สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

โลจิสติกส์ไทย

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์พร้อมรับ AEC หรือยัง?

โดย ณกฤช เศวตนันท์ Thai.attorney@hotmail.com

เนื่องจากโลจิสติกส์มีความสำคัญต่อผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจและมีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศอย่างยิ่ประเทศไทยเองได้ให้ความสำคัญในด้านโลจิสติกส์เป็นอย่างมากเช่นกัน โดยเฉพาะในการจัดตั้งให้ไทยเป็น ศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ ในการเปิดประชาคมอาเซียนอันใกล้นี้ ซึ่งทำให้ไทยต้องเร่งพัฒนาระบบโลจิสติกส์ในประเทศให้สามารถแข่งขันทางธุรกิจได้

อีกทั้งการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ให้สามารถเชื่อมโยงต่อกันทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนด้วย

ปัจจุบันโลจิสติกส์ของไทยมีอัตราการเติบโตต่อเนื่องอยู่ที่ร้อยละ 10 จากปีที่แล้ว ซึ่งมีอัตราเติบโตอยู่ที่ร้อยละ 8 ในขณะที่เศรษฐกิจไทยปีนี้โตอยู่ที่ร้อยละ 3.5-4.5 เศรษฐกิจไทยโตเพียงร้อยละ 0.7 จึงนับว่าภาพรวมโลจิสติกส์ในประเทศมีการขยายตัวที่ดีขึ้น



และถ้ามองในแง่ของ ต้นทุน โลจิสติกส์ของไทยมีแนวโน้มลดลงอยู่ในระดับร้อยละ 14.3 จากเดิมมีต้นทุนโลจิสติกส์อยู่ร้อยละ 17 ขณะที่การให้บริการโลจิสติกส์มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยในปี พ.ศ. 2550 มีมูลค่าการให้บริการด้านโลจิสติกส์ประมาณ 270,000 ล้านบาท ในปี พ.ศ. 2554 มีมูลค่าการให้บริการโลจิสติกส์ประมาณ 310,000 บาท  และคาดว่าในปี พ.ศ. 2558 มีแนวโน้มเพิ่มสูงของมูลค่าการให้บริการด้านโลจิสติกส์เป็น 350,000 ล้านบาท

ปัจจุบันสถานการณ์ของธุรกิจโลจิสติกส์มีสภาวะการแข่งขันที่สูง และตลาดในต่างจังหวัดมีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้น สาเหตุหลักมาจากผู้ประกอบการมีความต้องการที่จะกระจายสินค้าให้ครอบคลุมไปทั่วประเทศ อีกทั้งการเปิดประชาคมอาเซียนในปีนี้ ผู้ประกอบการได้เล็งเห็นโอกาสในการเข้าไปขยายธุรกิจในประเทศเพื่อนบ้านและในต่างประเทศ

ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ได้จัดให้มีการประชุมความร่วมมือในระหว่างเขตชายแดนลาว จีน เมียนมา และไทย เป็นครั้งที่ 5 ซึ่งในการประชุมดังกล่าวได้ออกนโยบายให้จังหวัดเชียงรายเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษในระยะที่ 2 ในเขต 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอแม่สาย อำเภอเชียงแสน และอำเภอเชียงของ ซึ่งได้มีการวางแผนยุทธศาสตร์เชิงพื้นที่เสร็จเรียบร้อยแล้ว

โดยกำหนดให้ อำเภอเชียงของ เป็น ประตูการค้า ไปสู่จีนตะวันตก และเป็นเส้นทางการท่องเที่ยวที่เชื่อมแขวงหลวงพระบาง

ส่วน อำเภอเชียงแสน เป็นเส้นที่เชื่อมไปยังท่าเรือสู่จีนตะวันตก อีกทั้งยังเป็นเขตการท่องเที่ยวสามเหลี่ยมทองคำ

อำเภอแม่สาย จะเป็นตลาดการค้าชายแดนไทยและเมียนมา โดยจัดเตรียมความพร้อมเขตเศรษฐกิจพิเศษในระยะที่ 2 ในเดือนตุลาคม 2558 นี้

ในปี พ.ศ. 2559 ได้จัดงบประมาณในการส่งเสริมด้านโลจิสติกส์ โดยมีหน่วยงานหลักให้การสนับสนุน อาทิ กระทรวงการคลัง กระทรวงคมนาคม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งได้จัดทำข้อเสนอ 47 โครงการ วงเงินประมาณ 106,520 ล้านบาท โดยจะให้แต่ละหน่วยงานตรวจสอบโครงการอีกรอบเพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน

สำหรับงานบูรณาการงบประมาณด้านโลจิสติกส์นั้น ยึดหลักนโยบายรัฐบาล แผนยุทธศาสตร์ฉบับที่ 2 ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และแผนยุทธศาสตร์ฉบับที่ 2 ของกระทรวงคมนาคม โดยมีเป้าหมายในการลดต้นทุนโลจิสติกส์ให้เหลือ 12% ในปี พ.ศ. 2560 เพื่อส่งเสริมธุรกิจการค้าและพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกทางการค้า

เมื่อไม่นานมานี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้ประชุม คณะกรรมการร่วมไทยกับจีน จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 3 มีแผนในการลงทุนสร้างทางรถไฟ 3 ประเทศ คือ ไทย ลาว จีน เพื่อเชื่อมต่อรถไฟไทยกับจีน ไทยกับลาว และรถไฟจีนกับลาว มี จังหวัดหนองคาย เป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างลาวกับจีน คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในปี พ.ศ. 2559

สำหรับจุดเชื่อมต่อรถไฟไทยกับจีน และรถไฟลาวกับจีน จำเป็นต้องสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งใหม่เพื่อรองรับกับโครงสร้างทางวิ่งรางขนาด 1.435 เมตร

สำหรับ สถานีรถไฟนาทา ในจังหวัดหนองคาย มีที่ดินประมาณ 290 ไร่ ได้จัดตั้งเป็นศูนย์กลางในการรวบรวมสินค้าระบบตู้คอนเทนเนอร์ผ่านจากจีนตอนใต้ มณฑลยูนนานผ่านลาวเข้ามาในชายแดนไทยมาที่สถานีหนองคาย ขนส่งต่อมายังท่าเรือมาบตาพุดและแหลมฉบัง

พื้นที่หนองคายนั้น ได้มีการกำหนดจุดพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอโพนพิสัย อำเภอท่าบ่อ และอำเภอศรีเชียงใหม่ ให้เป็นบริเวณถนนสายหลักและเส้นทางรถไฟ เพื่อจัดตั้งเป็นศูนย์กลางในด้านการค้าและโลจิสติกส์ระหว่างภายในประเทศและระหว่างประเทศ

สำหรับภาพรวมโลจิสติกส์ของไทยในปัจจุบันมีแนวโน้มที่ดี วัดได้จากเศรษฐกิจไทยมีความสอดคล้องกันไปในทิศทางที่ดีขึ้น

ในทางกลับกัน การให้บริการทางด้านโลจิสติกส์มีอัตราเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ สาเหตุมาจากการปรับขึ้นราคาก๊าซเอ็นจีวี

สำหรับผู้ประกอบการไทยนั้น มีความต้องการขยายธุรกิจไปยังประเทศเพื่อนบ้านเพื่อให้สอดคล้องกับการเปิดประชาคมอาเซียน แต่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังขาดองค์ความรู้ การเข้าถึงข้อมูล กฎและเงื่อนไขของประเทศนั้น ๆ จึงทำให้ไม่สามารถไปขยายฐานการผลิตได้ และไม่ได้รับความร่วมมือจากประเทศเพื่อนบ้านเท่าที่ควร

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เป็นความหวังของผู้ประกอบการ และฝากไว้เป็นการบ้านแก่รัฐบาลก็คือ การก่อตั้งสถานีรถไฟนาทา และการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ 3 อำเภอที่กล่าวมาคือ อำเภอโพนพิสัย อำเภอท่าบ่อ และอำเภอศรีเชียงใหม่ หากรัฐบาลเร่งรัดลงมือทำอย่างจริงจังให้แล้วเสร็จสมบูรณ์ ประเทศไทยจะกลายเป็นศูนย์กลางการค้าและโลจิสติกส์

และจะสามารถสร้างมูลค่าทางการค้าต่อประเทศได้อย่างมหาศาล


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : โลจิสติกส์ไทย

view