สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ท่านเป็นผู้นำที่ส่งเสริมนวัตกรรมหรือไม่

ท่านเป็นผู้นำที่ส่งเสริมนวัตกรรมหรือไม่?
โดย : รศ.ดร.ศิริยุพา รุ่งเริงสุข

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

ผู้นำที่ข้างในใจแคบแต่สร้างภาพว่าเป็นคนใจกว้างรับฟังความเห็นคนอื่นนั้นน่ากลัวมาก เพราะเป็นตัวถ่วงสกัดกั้นนวัตกรรมมิให้เกิดขึ้น

ทุกวันนี้ผู้บริหารล้วนมองหา “นวัตกรรม” (Innovation) ในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นนวัตกรรมของสินค้า บริการ หรือนวัตกรรมในเรื่องของกระบวนการทำงานให้มีประสิทธิภาพประสิทธิผลมากขึ้น

หลายคนได้ยินคำว่า “นวัตกรรม” แล้วก็ออกจะรู้สึกเกร็งหน่อยๆ เพราะรู้วึกว่าตนเองต้องสร้างอะไรที่ยิ่งใหญ่ แปลกใหม่แบบไม่เคยมีใครทำมาก่อน ซึ่งก็เป็นความเข้าใจที่ถูกต้องค่ะ เพราะเมื่อตรวจสอบความหมายในภาษาอังกฤษแล้ว คำๆนี้หมายถึงการเปลี่ยนแปลงแบบถอนรากถอนโคน เป็นการปฏิวัติเลยทีเดียว

แต่ในวงการบริหารธุรกิจที่ทั้งนักวิชาการและนักบริหารบางท่านที่มีหัวการตลาดมากหน่อยนิยมใช้คำหนักๆแรงๆเพื่อเรียกความสนใจ “นวัตกรรม” ไม่จำเป็นต้องหมายถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วรุนแรง เปลี่ยนแบบไม่เหลือรูปรอยเก่า มันอาจเป็นเพียงการคิดต่าง การคิดต่อยอดที่สร้างสรรค์ เท่านั้นก็ถือว่าใช้ได้

คงสงสัยว่าแล้วทำไมจึงชอบใช้คำว่านวัตกรรมกันพร่ำเพรื่อเหลือเกินในยุคนี้ ถ้าเพียงแค่คิดต่าง หรือคิดต่อยอด เราใช้คำว่า “ความคิดสร้างสรรค์” (Constructive idea) ก็น่าจะพอ แต่ก็เป็นอย่างที่กล่าวมานะคะว่าสมัยนี้เป็นสมัยการตลาดเฟื่อง คนเราจึงชอบใช้คำแรงๆเพื่อเรียกร้องความสนใจ

มาเข้าเรื่องต่อกันดีกว่าว่าเราจะทราบได้อย่างไรว่าผู้นำของเราหรือผู้นำอย่างเรามีพฤติกรรมการบริหารที่ส่งเสริมให้สมาชิกในทีมงานมีนวัตกรรม หรือมีความคิดสร้างสรรค์ดีๆออกมาได้ หรือเราเป็นคนที่ทำให้พนักงานคิดอะไรไม่ออก หรือไม่อยากคิด?

สำหรับประเด็นข้อนี้ เดวิด มาเกลลัน ฮอร์ธ ที่ปรึกษาอาวุโสของศูนย์ภาวะผู้นำแบบสร้างสรรค์ (Center for Creative Leadership) มีคำตอบให้ค่ะ ซึ่งสถาบันที่เดวิดทำงานอยู่ด้วยนี้เป็นสถาบันพัฒนาภาวะผู้นำระดับโลกที่นสพ. ไฟแนนเชียล ไทมส์ (Financial Times) ให้การยอมรับว่าอยู่ในลำดับต้นๆ เดวิดได้ทำการสำรวจผู้นำองค์กรจำนวน 500 ท่านว่าเห็นด้วยหรือไม่กับความคิดที่ว่า นวัตกรรมคือกุญแจที่ไขสู่ความสำเร็จขององค์กร 94% ของผู้นำตอบว่าเห็นด้วย แต่ทั้งนี้มีเพียง 14% เท่านั้นที่มั่นใจว่าองค์กรที่ตนบริหารเป็นองค์กรที่สามารถจูงใจและผลักดันให้พนักงานมีนวัตกรรม

นอกจากการสำรวจข้อมูลเรื่องนี้แล้ว เดวิดยังสังเกตเห็นว่าเวลาที่เขาจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ (Workshop) ให้บรรดาผู้นำต่างๆ เขาจะถามผู้นำว่าผู้นำเหล่านั้นมีปฏิกิริยาตอบรับกับลูกน้องอย่างไรเมื่อลูกน้องเข้ามาพบพร้อมกับมีความคิดใหม่ๆ จากคำตอบของผู้นำทำให้เดวิดทราบเลยว่าผู้นำแต่ละคนช่วยส่งเสริมนวัตกรรมมากน้อยหรือไม่อย่างไร

ลองมาฟังคำตอบของผู้นำท่านหนึ่งดูสิคะ ผู้นำกล่าวว่า “ทำไมพวกเขาถึงไม่รู้จักทำในสิ่งที่ตัวเองควรจะทำ (ทำงานในหน้าที่) ให้เสร็จซะ (ก่อน)?” ส่วนผู้นำอีกท่านหนึ่งตอบว่า เขาได้บอกให้ลูกน้องไปพักผ่อนตอนบ่ายเสีย โดยหวังว่าลูกน้องจะลืมความคิดนั้นไปในที่สุด...ไม่อยากเชื่อก็ต้องเชื่อนะคะว่ามีผู้นำที่คิดและรู้สึกอย่างนี้จริงๆ

ดิฉันชื่นชมคนที่กล้ารับความจริงแบบนี้นะคะ ดีกว่าผู้นำที่ต่อหน้าทำเป็นแสดงว่าชอบและสนใจให้ลูกน้องคิดต่าง คิดแปลก คิดท้าทายกระบวนการทั้งๆที่ใจจริงแล้วเบื่อ รำคาญ ไม่พอใจที่ลูกน้องพยายามหาเรื่องสร้างความยุ่งยากให้เกิดขึ้น เพราะการคิดที่แตกต่างอาจนำไปสู่ความขัดแย้ง ซึ่งผู้นำเบื่อความขัดแย้ง อยากให้ลูกน้องรับคำสั่งแล้วรีบไปทำงานให้เสร็จๆ ไม่ต้องมีคำถามหรือปัญหามากวนใจให้มากความ

ผู้นำที่ข้างในใจแคบแต่สร้างภาพว่าเป็นคนใจกว้างรับฟังความเห็นคนอื่นนี่แหละที่น่ากลัวมาก เพราะเป็นตัวถ่วงสกัดกั้นนวัตกรรมมิให้เกิดขึ้น และองค์กรมีผู้นำสองหน้าแบบนี้อยู่มากมายแต่ไม่ค่อยมีใครรู้ กลายเป็นพลังมืดที่สกัดองค์กรมิให้ไปถึงดวงดาว โดยต้องย่ำเท้าอยู่กับที่

ผู้บริหารระดับสูงจึงพึงสำรวจตรวจตราว่าผู้บริหารระดับรองลงมา และบรรดาหัวหน้างานทั้งหลายมีพฤติกรรมสกัดกั้นนวัตกรรมของพนักงานหรือไม่ เพราะหัวหน้างานนี่แหละคือบุคคลที่มีอิทธิพลสูงต่อพนักงานในการที่จะส่งเสริมหรือสกัดกั้นนวัตกรรมจากพวกเขา

ในยุคการแข่งขันสูงที่ธุรกิจต้องหาทางแย่งตลาด แย่งลูกค้าและลดต้นทุน องค์กรต้องการนวัตกรรมที่จะมาช่วยปรับปรุงยอดขายสินค้าและบริการ ต้องการปรับปรุงวิธีการทำงานให้เร็วกว่าเดิม ได้ผลมากกว่าเดิมโดยมีค่าใช้จ่ายต่ำกว่าเดิม ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ หลีกเลี่ยงไม่ได้ว่าเราต้องการนวัตกรรม ซึ่งการมีผู้นำเพียงคนสองคน หรือต่อให้เป็นสิบคนย่อมไม่เพียงพอที่จะสร้างนวัตกรรมให้องค์กรได้อย่างต่อเนื่องตลอดเวลา

พนักงานทุกคนในองค์กรต่างหากที่เป็นขุมทรัพย์แห่งปัญญาและนวัตกรรมขององค์กร

นวัตกรรมเกิดขึ้นได้ในทุกระดับงานขององค์กร เกิดขึ้นได้ในทุกแผนก ทุกชิ้นงาน อย่าได้มองข้ามพนักงานตำแหน่งเล็กๆในองค์กรว่าคงไม่สามารถสร้างนวัตกรรมให้องค์กรได้ บริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกอย่างโตโยต้า หรือระดับชาติอย่างกลุ่มปูนซิเมนต์ไทยต่างให้ความสำคัญกับข้อเสนอแนะของพนักงานตัวเล็กๆในสายการผลิตเสมอ เพราะเขาเหล่านี้อยู่หน้างานจริง และเมื่อพวกเขาสังเกตเห็นว่ากระบวนการทำงานที่ดำเนินอยู่มีข้อผิดพลาด หรือควรได้รับการปรับปรุงอย่างไรเพื่อลดเวลาหรือลดต้นทุน คำแนะนำเล็กๆน้อยๆนี่แหละที่สามารถช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายขององค์กรเป็นล้านๆบาทมาแล้ว

ปัญหาจึงอยู่ที่ว่าผู้นำควรสร้างบรรยากาศในการทำงานอย่างไร หรือมีพฤติกรรมการนำและบริหารอย่างไรจึงจะกระตุ้นการสร้างนวัตกรรม เดวิดกล่าวว่าการสร้างบรรยากาศการทำงานที่กระตุ้นการเกิดนวัตกรรมต้องเริ่มจากการปรับทัศนคติของผู้นำก่อน ไม่ใช่เริ่มจากการปรับทัศนคติของพนักงาน โดนใจผู้นำไหมคะ?

ทั้งนี้จากการวิจัยและประสบการณ์ของที่ปรึกษาอย่างเดวิดย่อมทำให้เขาตระหนักว่านวัตกรรมจะเกิดขึ้นหรือไม่ขึ้นอยู่กับผู้นำทากกว่าขึ้นอยู่กับพนักงาน เพราะถึงพนักงานอาจจะเก่งและมีความคิดสร้างสรรค์ที่ดี แต่ถ้ามีหัวหน้างานที่ใจแคบไม่เปิดโอกาสให้พนักงานได้แสดงความเห็น นวัตกรรมก็จะไม่มีโอกาสหลุดจากสมองของพนักงานออกมาเป็นสินค้าหรือบริการใหม่ๆได้เลย

ทั้งนี้พฤติกรรมและทัศนคติของผู้นำที่ทำให้นวัตกรรมเป็นหมันได้มากที่สุดก็คือ ผู้นำที่คิดว่า “ฉันรู้ทุกอย่าง” (Know-it-all leaders) ค่ะ เข้าใจว่าองค์กรทั่วโลกมีผู้นำสายพันธุ์นี้อยู่ไม่น้อยเลย ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้บริหารระดับสูงจะต้องคิดอ่านหาทางแก้ไขเรื่องนี้กันให้ได้ จะฝึกอบรม หรือละลายพฤติกรรมก็ว่ากันไป วันหน้าค่อยคุยกันเรื่องการเปลี่ยนทัศนคติของคนกัน วันนี้ขอคุยเรื่องการสร้างบรรยากาศกระตุ้นนวัตกรรมให้จบก่อนค่ะ

การสร้างบรรยากาศการทำงานที่กระตุ้นนวัตกรรมที่สถาบัน Center for Creative Leadership แนะนำไว้มีดังนี้

-          สร้างค่านิยมวัฒนธรรม หรือสร้างข้อบัญญัติในองค์กรว่าองค์กรนี้นิยมและต้อนรับการเปลี่ยนแปลง

-          ผู้นำต้องแสดงพฤติกรรมที่เป็นแบบอย่างที่ดีแก่พนักงาน เช่น ส่งเสริมกระตุ้นการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ส่งเสริมการถกปัญหาจากมุมมองต่างๆของพนักงาน เป็นต้น

-          หมั่นสื่อสารกับพนักงานเรื่องประเด็นกลยุทธ์การทำงานที่ท้าทายโดยให้พนักงานไปคิดหาทางเลือกหรือข้อแนะนำใหม่ๆ

-          สร้างทีมงานหลายๆทีมที่สมาชิกมีคุณสมบัติหลากหลายให้ช่วยกันคิดเรื่องประเด็นกลยุทธ์ที่สำคัญมีผลกระทบกับองค์กร

-          ส่งเสริมและจัดหาทรัพยากรและเครื่องมือต่างๆที่พนักงานสามารถนำไปใช้ในการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ของตนได้ เช่น มีแหล่งข้อมูลงานวิจัยใหม่ ข่าวคราวนวัตกรรมในสายธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ซื้อไอแพดให้พนักงานได้ใช้เพื่อค้นหาข้อมูล เป็นต้น

-          ออกแบบระบบการทำงานในองค์กรที่ส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรม เช่น จัดกลุ่มวิจัย จัดประชุมแลกเปลี่ยนความเห็นระหว่างผู้บริหารและพนักงาน จัดสร้างระบบการสื่อสารแบบสองทางในองค์กร (Two-way communication) เป็นต้น

-          พยายามนำความเห็นที่ดีของพนักงานไปปฏิบัติให้ได้จริง แม้ว่าความคิดนั้นอาจยังไม่เหมาะกับแผนกงานของตน แต่อาจเหมาะกับแผนกงานอื่น ก็จงพยายามเผยแพร่สนับสนุนหน่วยงานอื่นให้นำความคิดนั้นไปใช้

-          พยายามขจัดอปสรรคทั้งหลายที่ขวางทางการเกิดของนวัตกรรม เช่นการเมืองในองค์กร การเล่นพรรคเล่นพวก เป็นต้น

จะเห็นได้ว่าบทบาทของผู้นำนั้นมีอิทธิพลต่อความเจริญก้าวหน้าของพนักงานและองค์กรอย่างกว้างขวางเกินที่เราและตัวผู้นำเองจะคาดคิด อะไรๆก็เริ่มจากผู้นำทั้งนั้น ยิ่งในสังคมไทยที่มีค่านิยมเรื่องการเคารพผู้อาวุโส ผู้นำก็ยิ่งมีอิทธิพลมากขึ้นไปอีก

ก่อนที่องค์กรจะไปกดดันรีดนวัตกรรมจากมันสมองของพนักงาน ลองหันมาประเมินทัศนคติ พฤติกรรม และความสามารถของหัวหน้างานแต่ละระดับว่าเป็นผู้ที่สามารถสร้างบรรยากาศแห่งนวัตกรรมได้มากเพียงใดก่อนน่าจะดีนะคะ



สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ท่านเป็นผู้นำ ส่งเสริมนวัตกรรม

view