สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ประเทศไทย : คนป่วยใหม่ของเอเชีย ?

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ ช่วยกันคิด

โดย เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ศิริกัญญา ตันสกุล สถาบันอนาคตไทยศึกษา

ประเทศไทยได้รับฉายาคนป่วยคนใหม่ของเอเชีย เพราะอาการล้าหลังเพื่อนบ้านเริ่มชัดเจนมากขึ้น

ตัวเลขที่เห็นได้ชัดและได้รับความสนใจ คืออัตราการเติบโตของไทยเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน เราสามารถเห็นได้ว่า สิบปีที่ผ่านมา จีดีพีของประเทศไทยเพิ่มขึ้นเพียง 32% รั้งท้ายบรรดาประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนาม (โต 70%) อินโดนีเซีย (66%) หรือฟิลิปปินส์ (60%)

แต่นอกจากอาการเติบโตทางเศรษฐกิจ ประเทศไทยก็มีอาการล้าหลังประเทศเพื่อนบ้านอื่น ๆ ที่ชัดเจน เช่น เราไม่สามารถไล่ตามประเทศที่เจริญกว่าเราอย่างมาเลเซียได้ เห็นได้จากสัดส่วนรายจ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาต่อจีดีพีของเรา ซึ่งถึงแม้จะเพิ่มขึ้นมากในช่วงหลัง แต่ก็ยังไม่ถึงครึ่งของมาเลเซีย

ในขณะเดียวกันเราไม่สามารถทิ้งตัวห่างจากคู่แข่งใหม่อย่างเวียดนาม เมื่อยี่สิบปีก่อนการลงทุนโดยตรงของไทยเคยมากกว่าเวียดนาม 14 เท่า แต่เมื่อเวลาผ่านไป ระดับการลงทุนโดยตรงของสองประเทศต่างกันเพียง 1.5 เท่า ถึงแม้ว่าขนาดเศรษฐกิจเวียดนามยังไม่ถึงครึ่งหนึ่งของไทยก็ตาม


แต่จริง ๆ แล้วประเทศไทยป่วยมานานมากแล้ว




ถ้าเราย้อนหลังไปเมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน จะเห็นว่า "สัดส่วนการส่งออก" ของไทย ในตลาดโลกอยู่ที่ 1.7% แต่ได้ค่อย ๆ ปรับลงมาเหลือที่ 1.3% เช่นเดียวกับสัดส่วนของการลงทุนโดยตรงจากโลกของเรา เคยอยู่ที่ 1.2% แต่ก็ลดลงมาเหลือ 0.9% (รูปที่ 3) และอาการป่วยไม่ได้เป็นเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจ เช่น การเติบโตของจีดีพีส่งออกหรือการลงทุน แต่เป็นกับอาการป่วยในเรื่องพื้นฐานมาก ๆ เช่น ประสิทธิภาพแรงงานที่ต่ำ ความเหลื่อมล้ำที่สูง ขาดการวิจัยและพัฒนาด้านนวัตกรรม ฯลฯ และยังรวมถึงอาการป่วยทางด้านสังคม เช่นเด็กและเยาวชน ซึ่งมีคดีติดตัวมากขึ้นเรื่อย ๆ หรือไม่ก็กลายเป็นแม่คนก่อนวัยอันควร

ด้านสิ่งแวดล้อมที่เสื่อมโทรมลงแทบทุกด้าน พลังงานถูกใช้อย่างสิ้นเปลือง และที่สำคัญคือ เรื่องธรรมาภิบาล ที่เสื่อมถอยลงในด้านประสิทธิภาพภาครัฐและการแก้ปัญหาคอร์รัปชั่น

ที่ผ่านมาคนป่วยยังไม่ได้รับการรักษาที่ถูกทางจากหมอถ้าเราย้อนหลังกลับไปสิบปีประเทศไทยมีรัฐบาล7ชุด แต่ถ้าดูนโยบายหลัก ๆ จะเห็นได้ว่า ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลชุดไหนก็ตาม ยาที่ให้คนไข้เป็นหลักเป็น "ยาประชานิยม"

เห็นได้จาก 5 ปีที่ผ่านมา (2553-2557) เราใช้งบประมาณประชานิยมรวมเกือบ 2 ล้านล้านบาท ทั้งจำนำข้าว อุดหนุนพลังงาน และรถคันแรกก็ใช้งบประมาณรวมทั้งสิ้นเกือบ 1.5 ล้านล้านบาท

ขณะที่งบฯลงทุนรวมเพียง 1.3 ล้านล้านบาทเท่านั้น แต่การให้ยาประชานิยมหรือยากระตุ้นเศรษฐกิจเป็นเพียง การบรรเทา อาการซบเซาของเศรษฐกิจไทย ไม่ได้เป็นการรักษาโรคที่แท้จริงของคนป่วย

แล้วโรคที่แท้จริงของคนป่วยคืออะไร ?

หน้าที่ของหมอที่ดี คือการวินิจฉัยโรคตามอาการที่เห็น นักวิเคราะห์ก็เช่นเดียวกัน อาการของการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงก็มีพื้นฐานจากประสิทธิภาพแรงงานที่โตช้า ซึ่งมีที่มาที่ไปหลายอย่าง เช่น การลงทุนที่ต่ำ ถ้าถามต่อว่าทำไมการลงทุนบ้านเราจึงต่ำ จะสามารถโยงไปถึงเรื่องความไม่แน่นอนของนโยบายภาครัฐ ความไม่สงบทางด้านการเมือง ปัญหาคอร์รัปชั่น ธรรมาภิบาล ปัญหาระบบอุปถัมภ์ ฯลฯ

แต่วิเคราะห์ไปก็เพียงเท่านั้น ถ้ารักษาไม่ได้ ในความเป็นจริงแล้ว ด้วยอาการป่วยที่หลากหลายของประเทศไทย คงไม่ได้มีต้นตอเพียงโรคใดโรคหนึ่ง แต่มีอาการแทรกซ้อนเข้ามาอีกหลายโรค การรักษาจึงต้องใช้ยาหลายขนาน

แต่ถ้าจะรักษาตามอาการในวันนี้ ควรเน้นไปที่ การลงทุนภาคเอกชน เพราะจะช่วยเศรษฐกิจได้ทั้งระยะสั้นและระยะยาว ต่างจากนโยบายประชานิยม ที่กระตุ้นการบริโภคได้เพียงระยะสั้น และการลงทุนของไทยเองก็ต่ำมานาน จนถึงทุกวันนี้ยังไม่สามารถรื้อฟื้นระดับการลงทุนได้เท่ากับเมื่อก่อนเกิดวิกฤตปี′40

ส่วนภาคเอกชนก็มีความพร้อมที่จะกู้ขาดก็แต่ความเชื่อมั่นทำให้อยู่ในช่วง"รอดูสถานการณ์"ถ้าจะให้ภาคเอกชนเลิกรอ ต้องเพิ่มยาแรงเข้าไป เช่น การทำ Investment Tax Allowance ชั่วคราว ซึ่งเป็นการอนุญาตให้เอกชนสามารถนำค่าใช้จ่ายในการซื้อสินค้าทุน เช่น เครื่องจักร อุปกรณ์และสิ่งปลูกสร้าง มาหักเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อยกเว้นภาษีเงินได้ตามสัดส่วน เป็นต้น

แต่การรักษาจะไม่เป็นผล ถ้าไม่สามารถเรียกความเชื่อมั่นกลับคืนมา ซึ่งทำได้โดยการประกาศแผนที่มีรายละเอียดชัดเจน ทำให้คนสามารถคาดการณ์ได้ว่าจะเกิดการลงทุนอะไร จะเห็นอะไรในอีก 3 เดือนข้างหน้า และดำเนินการตามแผนนั้นจริง ๆ เพราะหลายแผนที่รัฐบาลเคยประกาศ แต่มีไม่กี่เรื่องที่ทำจริง

สุดท้ายรัฐต้องสื่อสารให้ชัดเจนเป็นเอกภาพ (Stay on Message) เพื่อเป็นการย้ำว่าแผนดังกล่าวจะเกิดขึ้นจริงและเห็นผลจริง สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้ความเชื่อมั่นของภาคเอกชนกลับคืนมา


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ประเทศไทย  คนป่วยใหม่ ของเอเชีย

view