สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ทำอย่างไรให้ Cofounder อยู่กับเรานาน ๆ (จบ)

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ Thai Startup cafe

โดย พงศ์พีระ ชวาลาธวัช www.facebook.com/thaistartupcafe

ครั้งที่แล้วเราคุยกันเรื่อง Cliff and Vesting และหลักการ 5 ข้อในการจัดสัดส่วนหุ้นบริษัท ถ้าใครอยากย้อนกลับไปอ่านคอลัมน์ตอนที่แล้ว สามารถหาอ่านได้ที่เว็บไซต์ประชาชาติฯ (prachachat.net) หรือจากเพจ Facebook ของผมได้เลยครับ

จาก 5 ข้อนี้วิธีการคำนวณในใจง่าย ๆ คือ ให้น้ำหนักไปที่ข้อละ 20% ก็ได้ แล้วลองให้น้ำหนักดู ถ้าให้น้ำหนักรวม ๆ เราจะได้ 100% ทีนี้เราพิจารณาทีละข้อว่าน้ำหนักมาลงหนักที่ข้อไหนบ้าง เอาเป็นว่าผมจะยกตัวอย่างเป็นลักษณะบุคคลเปรียบเทียบกับ Stage ของ Startup ให้เข้าใจมากขึ้นครับ

กรณีที่ 1 Cofounder มนุษย์ธรรมดา

นาย A จะมาเป็น Cofounder มีประสบการณ์งานประจำมาพอสมควร เขียนโปรแกรมเป็นอาชีพ จะมาทำงานแบบ Part Time ให้เป็นเวลา 20 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ถ้าผมให้น้ำหนักผมคงเฉลี่ยให้ที่ 20-25% เพราะเป็น Part Time และไม่ใช่บุคคลที่หายากมาก แต่เนื่องจากมีความตั้งใจที่จะทำงาน จึงให้หุ้นพอสมควรแบบ Vesting 3 ปีไม่รอ Cliff Period เป็นต้น

แต่อย่างไรก็ตาม 20-25% นี้คือธุรกิจผม เพิ่งจะเริ่มจริง ๆ แต่ถ้าผมเป็น Startup ที่สร้างเงินแล้วแบบเลี้ยงตัวเองได้สบาย ไม่ต้องง้อใครแล้วมีนาย A เข้ามาในธุรกิจ บอกว่าจะทำ Part Time ผมก็คงจะไม่ให้เป็นหุ้นหรือรับเป็น Cofounder แน่นอน เพราะผมสามารถหาได้หรือจ่ายได้อยู่แล้ว

กรณีที่ 2 นาย B Cofounder ยอดมนุษย์

มีประสบการณ์การทำการตลาดและการขายน้ำมันเครื่องมา 20 ปี จะมาทำงานเป็น CMO ให้กับ Startup ของเรา ซึ่งทำงานวิจัยน้ำยาใส่เครื่องยนต์สูตรพิเศษ ในกรณีนี้เราอาจจะเป็นนักวิทยาศาสตร์ผู้ซึ่งคิดสูตรได้ แต่สูตรนี้อาจจะมีค่าเท่ากับศูนย์ได้ถ้าไม่ได้ขายออกไป นาย B ก็ดูเป็นคนมีประสบการณ์และสามารถทำให้บริษัทเปิดตลาดหากำไรได้ทันที เพราะฉะนั้น นาย B คงได้หุ้นไปสัก 30-45% เลยทีเดียว แต่เนื่องจากสายงานการขายการตลาดนั้นมักจะมากับคำโฆษณาที่เยอะและพิสูจน์ยาก จึงอาจจะวาง Cliff Period ไว้ 1 ปี และหลังจากนั้นวางยอดการขายไว้เป็น Vesting Period 3 ปี ถ้าถึงยอดปีไหนก็ให้ไป 1/3 ของหุ้นที่จะให้เต็มทั้งหมด ทั้งนี้ ก็เพื่อที่จะรักษาผู้บริหารและตลาดของเราไว้ ในเวลาเดียวกันก็ยืดเวลาที่นาย B จะรู้สึกว่างานท้าทายพอและยุติธรรมพอ

กรณีที่ 3 นาย C Cofounder ผู้ลงทุน

ผู้ลงทุนหลาย ๆ คนจะกำหนดหน้าที่และขอบเขตตัวเองชัดเจน ส่วนใหญ่จะบอกแต่เพียงว่าเอาเงินมาลงทุนพร้อมขอสิทธิ์ในการนั่งอยู่ในบอร์ดด้วย แต่ไม่ได้เข้ามาช่วยงาน บางคนก็ทั้งลงทุนทั้งช่วยงานด้วย นอกจากจะได้หุ้นส่วนของการใช้เงินซื้อมาแล้ว ยังได้หุ้นส่วนที่เขาทำงานด้วย เรียกได้ว่าเราหมดความเป็นเจ้าของแน่นอนครับ ซึ่งกรณีนี้หลาย ๆ คนจะบอกว่า ถ้าหมดความเป็นเจ้าของไปแล้วสู้ไม่เอาดีกว่า ผมอยากจะให้ข้อคิดไว้ว่า ถ้า Startup ของคุณสามารถไปด้วยตัวเองได้สบาย ผมแนะนำว่าอย่ารับ Cofounder ประเภทนี้ เพราะนอกจากจะไม่ได้ทำให้อะไรดีขึ้น เรายังเสียหุ้นไปโดยใช่เหตุ แต่ถ้า Startup ของเรานั้นจำเป็นต้องใช้เงินและไม่สามารถไปต่อได้ ถ้าไม่มีเงินและความช่วยเหลือของ Cofounder แบบนี้ก็ให้รีบรับครับ รับเพื่อให้ Startup เกิดก่อนแล้ว Exit ไปทำใหม่ก็ได้ ไม่ตายก็หาใหม่ได้ แต่ถ้าไม่รับเงินก้อนแรก นอกจากไม่ได้เริ่มแล้ว ยังจะไม่ได้แจ้งเกิดในวงการ Startup ด้วย

แต่ขอให้อธิบายและทำความเข้าใจกับ Cofounder ลักษณะนี้ให้ดี เพราะถ้าเป็นคนนอกอุตสาหกรรมแล้ว เมื่อลงทุนไปแล้วไม่ได้ตามเป้าที่เราวางไว้จะเกิดการโทษกันและชวนทะเลาะ เพราะไม่เข้าใจในธรรมชาติของธุรกิจ Startup นอกจาก Startup จะล้มแล้ว คุณเองอาจจะถึงขนาดมีคดีความติดตัว เพราะเกิดการฟ้องร้องเกิดขึ้นด้วยซ้ำ เพราะ Cofounder ประเภทนี้จะชอบมากับ สัญญา เป็นปึก ๆ เพราะฉะนั้น ผมแนะนำว่าควรจะเริ่มคบทนายไว้บ้างก็ดี

ผู้ซึ่งไม่ได้มีประสบการณ์กับ Startup เท่าไหร่นัก แต่มีเงินและอยากจะลงทุนร่วมกับคุณ ถ้าเป็นกรณีนี้คนที่จะมาตั้งกฎเกณฑ์จะหนักไปทางเจ้าของเงินมากกว่า แตกต่างกันตรงที่ว่าในกรณีนี้เราจะมาตีความกันตามความสำคัญและความสามารถไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องของ "เงินทุน" ที่จะเข้ามาขับเคลื่อนบริษัทนั่นเอง

ฉะนั้น การที่จะแบ่งปันหุ้นเพื่อแลกกับเงินก็จะต้องเริ่มจากการคำนวณมูลค่าของธุรกิจของเราเสียก่อน ถ้าเป็น Startup โดยทั่ว ๆ ไป ก็คิดง่าย ๆ โดยใช้หลัก Net Present Value จาก Operating Cash Flow หรือภาษาชาวบ้านเรียกว่า "รายได้รวม" หมายถึง ต้นทุนรวมก่อนการหักภาษี คำนวณเป็นเดือนหรือปีก็ได้ รวมกับทรัพย์สินทุกประเภทที่บริษัทมีหักกับค่าเสื่อม หรือมูลค่าเพิ่ม รวมกับเงินสดของบริษัททั้งหมด รวมค่าเอามาคิดรวมกันสัก 2-4 ปี จะได้มูลค่าบริษัทคร่าว ๆ ออกมา

มาถึงตรงนี้ งง ไหมครับ เป็นผม ผมก็งง เพราะวิธีคิดมูลค่าบริษัทนั้นเรียนรู้กันไม่ได้ในย่อหน้าเดียวแน่นอน เพราะการคิดมูลค่าบริษัทนั้นมีวิธีการคิดที่หลากหลายและมีลูกเล่นเยอะ เพราะฉะนั้น ผมจะยังไม่จัดเต็มในบทนี้ พักหายใจก่อน อย่าพึ่งฉีกคอลัมน์ผมทิ้ง ผมมีวิธีง่าย ๆ ในย่อหน้าถัดไป Startup Style

ถ้าใครใช้ Excel สามารถใช้คำสั่งตามนี้ได้เลยว่า =npv (%Risk,EBITDA ปีที่1,..., EBITDA ปีสุดท้าย) ยกตัวอย่าง บริษัท ABC มี EBITDA หรือกำไรสุทธิก่อนการหักภาษีปีที่ 1 = 200 ปีที่ 2 = 900 ปีที่ 3 = 3,000 และมีค่าความเสี่ยงที่ 80% อันนี้ผมแนะนำว่า ถ้า Startup ตั้งใหม่สดแบบไม่มีฐาน หรือประสบการณ์มาก่อนเลย จัดไปเลย 80% ถ้ามีประสบการณ์มาแล้วจะลดลงเหลือ 50% ก็ได้ หรือถ้าเคย Exit มาแล้วมีประสบการณ์กว่า 10 ปีก็คงจะเหลือแค่ 20%

เพราะฉะนั้น เราจะมาใส่สูตร Excel ว่า =npv (.8,200,900,3,000) แล้ว Compute เราจะได้ค่าเท่ากับ 389.40 ก็เท่ากับว่าบริษัทมีมูลค่าเท่านั้น สมมุติว่าผู้ลงทุนจะลงทุนที่ 100 บาท คิดง่าย ๆ เอา 100 หาร 389.40 จะได้เท่ากับ 25.68% คือหุ้นส่วนที่ Cofounder ประเภทนี้จะได้โดยไม่ต้องผ่าน Cliff และ Vesting อะไรทั้งสิ้น

แต่เนื่องจากเขารับหน้าที่เป็น Cofounder ที่ทำงานกับเราด้วย สมมุติว่าเขาทำงานด้านการตลาดที่ต้องทำยอด คุณก็ตั้งเป้าเหมือน Cofounder ประเภทยอดมนุษย์ได้เลย ว่าถ้าทำยอดได้ตามเป้าด้วย คุณจะจัดเพิ่มให้เป็น 30% ถ้วน ๆ เพียงแค่นี้คุณก็จะสามารถบริหารธุรกิจของคุณได้อย่างยุติธรรมกับทุกฝ่ายที่สุด

เมื่อทุกคนทำงานอย่างเต็มที่ Startup ของคุณก็โตได้อย่างเต็มที่ จำไว้ครับ เอาใจเขามาใส่ใจเรา แล้วทุกคนพร้อมจะทำงานแบบให้ใจกับคุณแน่นอน


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ทำอย่างไร Cofounder  อยู่กับเรานาน

view