สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ลมหายใจค้าปลีก Central WestGate

จากประชาชาติธุรกิจ

วิรัตน์ แสงทองคำ viratts.wordpress.com

แรงปะทะครั้งใหญ่ โมเดลค้าปลีกขนาดใหญ่-Super Regional Mall ในเมืองไทยมีกลุ่มเซ็นทรัลร่วมด้วย

ปรากฏการณ์ Super Regional Mall ในเมืองไทยมีหลายมิติ เชื่อมโยงกับพื้นที่ โครงข่ายคมนาคม ผู้คน และธุรกิจรายใหญ่

- พื้นที่รอบนอกด้านเหนือของกรุงเทพฯ เป็นพื้นที่เปิดกว้างกว่าด้านตะวันออก (ที่ตั้งของ Megabangna ต้นแบบ Super Regional Mall ที่สร้างกระแสและประสบความสำเร็จทางธุรกิจอย่างดีในเมืองไทย) ถือเป็นตำแหน่งยุทธศาสตร์สำคัญของพื้นที่รอบนอกเมืองหลวง สามารถเชื่อมต่อกับพื้นที่ใกล้เคียงอื่น ๆ ได้มากที่สุด กว้างขวางที่สุด

- โครงการโครงข่ายคมนาคม เกิดขึ้นมากมายในบริเวณนี้

"เป็นจุดเชื่อมระบบคมนาคมขนส่งที่สมบูรณ์ เพราะนอกจากเป็นจุดตัดของถนนกาญจนาภิเษก และถนนรัตนาธิเบศร์แล้ว ยังเป็นเส้นมอเตอร์เวย์สายตะวันตก บางใหญ่-บ้านโป่ง จังหวัดกาญจนบุรี เชื่อมต่อท่าเรือทวาย ทะเลอันดามัน ทั้งยังมีทางด่วนขั้นที่ 3 เชื่อมวงแหวนตะวันตกและมอเตอร์เวย์จังหวัดชลบุรี รวมถึงยังเป็นเส้นทางการเดินรถไฟฟ้าสายสีม่วงบางใหญ่-บางซื่อ และด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้ Central WestGate กลายเป็นห้างสรรพสินค้าที่ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายกว่า 13 ล้านคน ใน 8 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ, นนทบุรี, ปทุมธานี, พระนครศรีอยุธยา, นครปฐม, สุพรรณบุรี, กาญจนบุรี และราชบุรี ซึ่งในอนาคตหากก่อสร้างวงแหวนรอบ 3 เสร็จสิ้นจะครอบคลุมได้ถึง 15 จังหวัด" คำแถลงของบริษัทเซ็นทรัลพัฒนา (CPN) เจ้าของโครงการ Central WestGate ซึ่งยึดทำเลฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือของกรุงเทพฯ ถือเป็น Highlight สำคัญ สามารถสื่อสารกับนักลงทุนและคู่ค้าได้อย่างมีพลังในฐานะ CPN เป็นกิจการในตลาดหุ้นและเป็นเจ้าของโครงการธุรกิจค้าปลีกที่มีพื้นที่ให้เช่าจำนวนมาก

ภาพจาก : www.centralplaza.co.th/cpnnewproject/th/westgate

โดยเฉพาะในประเด็นที่สามารถเชื่อมโยงยุทธศาสตร์ใหม่เข้ากับการหลอมรวมระบบเศรษฐกิจอาเชียน(AEC-AsianEconomic Community) กับความเป็นไปที่จับต้องได้ที่โครงการทวาย ชายฝั่งทะเลอันดามันในประเทศเมียนมา

- เช่นเดียวกับพื้นที่ปริมณฑลด้านเหนือ (180 องศา) ของกรุงเทพฯ คือพื้นที่ที่ขยายตัวอย่างมากของชุมชนเมืองในช่วงทศวรรษมานี้ โดยโครงการบ้านจัดสรรเท่าที่ทราบในช่วงไม่กี่ปีมานี้ กลุ่มบริษัทพฤกษากลายเป็นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อันดับหนึ่งของเมืองไทย เนื่องมาจากมีโครงการส่วนใหญ่อยู่ในอาณาบริเวณรอบครึ่งวงกลมด้านเหนือของกรุงเทพฯ

นอกจากนี้ เมื่อเชื่อมโยงสู่พื้นที่ใกล้เคียงที่เรียกว่า ที่ราบลุ่มเจ้าพระยา ผนึกกลายเป็นชุมชนที่หนาแน่นใหม่ที่กว้างขวาง มาจากการพัฒนาอย่างน่าทึ่ง

"การขยายตัวทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ หลังสงครามเวียดนาม และสงครามในประเทศเพื่อนบ้าน ชุนชนเกษตรกรรมลุ่มเจ้าพระยาจึงเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงอีกครั้งหนึ่ง ด้วยการปรากฏขึ้นของโรงงานญี่ปุ่นในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ถือเป็นยุทธศาสตร์ใหม่ธุรกิจญี่ปุ่นในประเทศไทย พร้อมกับสร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในเมืองหลวงเก่า" ผมเคยนำเสนอเรื่องนี้ตอนน้ำท่วมครั้งใหญ่ (กรุงเทพฯ : แรงปะทะใหม่ มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 7 กันยายน 2555) โดยอ้างรายงานจากสื่อต่างชาติด้วย บางรายเจาะจงไปที่เมืองหลวงเก่า "BBC ให้ภาพใหม่ของเมืองหลวงเก่าว่าเคยเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรยิ่งใหญ่ของพุทธและฮินดูมา 400 ปี แต่ในปัจจุบันกลายเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมสมัยใหม่ในระบบเศรษฐกิจโลก และเมื่อเผชิญน้ำท่วมครั้งร้ายแรงจึงส่งผลให้ Supply Chain ของบริษัทใหญ่ที่สุดในโลกบางแห่งต้องหยุดชะงัก" ขณะเดียวกัน ให้ภาพรวมด้วยว่า ในพื้นที่ราบลุ่มเจ้าพระยามีโรงงานมากกว่า 2,000 แห่ง ขณะที่สำนักข่าว AP รายงานอย่างเจาะจงว่า "มีโรงงานผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และโรงงานผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ของธุรกิจญี่ปุ่นมากกว่า 300 แห่ง"

Central WestGate เข้าใจฐานลูกค้าได้อย่างดี จึงมีบทสนทนาที่สอดคล้องกัน "จะเน้นกลุ่มลูกค้าระดับกลางบน-กลางล่างขึ้นไปไม่เน้นความหรูหรา" วัลยา จิราธิวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานพัฒนาธุรกิจ ออกแบบและก่อสร้าง บริษัทเซ็นทรัลพัฒนา หรือ CPN กล่าวไว้ในวันแถลงข่าวเปิดตัวโครงการเมื่อ 30 กันยายน 2557 (อ้างจากหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ)

- ธุรกิจค้าปลีกในโมเดล Super Regional Mall ล้วนเป็นเรื่องกลุ่มธุรกิจรายใหญ่

กลุ่มเซ็นทรัลในยุคทศ จิราธิวัฒน์ (นับตั้งแต่เข้ามามีบทบาทตั้งแต่ประมาณปี 2535) กลุ่มเซ็นทรัลมักดำเนินแผนการตามกระแสใหม่ ๆ ธุรกิจค้าปลีกที่รายอื่นริเริ่มไปแล้ว อย่างไรก็ตาม เมื่อกลุ่มเซ็นทรัลดำเนินแผนการใหม่ ๆ ตามกระแสดังกล่าว มักสะท้อนแนวโน้มธุรกิจใหม่ที่คึกคัก และมีการแข่งขันอย่างรุนแรง

ดังนั้น เมื่อเซ็นทรัลโดดเข้าสู่เกม Super Regional Mall จึงย่อมจะเป็นเช่นนั้น

Central WestGate เป็นโครงการของ CPN เป็นโครงการใหญ่ที่สุดในบรรดาโครงการทั้งหมด 8 โครงการที่อยู่ในแผนการของปี 2558-2559 ขณะนี้กำลังเร่งรีบดำเนินการก่อสร้าง โดยประกาศว่าจะเปิดบริการในเดือนกรกฎาคมที่จะถึงนี้

CPN ถือเป็นหัวหอกสำคัญในการบุกเบิกพื้นที่ใหม่ โอกาสใหม่ของกลุ่มธุรกิจทั้งมวลของกลุ่มเซ็นทรัล ไม่เพียงกลุ่มธุรกิจห้างสรรพสินค้า (Department Store Group) ซึ่งถือเป็นฐานที่ใหญ่ที่สุด ยังรวมถึงกลุ่มธุรกิจโรงแรม (Hotel & Resort Group) กลุ่มธุรกิจซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านสะดวกซื้อ (Food Retail Group) กลุ่มธุรกิจร้านอาหาร (Restaurant Group) กลุ่มร้านค้าวัสดุก่อสร้าง (Hardliners Group) และกลุ่มร้านสินค้าแบรนด์เนม (Marketing Group) นับวัน CPN จะมีบทบาทมากขึ้น ๆ (ในโอกาสต่อไปจะนำเสนอเรื่องราว CPN อย่างละเอียดอีกครั้ง)

จากเอกสารนำเสนอนักลงทุนไตรมาส 1 ปี 2558 (พฤษภาคม 2558) ของ CPN ให้รายละเอียดโครงการ Central WestGate ไว้ว่า เป็นโครงการที่ใช้เงินลงทุน 7,200 ล้านบาท มีพื้นที่เช่าสุทธิ (Net Leasable Area-NLA) 82,000 ตารางเมตร มีที่จอดรถ 5,000 คัน บนเนื้อที่ 100 ไร่ โดยมี Central Department Store เป็นผู้ร่วมพัฒนาโครงการ (Joint Developer)

ว่าไปแล้วในพื้นที่เปิดครึ่งวงกลมด้านเหนือกรุงเทพฯ มีความเคลื่อนไหวของ Super Regional Mall อย่างคึกคัก

ในตอนที่แล้ว (ลมหายใจค้าปลีก Megabangna ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 22 พฤษภาคม 2558) ได้กล่าวถึงบริษัทสยามฟิวเจอร์ฯกับ IKEA กำลังดำเนินแผนการ Mega Rangsit ซึ่งนักวิเคราะห์หุ้น (อ้างจาก Phillip Securities (Thailand) 25 September 2014) ระบุว่า โครงการดังกล่าวดำเนินไปตามแผน คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2562 ทั้งนี้ ยังกล่าวว่าความพยายามที่ยังไม่ประสบความสำเร็จในการสร้าง Mega Bangyai ซึ่งเผชิญหน้ากับ Central WestGate โดยตรงด้วย

ทั้งนี้ ควรผนวกแผนการของฟิวเจอร์ พาร์ค รังสิต เข้าในภาพการแข่งขันใหญ่ดังกล่าวด้วย

ในเอกสารนำเสนอนักลงทุนไตรมาส 1 ปี 2558 (พฤษภาคม 2558) ของ CPN เอง ได้กล่าวสถานการณ์การแข่งขันทางธุรกิจโดยรวม และได้ให้ความสำคัญกับฟิวเจอร์ พาร์ค รังสิตในฐานะคู่แข่งรายสำคัญรายหนึ่งด้วย ทั้ง ๆ ที่มีเพียงโครงการเดียว แต่ทว่า เป็นโครงการใหญ่ในพื้นที่กรุงเทพฯด้านเหนือ

โครงการขยายพื้นที่ (โดยรวม) ของฟิวเจอร์ พาร์ค รังสิตอีก 160,000 ตารางเมตร ด้วยเงินลงทุน 4,000 ล้านบาท คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปีนี้ ถือเป็นการเพิ่มเติมกับโครงการเก่าที่ผมนำเสนอว่า ถือเป็น Super Regional Mall แห่งแรก ทั้งนี้การขยายพื้นที่เพิ่มเติมจะทำให้โมเดลค้าปลีกของฟิวเจอร์ พาร์ค รังสิตเปลี่ยนโฉมหน้าไปเป็นศูนย์การค้ากลางเมืองมากขึ้น

ภาพการแข่งขันทางธุรกิจในพื้นที่เชื่อมต่อด้านเหนือกรุงเทพฯจึงเข้มข้นขึ้นอย่างมิพักสงสัย


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ลมหายใจค้าปลีก Central WestGate

view