สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ผูกพันองค์กรเพื่ออะไร ?

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ชั้น 5 ประชาชาติ โดย สาโรจน์ มณีรัตน์

ดอดไปนั่งฟังงานแถลงข่าวของบริษัทดีลอยท์ ทู้ช โธมัทสุ ไชยยศ ที่ปรึกษา เกี่ยวกับเรื่องทิศทาง HR ปี 2015 เมื่อ 2-3 วันก่อน พบข้อมูลจากการสำรวจน่าสนใจเรื่องหนึ่ง คือ ในปี 2015 เรื่องของวัฒนธรรมองค์กร และความผูกพันของพนักงานกับองค์กร (Culture and Engagement) เป็นเรื่องที่กำลังมาแรงมากในยุคสมัยนี้

ทั้งยังเป็นเรื่องที่ผู้บริหารองค์กรกว่า 3,300 คน จาก 106 ประเทศทั่วโลก ให้ความสำคัญอย่างมาก โดยเฉพาะต่อความคาดหวังของพนักงาน Gen Y (คนที่เกิดตั้งแต่ปี 2523-2540) ที่อยากจะให้กลุ่มคนเหล่านี้มีความผูกพันกับองค์กรมากกว่านี้

เพราะอย่างที่ทุกคนทราบดี พนักงาน Gen Y ไม่เพียงต้องการเงินเดือน สวัสดิการในอัตราที่น่าพอใจ กลุ่มคนเหล่านี้ยังมีความคาดหวังต่อรูปแบบการทำงานในลักษณะยืดหยุ่น

ไม่เคร่งครัดและเคร่งเครียดจนเกินไป

ทั้งยังต้องการเห็นโอกาสการเติบโตในการทำงานค่อนข้างชัดเจน ที่สำคัญลักษณะงานจะต้องมีความท้าทาย และยิ่งถ้าองค์กรไหนสนับสนุนให้พนักงานมีโอกาสเดินทางไปทำงานยังบริษัทแม่ในต่างประเทศ หรือสาขาในประเทศต่าง ๆ ได้ยิ่งดี

แต่ถ้าไม่เป็นดั่งที่กล่าวมา

โอกาสที่พนักงาน Gen Y จะเปลี่ยนงาน มีโอกาสสูงยิ่ง


ทั้งนั้น เพราะพนักงาน Gen Y ส่วนใหญ่เป็นแรงงานหลัก (Workforce) ที่ไม่เฉพาะแต่ประเทศไทยเท่านั้น หากในส่วนของโลกใบนี้ Gen Y ก็เป็นกำลังหลักขององค์กรต่าง ๆ

นอกจากนั้น คน Gen Y ส่วนใหญ่ยังเลือกที่จะประกอบอาชีพอิสระค่อนข้างมาก

คำถามของผมคือ ทำไมผู้บริหารระดับสูงขององค์กรต่าง ๆ ทั่วโลก จึงคาดหวังที่จะให้พนักงาน Gen Y มีความผูกพันกับองค์กร

ทั้ง ๆ ที่รู้อยู่แล้วว่า กลุ่มคนเหล่านี้มีความต้องการอะไรบ้าง ?

ที่สำคัญเทรนด์นี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะแต่ประเทศไทยเท่านั้น หากเกิดขึ้นทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา ยุโรป หรือเอเชีย ถ้ามองจากข้อมูลของแบบสำรวจเป็นไปได้ว่า Gen Y คือ แรงงานหลักที่เราจำเป็นอย่างยิ่งที่จะง้อกลุ่มคนเหล่านี้

เพราะไม่มีเขา

องค์กรจะขาดกำลังสำคัญ

เพราะปัจจุบัน ผู้บริหารยุคเบบี้บูมเมอร์ (คนที่เกิดตั้งแต่ปี 2489-2507) กำลังลงจากตำแหน่ง จึงเป็นโอกาสที่ผู้บริหารในรุ่น Gen X (คนที่เกิดตั้งแต่ปี 2508-2522) กำลังขึ้นมา

กลุ่มคนเหล่านี้พอจะคุ้นชินกับพฤติกรรมของคน Gen Y ที่ยังพอมองตาก็รู้ใจว่า พวกเขาต้องการอะไรบ้าง ที่สำคัญช่วงอายุไม่ต่างกันมากจึงพอจะเข้าใจอยู่บ้างว่า พวกเขาชอบหรือไม่ชอบอะไร

แต่กระนั้นก็มีช่องว่างระหว่างความคิดซ่อนอยู่ เพราะพฤติกรรมของผู้บริหาร Gen X มีความเป็นตัวเองค่อนข้างสูง ทั้งยังเป็นคนมีความคิดสร้างสรรค์ ทำงานค่อนข้างรวดเร็ว

ขณะที่คน Gen Y มีความสามารถในการทำงานหลาย ๆ อย่างในเวลาเดียวกัน มีความคิดสร้างสรรค์ แต่ขาดความอดทน ดังนั้นหากผู้บริหาร Gen X สั่งให้พนักงาน Gen Y ไปทำงานอะไรสักอย่างหนึ่ง

ความคาดหวังของผู้บริหาร Gen X จึงต้องการความรวดเร็วในการทำงาน ขณะที่พนักงาน Gen Y ค่อนข้างจะใช้ความคิด มีระยะเวลาในการทำงาน หรือบางทีทำงานที่ได้รับมอบหมายอยู่ดี ๆ อาจเปลี่ยนไปทำงานอย่างอื่นก็ได้

จนงานที่ถูกมอบหมายไม่ไปถึงไหนเสียที

ที่สุดการปะทะทางความคิดแบบเงียบ ๆ จึงก่อตัวขึ้นอยู่ในใจ

จนทำให้การบริหารงานเกิดปัญหาได้

ผมถึงมีความเชื่อว่า หลักในการบริหารพนักงานจะใช้ตรรกะอย่างเดียวไม่ได้ แต่จะต้องผสมผสานระหว่างการบริหารแบบคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่เข้าด้วยกัน

เชื่อใจ


ให้โอกาส

พร้อมปรับเปลี่ยนแก้ไข

จึงเป็นทางออกที่ดีที่สุด เพราะศาสตร์ของการบริหารไม่มีอะไรตายตัว ให้มากไปก็ไม่ดี ให้น้อยไปก็อาจถูกด่า หรือไม่ให้อะไรเลยก็ยิ่งไปกันใหญ่

ดังนั้น เราจึงต้องบริหารแบบรุก รับ

แต่การที่จะทำให้พนักงาน Gen Y หันมามีความผูกพันกับพนักงานและองค์กรในปริมาณที่เพิ่มขึ้น ผมยังมีความเชื่อว่าถ้าเรายิ่งใช้รูปแบบหรือเครื่องมือมาประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการ โดยให้ฝ่าย HR เป็นผู้รับผิดชอบ ผมว่าไม่น่าจะเป็นคำตอบที่ถูกต้องสำหรับยุคสมัยนี้

เพราะคนรุ่นใหม่เกือบทุกคนไม่สนใจราก ไม่สนใจที่อยากจะรู้ว่า องค์กรมีประวัติความเป็นมาอย่างไร ทั้งยังไม่ค่อยจะใส่ใจว่าใครเป็นผู้บริหารระดับสูงหรือซีอีโอ

เพราะเขารู้สึกว่าเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องไกลตัว รู้ไปก็ไม่ช่วยทำอะไรให้ชีวิตดีขึ้น เขาต้องการรู้เรื่องของตัวเองมากกว่าว่า อีกสัก 3-5 ปี เขาจะเติบโตไปอยู่ตำแหน่งไหน

เงินเดือนจะขึ้นไปอีกสักเท่าไหร่

และมีความท้าทายในงานอะไรบ้าง

เพื่อที่เขาจะตัดสินใจเองว่าจะอยู่ต่อหรือจะไปดี

เพราะสิ่งแวดล้อมรอบตัวจากเหล่าบรรดาเพื่อน ๆ ของเขาเป็นอยู่อย่างนี้ เรื่องอะไรเขาจะมาย่ำอยู่กับที่ และเรื่องอะไรเขาจะมีความผูกพันให้กับองค์กร

ยิ่งถ้าบางองค์กรไม่เคยหยิบยื่นโอกาสต่าง ๆ ให้เขาเลย

คนกลุ่มนี้ไปหมดละครับ

ผมจึงเชื่อว่าไม่เฉพาะแต่องค์กรในประเทศไทยหรอกนะครับที่คิดกันอย่างนี้ หากองค์กรในหลายประเทศทั่วโลกก็คิดกันอย่างนี้เช่นกัน

ใครเห็นต่างโปรดช่วยนำเสนอความคิดเห็นทีนะครับ ?


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ผูกพันองค์กร เพื่ออะไร

view