สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ประชาธิปไตยที่ยั่งยืนในประเทศไทย

ประชาธิปไตยที่ยั่งยืนในประเทศไทย

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...วิลเลี่ยม คลาวสเนอร์ นักมานุษยวิทยาและนักวิเคราะห์สังคมการเมือง, เจมส์ สเตนท์ นักการธนาคารและนักวิจัยเศรษฐกิจการเมือง, โรเบิร์ต ฟิทท์ นักการทูตและนักวิเคราะห์การเมือง, แดนนี อังเกอร์ อาจารย์มหาวิทยาลัยและนักเขียนด้านการเมือง

 
ตลอดช่วงปีที่ผ่านมา รัฐบาลต่างชาติหลายประเทศได้กระตุ้นเตือนให้ประเทศไทย “นําระบอบประชาธิปไตยกลับคืนมา” และ ”จัดการเลือกตั้ง”เราชาวอเมริกันทั้งสี่คนที่ลงชื่อท้ายบทความนี้ ซึ่งเป็นผู้ที่ได้อาศัยอยู่บนผืนแผ่นดินไทยโดยหากนับระยะเวลารวมกันแล้วก็เกินหนึ่งศตวรรษ เห็นว่าการกระตุ้นเตือนด้วยเจตนาดีนี้ขาดความลึกซึ้งและได้กลับก่อให้เกิดผลในทางตรงกันข้าม และแสดงให้เห็นถึงการขาดความเข้าใจอย่างเพียงพอเกี่ยวกับสภาพความท้าทายทางวัฒนธรรม สังคม และการเมือง ที่ประเทศไทยจะต้องจัดการให้ได้หากจะพัฒนาประเทศไปสู่ระบอบประชาธิปไตยที่ยั่งยืน  ในความเห็นของเรา ประเทศไทยมีความจำเป็นในการกลับไปสู่ระบอบประชาธิปไตยในรูปแบบที่เคยเป็นมาน้อยกว่าการเดินหน้าสร้างประชาธิปไตยรูปแบบใหม่ที่คงทนถาวร

ชาวต่างชาติควรจะเข้าใจว่าประเทศไทยได้พยายามสร้างระบอบประชาธิปไตยที่ยั่งยืนมาตั้งแต่ช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 ในบางช่วงเวลาเป้าหมายอาจดูลางเลือน และในบางช่วงเวลาเป้าหมายนั้นก็ดูเหมือนจะอยู่ใกล้เพียงแค่เอื้อม  โดยทั่วไปแล้ว ประวัติศาสตร์การเมืองไทยตลอด 83 ปีที่ผ่านมา จะเป็นเรื่องราวของรัฐบาลที่มาจากชนชั้นนําที่มักจะมีลักษณะการใช้อํานาจเผด็จการจากบนลงล่างไม่มากก็น้อย 

ท่ามกลางความขัดแย้งตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา คนไทยมีความเห็นกว้างๆร่วมกันอย่างหนึ่งคือ ประเทศไทยควรที่จะมีประชาธิปไตยรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง คนไทยหลายชั่วอายุคนได้ใช้ความพยายามอย่างดีที่สุดในการสร้างสภาวะภาพที่มีความจําเป็นในการที่จะนําประเทศไทยไปสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตย และได้พยายามกําหนดรูปแบบของประชาธิปไตยที่มีความเหมาะสมกับประเทศไทยมากที่สุด อย่างไรก็ตามความพยายามดังกล่าวนี้ก็ยังไม่บรรลุผลสำเร็จ

ประชาธิปไตยที่ยั่งยืนอย่างแท้จริงยังไม่ได้หยั่งรากลึกลงในประเทศไทย ประจักษ์พยานในเรื่องนี้สังเกตได้จากจำนวนการก่อรัฐประหารและจํานวนรัฐธรรมนูญฉบับแล้วฉบับเล่าที่ถูกประกาศใช้ และฉีกทิ้งในช่วงตลอดระยะเวลา 83 ปีที่ผ่านมา  เราจึงถามตัวเองว่าประชาธิปไตยอะไรที่ผู้วิพากษ์วิจารณ์ชาวต่างชาติผู้ปรารถนาดีทั้งหลายต้องการให้ประเทศไทยนํากลับคืนมา  เราสงสัยว่าการเรียกร้องให้ประเทศไทยจัดการเลือกตั้งในทันทีนั้นจะได้อะไรขึ้นมา เมื่อพิจารณาถึงความผิดหวังครั้งแล้วครั้งเล่าที่ตามมาหลังจากการเลือกตั้งหลายต่อหลายครั้งในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา มีเหตุผลอะไรหรือ ที่จะทําให้เชื่อได้ว่าการเลือกตั้งอีกสักครั้งจะแก้อาการอัมพาตของการเมืองไทยอย่างเป็นปาฏิหาริย์

ไม่ว่าในกรณีที่ทหารเข้ามามีอํานาจโดยตรงในรัฐบาลหรือมีรัฐบาลที่ถูกแต่งตั้งโดยทหารก็ตาม เราจะเห็นธรรมชาติของการใช้อํานาจเผด็จการได้อย่างชัดเจน ในหลายๆกรณี รัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งที่ชอบธรรมก็มักจะมีพฤติกรรมเผด็จการที่ไม่สอดคล้องกับหลักประชาธิปไตยอยู่บ่อยๆ   รัฐบาลพลเรือนส่วนมากยังไม่ได้พัฒนาและสร้างความเข้มแข็งอย่างยั่งยืนให้กับค่านิยมและโครงสร้างที่มีความจำเป็นต่อระบอบเสรีประชาธิปไตย  และในบางครั้งกลับเหยียบย่ำสิทธิของชนกลุ่มน้อย ชุมชนและปัจเจกบุคคลต่างๆ  หลายครั้งหลายครา รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งได้ใช้อํานาจในตําแหน่งหน้าที่เพื่อเพิ่มพูนอํานาจและความมั่งคั่งให้กับตนเองด้วยวิธีการที่ขัดกับกฎหมาย และบางครั้งก็บั่นทอนอำนาจการตรวจสอบถ่วงดุลและภาคประชาสังคมซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ระบอบประชาธิปไตยมีความหมายอย่างแท้จริง ทั้งนี้เรามิได้เห็นว่าฝ่ายที่เป็นปฏิปักษ์ทางการเมืองฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจะมีศีลธรรมความดีงามมากหรือน้อยไปกว่าอีกฝ่ายหนึ่ง

รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนปี 2540 ได้ถูกริเริ่มขึ้นมาเพื่อการปฏิรูปการเมืองอย่างแท้จริง แต่ถึงกระนั้น รัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็มิอาจต้านทานอำนาจที่ไม่เคารพเสียงส่วนใหญ่ได้  บ่อยครั้งที่การสลับสับเปลี่ยนรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเป็นเพียงผลของการแทนที่กันของกลุ่มการเมืองต่างๆเพื่อเข้ามามีอํานาจในการแสวงหาผลประโยชน์ให้แก่ตนเอง

ยิ่งไปกว่านั้น รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก็ได้เพิกเฉยต่อข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการกำหนดนโยบายที่มาจากภายนอกไม่น้อยไปกว่ารัฐบาลทหาร ลักษณะของสังคมไทยภายใต้ระบบอุปถัมภ์ ระบบชนชั้น และระบบที่ผู้ชายเป็นใหญ่ ได้ก่อให้เกิดกลุ่มชนชั้นนำในมิติทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และการทหาร ชนชั้นนำที่มีตําแหน่งและสถานะภาพต่างๆ ในสังคมเหล่านี้เห็นว่าตนเป็นผู้ที่มีความชอบธรรมในการปกป้องดูแลผลประโยชน์ของชาติและเป็นผู้กําหนดสิ่งที่ดีที่สุดสําหรับคนทุกคนในสังคมโดยอาศัยระบบราชการแบบรวมศูนย์เป็นเครื่องมือที่สําคัญ ซึ่งระบบราชการในลักษณะดังกล่าวมิได้มีลักษณะการทํางานเพื่อตอบสนองตอบความต้องการของประชาชนเท่าใดนัก ทั้งยังไม่ค่อยมีความละเอียดอ่อนต่อคุณค่าของภูมิปัญญาชาวบ้านและความหลากหลายของมรดกทางสังคมและวัฒนธรรมในแต่ละภูมิภาคเท่าที่ควร

การเลือกตั้งในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาได้กระตุ้นให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้ตระหนักถึงความเชื่อมโยงระหว่างผลประโยชน์ของตนกับกระบวนการการเลือกตั้ง ซึ่งถือได้ว่าเป็นความสำเร็จที่สำคัญอย่างยิ่ง อย่างไรก็ตามการเลือกตั้งนั้นก็ได้นำมาซึ่งรัฐบาลที่มุ่งเพิ่มพูนความมั่งคั่งให้แก่ตนเองและทํางานอย่างเป็นระบบเพื่อที่จะทำลายระบบตรวจสอบอำนาจของตน อันนําไปสู่การแทรกแซงของฝ่ายตุลาการและสถาบันทหารเพื่อทำการถอดถอนรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งนั้น  ซึ่งการแทรกแซงในลักษณะเช่นนี้ได้ทำลายเสียงของสาธารณะที่เพิ่งถูกจุดประกายขึ้นมาเพียงไม่นาน

รากศัพท์ของคําว่า “ประชาธิปไตย” (Democracy) นั้นมาจากคำในภาษากรีกโบราณว่า “ประชา” (demos) หมายถึง สามัญชนคนธรรมดา  การที่จะสร้างความเข้มแข็งให้แก่ระบอบประชาธิปไตยของไทยได้นั้น การรวมศูนย์อํานาจแบบบนลงล่างจะต้องถูกแทนที่ด้วยการให้ประชาชนทั่วไปมีสิทธิออกเสียงและแสดงความต้องการของตนอย่างแท้จริง

การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้ย่อมต้องอาศัยการปรับเปลี่ยนทัศนคติของคนในสังคมขนานใหญ่ ทั้งในส่วนของกลุ่มผู้ที่อยู่ในระบบอํานาจเดิมและส่วนที่เป็นประชาชนทั่วไป  ฝ่ายที่มีอํานาจจะต้องเรียนรู้ที่จะรับฟังและให้ความสําคัญต่อเสียงของประชาชนที่ถูกแสดงออกผ่านทางการเลือกตั้ง ภาคประชาสังคม และกลไกอื่นๆ  ส่วนฝ่ายประชาชนเองก็จะต้องเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการทางการเมืองอย่างแข็งขัน ชาญฉลาด และมีความรับผิดชอบ แสดงความคิดเห็นต่อการตัดสินใจที่มีผลต่อชีวิตของตนผ่านกระบวนการประชาธิปไตย และเรียกร้องให้รัฐบาลที่ตนเองเลือกเข้ามานั้นมีความรับผิดชอบต่อสังคม ประชาชนที่ถูกชักจูงได้ง่ายและนิ่งนอนใจก็เป็นอุปสรรคที่สําคัญต่อระบอบประชาธิปไตยของไทยไม่น้อยไปกว่าชนชั้นปกครองที่มีความพึงพอใจในการใช้อํานาจทางการเมืองอย่างนิ่งนอนใจด้วยเช่นกัน

คุณลักษณะของ “ความเป็นไทย” ที่ทําให้วัฒนธรรมไทยมีความน่าประทับใจ เช่น ความนอบน้อม ความสง่างาม ความละเอียดอ่อนต่อความขัดแย้ง การเคารพผู้ใหญ่และผู้บังคับบัญชา การไม่ยึดติดและการยอมรับความเปลี่ยนแปลงของสรรพสิ่ง  เป็นสิ่งที่ช่วยทําให้ระบบสังคมแบบลําดับขั้นและระบบอุปถัมภ์มีความแข็งแกร่งมากขึ้น ซึ่งไม่สอดคล้องกับค่านิยมในระบอบประชาธิปไตยที่มีหลักการที่สําคัญว่า รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งนั้นจะต้องเคารพและใช้อํานาจรัฐภายใต้หลักนิติรัฐ หรือการบังคับใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน เน้นย้ำความโปร่งใสและเปิดใจยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่าง

ที่กล่าวมาข้างต้นนี้มิได้หมายความว่าประเทศไทยไม่ควรเดินหน้าสร้างระบอบประชาธิปไตยที่มีความมั่นคงและยั่งยืนต่อไป หรือหมายความว่ามิตรต่างชาติไม่ควรให้ความช่วยเหลือหรือให้คำแนะนำอย่างสร้างสรรค์ ในทางกลับกัน เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าประเทศไทยจะเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมเสรีประชาธิปไตยที่มีความมั่นคงในเร็ววัน

ไม่มีกระบวนการใดที่มีความสำคัญในระบอบประชาธิปไตยมากไปกว่าการเลือกตั้ง แต่การเลือกตั้งก็ไม่ใช่ส่วนเดียวที่ทําให้มีความเป็นประชาธิปไตย ในทัศนะของเรา ประเทศไทยจะต้องใส่ใจกับการวางรากฐานเพื่อสร้างระบบการเมืองที่มีความยั่งยืนทั้งช่วงก่อนและหลังกระบวนการเลือกตั้ง มิใช่แค่ให้ความใส่ใจต่อการบวนการการเลือกตั้งเพียงอย่างเดียว รัฐธรรมนูญและกฎหมายเลือกตั้งสามารถถูกออกแบบได้ซ้ำแล้วซ้ำอีก โดยอาศัยความช่วยเหลือจากนักวิชาการและนักกฎหมายที่เก่งที่สุดมาเป็นผู้กําหนดว่าการเลือกตั้งควรที่จะถูกดําเนินการอย่างไร แต่รัฐธรรมนูญและกฎหมายการเลือกตั้งเหล่านั้นก็ไม่อาจนําไปสู่ประชาธิปไตยที่ยั่งยืน หากยังไม่มีการวางรากฐานที่มีความสำคัญต่อระบอบประชาธิปไตยอย่างเพียงพอ

เราขอคิดทบทวนอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับบทเรียนตลอดระยะเวลา 83 ปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับนัยยะของเหตุการณ์ความผันผวนและวุ่นวายในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เราขอถามมิตรสหายต่างชาติของประเทศไทยว่า ท่านได้คิดพิจารณาแล้วหรือยังว่ามีประเด็นใดบ้างที่ประเทศไทยต้องแก้ไขหากต้องการให้ประเทศมีความเป็นประชาธิปไตยในความหมายที่ควรจะเป็น ที่สำคัญเหนือสิ่งอื่นใด รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะต้องยึดหลักนิติรัฐ เปิดใจรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างจากความคิดของตนเอง ส่งเสริมสนับสนุนระบบการจัดการตามแนวทางประชาธิปไตยและสร้างเสริมพลังของภาคประชาสังคมในระดับรากหญ้า 

สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่มิตรต่างชาติควรจะตระหนักอย่างลึกซึ้งในเวลาที่ต้องการเรียกร้องให้ประเทศไทย “นําระบอบประชาธิปไตยกลับคืนมา”

หลักนิติรัฐหรือหลักการบังคับใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียมกันนั้น เป็นพื้นฐานที่สำคัญในการสร้างระบอบเสรีประชาธิปไตยที่ยั่งยืน  ประเทศไทยมีกรอบของระบบกฎหมายที่เป็นพื้นฐานของหลักนิติรัฐก็จริงอยู่ แต่ก็เป็นที่ชัดเจนในสายตาคนไทยว่าบ่อยครั้งเกินไปที่กฎหมายไม่ได้ถูกบังคับใช้อย่างเท่าเทียมกันระหว่างคนรวยกับคนจน  ตำรวจมีภาพพจน์ที่มัวหมอง ระบบศาลไม่ได้ตัดสินคดีอย่างเป็นกลางเสมอไป และในบางครั้งผู้ที่มีเส้นสายและอิทธิพลก็เพิกเฉยกฎหมายโดยไม่ได้รับการลงโทษ  

ความเชื่อที่ว่าคนทุกคนไม่ว่าจะอยู่ในระดับใดต่างมีความเสมอภาคกันภายใต้กฎหมายนั้นยังไม่ใช่บรรทัดฐานหลักในประเทศไทย วิธีการที่จะทำสิ่งนี้ให้เกิดขึ้นได้คือสิ่งที่มีความท้าทายเป็นอย่างยิ่งสำหรับประเทศไทยในการแสวงหาประชาธิปไตยจนกระทั่งความเชื่อนี้จะมีความสำคัญและเป็นหลักในกระบวนการพัฒนาประเทศ เราไม่ค่อยมีความหวังเท่าใดนักว่าประเทศไทยจะมีความเป็นประชาธิปไตย

ความสำเร็จในการสร้างระบอบประชาธิปไตยภายใต้หลักนิติรัฐนั้นอาจเกิดขึ้นได้หากเราให้ความใส่ใจน้อยลงต่อการสร้างความแข็งแกร่งให้กับ “ความเป็นไทย” ซึ่งเป็นวิธีการคิดที่ย้อนกลับสู่อดีต ในทางกลับกัน วิสัยทัศน์และแนวทางที่ประเทศไทยจะเดินไปข้างหน้าภายใต้บริบทของประชาคมอาเซี่ยน (AEC) ควรที่จะได้รับการให้ความสำคัญมากกว่า วิวัฒนาการของระบอบประชาธิปไตยที่ดำเนินไปข้างหน้าอย่างช้าๆ สงบสันติและมั่นคงนั้นจะเกิดขึ้นได้จากการมีวิสัยทัศน์ในการมองอนาคตข้างหน้า มิใช่จากการมองอดีตที่ผ่านมา

ศาสนาพุทธสอนว่าทุกอย่างล้วนเป็นอนิจจัง สรรพสิ่งทั้งหลายล้วนเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา  การตระหนักและอ้าแขนรับการเปลี่ยนแปลงที่มิอาจหลีกเลี่ยงได้ อาจเป็นพื้นฐานสำหรับการเริ่มต้นที่จะพัฒนาวิสัยทัศน์ระดับชาติ ที่จะสมานความแตกแยกและการแบ่งสีของคนในชาติ เสริมสร้างพลังของภาคประชาสังคมในการสร้างประเทศให้มีความมั่นคงและมีความยุติธรรมมากขึ้น  รวมทั้งส่งเสริมสนับสนุนหลักนิติรัฐและเปิดใจยอมรับซึ่งกันและกัน สิ่งเหล่านี้จะทำให้ระบอบเสรีประชาธิปไตยที่ยั่งยืนสามารถหยั่งรากลึกลงสู่สังคมไทยได้ในอนาคต

วิสัยทัศน์ดังกล่าวอย่างน้อยต้องรวมถึงการปฏิรูปการศึกษาทั้งระบบ เพื่อสร้างศักยภาพให้คนไทยมีลักษณะของความเป็นพลเมืองที่มีส่วนร่วมและรู้จักรับผิดชอบต่อบ้านเมือง การปรับเปลี่ยนระบบตำรวจให้เป็นผู้บังคับใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียมกันอย่างมีประสิทธิผล การไม่ยอมรับการฉ้อราษฎร์บังหลวงโดยเด็ดขาด การปฏิรูประบบราชการแบบรวมศูนย์อํานาจที่มีขนาดเทอะทะให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น การตัดทอนและเพิ่มความคล่องตัวให้แก่โครงสร้างที่ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนและผลประโยชน์ที่แตกต่างหลากหลายในระดับท้องถิ่น  ตัวอย่างของบางประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกที่ทำให้วิสัยทัศน์การเปลี่ยนแปลงเพื่อฟื้นฟูประเทศดังกล่าวเกิดขึ้นได้ อันส่งผลให้เกิดระบอบประชาธิปไตยที่อยู่บนพื้นฐานของชนชั้นกลางและกลายเป็นสังคมที่มีความมั่งคั่ง น่าจะเป็นแรงบันดาลให้แก่ประเทศไทยได้

มิตรต่างชาติทั้งหลายควรตระหนักถึงอุปสรรคทั้งทางสังคม วัฒนธรรมและการเมืองในการที่จะสร้างและทำให้วิสัยทัศน์ใหม่และระบอบประชาธิปไตยของไทยเกิดขึ้นได้ ต่างชาติควรจะยอมรับว่าวาระที่ยากยิ่งเช่นนี้เป็นเป้าหมายระยะยาว ผลสำเร็จนั้นไม่อาจเกิดขึ้นได้ช่วงเวลาข้ามคืน  ผู้ที่เข้ามาแข่งขันแย่งชิงเพื่อควบคุมอํานาจทางการเมืองอาจจะกระทําในนามของหลักประชาธิปไตย แต่ความเป็นจริงในอีกสักช่วงเวลาหนึ่ง เราจะยังคงเห็นรัฐบาลที่ใช้อํานาจกึ่งเผด็จการ ที่อำพรางแนวคิดในลักษณะ “ประชาธิปไตยแบบชี้นำ” “ช่วงเวลาของการเตรียมตัว” หรือการใช้คำอื่นๆเพื่อบดบังความไม่ไว้วางใจที่จะมอบอนาคตของประเทศให้อยู่ภายใต้กระบวนการประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง

ชาวต่างชาติควรมีความเห็นอกเห็นใจ เสนอคำวิพากษ์วิจารณ์ที่สร้างสรรค์ตรงไปตรงมา แต่ในขณะเดียวกันก็ให้กำลังใจอยู่เบื้องหลัง หลีกเลี่ยงการยื่นคำขาดต่อหน้าสาธารณะให้ประเทศไทยรีบจัดการเลือกตั้งโดนทันทีทันใดเพื่อ “กลับคืนสู่ความเป็นประชาธิปไตย” ซึ่งรังแต่จะสร้างความอิดหนาระอาใจ 

เราเชื่อมั่นว่าประชาธิปไตยที่แท้จริงจะเกิดขึ้นในประเทศไทยในเวลาอันสมควร แต่แรงกดดันจากต่างประเทศไม่ว่าจะมากเพียงใดก็ตามจะไม่สามารถเร่งวันเร่งคืนให้วันนั้นมาถึงเร็วขึ้นได้  เมื่อใดที่คนไทยยอมรับว่าโครงสร้างค่านิยมในอดีตที่มิอาจหวนคืนมาไม่ว่าจะคงความตราตรึงในความทรงจำเพียงใดก็ตาม ไม่สอดคล้องกับความต้องการระบอบประชาธิปไตยในอนาคต เมื่อนั้นประเทศไทยจะก้าวกระโดดไปบนหนทางที่นำไปสู่ระบอบเสรีประชาธิปไตยที่ยั่งยืน

เมื่อไม่นานมานี้ หลายๆประเทศที่เคยมีรัฐบาลเผด็จการและมีลักษณะสังคมลำดับขั้น เช่น เกาหลี ไต้หวัน โปรตุเกส และสเปน ซึ่งต่างก็มีความภาคภูมิใจในเอกลักษณ์และวัฒนธรรมที่โดดเด่นของตน ได้ผ่านกระบวนการปรับเปลี่ยนปฏิรูปประเทศไปสู่ระบอบประชาธิปไตยที่มีคุณภาพสูงขึ้นและยึดหลักนิติรัฐอย่างเคร่งครัดโดยที่มิต้องละทิ้งวัฒนธรรมของชาติ ถึงเวลานี้ อนาคตของประเทศไทยขึ้นอยู่กับประชาชนชาวไทยทุกคนในการที่จะสร้างสิ่งที่พึงปรารถนาเหล่านี้ให้เกิดขึ้น

เหนือสิ่งอื่นใด คนไทยเท่านั้นที่จะเป็นผู้ตัดสินใจหารูปแบบของรัฐบาลที่ตนพึงปรารถนาและยอมรับได้  และไม่ว่าการตัดสินใจนั้นจะออกมาเป็นอย่างไร หวังเป็นอย่างยิ่งว่ารูปแบบการปกครองที่คนไทยพึงปรารถนานั้นจะอยู่บนพื้นฐานของวัฒนธรรมที่มีความเป็นประชาธิปไตยและสามารถนำประเทศไปสู่สังคมที่มีความยุติธรรมและเท่าเทียมกันในที่สุด

ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์เมื่อวันที่ 21พ.ค. 2558 และ 22 พ.ค. 2558


นักวิชาการฝรั่งเศสชี้รัฐบาลผสมทำชาติวุ่นวาย
โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

"ศ. มิเชล ทรอปเปอร์"นักวิชาการเมืองน้ำหอม ถอดบทเรียนรัฐธรรมนูญฝรั่งเศสคล้ายประเทศไทยมีการทำรัฐประหาร ชี้รัฐบาลผสมทำชาติประเทศวุ่นวาย

ที่กระทรวงการต่างประเทศ สถาบันพระปกเกล้าฯ ได้จัดการบรรยายพิเศษ ครั้งที่ 2 เรื่อง "ถอดทเรียนการคลี่คลายวิกฤตการณ์ทางการเมือง สู่การปฏิรูปประเทศในระบอบประชาธิปไตย" กรณีศึกษาการร่างรัฐธรรมนูญฝรั่งเศส โดยศาสตราจารย์ มิเชล ทรอปเปอร์ จากมหาวิทยาลัยปารีสที่ 10 นองแทร์

ศาสตราจารย์ ทรอปเปอร์ กล่าวว่า กรณีรัฐธรรมนูญของประเทศฝรั่งเศสมีหลายข้อที่คล้ายคลึงกับประเทศไทย เช่น ทั้งสองประเทศต่างมีรัฐธรรมนูญหลายฉบับ ขณะที่สหรัฐอเมริกามีรัฐธรรมนูญใช้บังคับเพียงฉบับเดียว แต่มีแก้ไขเพิ่มเติมเล็กน้อย ดังนั้น การทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เป็นการทำให้เห็นว่ามีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เช่น ฝรั่งเศสเป็นตัวอย่างที่เด่นชัด ข้อที่คล้ายคลึงอีกข้อหนึ่ง คือ การที่สองประเทศมีการทำรัฐประหารด้วยกันทั้งคู่ อย่างไรก็ตาม การเกิดรัฐประหารฉับพลันทันทีในบางครั้ง ไม่ได้หมายความว่าใช้อำนาจหรือใช้กำลังข่มขืน และโดยปกติการทำรัฐประหารจะนึกถึงทหาร แต่บางครั้งก็ไม่ได้เกิดจากทหาร เช่นเหตุการณ์เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม ค.ศ. 1852 แม้รัฐประหารอาจนำไปสู่เผด็จการ แต่บางครั้งสิ่งอาจไม่ได้นำไปสู่เผด็จการ แต่ปูทางไปสู่การฟื้นฟูประชาธิปไตย และทำให้ประชาธิปไตยเกิดความสมบูรณ์ยั่งยืนขึ้น

"เรามองรัฐธรรมนูญได้เป็น 2 แนวคิด คือ แนวคิดกฎเกณฑ์ และแนวคิดกลไก คงไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับใดจัดอยู่ในแบบใดได้สำเร็จ เพราะในทางความเป็นจริงไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับใดจัดเข้าแบบหนึ่งแบบใดได้อย่างสนิท แนวคิดแรก คือแนวคิดในเชิงกฎเกณฑ์ เป็นแนวคิดที่จัดตั้งศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอื่นตามรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะองค์กรตุลาการ เป็นการประมวลกฎเกณฑ์ทางกฎหมายเข้าไว้ด้วยกัน มีสภาพบังคับ เป็นลักษณะสำคัญของแนวคิดกฎเกณฑ์ ไม่มีสภาพบังคับ ไม่ใช่กฎเกณฑ์กฎหมาย เป็นเพียงคำแนะนำ ปฏิบัติหริอไม่ปฏิบัติตามก็ได้" ศาสตราจารย์ ทรอปเปอร์ กล่าว

ทั้งนี้ ไม่มีทางประสบความสำเร็จ ไม่ว่าจะเขียนรัฐธรรมนูญชัดแค่ไหน แต่ก็มีปัญหาในทางตีความอยู่ดี อย่างไรก็ตาม ก่อนปี 1920 ไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับใดที่ก่อตั้งศาลรัฐธรรมนูญ แต่ถูกสร้างขึ้นมาในปี 1920 ในการยกร่างรัฐธรรมนูญของประเทศออสเตรียที่กำหนดจัดตั้งศาลรัฐธรรมนูญ จึงเป็นต้นแบบให้ประเทศอื่นๆ

สำหรับแนวคิดกลไก มองว่าสังคมจะดี ถ้าคนในสังคมดี คนเคารพกฎหมายและรัฐธรรมนูญ ผิดกับแนวคิดกฎเกณฑ์ที่มองว่าหวังว่าคนจะเป็นคนดี แต่นายเมดิสัน ซึ่งเป็นนักกฎหมายชาวฝรั่งเศส ซึ่งอัจจริยะ ตั้งขอสังเกตว่า ถ้าเราคาดหวังถึงความดีงามจะเป็นปัญหา เพราะเป็นของหายากในโลกนี้ ถ้าคนเป็นคนดี เราก็ไม่จำเป็นต้องมีกฎหมายหรือรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญทำขึ้นเพื่อคนธรรมดา ที่ไม่ได้เป็นคนดีเกินไป หรือเป็นเทวดา

ศ. ทรอปเปอร์ ยังกล่าวถึงเหตุการณ์ของประเทศฝรั่งเศส ช่วงสาธารณรัฐที่ 4 ว่า ขณะนั้นประเทศจำเป็นต้องหารัฐบาลผสม ซึ่งเราได้รัฐบาลที่ไม่มีความมั่นคง เพราะมีพรรคเล็กพรรคน้อยเป็นรัฐบาลอยู่ด้วย และพรรคเล็กในขณะนั้นก็ขู่ว่าจะออกจากรัฐบาลได้ เพราะไม่พอใจในนโยบายของรัฐบาล และเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้เกิดวิกฤตหลายครั้ง จนกระทั่งรัฐบาลล่มสลาย ไม่มีรัฐบาลต่อเนื่องหลายสัปาดาห์ ประชาชนและกองทัพกลัวที่รัฐบาลจะให้อิสระภาพแก่แอลจีเรีย จึงขู่ทำสงครามกลางเมืองและทำรัฐประการ และขอให้นายพล ชาร์ล เดอโก อดีตประธานาธิบดีฝรั่งเศส รวมทั้งมีการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ และได้จัดให้มีการออกเสียงประชามติ ทั้งนี้ กฎหมายรัฐธรรมนูญในปี 1975 สั้นมาก ไม่ได้พูดถึงการยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ แต่สภาสามารถยื่นญัตติอภิปรายไม่วางใจได้ ถ้าเสียงข้างมากไม่ไว้วางใจ รัฐบาลจะต้องลาออก นี่คือประเพณีตามรัฐธรรมนูญ ขณะเดียวกันถ้ารัฐบาลขอความไว้วางใจจากสภา ถ้าร่างกฎหมายถูกปฏิเสธ รัฐบาลก็ต้องแสดงความรับผิดชอบโดยการลาออกเช่นกัน เพราะถือว่าไม่มีเครื่องมือในการบริหารราชการแผ่นดิน

นอกจากนี้ ในช่วงสาธารณรัฐที่ 4 มีพรรคเล็กพรรคน้อยเป็นรัฐบาลเกิดเป็นรัฐบาลผสม พรรคการเมืองขนาดกลางๆต้องรวมกัน พรรคเล็กต้องการท้าทายและต่อรอง ซึ่งขณะนั้นมองกันว่าเป็นระบบรัฐสภาที่ดูเหมือนจะมีความสมดุลระหว่างอำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหาร เมื่อเกิดความขัดแย้งระหว่างองค์กรก็จะมีเครื่องมือในการกดดัน สภาสามารถคว่ำรัฐบาลได้

ขณะที่รัฐบาลเสนอให้ประธานาธิบดีคว่ำสภาได้เช่นกัน แต่สุดท้ายก็อยู่ที่ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจ และถ้าสภาคว่ำประชาชนก็จะเลือกส.ส.หน้าเดิมเข้าสภาอีก ซึ่งไม่สามารถแก้ไขปัญหาอะไรได้ กลไกยุบสภาจึงไม่ใช่กลไกที่มีประสิทธิภาพและไม่มีประโยชน์

จนกระทั่งถึงช่วงสาธารณรัฐที่ 5 มีแนวคิดใหม่ๆ กลไกใหม่ นายพลเดอโกคิดว่าการมีพรรคเล็กพรรคน้อย การเมืองจะเดินต่อไป แต่คิดผิด และนายพลเดอโกได้พัฒนามาตรา 49 วรรค 3 ของรัฐธรรมนูญปี 1958 นายกฯสามารถขอความไว้วางใจต่อนโยบายที่แถลงต่อสภาได้ และเพิ่มหลักเกณฑใหม่ขึ้น คือ กำหนดให้ส.ส.ร่วมลงชื่อ 1 ใน 10 ของสมาชิก ยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งต้องได้รับเสียงข้างมากจึงจะคว่ำรัฐบาลได้ ที่สำคัญนับเฉพาะผู้ที่ลงมติไม่ไว้วางใจ ซึ่งส่วนใหญ่เสียงไม่พอที่จะคว่ำรัฐบาลได้ ขณะที่ถ้านายกฯขอความไว้วางใจจากสภา เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องการผ่านกฎหมายสำคัญ รัฐบาลผ่านกฎมหายได้เลยโดยไม่มีการอภิปราย เว้นแต่มีการยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ซึ่งการลงมติตรงนี้มิได้เป็นการลงมติในร่างกฎหมาย

ดังนั้น การใช้หลักเกณฑ์นับเสียงที่เห็นด้วยกับการญัตติไม่ไว้วางใจ ถือว่าสำคัญยิ่ง เช่น ส.ส.มี 500 คน หากรัฐบาลขอความไว้วางใจ ผ่านร่างกฎหมาย เสียงเห็นด้วย 200 เสียง ไม่เห็นด้วย 220 เสียง และงดออกเสียง 80 เสียง หมายความรัฐบาลไม่ต้องลาออก เพราะเสียงโหวตยังไม่ถึงเสียงข้างมาก ซึ่งอยู่ที่ 251 แต่ส.ส.โหวตไม่เห็นด้วยเพียง 220 เสียง นี่คือประสิทธิภาพของรัฐธรรมนูญในสาธารณะรัฐที่ 5 ตรงนี้คือชัยชนะของการมองรัฐธรรมนูญแบบกลไก เป็นกลไกที่มีรัฐบาลผสม มีพรรคการเมืองหลายพรรคเป็นรัฐบาล มีหลายพรรคก็จริงแต่มีพรรคแกนนำในรัฐบาล ดังนั้นในวรรคสามจึงไม่จำเปน ใช้เพื่อดัดหลังพรรคร่วมรัฐบาลที่อาจต่อต้านกฎหมายของรัฐบาล หากรัฐบาลไม่ต้องการให้อภิปรายยืดยาว ก็ใช้ดัดหลังพรรคสังคมนิยมที่งอแงไม่ต้องการโหวตร่างกฎหมายที่สำคัญ

จากนั้นเรามองว่าวรรคสามให้อำนาจรัฐบาลมากเกินไป จึงได้กำหนดให้ใช้กับเพียงร่างกฎหมายงบประมาณณ ร่างกฎหมายทุนประกันสังคม ภายในสมัยประชุมหนึ่งเท่านั้น นี่คือกลไกของวรรคสาม ซึ่งตนมองว่ามีประสิทธิภาพ  

ศาสตราจารย์ ทรอปเปอร์ กล่าวสรุปว่า กลไกของสาธารณรัฐที่ 5 หรือทุกช่วงสาธารณณัฐ ไม่อาจเป็นต้นแบบของทุกประเทศได้ แต่นำมาเป็นบทเรียนได้ บทเรียนแรกคือ การเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญอย่างรุนแรง ฉับพลันทันที อาจนำไปสู่ระบอบเผด็จการก็ได้ อาจนำไปสู่การปรับปรุงประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ก็ได้ บทเรียนที่สอง เป็นไปไม่ได้ที่จะกำหนดวิธีการบังคับใช้รัฐธรรมนูญไว้ล่าวงหน้า ไม่ว่าจะเขียนรัฐธรรมนูญไว้ดีอย่างไรก็ตาม เมื่อไม่สามารถกกำหนดได้ จึงไม่จำเป็นต้องเขียนรัฐธรรมนูญให้ยาวเกินไป เขียนรัฐธรรมนูญให้สั้นๆอาจดี แล้วปล่อยให้ผู้ใช้รัฐธรรมนุญตีความเอง เช่นรัฐธรรมนูญของสหรัฐที่สั้นกระชับ มีความทนทานแม้จะเปลี่ยนขั้วทางการเมืองก็ตาม และบทเรียนที่สาม คือ แนวคิดในเชิงกลไก มีข้อดีกว่าแนวคิดเชิงกฎเกณฑ์


นักวิชาการเยอรมัน เสนอ เขียนห้าม ทหารยุ่งการเมือง-ให้ปชช.ต่อต้านคนล้มล้าง รธน.ได้

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

ที่กระทรวงการต่างประเทศ สถาบันพระปกเกล้าฯ ได้จัดการบรรยายพิเศษ ครั้งที่ 2 เรื่อง "ถอดทเรียนการคลี่คลายวิกฤตการณ์ทางการเมือง สู่การปฏิรูปประเทศในระบอบประชาธิปไตย"  โดยนายอูริก คาร์เพน ศาสตราจารย์เกียรติคุณ มหาวิทยาลัยฮัมบูร์ก กล่าวว่า รัฐธรรมนูญจะต้องมีลักษณะคล้ายกับการมีผู้แทนที่มาจากการเลือกตั้งที่ได้รับการยอมรับจากสังคม ซึ่งในเยอรมนีมีแบ่งอำนาจบริหารจากรัฐสภาไปให้รัฐบาล โดยที่รัฐบาลต้องรับฟังข้อเสนอแนะของศาลรัฐธรรมนูญที่มีหน้าที่ปกป้องสิทธิของประชาชน แต่การถ่วงดุลอำนาจในเยอรมนีค่อนข้างซับซ้อน เพราะเป็นรัฐบาลมาจากการเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม ทั้งจากแบบแบ่งเขตและบัญชีรายชื่อที่เสนอโดยพรรคการเมือง หรือระบบปาร์ตี้ลิสต์ ซึ่งเยอรมนีเชื่อว่าสภาจะสามารถทำงานได้แม้จะมีที่มาแตกต่างกัน แต่ต้องยอมรับว่าในบางประเทศยังไม่มีความเข้าใจในระบบการเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม

นายอูริก คาร์เพน ศาสตราจารย์เกียรติคุณ มหาวิทยาลัยฮัมบูร์ก กล่าวว่า ในรัฐธรรมนูญควรมีบทบัญญัติเพื่อป้องกันไม่ให้ทหารมีบทบาททางการเมืองมากนัก รวมถึงควรให้อำนาจประชาชนสามารถออกมาต่อต้านผู้จะล้มล้างรัฐธรรมนูญได้ ซึ่งในเยอรมนีการใช้อำนาจทางการทหาร รัฐบาลจะเป็นผู้เสนอเรื่องเพื่อขอความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อน



ที่มา มติชนออนไลน์


นักวิชาการชี้รธน-เยอรมันหนุนให้รัฐบาลมีเสียงข้างมาก

จาก โพสต์ทูเดย์

นักวิชาการเยอรมันบรรยายพิเศษกรณีศึกษารัฐธรรมนูญเยอรมัน ชี้ใช้เลือกตั้งทั้งทางตรง-ทางอ้อม หนุนรัฐบาลมีเสียงข้างมาก

เมื่อวันที่ 27 พ.ค. สถาบันพระปกเกล้าฯ ได้จัดบรรยายพิเศษครั้งที่ 3 เรื่อง “ถอดบทเรียนการคลี่คลายสถานการณ์ทางการเมืองสู่การปฏิรูปประเทศ ในระบอบประชาธิปไตย” กรณีศึกษาการร่างรัฐธรรมนูญของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน ณ ห้องประชุมวิเทศสโมสร กระทรวงการต่างประเทศ โดยมี ศาสตราจารย์เกียรติคุณ อูริค คาร์เพน จากมหาวิทยาลัยฮัมบูร์ก ร่วมเป็นวิทยากรพิเศษ

โดยภายในงานยังได้มีผู้เข้าร่วม อาทิ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรมว.กลาโหม พล.อ.อนุพงศ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งขาติ (สนช.) นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ และนายสมชัย ศรีสุทธิยากร คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านจัดการเลือกตั้ง

ศาสตราจารย์ อูริค กล่าวว่า การเลือกตั้งแบบสัดส่วนและเสียงข้างมาก ประเด็นต่างๆนี้เป็นจุดสนใจ ของกมธ.ร่างฯ เพื่อนำพาประเทศออกจากวิกฤต โดยรัฐธรรมนูญเยอรมัน มีอายุ 65 ปี และเอื้ออำนวยต่อการต้านวิกฤต  ในการช่วยสร้างเสถียรภาพ แม้อาจจะมีจุดอ่อนและปัญหาบ้าง ต่อการรวมประเทศทางด้านทุนและสังคมนิยม

ทั้งนี้ จำเป็นอย่างมากต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อแก้วิกฤตทางสังคม การเมือง โดยการเขียนรัฐธรรมนูญต้องยึดหลักสิทธิมนุษยชน และต้องสะท้อนความต้องการของประชาชน ซึ่ง  อำนาจนิติบัญญัติแยกจากอำนาจฝ่ายบริหาร ทั้งที่อำนาจนิติบัญญัติอาจโอนให้อำนาจบริหารก็ได้

ส่วนเรื่องที่มานายกรัฐมนตรีนั้น รัฐธรรมนูญของเยอรมันเน้นให้รัฐบาลมีอำนาจชอบธรรมโดยหนุนให้รัฐบาลมีเสียงข้างมาก และสามารถแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่สุดท้ายต้องได้รับความเห็นชอบจากประธานาธิบดี โดยผู้ที่ได้รับเสนอชื่อเป็นนายกฯ จะต้องได้รับเสียงข้างมากเด็ดขาด หรือไม่ต่ำกว่า 51%

อย่างไรก็ดี แต่ถ้าได้เสียงไม่ถึง ประธานสภาสหพันธรัฐจะแต่งตั้งหรือไม่ก็ได้ แต่ต้องพิจารณาใน 14 วัน เพื่อให้นายกฯมีเสถียรภาพ ส่วนเรื่องการขอไว้วางใจจากสภา อาจขอให้ร่วมกับการผ่านร่างกฎหมายที่สำคัญก็ได้ ซึ่งหากนายกฯไม่ได้ร้บการไว้วางใจจากสภา นายกฯก็สามารถยุบหรือไม่ยุบสภาก็ได้ แต่หากยุบสภาก็ต้องเลือกตั้งใหม่ ซึ่งแน่นอนว่าฝ่ายนิติบัญญัติไม่ชอบ เพราะสส.หาเสียงลงคะแนนใหม่

ส่วนของระบบเลือกตั้ง เยอรมันมีการเลือกตั้งทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยทางอ้อมคือการเลือกกันเองของแต่ละรัฐ ซึ่งเยอรมันแบ่งออกเป็น16 รัฐ แต่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้เพียงกว้างๆ ว่าจะต้องมีการเลือกตั้งแต่ไม่ได้กำหนดว่าจะต้องเลือกอย่างไร ทั้งนี้ ระบบมีปัญหาในเรื่องเกินโควตา แต่ได้แก้ไขปัญหาโดยให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้ตัดสินตีความและขยายจำนวนที่นั่งในสภา

“เราสามารถแนะนำระบบการเลือกตั้งนี้ได้ แต่ประเทศที่จะนำไปใช้ จะต้องมีความเป็นประชาธิปไตย เที่ยงธรรม และต้องเชื่อมั่นในผู้ที่ลงคะแนนเสียง”ศาสตราจารย์ อูริค กล่าว


นักวิชาการเยอรมันแนะเขียนรธน.ยึดความต้องการปชช.
โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

นักวิชาการกม.ชาวเยอรมัน แนะนำการเขียนรัฐธรรมนูญต้องยึดหลักสิทธิมนุษยชน และสะท้อนความต้องการของประชาชนแท้จริง

สถาบันพระปกเกล้า จัดการบรรยายพิเศษ "ถอดบทเรียนการคลี่คลายวิกฤติการณ์ทางการเมือง สู่การปฏิรูปประเทศในระบอบประชาธิปไตย" กรณีศึกษาร่างรัฐธรรมนูญของต่างประเทศ ครั้งที่ 3 เพื่อเรียนรู้ประสบการณ์ของต่างประเทศในการสร้างความรับรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรการในการป้องกัน แก้ไขและเยียวยาวิกฤตการณ์ทางการเมือง การปฏิรูป และกระบวนการจัดทํารัฐธรรมนูญแก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง ในวันนี้รัฐบาลได้เชิญ ศาสตราจารย์

อูลริช คาร์เพน ศาสตราจารย์เกียรติคุณมหาวิทยาลัยฮัมบรูก ประเทศเยอรมนี มาเป็นผู้บรรยาย ได้บรรยายถึงกรณีศึกษาการร่างรัฐธรรมนูญและการก้าวข้ามวิดฤติความขัดแย้งของเยอรมนีในช่วงหนึ่งว่า มีความจำเป็นอย่างมากที่จะต้องคำนึงถึงวิกฤติทางสังคมเมื่อจะมีการร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ อำนาจนิติบัญญัติในเยอรมันนั้นแยกจากอำนาจฝ่ายบริหาร ทั้งที่อำนาจนิติบัญญัติอาจโอนให้อำนาจบริหารได้ ทั้งนี้รัฐบาลของเยอรมันทุกชุดต้องฟังศาลรัฐธรรมนูญ และต้องยอมรับรัฐธรรมนูญ โดยรัฐธรรมนูญจะต้องสะท้อนความต้องการขอประชาชน

ศ. อูลริชยัง กล่าวอีกว่า รัฐธรรมนูญของเยอรมันกำหนดไว้เพียงกว้างๆว่าจะต้องมีการเลือกตั้งแต่ไม่ได้กำหนดว่าจะต้องเลือกอย่างไร แต่ขณะเดียวกันก็มีปัญหาในเรื่องจำนวนส.ส.ที่เกินโควตา แต่เยอรมันแก้ไขปัญหาโดยการให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้ตัดสินตีความและขยายจำนวนที่นั่งในสภา ทั้งนี้เยอรมันสามารถแนะนำระบบการเลือกตั้งนี้ให้กับประเทศอื่นได้ แต่ประเทศที่จะนำไปใช้จะต้องมีความเป็นประชาธิปไตย เที่ยงธรรม และต้องเชื่อมั่นในผู้ที่ลงคะแนนเสียง


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ประชาธิปไตย ยั่งยืน ประเทศไทย

view