สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

อันเนื่องมาจากเรื่องของ วอร์เรน บัฟเฟตต์

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ระดมสมอง โดย ไสว บุญมา sboonma@msn.com

เดือนนี้เป็นวาระครบ 50 ปี ที่วอร์เรน บัฟเฟตต์ ดำรงตำแหน่งหัวหน้าผู้บริหารของบริษัทเบิร์กไชร์ ฮาธาเวย์ ซึ่งเขาเข้าถือหุ้นส่วนใหญ่ในปี 2508 ในช่วงเวลา 50 ปี เบิร์กไชร์ได้เปลี่ยนจากบริษัทขนาดเล็กที่ทำธุรกิจผลิตภัณฑ์สิ่งทอ มาเป็นยักษ์ใหญ่ในด้านการลงทุนที่มีมูลค่าหุ้นถึง 3.5 แสนล้านดอลลาร์ นับเป็นลำดับที่ 3 ในตลาดหลักทรัพย์ของอเมริกา มูลค่าอันมหาศาลนั้นเป็นปัจจัยที่ทำให้ วอร์เรน บัฟเฟตต์ เป็นมหาเศรษฐีที่มีทรัพย์สินเกือบ 73,000 ล้านดอลลาร์ นับเป็นลำดับที่ 3 ของโลก ตามการประเมินครั้งล่าสุดของนิตยสารฟอร์บส

การดำรงตำแหน่งสูงสุดของบริษัทขนาดยักษ์อยู่นานถึง 50 ปี ไม่ค่อยมีเกิดขึ้นบ่อยนัก แม้แต่นักธุรกิจชื่อดังทั้งในประวัติศาสตร์และในปัจจุบันที่มองกันว่ายึดเก้าอี้หัวหน้าผู้บริหารไว้นานมากยังอยู่ไม่นานเท่าวอร์เรนบัฟเฟตต์เช่นจอห์น ดี. รอกกี้เฟลเลอร์ ผู้ก่อตั้งบริษัทสแตนดาร์ดออยล์ บริหารบริษัทนั้นอยู่ 27 ปี ส่วน บิล เกตส์ ผู้ก่อตั้งบริษัทไมโครซอฟท์ บริหารบริษัทของเขาอยู่ 25 ปี ในปัจจุบันนี้ ข้อมูลบ่งชี้ว่า หัวหน้าผู้บริหารของบริษัทขนาดใหญ่ที่อยู่ใน "ฟอร์จูน 500" โดยเฉลี่ยดำรงตำแหน่งอยู่ 9.9 ปีเท่านั้น

ในช่วงนี้มีข้อเขียนถึงวอร์เรน บัฟเฟตต์ จำนวนมาก เนื้อหาของข้อเขียนเหล่านั้นครอบคลุมหลายด้านซึ่งล้วนน่าสนใจ บางอย่างคอลัมน์นี้เคยพูดถึงบ้างแล้ว รวมทั้งคำแนะนำเด่น ๆ ของเขาเรื่อง "บัฟเฟตต์ถึงบัฟเฟตต์และเคล็ดไม่ลับ" ซึ่งลงพิมพ์เมื่อเดือนตุลาคม 2556 นอกจากนั้น ย้อนกลับไปอีกหลายปี หนังสือพิมพ์นี้ยังตีพิมพ์บทคัดย่อหนังสือของเขา เรื่อง The Essays of Warren Buffett อีกด้วย บทคัดย่อนั้นมีด้วยกัน 4 ตอน ซึ่งลงพิมพ์ในคอลัมน์ "ผ่ามันสมองของปราชญ์" ระหว่างวันที่ 2-12 มีนาคม 2552 (ทั้งบทความและบทคัดย่อดังกล่าวอาจดาวน์โหลดได้จากเว็บไซต์ของมูลนิธินักอ่านบ้านนา www.bannareader.com) ในบรรดาข้อเขียนเหล่านั้น หลักการบริหาร 3 ข้อของเขาได้รับการย้ำเน้นเป็นพิเศษ 

บ้านของวอร์เรน บัฟเฟตต์

ข้อแรก ซื้อเฉพาะบริษัทที่แข็งแกร่งเท่านั้น ก่อนเข้าไปซื้อบริษัทขนาดต่าง ๆ กว่า 60 บริษัทเข้ามาเป็นของเบิร์กไชร์ เขาวิเคราะห์อย่างถี่ถ้วนว่า บริษัทเหล่านั้นต้องแข็งแกร่งจริงและมีการบริหารจัดการที่ดี เนื่องจากเขามีหลักยึดว่า จะไม่ใช้เงินทุนดี ๆ ไปซื้อของที่ด้อยคุณภาพเด็ดขาด หลังจากซื้อบริษัทเหล่านั้นแล้ว เขาจะปล่อยให้ผู้บริหารทำงานอย่างอิสระและจะไม่ยอมขาย เขาและคณะผู้บริหารในเบิร์กไชร์จะดูอยู่ห่าง ๆ เท่านั้น เนื่องจากบริษัทที่เบิร์กไชร์ซื้อมีฐานอันแข็งแกร่งอยู่แล้ว โอกาสที่จะขาดทุนจนล้มละลายจึงแทบไม่มี ตรงข้ามโอกาสที่จะรุ่งเรืองต่อไปมีสูงมาก ด้วยเหตุนี้ในช่วง 50 ปี ราคาหุ้นของเบิร์กไชร์จึงเพิ่มขึ้นไปถึง 12,000 เท่า ในขณะที่ดัชนีหุ้นของบริษัทอุตสาหกรรมในกลุ่มดาวโจนส์เพิ่มขึ้นเพียง 18 เท่า

ข้อสอง หลีกเลี่ยงกระบวนการทำงานและขั้นตอนที่จะทำให้องค์กรอุ้ยอ้าย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการทำงบประมาณ งานด้านกฎหมาย หรือการประชาสัมพันธ์ ด้วยเหตุนี้ สำนักงานของเบิร์กไชร์จึงมีผู้บริหารและพนักงานเพียง 25 คนเท่านั้น ทั้งที่บริษัทในเครือมีธุรกิจหลากหลาย ส่งผลให้ตอนนี้มีรายรับปีละเกือบ 2 แสนล้านดอลลาร์ และคนงานกว่า 3.4 แสนคน ความไม่อุ้ยอ้ายส่งผลให้มองเห็นโอกาสและตัดสินใจทำอะไรได้อย่างรวดเร็ว

ข้อสาม มองข้ามผลประกอบการระยะสั้น ยึดยุทธการระยะยาวเป็นที่ตั้ง วอร์เรน บัฟเฟตต์ จะไม่ทำอะไรเพียงเพื่อเอาใจนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ ไม่ว่าจะเป็นการแตกหุ้นหรือการใช้หุ้นของเบิร์กไชร์ซื้อบริษัทอื่น ราคาหุ้นประเภท A ของเบิร์กไชร์จึงสูงเกินหุ้นละ 2.2 แสนดอลลาร์ ส่งผลให้นักลงทุนรายวันซื้อได้ยากมาก หากพวกเขาซื้อหุ้นประเภท B ที่ราคาถูกกว่าก็จะมีสิทธิ์ออกเสียงได้เพียง 1 ใน 10,000 ของหุ้นประเภท A เท่านั้น

ข้อเขียนต่าง ๆ ที่ปรากฏในช่วงนี้ล้วนมุ่งไปที่ด้านหลักการลงทุนและการบริหารอันเป็นการปูทางไปสู่การสร้างความร่ำรวย ด้วยเหตุนี้ จึงแทบไม่มีเรื่องเกี่ยวการใช้เงินที่วอร์เรน บัฟเฟตต์ หามาได้ซึ่งน่าสนใจเช่นกัน แม้จะเป็นมหาเศรษฐีมีทรัพย์สินกว่า 7 หมื่นล้านดอลลาร์ แต่วอร์เรน บัฟเฟตต์ ยังอาศัยอยู่ในบ้านหลังเก่าซึ่งเขาซื้อมา 57 ปีแล้ว บ้านหลังนั้นอยู่ในเมืองโอมาฮา รัฐเนแบรสกา ซึ่งนับว่าเป็นเมืองขนาดกลางของรัฐที่ยังมีความเป็นชนบทสูง เขากินอยู่อย่างสมถะและยังไปไหนมาไหนในระยะทางใกล้ ๆ ด้วยการขับรถไปเอง เขาไม่มีบ้านพักตากอากาศ หรือเรือยอชต์ขนาดใหญ่สำหรับใช้ในการพักผ่อนหย่อนใจเช่นมหาเศรษฐีอื่น

กระนั้น ก็ดี วอร์เรน บัฟเฟตต์ มิใช่คนตระหนี่ถี่เหนียว โดยเฉพาะหากมองจากมุมของความตั้งใจในการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ ณ วันนี้อาจเป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า เขาได้ให้คำมั่นสัญญาว่าจะบริจาค 99% ของทรัพย์สินเพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ การบริจาคส่วนใหญ่จะให้มูลนิธิของบิล เกตส์ บริหารจัดการ บิล เกตส์ เป็นเพื่อนร่วมอุดมการณ์ที่มีอายุน้อยกว่าวอร์เรน บัฟเฟตต์ 2 รอบ ทั้งคู่มิเพียงจะบริจาคทรัพย์สินของตนเท่านั้น หากยังชักชวนมหาเศรษฐีด้วยกันให้เข้าร่วมอีกด้วย ทั้งสองจึงได้ก่อตั้งองค์กรขึ้น ชื่อ "คำมั่นสัญญาว่าจะให้" (Giving Pledge) มหาเศรษฐีที่มีอุดมการณ์แนวเดียวกันมีโอกาสเข้าไปเขียนคำมั่นสัญญาว่าจะ บริจาคอย่างน้อยครึ่งหนึ่งของทรัพย์สินการบริจาคจะทำในระหว่างที่มีชีวิต อยู่หรือหลังจากนั้นก็ได้ในขณะนี้มีมหาเศรษฐีอเมริกันที่มีทรัพย์สินพันล้าน ดอลลาร์ขั้นไปเข้าร่วมให้คำมั่นสัญญาแล้ว 130 คน รวมทั้งมาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้งสังคมออนไลน์เฟซบุ๊กที่มีอายุเพียง 30 ปีเท่านั้น

นอกจากในอเมริกา วอร์เรน บัฟเฟตต์ และบิล เกตส์ ยังได้ออกไปชักชวนมหาเศรษฐีระดับพันล้านดอลลาร์ในจีน อินเดีย และซาอุดีอาระเบียอีกด้วย แต่ในขณะนี้ยังไม่ปรากฏอย่างแจ้งชัดว่า มหาเศรษฐีในประเทศเหล่านั้นจะเข้าร่วมหรือไม่ เมืองไทยมีมหาเศรษฐีระดับพันล้านดอลลาร์ 17 คน ในจำนวนนี้จะมีผู้ใดกระทำในแนวเดียวกันกับวอร์เรน บัฟเฟตต์ และบิล เกตส์ บ้างหรือไม่ ยังไม่เป็นที่ประจักษ์


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : อันเนื่องมาจาก เรื่อง วอร์เรน บัฟเฟตต์

view