สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ไม่อยากเป็น มนุษย์เงินเดือน

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์สามัญสำนึก โดย สุดใจ ชาญชาตรีรัตน์

อาทิตย์ที่ผ่านมามีรายงานข่าวชิ้นเล็ก ๆ เกี่ยวกับสถานการณ์ตลาดแรงงานโลก 2015 ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO)

ว่า ด้วยสถานการณ์ของตำแหน่งงานทั่วโลกที่กำลังมีทิศทางที่เปลี่ยนไปอย่างน่า สนใจ และอาจกลายเป็นประเด็นปัญหาต่อภาคธุรกิจทั่วโลก เพราะจากข้อมูลพบว่าพนักงานประจำ หรือ "มนุษย์เงินเดือน" ซึ่งพึ่งพารายได้ประจำ มีเงินบำนาญยามเกษียณที่ถือว่าเป็นงานที่มั่นคงกำลังลดน้อยลงเรื่อย ๆ

โดยปัจจุบันทั่วโลกมีมนุษย์เงินเดือนไม่ถึง 25% หรือ 1 ใน 4 ของคนทำงานทั่วโลก

ขณะที่คนทำงานส่วนใหญ่หรือราว 3 ใน 4 ของแรงงานโลก เป็นการจ้างงานแบบชั่วคราวหรือพาร์ตไทม์, ฟรีแลนซ์ รวมถึงการทำงานกับครอบครัวหรือการทำธุรกิจส่วนตัว

สอดคล้องกับสถานการณ์ปัญหาแรงงานของประเทศไทยที่นับวันปัญหาการขาดแคลน "แรงงาน" ที่มีทักษะตรงกับความต้องการยิ่งมีปัญหาหนักมากขึ้น

แม้ ว่าในภาพรวมของประเทศหรือทั่วโลกจะมีปัญหาการว่างงานเพิ่มขึ้น แต่ถ้าเจาะลึกลงไปจะพบว่า องค์กรธุรกิจจำนวนมากต้องปวดหัวกับการขาดแคลนแรงงาน เนื่องจากพนักงานลาออกบ่อย โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่หรือเด็กจบใหม่

และ แนวโน้มปัญหารุนแรงมากขึ้น เพราะโครงสร้างประชากรของไทยและหลายประเทศทั่วโลกกำลังคืบคลานเข้าสู่สังคม ผู้สูงอายุ ส่งผลให้มีแรงงานใหม่เข้าสู่ตลาดน้อยลงไปด้วย

นอกจากนี้ จากค่านิยมหรือแนวคิดของคนรุ่นใหม่ที่ไม่ต้องการเป็น "ลูกจ้าง" ด้วยความใฝ่ฝันเป็นเจ้าของกิจการ หรือทำอาชีพอิสระเพิ่มมากขึ้น ๆ โดยหวังที่สร้างความมั่งคั่งให้กับชีวิตอย่างรวดเร็ว

โดยเฉพาะอาชีพ "นักลงทุน" ในตลาดหุ้นแบบที่ไม่ต้องลงแรง ที่กำลังเป็นเทรนด์มาแรง ทำให้ปัจจุบันคนรุ่นใหม่จำนวนมากไม่สนใจที่จะทำงานกับองค์กรต่าง ๆ ตามที่ร่ำเรียนมา

เห็นได้จากร้านขายหนังสือทุกวันนี้ที่มีหนังสือแนะนำช่องทางรวยทางลัด หรือหนังสือการลงทุนออกมาเต็มไปหมด

ทั้ง มุ่งรวยด้วยการเล่นหุ้น หรือทำธุรกิจส่วนตัวเอง ทำถูกทางก็รวยเร็ว แต่บางคนก็ทำแบบฉาบฉวยขาดประสบการณ์หรือศึกษาข้อมูลก็อาจเจ็บตัวกันไป ปัจจัยเหล่านี้กลายเป็นความท้าทายขององค์กรธุรกิจขนาดใหญ่จำนวนมาก

เช่นที่ "อาทิตย์ นันทวิทยา" ประธานเจ้าหน้าที่บริหารธนาคารไทยพาณิชย์กล่าวว่า ตัวชี้วัดหรือตัดสินความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจ คือ "คน" แต่สิ่งสำคัญที่ธุรกิจขนาดใหญ่ทั้งหลายรวมทั้งธนาคารพาณิชย์ต้องวางแผนเพื่อ รับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้และในอนาคต คือ การทำให้ภาคธนาคารเป็นองค์กรที่คนรุ่นใหม่จบการศึกษาอยากเข้ามาร่วมงานด้วย

"จาก การเปลี่ยนแปลงของสังคมและค่านิยม ทำให้ปัจจุบันเด็กจบใหม่มีแนวคิดต้องการเป็นเจ้าของกิจการ เป็น "นายของตัวเอง" ไม่ต้องการเป็นลูกจ้าง และถ้าเราไม่ตระหนักและปรับตัวตั้งแต่วันนี้ ถึงเวลาอาจสายเกินไปก็ได้" ซีอีโอไทยพาณิชย์กล่าว


นี่คือคำยืนยันปัญหา "บุคลากร" ที่แม้แต่ธนาคารพาณิชย์แถวหน้าของประเทศก็ต้องตระหนัก เพราะในอดีตการทำงานธนาคารจะได้รับความนิยม หรือเรียกว่าเป็นหนึ่งอาชีพในฝันของนักศึกษาจบใหม่ แต่ปัจจุบันบางตำแหน่งงานหาพนักงานยากจนขาดแคลน

ประเด็นนี้แม้แต่ "ธุรกิจจัดหางาน" ก็ประสบปัญหาการจัดหาแรงงานป้อนไปตามหน่วยงานและองค์กรเอกชนต่าง เช่น กัน จากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของเด็กรุ่นใหม่ และความต้องการบุคลากรของแต่ละองค์กรที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ธุรกิจจัดหาแรงงานก็ปั่นป่วนด้วยเช่นกัน

เมื่อค่านิยมและ โครงสร้างประชากรเป็นอุปสรรคสำคัญ ทำให้แรงงานใหม่เข้ามาสู่ตลาดน้อยลง ทำให้บริษัทต่าง ๆ ต้องเหนื่อยกับการหาคนเข้าทำงานมากขึ้น และหากเรายังไม่ตระหนักถึงปัญหาอย่างแท้จริง อนาคตก็อาจกลายเป็นอุปสรรคสำคัญในการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศได้


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ไม่อยากเป็น มนุษย์เงินเดือน

view