาะผู้เดียว การแต่งตั้งหรือมอบหมายให้บุคคลใดแต่ผู้เดียวเป็นผู้จำหน่ายสินค้าหรือให้บริการอย่างเดียวกันหรือประเภทเดียวกัน หรือกำหนดเงื่อนไขหรือวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการซื้อหรือจำหน่ายสินค้าหรือการบริการเพื่อให้ปฏิบัติเป็นแบบเดียวกันหรือตามที่ตกลงกัน

เงื่อนไขในกฎหมายเหล่านี้ จะเห็นได้ว่าเป็นการให้ความคุ้มครองแก่สังคมและผู้บริโภคทั่วไป ให้มีทางเลือกในการซื้อสินค้าหรือใช้บริการได้อย่างเป็นธรรม

ทั้งนี้ สิ่งที่จะนำมาใช้ในการวัดที่เป็นจำนวนที่เป็นรูปธรรมเพื่อการพิจารณาตัดสินความเป็นไปตามกฎหมาย ได้แก่ ยอดขายสินค้า จำนวนทุน จำนวนหุ้น หรือจำนวนสินทรัพย์ที่ถือครอง และส่วนแบ่งการตลาด เป็นต้น

ในปัจจุบัน เกณฑ์การเป็นผู้ประกอบธุรกิจซึ่งมีอำนาจเหนือตลาด ได้แก่การที่ผู้ประกอบธุรกิจรายใด รายหนึ่ง ในตลาดสินค้าใดสินค้าหนึ่งหรือบริการใดบริการหนึ่ง มีส่วนแบ่งตลาดในปีที่ผ่านมาตั้งแต่ 30% ขึ้นไป และมียอดเงินขายในปีที่ผ่านมาตั้งแต่ 500 ล้านบาทขึ้นไป

หรือเป็น ผู้ประกอบธุรกิจสามรายแรก ในตลาดสินค้าใดสินค้าหนึ่งฯ ที่มีส่วนแบ่งตลาดในปีที่ผ่านมารวมกันตั้งแต่ 75% ขึ้นไป และมียอดเงินขายในปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ 500 ล้านบาทขึ้นไป

จะถือว่าเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาด

แต่ให้พิจารณาสภาพการแข่งขันของตลาดด้วย

โดย คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า มีหน้าที่สอดส่อง รับเรื่องร้องเรียน และเร่งรัดการสอบสวนการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้

การแข่งขันทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมและการผูกขาดทางการค้า จะมีผลกระทบกระเทือนโดยตรงต่อสังคมและผู้บริโภค จึงมีกฎหมายบังคับผู้ที่ทำธุรกิจการค้าทั้งหมดให้อยู่ในแนวปฏิบัติเดียวกัน และมีกฏเกณฑ์ที่เป็นกิจลักษณะและเปิดเผย

ผู้ที่ได้รับความไม่เป็นธรรมจากการทำผิดกฎหมายฉบับนี้ จะสามารถร้องเรียนไปยังคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าได้ตามกฎหมาย

ดีกว่าจะใช้วิธีแชร์กันผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งอาจจะได้ผลในการกระจายข่าว แต่กติกาการค้าที่เป็นทางการตามกฏหมายก็มีช่องทางเปิดให้อยู่แล้ว

มาเล่นกันในกรอบดีกว่าทั้งผู้ที่กล่าวหาและถูกกล่าวหา

เพื่อให้สังคมได้รับทราบข้อเท็จจริงที่ว่าสังคมตกเป็นเหยื่อของพ่อค้าที่เอาเปรียบอย่างไม่เป็นธรรมหรือไม่!!!



สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : การแข่งขัน การผูกขาดทางการค้า

view