สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ค่าจ้างขั้นต่ำ เพิ่มได้ลดไม่ได้

ค่าจ้างขั้นต่ำ-เพิ่มได้ลดไม่ได้

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...ชลลดา อิงศรีสว่าง

แค่เพียงคำกล่าวของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ในงานประชุมสามัญประจำปีของสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย โดยระบุว่า ผลจากการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศ ทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศลดลงในหลายอุตสาหกรรม สินค้าไทย 1 ใน 3 ไม่สามารถแข่งขันกับประเทศคู่แข่งได้

หลังจากนั้นก็มีการประชุมของคณะกรรมการค่าจ้าง และมีข่าวกระพือออกมาว่า รัฐบาลจะยกเลิกการใช้ค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ในเร็วๆ นี้ ซึ่งเป็นเรื่องสะเทือนใจลูกจ้าง แต่หากพิจารณาให้ดีจะพบว่าเรื่องนี้ไม่มีทางจะเป็นไปได้

ต้องยอมรับว่า การดำเนินนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศ เป็นการเพิ่มค่าแรงครั้งใหญ่เพิ่มขึ้นสูงสุด 80% ของค่าแรงขั้นต่ำเฉลี่ย ซึ่งมีทั้งผลดีและเสียต่อโครงสร้างอุตสาหกรรมของประเทศ

ข้อดีคือ ได้ทำให้ผู้ใช้แรงงานมีรายได้เพิ่มขึ้นเท่ากันทั่วประเทศ มีฐานะความเป็นอยู่โดยรวมดีขึ้น เนื่องจากมีเงินทุนหมุนเวียนจากการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น รัฐสามารถจัดเก็บภาษีได้มากขึ้น ช่วยลดความเหลื่อมล้ำให้กับแรงงาน โดยเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้ต่ำและมีอำนาจต่อรองน้อย

แต่การขึ้นค่าจ้างให้เท่ากันทั่วประเทศนั้น ได้ทำให้แรงงานไม่พัฒนาฝีมือ ไม่มีการแบ่งช่วงค่าจ้างแรงงานตามค่าครองชีพที่แท้จริงซึ่งแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ ตามโครงสร้างที่ควรจะเป็น ส่งผลให้ต้นทุนรายจ่ายของกลุ่มอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น หรือแรงงานฝีมือสูงขึ้นมาก อาจจะลดความสามารถในการแข่งขัน เนื่องจากต้นทุนเชิงเปรียบเทียบที่สูงขึ้น และถ้าไม่สามารถปรับประสิทธิภาพการทำงานให้สูงขึ้นได้ การขึ้นค่าแรงจะฉุดให้การขยายตัวของเศรษฐกิจ (จีดีพี) ลดลง

ทั้งนี้ สาขาที่จะได้รับผลกระทบต่อต้นทุนค่าจ้างรวมมากที่สุดคือ สาขาเกษตรกรรม ซึ่งอาศัยแรงงานเป็นหลัก โดยหากคิดเป็นจำนวนเงินแล้ว นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างเพิ่มขึ้นจำนวน 2,125-2,936 ล้านบาท/เดือน คิดเป็นการเพิ่ม 21.71-29.99%

สาขาที่จะได้รับผลกระทบมากอันดับที่ 2 ได้แก่ สาขากิจการโรงแรมและบริการด้านอาหาร ซึ่งนายจ้างจะต้องจ่ายค่าจ้างเพิ่มขึ้น 465-861 ล้านบาท/เดือน คิดเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้น 7.82-14.32% อันดับ 3 คือ สาขาก่อสร้าง โดยจ่ายเพิ่มขึ้น 836-1,308 ล้านบาท คิดเป็นค่าจ้างที่ต้องเพิ่มขึ้น 7.01-10.98%

ขณะที่ในระยะกลางและระยะยาว อาจจะทำให้ภาคส่งออกของไทยในส่วนของอุตสาหกรรมใช้แรงงานเข้มข้น 15 กลุ่มได้รับผลกระทบจากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น เนื่องจากค่าจ้างแรงงานของไทยยังสูงกว่าค่าจ้างแรงงานของประเทศคู่แข่ง เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย อินเดีย บังกลาเทศ เป็นต้น ซึ่งจะทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการส่งออกของไทยลดลง และจะเป็นปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจระยะยาว ขณะที่ราคาสินค้าในประเทศมีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นจากการผลักภาระต้นทุนของภาคธุรกิจ

ณ วันนี้ ผลของนโยบายดังกล่าวก็ได้ออกมาแล้ว จากการที่ค่าแรงขั้นต่ำเป็นต้นทุนที่ดันให้ราคาสินค้าและบริการปรับเพิ่มสูงขึ้นมากอย่างต่อเนื่องตลอดปี 2556 เมื่อค่าแรงดันราคาสินค้าให้เพิ่มสูงขึ้น การจะลดค่าแรงลงมาจึงเป็นเรื่องที่ทำไม่ได้

ในเบื้องต้นคณะกรรมการค่าจ้างได้ศึกษาแนวทางการปรับขึ้นค่าจ้างไว้ 5 รูปแบบ คือ

1.ให้อนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดเสนอมาตามปกติ

2.ค่าจ้างลอยตัว

3.ค่าจ้างตามการพัฒนาเศรษฐกิจ 18 กลุ่มจังหวัด

4.ค่าจ้างตามกลุ่มอุตสาหกรรม

5.ค่าจ้างในลักษณะผสมผสานหลายรูปแบบ รวมทั้งจะนำข้อเสนอในเรื่องโครงสร้างค่าจ้างมาพิจารณาประกอบด้วย

นอกจากนี้ มีแนวโน้มสูงว่ากระทรวงแรงงานอาจจะต้องหันกลับมาใช้โครงสร้างค่าแรงขั้นต่ำแบบเดิม ที่มีตัวแทนนายจ้างและลูกจ้างและภาครัฐเข้าไปนั่งหารือร่วมกันเพื่อกำหนดอัตราค่าแรงที่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย

ตามระบบการพิจารณาค่าแรงขั้นต่ำแบบเดิมนั้น คณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดจะพิจารณาว่าจะปรับเพิ่มหรือไม่ โดยจะพิจารณาจากอัตราเงินเฟ้อ ค่าครองชีพในพื้นที่ของแต่ละจังหวัด แล้วจึงเสนอมาให้คณะกรรมการค่าจ้างไตรภาคีพิจารณา เมื่อมีมติอย่างไรแล้วจึงนำเสนอตามขั้นตอนไปสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะกลั่นกรองเป็นลำดับ

วิธีการนี้อาจจะทำให้มีจังหวัดที่ปรับค่าจ้าง บางจังหวัดไม่ได้ปรับค่าจ้าง สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจที่เป็นจริงและผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม และไม่มีการเอานโยบายทางการเมืองมาตัดสิน

ดังนั้น ชัดเจนว่าค่าแรงขั้นต่ำนั้นจะไม่ลดลง มีแต่จะปรับเพิ่มขึ้น แต่อัตราการเพิ่มคงไม่มีการปรับขึ้นอย่างก้าวกระโดด จนส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจในภาพรวมอีกแล้ว ผลเสียที่ออกมานั้นเห็นชัดเจนแล้วว่า มีมากกว่าข้อดี โดยเฉพาะอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นตามค่าแรง จะดูดเงินที่แรงงานได้เพิ่มไปหมด จนไม่มีเงินเหลือออมเหมือนเดิม

สถานการณ์แรงงานในขณะนี้ นายจ้างไม่ได้เป็นต่อ และลูกจ้างไม่ใช่ว่าจะไม่มีข้อต่อรองอีกต่อไป โดยเฉพาะการขาดแคลนแรงงานทำให้นายจ้างเองก็ไม่สามารถที่จะเอาเปรียบลูกจ้างได้อีกต่อไป


คสรท.ยันขอขึ้นค่าจ้างเป็นวันละ 360 บาท

โดย :

คสรท.ยืนยันขอขึ้นค่าจ้างเป็นวันละ 360 บาท โอดค่าจ้างวันละ 300 บาทไม่พอกิน-ใช้จ่าย ต้องทำโอทีถึงอยู่รอดได้

น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.) กล่าวถึงกรณีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนโดยอยากให้คงค่าจ้างขั้นต่ำไว้ที่วันละ 300 บาทก่อน เนื่องจากการปรับค่าจ้างที่ผ่านมามีผลทำให้แรงงานต่างด้าวทะลักเข้ามาทำงาน ในประเทศ และเกรงว่าหากปรับขึ้นค่าจ้างสูงกว่าวันละ 300 บาทจะยิ่งกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจและการลงทุนของประเทศแต่กลับเอื้อประโยชน์ให้ แรงงานต่างด้าวเพิ่มมากขึ้นว่า คสรท.และเครือข่ายแรงงานยังคงยืนยันเรียกร้องให้รัฐบาลและคณะกรรมการค่า จ้าง(บอร์ดค่าจ้าง)พิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในปี 2559

โดยควรอยู่ที่วันละ 360 บาทเท่ากันทั่วประเทศ เนื่องจากบอร์ดค่าจ้างได้เคยมีมติเมื่อมีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวัน ละ 300 บาทให้คงค่าจ้างในอัตรานี้ไว้เป็นเวลา 3 ปีตั้งแต่ปี 2556-2558 และจะมีการพิจารณาปรับค่าจ้างในปี 2559 รวมทั้งขณะนี้รัฐบาลเตรียมที่จะปรับขึ้นเงินเดือนให้แก่ข้าราชการและพนักงาน รัฐวิสาหกิจ ดังนั้น ควรปรับขึ้นค่าจ้างให้แรงงานทั่วประเทศเช่นกัน

ประธานคสรท. กล่าวอีกว่า ส่วนอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในปี 2559 ที่เครือข่ายแรงงานเรียกร้องให้ควรอยู่ที่วันละ 360 บาทนั้น เป็นการอ้างอิงจากผลสำรวจค่าครองชีพแรงงานในกรุงเทพฯและจังหวัดปริมณฑลของ คสรท. ซึ่งพบว่าแรงงาน 1 คนมีค่าใช้จ่าย เช่น ค่าอาหาร ค่าเดินทาง ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่าซื้อสินค้าอุปโภคบริโภครวมแล้ววันละ 360 บาท ซึ่งปัจจุบันแม้ค่าน้ำมันลดลง แต่ค่าครองชีพสูง ทำให้ค่าจ้างวันละ 300 บาทไม่พอใช้จ่าย ทุกวันนี้แรงงานต้องทำโอที จึงจะมีเงินพอใช้จ่ายเลี้ยงตนเองและครอบครัว

"อยากให้รัฐบาลและบอร์ดค่าจ้างให้โอกาสแรงงานโดยเปิดเวทีให้ได้ชี้แจงถึง ที่มาที่ไปของการเรียกร้องปรับขึ้นค่าจ้างโดยควรอยู่ที่วันละ 360 บาทเท่ากันทั่วประเทศ แต่จะสามารถปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำได้ตามอัตรานี้หรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับทุก ฝ่ายทั้งภาครัฐ นายจ้างและลูกจ้าง จะต้องมาหารือกันว่าจะปรับขึ้นค่าจ้างในอัตราเท่าใด จึงทำให้ทั้งนายจ้างและลูกจ้างสามารถอยู่รอดได้ รวมทั้งควรใช้โอกาสที่มีฐานค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาทเท่ากันทั่วประเทศมาจัดทำโครงสร้างค่าจ้างโดยแยกเป็นค่าจ้างแรกเข้า สำหรับแรงงานเข้าใหม่ซึ่งก็คือค่าจ้างขั้นต่ำ และค่าจ้างประจำปีโดยแรงงานเก่าที่ทำงานมานานหลายปีควรได้รับการปรับขึ้นค่า จ้างตามอายุงาน ประสบการณ์และความสามารถผลิตงานของแต่ละคน คสรท.และเครือข่ายจะขอเข้าพบรมว.แรงงานและปลัดกระทรวงแรงงานเพื่อหารือใน เรื่องนี้ภายในเดือนมิ.ย.นี้"น.ส.วิไลวรรณ กล่าว

ประธานคสรท. กล่าวด้วยว่า ส่วนกรณีที่นายกรัฐมนตรีมองว่าแรงงานต่างด้าวได้รับประโยชน์จากการปรับขึ้น ค่าจ้างขั้นต่ำด้วยนั้น ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานพ.ศ.2541 กำหนดให้แรงงานไทยและต่างด้าวต้องได้รับค่าจ้างและสวัสดิการต่างๆตามที่ กฎหมายกำหนดโดยเท่าเทียมกัน เมื่อนายจ้างเลือกที่จะจ้างแรงงานต่างด้าวก็ต้องจ่ายค่าจ้างตามที่กฎหมาย กำหนด ไม่สามารถเลือกปฏิบัติได้และต้องยอมรับว่าแรงงานต่างด้าวเป็นส่วนหนึ่งที่ ช่วยพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งปลายปีนี้จะเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(เออีซี)แล้ว จะมีแรงงานต่างชาติเข้ามาทำงานในไทยเพิ่มขึ้นก็ต้องให้การดูแลคุ้มครองตาม กฎหมายด้วยเช่นกัน


ผลศึกษานิด้า ค่าจ้างลอยตัวจ่ายตามอายุงาน

โดย :

ผลศึกษานักวิชาการนิด้า ค่าจ้างลอยตัวจ่ายตามอายุงาน ชี้ค่าจ้าง300บาทไม่พอเลี้ยงดูครอบครัว ขอขึ้นเป็น 450 บาท

ผศ.ดร.สุจิตรา ชำนิวิกย์กรณ์ อาจารย์คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า) กล่าวถึงผลการศึกษาเรื่อง”ค่าจ้างลอยตัว”ว่า ได้ส่งแบบสอบถามและสัมภาษณ์เก็บข้อมูลจากสถานประกอบการจำนวน 212 แห่ง ใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมได้แก่ ยานยนต์ คอมพิวเตอร์ เครื่องจักร เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ พลาสติกและผลิตภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ยางแผงวงจรไฟฟ้าและส่วนประกอบ อาหารทะเลกระป๋อง การค้าส่งและค้าปลีก การท่องเที่ยวและโรงแรม และแรงงานจำนวน 315 คน ในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก จังหวัดสงขลาและจังหวัดสระแก้ว

ผศ.ดร.สุจิตรา กล่าวอีกว่า การวิจัยในขณะนี้ยังไม่เสร็จสมบูรณ์แต่ผลศึกษาในเบื้องต้นพบว่าในส่วนของ สถานประกอบการ พบว่าเกณฑ์ที่ใช้พิจารณาค่าจ้าง คือ ผลประกอบการ ผลงานของแรงงาน ประสบการณ์และทักษะฝีมือ ส่วนแรงงานมองว่าเกณฑ์การจ่ายค่าจ้างควรพิจารณาจากระดับการศึกษา ตำแหน่งงานและประสบการณ์ในการทำงาน รวมทั้งแรงงาน 191 คนหรือคิดเป็นร้อยละ 60.63 ระบุค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาทไม่เพียงพอต่อการใช้จ่าย ขณะที่แรงงานระบุว่าเพียงพอใช้จ่ายมี 124 คนหรือคิดเป็นร้อยละ 39.37

“จากการเก็บข้อมูลและสัมภาษณ์แรงงานส่วนใหญ่เห็นว่าควรมีรายได้เพียงพอ ต่อการเลี้ยงดูคนในครอบครัวอีกอย่างน้อย 2 คนโดยจากการสัมภาษณ์แรงงานบางส่วนมองว่าค่าจ้างขั้นต่ำในปัจจุบันไม่เพียงพอ ควรอยู่ที่วันละ 400 - 450 บาท นอกจากนี้ ยังพบว่าแรงงานมีหนี้สิน 206 คนหรือคิดเป็นร้อยละ 65.40 เนื่องจากต้องกู้เงินมาใช้จ่ายในครอบครัวและผ่อนสินค้าโดยเฉพาะรถ จักรยานยนต์และโทรศัพท์มือถือ และไม่มีหนี้สิน 109 คน คิดเป็นร้อยละ 34.60 ” ผศ.ดร.สุจิตรา กล่าว

ผศ.ดร.สุจิตรา กล่าวด้วยว่า นอกจากการปรับค่าจ้างแล้วรัฐบาลจะต้องควบคุมราคาสินค้าอุปโภคบริโภค เพราะการปรับขึ้นค่าจ้างของไทยมีผลต่อการปรับขึ้นราคาสินค้า จึงควรปรับขึ้นค่าจ้างด้วยความระมัดระวัง ทั้งนี้ คาดว่าจะสามารถสรุปผลศึกษาและเสนอต่อคณะกรรมการค่าจ้างได้ในเดือนก.ค.นี้


อนุสรณ์'แนะรัฐปิดช่องโหว่ยกเลิกค่าแรงขั้นต่ำ

โดย :

อนุสรณ์"แนะรัฐเร่งออกมาตรการเสริม ปิดช่องโหว่หลังยกเลิกการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำอัตราเดียวทั่วประเทศ

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยรังสิต ให้สัมภาษณ์ถึงการยกเลิกการกำหนดค่าแรงขั้นต่่ำอัตราเดียวทั่วประเทศว่า การชี้แจงของกระทรวงแรงงานล่าสุดนั้นหมายความว่า ไม่ได้ยกเลิก และจะไม่มีจังหวัดไหนที่จะถูกลดค่าแรงลงมา ซึ่งตนมองว่ากระทรวงแรงงานทำถูกต้อง แต่จากนี้ไปจังหวัดไหนจะปรับเพิ่ม จะนำระบบค่าจ้างแบบลอยตัวมาใช้ คือไม่ต้องปรับขึ้นเท่ากันทั้งประเทศนั้น ซึ่งมีทั้งข้อดีและข้อเสีย โดยระบบค่าจ้างแบบลอยตัวนั้นจะทำให้อำนาจต่อรองของลูกจ้างไม่มี จะขึ้นอยู่ที่นายจ้างเป็นหลัก ซึ่งผู้ประกอบการจะชอบ โรงงานต่าง ๆ อาจจะไปเปิดในต่างจังหวัดมากขึ้นก็เป็นได้ เพราะค่าแรงในต่างจังหวัดจะถูกกว่าในเมืองหลวง

นายอนุสรณ์ กล่าวอีกว่า ขณะที่การใช้ค่าแรงขั้นต่ำอัตราเดียวทั่วประเทศ จะทำให้การอพยพเข้ามาทำงานในเมืองหลวงและปริมณฑลนั้นลดลง ปัญหาครอบครัวของคนระดับล่างก็จะไม่ล้มเหลวและแตกแยก เพราะไม่ต้องไปทำงานกันคนละที่คนละทาง แต่นายจ้างจะออกมาบอกว่า แบกต้นทุนค่าแรงสูงไม่ไหว หรือกำไรน้อยลง ดังนั้น จึงขึ้นอยู่ที่จุดยืนของนโยบายว่าจะเอาอย่างไร ถ้าหากจะให้ลูกจ้างได้ประโยชน์ก็ต้องอัตราเดียวทั่วประเทศ แต่ถ้าจะให้ภาคอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการมีความคล่องตัวก็ต้องใช้ระบบค่า จ้างแบบลอยตัว ดังนั้น จะเห็นได้ว่าทั้ง 2 แบบนั้นมีผลต่อเศรษฐกิจและสังคมในหลาย ๆ มิติที่แตกต่างกัน อยู่ที่รัฐบาลว่าจะเอาอะไรเป็นเป้าหมายใหญ่ ถ้าประเทศเป็นของประชาชน ศูนย์กลางก็ต้องเป็นประชาชน 

นายอนุสรณ์ กล่าวด้วยว่า รัฐบาลจะต้องมีมาตรการอื่น ๆ ออกมาเสริมด้วยเพื่อปิดช่องโหว่ที่เป็นข้อเสียของทั้ง 2 แบบ ถ้าไม่มี ปัญหาความเหลื่อมล้ำก็อาจจะมากขึ้น เหมือนกับโครงการรับจำนำข้าว ถ้าจะยกระดับชีวิตคนระดับล่างก็ต้องใช้วิธีนี้ ซึ่งอาจจะมีจุดอ่อนเยอะ เพราะมีช่องให้ทุจริตได้ง่าย เนื่องจากทุกขั้นตอนสามารถรั่วไหลได้ตลอด แต่ก็ต้องไม่ไปแทรกแซงจนฝืนกลไกของตลาดให้มากนัก เพราะข้าวตันละ 15,000 บาทในโครงการรับจำนำข้าวนั้น คนจะโยกกลับไปอยู่ภาคเกษตรกันหมด จะทำอย่างไรไม่ให้แรงงานทะลักไปภาคเกษตร ก็ต้องดึงค่าแรงให้สูงเพื่อให้สมดุลกัน จะเห็นได้ว่าโครงการจำนำข้าวกับค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทนั้นก็เชื่อมโยงกันอยู่ด้วย


'สุพันธ์'เล็งเสนอ'กกร.'ถกค่าแรงทั่วประเทศ

โดย :

สุพันธุ์" เตรียมเสนอที่ประชุม กกร. พิจารณาเรื่องการปรับค่าแรงทั่วประเทศในการประชุมเดือนหน้า ชี้ค่าแรงขั้นต่ำไม่ควรเท่ากันทั่วประเทศ

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวถึง การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่จะถึงกำหนดที่ต้องปรับขึ้นในปี 2559 ว่า ค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศไม่ควรจะเท่ากันทุกพื้นที่ ควรกลับไปใช้กลไกไตรภาคีในแต่ละจังหวัด ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนภาครัฐ ตัวแทนนายจ้าง พิจารณาสภาพเศรษฐกิจในแต่ละพื้นที่ เช่น เงินเฟ้อ ซึ่งขณะนี้ติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 แล้ว อีกทั้งต้องพิจารณาถึงความสามารถในการจ้างงานของนายจ้างด้วย หากรัฐบาลยังคงยืนยันเดินหน้าค่าแรงทั่วประเทศเท่ากันต่อไป เอสเอ็มอี ขนาดเล็ก และ ขนาดกลางจะได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน ขณะที่ผู้ที่ได้รับประโยชน์โดยตรงคือกลุ่มแรงงานต่างด้าว ทั้งนี้ ยืนยันว่าไม่ได้เป็นการเหยียดชาติ แต่มองว่าประเทศไทยจ่ายค่าแรงสูงกว่า และยังดูแลสวัสดิการอื่นๆให้อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ทาง สภาอุตฯ และ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย จะนำเรื่องการปรับค่าแรงขั้นต่ำ เข้าสู่ที่ประชุม กกร. ที่จะมีขึ้นต้นเดือนหน้า ทั้งนี้ภาคเอกชนไม่อยากให้เรื่องการปรับขึ้นค่าแรงเป็นเครื่องมือทางการ เมือง เพราะว่าผู้ที่จ่ายค่าแรงเป็นผู้ประกอบคือผู้ประกอบการไม่ใช่นักการเมือง


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ค่าจ้างขั้นต่ำ เพิ่มได้ลดไม่ได้

view