สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ทำความเข้าใจกรณีทุจริตอื้อฉาวในฟีฟ่า ผ่าน 6 ประเด็นสำคัญ

จากประชาชาติธุรกิจ

(ที่มา บีบีซี)

เรื่องราวเป็นไงมาไง

สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือ ฟีฟ่า เป็นองค์กรดูแลการจัดการแข่งขันฟุตบอลในระดับโลก ไม่กี่ปีที่ผ่านมา องค์กรระดับโลกแห่งนี้ถูกกล่าวหาว่าเกิดกรณีทุจริตภายในองค์กร โดยเฉพาะการทุจริตในกรณีการลงคะแนนเลือกตั้งเจ้าภาพฟุตบอลโลกปี ค.ศ.2022 ที่กาต้าร์ได้รับคัดเลือก 

เมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ฟีฟ่าตัดสินใจไม่เผยแพร่รายงานการสอบสวนที่ตนเองจัดทำขึ้นในกรณีดังกล่าว โดยระบุว่า กระบวนการคัดเลือกเจ้าภาพฟุตบอลปราศจากมลทินความผิด อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมา ไมเคิล การ์เซีย อัยการชาวสหรัฐ ผู้จัดทำรายงานสอบสวนฉบับนั้น ได้ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งผู้สอบจริยธรรมอิสระของฟีฟ่า

ทั้งนี้ ฟุตบอลโลก ถือเป็นหนึ่งในมหกรรมกีฬาขนาดใหญ่ที่สุดของโลก และสร้างรายได้ในระดับหลักพันล้านเหรียญสหรัฐ 

การจับ กุมและสอบสวนผู้เกี่ยวข้องกับกรณีทุจริตในฟีฟ่าหนนี้ได้ส่งผลต่อความโปร่งใส และความซื่อสัตย์สุจริตในกระบวนการคัดเลือกเจ้าภาพฟุตบอลโลกสามครั้งหลังสุด

การไต่สวนของสหรัฐกับสวิตเซอร์แลนด์

ทาง การสหรัฐได้ยื่นฟ้องสมาชิกฟีฟ่าที่พัวพันกับกรณีทุจริตซึ่งสามารถย้อนไปได้ ถึงปีค.ศ.1991และผู้ถูกฟ้องร้องทั้งหมดอาจต้องโทษจำคุกหากถูกตัดสินว่ามี ความผิดจริง สมาชิกฟีฟ่าจำนวนเจ็ดคุมถูกควบคุมตัวขณะเดินทางมาร่วมประชุมใหญ่ของฟีฟ่า ที่ซูริค สวิตเซอร์แลนด์ ขณะเดียวกัน ยังมีผู้เกี่ยวข้องอีกเจ็ดรายที่ถูกยื่นฟ้องเช่นกัน

ขณะเดียวกัน การดำเนินคดีทางฝั่งประเทศสวิตเซอร์แลนด์ อันเป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ฟีฟ่านั้น ยังอยู่ในขั้นตอนการสืบสวนสอบสวน อย่างไรก็ตาม กระบวนการดังกล่าวอาจสามารถเปิดโปงให้เห็นถึงความไม่ชอบมาพากลในการเลือกเจ้าภาพฟุตบอลโลกสองครั้ง 2018 และ 2022 

นี่เป็นครั้งแรก ที่เจ้าหน้าที่อัยการเข้ามาตรวจสอบกระบวนการคัดเลือกเจ้าภาพฟุตบอลโลก อย่างไรก็ดี ทางการสวิสระบุชัดเจนว่า ในฐานะองค์กรแล้ว ฟีฟ่าย่อมถือเป็นฝ่ายได้รับความเสียหาย หากมีกรณีทุจริตเกิดขึ้นจริง ดังนั้น ทางการสวิสจึงจะทำหน้าที่สืบสวนสอบสวนเฉพาะตัวบุคคลที่อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องทุจริตเท่านั้น

ใครบ้างที่ถูกกล่าวหาว่าทุจริต

บุคลากร ระดับสูงของฟีฟ่าที่ถูกจับกุมตัวภายใต้การร้องขอของทางการสหรัฐประกอบไปด้วย ผู้ทรงอิทธิพลในวงการฟุตบอลจากทวีปอเมริกาเหนืออเมริกาใต้และแคริบเบี้ยน พวกเขาเหล่านี้มีส่วนเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกับคอนคาเคฟ หรือสหพันธ์ฟุตบอลแห่งอเมริกาเหนือ อเมริกากลาง และแคริบเบียน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของฟีฟ่า หนึ่งในบทบาทสำคัญขององค์กรดังกล่าวก็คือการเป็นฝ่ายดูแลสิทธิประโยชน์และ ลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกในพื้นที่ประเทศสหรัฐอเมริกา 

พวกเขาเหล่านั้นมีอาทิเจฟฟรีย์ เว็บบ์ ประธานคอนคาเคฟ ซึ่งถูกคาดการณ์ว่าจะเป็นทายาทสืบทอดตำแหน่งประธานฟีฟ่าต่อจากเซ็ปป์ แบลตเตอร์ ทั้งนี้ ชายผู้ดำรงตำแหน่งเบอร์หนึ่งของคอนคาเคฟก่อนหน้าเว็บบ์ อย่าง แจ็ค วอร์เนอร์ ก็ถูกทางการสหรัฐกล่าวโทษเช่นกัน โดย เว็บบ์ ขึ้นมารับตำแหน่งต่อจากวอร์เนอร์ หลังจากฝ่ายหลังถูกบีบให้สละเก้าอี้ เพราะถูกกล่าวหาว่ามีความพัวพันกับข้อหาฉ้อโกง

อีกหนึ่งตัวละครสำคัญ คือ ชาร์ลส์ "ชัค" เบลเซอร์ ตัวแทนของสหรัฐในฟีฟ่า ที่มีรายงานว่า เป็นผู้เปิดเผยข้อมูลทุจริตทั้งหมดแก่เอฟบีไอ โดยก่อนหน้านี้ เขายอมสารภาพผิด และชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 1.9 ล้านเหรียญสหรัฐ

ทำไมพวกเขาถึงถูกจับ

เอ ฟบีไอทำการสืบสวนสอบสวนกรณีทุจริตในฟีฟ่ามาเป็นเวลาสามปีเริ่มต้นจากการตรวจ สอบกระบวนการคัดเลือกรัสเซียและกาต้าร์เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกปีค.ศ.2018 และ 2022 ตามลำดับ ก่อนจะขยายกรอบการทำงานเป็นการตรวจสอบการดำเนินงานต่างๆ ของฟีฟ่าในช่วงสองทศวรรษหลัง

กระทรวงการยุติธรรม สหรัฐ ระบุว่า กระบวนการทุจริตที่เกิดขึ้นถูกวางแผนการกันในประเทศสหรัฐอเมริกา แม้แผนการดังกล่าวจะถูกนำไปดำเนินการต่อในประเทศอื่นๆ และหลักฐานการโอนเงินในธนาคารสหรัฐ ก็กลายเป็นหลักฐานสำคัญที่เจ้าหน้าที่เอฟบีไอใช้ในการสอบสวน

ทำไมจึงมีการจับกุมที่สวิตเซอร์แลนด์

สวิตเซอร์แลนด์เป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ฟีฟ่าเหตุผลหนึ่งซึ่งฟีฟ่าเลือกลงหลักปักฐานณ ประเทศแห่งนี้ ก็เป็นเพราะบริษัทใดๆ ที่จดทะเบียนกับทางการสวิส ในฐานะองค์กรการกุศล จะถูกจัดเก็บภาษีในอัตราต่ำ อย่างไรก็ตาม ทางการสวิสกลับมีความตกลงในการส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับทางการสหรัฐ 

และเจ้าหน้าที่อเมริกันก็ใช้ความได้เปรียบข้อนี้เข้าจับกุมกรรมการฟีฟ่าที่ถูกกล่าวหาว่าทุจริตถึงที่ซูริค

คดีทุจริตของฟีฟ่าพัวพันกับเงินจำนวนเท่าไหร่

กระทรวงยุติธรรม สหรัฐ ประเมินว่า มีเงินมากกว่า 150 ล้านเหรียญสหรัฐ ที่สูญเสียไปจากกระบวนการคอร์รัปชั่นครั้งนี้ โดยยังไม่นับรวมกับกรณีทุจริตในวงการฟุตบอลอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นบนพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลก

ฟีฟ่าเป็นองค์กรกีฬาที่ร่ำรวยจากการจัดการแข่งขันฟุตบอลโลก การจัดฟุตบอลโลกปี 2014 ที่บราซิล สร้างรายได้ให้แก่ประเทศเจ้าภาพถึง 4 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยที่ฟีฟ่าเองโกยกำไรไป 2 พันล้านเหรียญ คาดการณ์ว่า ในฟุตบอลโลกสองหนหน้า เม็ดเงินจะยิ่งสะพัดขึ้นไปอีก โดยฟุตบอลโลกที่กาต้าร์ ในปี ค.ศ.2022 อาจสร้างรายได้มากกว่า 6 พันล้านเหรียญ

แม้ แต่การพยายามเสนอตัวเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกก็ต้องใช้เงินมากมายมหาศาลโดยสมาคม ฟุตบอลอังกฤษเคยใช้จ่ายเงินถึง21ล้านปอนด์แลกกับความพ่ายแพ้ในการชิงตำแหน่ง เจ้าภาพฟุตบอลโลก 2018

หนึ่งในตัวละครเล็กๆ ที่มีปูมชีวิตน่าสนใจ



เอดูอาร์โด้ หลี่ เป็นคนจีนโพ้นทะเลที่ตั้งรกรากอยู่ในประเทศคอสตาริกา และเป็นประธานสหพันธ์ฟุตบอลคอสตาริกาคนปัจจุบัน เขากำลังจะเข้าร่วมประชุมบอร์ดฟีฟ่าในช่วงปลายสัปดาห์นี้ และแน่นอนว่าหลี่เป็นหนึ่งในผู้ถูกจับกุมตัว

หลี่ได้รับการโหวตให้เป็นบุคคลแห่งปีประจำปีค.ศ.2014ของประเทศคอสตาริกา หลังทีมชาติคอสตาริกาโชว์ฟอร์มสุดประทับใจ ทะลุเข้าถึงรอบ 8 ทีมสุดท้าย ในฟุตบอลโลกที่บราซิล

ยูริ ลอรีนา จิมีเนซ นักหนังสือพิมพ์ชาวคอสตาริกา อธิบายบุคลิกภายนอกของหลี่เอาไว้ว่า "เขาแต่งตัวเนี้ยบ ไม่มีจุดด่างพร้อยใดๆ ปรากฏ ทรงผมปราศจากความยุ่งเหยิง ทั้งยังใช้น้ำหอมชั้นดี" 

เธอบรรยายสภาพสำนักงานของเขาไว้อีกว่า "มันแวดล้อมไปด้วยสิ่งที่สำแดงถึงรสนิยมชั้นเยี่ยม ทั้งแชมเปญ ค็อกเทลไข่ปลาคาเวียร์ รวมถึงแอร์ที่เย็นฉ่ำชื่นใจ"

หลี่จบการศึกษาด้านวิศวกรรมโยธา แต่ทำงานในสาขาดังกล่าวเพียงแค่ไม่กี่ปีเท่านั้น เมื่อมีผู้สอบถามเขาว่า เพราะเหตุใดจึงหันมาทำงานด้านการบริหารจัดการวงการฟุตบอล เขาตอบว่า ผลตอบแทนบางอย่างที่ตนเองได้รับจากวงการธุรกิจลูกหนังนั้น มันประเมินค่ามิได้

"ไม่มีชีคอาหรับคนไหนสามารถซื้อตั๋วเข้าร่วมงานมหกรรม ซึ่งพวกเรา ผู้บริหารวงการฟุตบอลระดับโลก มีสิทธิ์เข้าร่วมได้ แค่การได้ร่วมเป็นประจักษ์พยานในการจับสลากแบ่งสายฟุตบอลโลก มันก็ถือเป็นผลกำไรมหาศาลของผู้ประกอบอาชีพนี้ อาชีพที่ต้องใช้เล่ห์เหลี่ยมไหวพริบอยู่ตลอดเวลา" หลี่เคยบรรยายถึงอาชีพของตนเองไว้อย่างภาคภูมิใจ ก่อนจะถูกจับกุมตัวในท้ายที่สุด



มติชนออนไลน์แปลและเรียบเรียง
ภาพ Newyork Times


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ทำความเข้าใจ กรณีทุจริตอื้อฉาว ฟีฟ่า ประเด็นสำคัญ

view