สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เมื่อการลดค่าเงินกลายเป็นยาสามัญประจำบ้าน

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ มายาการเงิน

โดย สันติธาร เสถียรไทย santitharn.sathirathai@gmail.com

เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ธนาคารกลางสิงคโปร์ตัดสินใจลดค่าเงินสิงคโปร์ดอลลาร์ ก่อนจะถึงวันประชุมนโยบายการเงิน ให้นักลงทุนงงกันเล่น ค่าเงินริงกิตของมาเลเซีย และเงินรูเปียห์ของอินโดนีเซียก็อ่อนลงอย่างเร็วมากในปีนี้ จนขนาดผมที่คาดมานานว่าสองสกุลเงินต้องอ่อนลงยังแปลกใจ

เหตุหนึ่งน่าจะมาจากการที่ธนาคารกลางของทั้งสองแห่ง ยอมปล่อยให้ค่าเงินอ่อนตัวลง ไม่ได้เข้าไปแทรกแซงในตลาดมากเท่าเมื่อก่อน หรือขึ้นดอกเบี้ยเพื่อดึงเงินเข้าตลาดพันธบัตรมากขึ้น ในกรณีอินโดนีเซียผู้ว่าการธนาคารชาติเขาเคยออกมาพูดด้วยซ้ำไป ว่า เงินอ่อนลงของประเทศเขาอาจเป็นเรื่องจำเป็น เพราะการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด (Current Account) และมองว่าจะเกิดขึ้นต่อไป

แต่กรณีที่น่าสนใจยิ่งกว่า คือ ของประเทศไทยเรานี่เอง ล่าสุดคณะกรรมการนโยบายการเงินลดดอกเบี้ยไปสองครั้งติดกันจนเหลือ 1.75% พลิกความคาดหมายของนักลงทุนและนักวิเคราะห์จำนวนมาก แต่สำหรับผมแล้วสิ่งที่น่าแปลกใจยิ่งกว่า คือ "การส่งสัญญาณ" ว่าเงินบาทนั้นแข็งเกินไปแล้ว ซึ่งอาจจะเป็นจุดเปลี่ยนแปลงที่สำคัญทางนโยบายการเงินของไทยเลยทีเดียว

โดยในวันนั้นแบงก์ชาติยิงกระสุนสามนัดขึ้นฟ้าเพื่อเป็นการส่งสัญญาณ กระสุนนัดแรก คือการหักมุมลดดอกเบี้ยอีกครั้ง สวนการคาดหมายของตลาด โดยจำนวนเสียงที่โหวตให้ลดดอกเบี้ยนั้นมากกว่าตอนที่ลดดอกเบี้ยในเดือนมีนาคมด้วยซ้ำ

กระสุนนัดที่สอง คือการกล่าวอย่างชัดเจนหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินว่า การลดดอกเบี้ยส่วนหนึ่ง
เป็นเพราะความห่วงเรื่องเงินบาทแข็ง และ กระสุนนัดสุดท้าย คือการบอกทันทีว่าแบงก์ชาติจะออกมาตรการเพิ่มเติมเพื่อให้เงินไหลออกจากประเทศได้ง่ายขึ้น ลดแรงดันต่อเงินบาท

ไม่ว่ามาตรการเหล่านี้จะมีผลหรือไม่แค่ไหน สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ สัญญาณเกี่ยวกับค่าเงินที่ชัดเจน ซึ่งต่างจากสมัยก่อนที่แบงก์ชาติจะไม่ค่อยพูดถึงค่าเงินยามลดดอกเบี้ย และชอบเน้นว่านโยบายดอกเบี้ยนั้นไม่ค่อยมีผลต่ออัตราแลกเปลี่ยน

เศรษฐกิจยิ่งอ่อน บาทยิ่งแข็ง (Thai Baht Puzzle)

ก่อนจะไปดูกันว่าแนวนโยบายผ่อนค่าเงินนี้มาถูกทางหรือไม่ เราต้องมาเข้าใจกันก่อนว่าทำไมที่ผ่านมาเงินบาทถึงแข็งสวนทางชาวบ้านเขา เพราะถ้าสมมุติเงินบาทแข็งเพราะความสามารถทางการแข่งขันของเราดี หรือมีคนอยากเข้ามาลงทุนก็คงไม่ใช่ปัญหาใหญ่ และไม่มีความจำเป็นต้องไปกดค่าเงินเท่าไรนัก โดยเราไม่ควรดู อัตราแลกเปลี่ยน เทียบกับดอลลาร์สหรัฐอเมริกาอย่างเดียว แต่ดูเทียบกับประเทศคู่ค้าทั้งหลาย หรือที่เรียกว่า Effective Exchange Rate จะเห็นได้ชัดว่าเงินบาทแข็งตัวขึ้นมากในช่วงต้นปีนี้ และจริง ๆ แล้วก็มีแนวโน้มเป็นขาขึ้นมาพักใหญ่ก่อนหน้านี้แล้ว ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์และนักการเงินที่เชื่อว่าอัตราแลกเปลี่ยน เป็นตัวสะท้อนความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ ก็จะงงไปตาม ๆ กันว่า ที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยแกร่งกว่าเพื่อนบ้านขนาดนั้นเลยหรือ นักวิเคราะห์ที่เชื่อในทฤษฎีนี้จะคาดการณ์มาตลอดว่า บาทต้องอ่อนกว่าชาวบ้าน แต่ก็ไม่เห็นเกิดขึ้นสักที หรือว่าแม้ประเทศไทยจะมีปัญหาเศรษฐกิจระยะสั้น แต่ในระยะยาวนั้นยังมีความสามารถทางการแข่งขันที่ดีกว่าเพื่อนบ้าน และสามารถดึงดูดการลงทุนข้ามชาติ (FDI) เข้ามามากกว่าเจ้าอื่น จนค่าเงินไม่ยอมอ่อนตามเทรนด์

เสียดายที่แนวคิดพวกนี้ไม่ถูกต้องครับ

แท้จริงแล้วการที่เงินบาทแข็ง เป็นเพราะความอ่อนแอ ไม่ใช่ ความแข็งแกร่ง เพราะกำลังซื้อในประเทศ ทั้งการบริโภคและการลงทุนนั้นอ่อนแอต่อเนื่องในสองปีที่ผ่านมา จึงทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัด หรือ Current Account นั้นกลับมาเป็นบวกเกินดุลอย่างมหาศาล

และในปีนี้ราคาน้ำมันที่อ่อนลง ก็ยิ่งทำให้มูลค่าสินค้ากลุ่มพลังงานที่ไทยนำเข้าจำนวนมากลดลงอีกด้วย ในขณะเดียวกัน แม้การส่งออกสินค้าจะอาการไม่ดีต่อเนื่อง แต่การส่งออกภาคบริการหรือการท่องเที่ยวนั้นบูมกันอย่างเต็มที่ ยกเว้นก็แต่ช่วงที่มีปัญหาการเมืองเมื่อต้นปีที่แล้ว และสัดส่วนของรายได้การท่องเที่ยวเทียบกับการส่งออกทั้งหมดของไทยนั้นถือว่าสูงที่สุดในเอเชียอยู่ที่ประมาณ 12%

หลายคนอาจจะมองว่าเพราะการท่องเที่ยวที่สดใสอยู่นั้นมาจากนักท่องเที่ยวจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งไม่ค่อยใช้จ่ายเท่าไร ไม่เหมือนนักท่องเที่ยวจากยุโรปหรือแม้แต่รัสเซียที่เบาบางลงไปมาก แต่ในความเป็นจริงแล้วที่ผ่านมาการเติบโตของนักท่องเที่ยวจีนนั้นได้เสริมรายได้โดยรวมของประเทศมากมายพอสมควรเนื่องด้วยปริมาณคนที่มหาศาลแต่รูปแบบการจับจ่ายใช้สอยอาจแตกต่างจากพวกยุโรป เลยทำให้ธุรกิจหลายประเภท เช่น โรงแรม และสถานบันเทิงท่องเที่ยว เช่น ในพัทยา ไม่ค่อยได้รับประโยชน์

หลักฐานคือ ในไตรมาสแรกของปีรายได้จากการท่องเที่ยวบวกการเจริญเติบโตของ GDP ไปถึง 2% เต็ม ๆ พูดง่าย ๆ คือ ถ้าไม่มีการท่องเที่ยวเลย GDP เราอาจโตแค่ 1% ไม่ใช่ 3% อย่างที่เห็นผลก็คือ แม้ประเทศไทยจะมีปัญหาเรื่องความสามารถทางการแข่งขัน ถึงขั้นน่าห่วงอย่างที่ผมได้เขียนในบทความที่แล้วชื่อ "วิกฤตอุตสาหกรรมไทย ภัยซ่อนเร้นที่ถูกมองข้าม" ดุลการค้า และ Current Account เราก็ยังเป็นบวกมหาศาล หรือพูดอีกอย่างก็คือ เราจะมีรายได้เป็นสกุลเงินต่างประเทศที่จะต้องแลกกลับมาเป็นเงินบาทมาก

คือมี Demand เงินบาทมาก แต่มีความต้องการที่แลกเงินบาทเป็นเงินสกุลต่างชาติ เพื่อซื้อของนำเข้าน้อย จึงทำให้ราคาของเงินบาทแข็งขึ้น

นอกจากนี้ อีกจุดที่เราต่างจากเพื่อนบ้าน คือเงินลงทุนจากต่างชาติไม่ได้เข้ามาในตลาดการเงินมากมายเท่าเจ้าอื่นในช่วงสองปีที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความผันผวนทางการเมืองก่อนหน้านี้ สัดส่วนของพันธบัตรไทยที่ถือโดยนักลงทุนต่างชาติเลยไม่สูงเท่าไรนักอยู่ที่ประมาณ 18% ต่างจากอินโดนีเซียและมาเลเซียที่ไม่นานมานี้สูงถึง 40% กับ 49% เลยทีเดียว

เราจึงไม่อ่อนไหวต่อการที่นักลงทุนต่างชาติอาจขายพันธบัตรทิ้ง เมื่อดอกเบี้ยผลตอบแทนของอเมริกาปรับตัวสูงขึ้นเท่าเพื่อนบ้านเรา ทำให้เงินบาทไม่ค่อยถูกกระทบมากเมื่อดอกเบี้ยอเมริกาขึ้น

ประโยคที่ผมพูดติดปากมาตลอด เมื่อคุยกับนักลงทุนเรื่องเศรษฐกิจไทยใน 12 เดือนที่ผ่านมา จึงเป็น "เศรษฐกิจอ่อนแอ แต่เงินบาทแข็งแรง"


นโยบายธนาคารแห่งประเทศไทยจะได้ผลหรือไม่ ?

คำถามนี้ต้องแยกเป็นสองประเด็น ประเด็นที่หนึ่งคือ ธนาคารแห่งประเทศไทยจะแจกจ่ายยาตัวนี้ได้สำเร็จหรือเปล่า คือจะทำให้บาทอ่อนตามเพื่อนบ้านได้สำเร็จหรือไม่ ประเด็นที่สองคือ การที่บาทอ่อนเป็นยาที่ถูกต้องกับโรคที่เราเป็นอยู่หรือเปล่า

มาดูประเด็นแรกกันก่อน ปัญหาก็คือ การทำให้บาทอ่อนไม่ใช่เรื่องง่าย เมื่อปัจจัยที่ทำให้บาทแข็งส่วนใหญ่เป็นเรื่องดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกิดจากการค้า มากกว่าเรื่องเงินทุนระยะสั้นไหลเข้าประเทศเหมือนเมื่อประมาณสามปีที่แล้ว การจะสวนกระแสดุลการค้านั้น ต้องทำให้นักลงทุนทั้งต่างชาติและไทยเอาเงินออกจากประเทศหรือขายเงินบาท นี่เองจึงเป็นเหตุที่ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องออกมาตรการให้การลงทุนข้างนอกทำได้ง่ายขึ้น แต่เนื่องจากมาตรการพวกนี้จะได้ผลมากจริง ๆ อาจต้องใช้เวลา และคนก็ต้อง "เชื่อ" จริง ๆ ว่าบาทจะอ่อนต่อไป เพราะถ้าไม่เชื่อว่าบาทจะอ่อนจริง เราจะรีบแลกเงินเป็นสกุลอื่นไปทำไม

แต่การที่จะทำให้คนเชื่อธนาคารแห่งประเทศไทย ก็ต้องส่งสัญญาณรุนแรงและต่อเนื่องว่านโยบายบาทอ่อนนี่เป็นของจริง และจะอยู่ไปอีกสักพัก ดังนั้น นอกจากจะส่งสัญญาณด้วยคำพูดแล้ว ธนาคารแห่งประเทศไทยคงต้องคอยแทรกแซงในตลาดอย่างต่อเนื่อง และยอมให้กองทุนสำรองเงินต่างประเทศ (Foreign Exchange Reserves) สูงขึ้น นอกจากนี้ทางธนาคารแห่งประเทศไทยยังจำเป็นต้องเปิดออปชั่นการลดดอกเบี้ยเพิ่มเติมเอาไว้ก่อน แม้ว่าแท้จริงแล้วจะใช้ออปชั่นหรือไม่ก็ตาม เพื่อให้นักลงทุนเชื่อจริง ๆ ว่าคราวนี้ธนาคารกลางของไทยนั้นจะใช้เครื่องมือต่าง ๆ ที่มีอย่างเต็มที่ แต่ถึงแม้ทำทั้งหมดนี้แล้วการจ่ายยาตัวนี้ก็ยังมีความท้าทาย เพราะประเทศเพื่อนบ้านเราในอาเซียน อย่างเช่น อินโดนีเซีย กับมาเลเซีย ล้วนมีปัจจัยที่กดให้ค่าเงินเขาอ่อนลงไปเรื่อย ๆ อยู่

สิ่งที่ธนาคารแห่งประเทศไทยทำจึงคงเหมือนเป็นการ "ซื้อเวลา" รอให้การลงทุนภาครัฐและเอกชนฟื้นตัว เพิ่มการนำเข้าและลดดุลการค้าให้เป็นบวกน้อยลง เพื่อให้แรงดันเงินบาทแข็งเบาบางลง หรือราคาน้ำมันโลกปรับขึ้นสูงจนทำให้มูลค่านำเข้าเราสูงขึ้น (แต่อันนี้จะเป็นผลลบต่อเศรษฐกิจ ไม่เหมือนการเพิ่มการนำเข้าเพราะลงทุนมากขึ้น)

สุดท้ายบาทคงกลายเป็นเกาะอยู่กลาง ๆ กลุ่มค่าเงินในเอเชีย คือไม่ขยับตัวอ่อนลงไปกับเงินรูเปียห์ ริงกิต ที่มีเงินไหลออกมากกว่าเข้า แต่ก็ไม่แข็งสวนทางชาวบ้านแบบแต่ก่อน และน่าจะปรับตัวลงมากกว่าเงินเปโซของฟิลิปปินส์ หรือเงินหยวนของจีน ส่วนถ้าใครอยากเห็นบาทเทียบกับดอลลาร์ทะลุ 35 ก็คงต้องรอกันสักพัก โดยต้องให้เงินดอลลาร์ช่วยออกแรงด้วย เมื่อธนาคารกลางเฟดของอเมริกาขึ้นดอกเบี้ยอย่างจริงจัง

แล้วถ้าสมมุติว่าธนาคารแห่งประเทศไทย ทำให้บาทอ่อนลงได้สำเร็จแล้ว จะแก้โรคต่าง ๆ ที่คุกคามเศรษฐกิจเราได้ไหม ?

ตอบสั้น ๆ ส่วนใหญ่แล้ว ไม่ได้ ปัญหาเรื่องความสามารถทางการแข่งขันนั้น เป็นเรื่องโครงสร้างที่ลงรากไปถึงการพัฒนาขีดความสามารถของแรงงานและทรัพยากรมนุษย์ของไทย เป็นเรื่องของ "คุณภาพ" มากกว่า "ราคา" แต่ที่ช่วยได้คือเป็นการบรรเทาอาการเจ็บป่วยระยะสั้น เพิ่มรายได้เป็นเงินบาทให้กับผู้ส่งออก โดยเฉพาะกลุ่ม SMEs ในยามส่งออกยังซบเซา และเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจที่อาจจะดีกว่าการลดดอกเบี้ยโดยตรงอย่างเดียวที่อาจมีผลกระตุ้นด้านสินเชื่อกับสภาพคล่องในตลาด ที่ทำให้เกิดสภาวะฟองสบู่ในบางจุดได้

ดังนั้น การลดความแรงของค่าเงินบาทจึงเป็นเสมือนยาบรรเทาอาการป่วยชั่วคราวที่สำคัญ แต่ไม่ใช่ยาที่จะรักษาโรคเรื้อรังของเศรษฐกิจไทย เสมือนยาสามัญประจำบ้านที่ตอนนี้ขาดไม่ได้ แม้จะไม่ใช่ยาวิเศษก็ตาม


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ลดค่าเงิน ยาสามัญประจำบ้าน

view