สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ต้อนคนไทยเข้าระบบภาษี ฤๅเป็นได้แค่ฝัน

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ชั้น 5 ประชาชาติ โดย กฤษณา ไพฑูรย์

ไม่กี่วันมานี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวไว้ว่า "เรื่องภาษีจำเป็นต้องแก้ไข การจัดเก็บต้องเอาคนทั้งประเทศเข้าสู่ระบบให้ได้ จะต้องมีรายชื่อไม่ว่าจะมีรายได้เท่าไหร่ก็ตาม ถ้าถึงเกณฑ์ที่ต้องเสียก็ต้องเสีย แต่ถ้าใครมีรายได้ไม่ถึงก็ไม่เก็บ เพียงแต่ต้องมีรายชื่อแจ้งไว้ในระบบเพื่อทางราชการจะได้ดูแลช่วยเหลือในอนาคต ผมได้สั่งการไปยังกระทรวงการคลังแล้ว ต้องเร่งดำเนินการให้เสร็จในปีนี้ และต้องทำให้การกรอกภาษีทำได้ง่ายขึ้น เพราะมีทั้งเกษตรกร พ่อค้าแม่ค้าที่อาจไม่เข้าใจ บางคนก็ยังอ่านหนังสือไม่ออก..."

สิ่งที่ "ลุงตู่" สะท้อนคือความพยายามของรัฐบาลในการหา "ช่องทาง" เพื่อจัดเก็บภาษีเพิ่ม

หลังจากการผลักดันร่าง พ.ร.บ.ภาษีการรับมรดกฯ ที่ถูกปรับเปลี่ยนแก้ไขสาระสำคัญไปหลายยก กว่าจะเดินมาถึงวันนี้ ด้วยการเลือกรีดภาษีกับ "คนรวย" ไว้ก่อนของรัฐบาล ดูว่าจะมีความปลอดภัยระดับหนึ่ง กว่าการเรียกเก็บภาษีมรดกกับคนทุกชนชั้นในภาวะที่ประเทศชาติยังมีความเปราะบาง...

ด้วยการกำหนดให้ผู้ได้รับมรดกจากเจ้ามรดกแต่ละรายไม่ว่าจะได้รับมาในคราวเดียวกันหรือหลายคราว ถ้ามรดกที่ได้รับแต่ละรายรวมกันมีมูลค่าเกิน 100 ล้านบาท ต้องเสียภาษีเฉพาะส่วนที่เกิน 100 ล้านบาท โดยให้หักมูลค่าทรัพยสินด้วยภาระหนี้สินอันตกทอดมาจากการรับมรดก ขณะเดียวกันจะมีการทบทวนมูลค่ามรดกทุก 5 ปี โดยนำอัตราการเปลี่ยนแปลงดัชนีราคาผู้บริโภคของกระทรวงพาณิชย์มาพิจารณาประกอบ และให้กำหนดเป็นพระราชกฤษฎีกาประกาศใช้...

ขณะที่ร่างกฎหมายภาษี ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่ขณะนี้ยังลูกผีลูกคน เพราะถูกกระแสต่อต้านจากหลายภาคส่วนเพราะภาวะยามนี้รัฐบาลต้องใช้เงินงบ ประมาณในการกระตุ้นเศรษฐกิจมากมายมหาศาลแต่ล่าสุดกรมสรรพากรรายงานการจัด เก็บรายได้รอบ 8 เดือน ตั้งแต่ตุลาคม 2557 ถึงพฤษภาคม 2558

พบว่า ยอดจัดเก็บต่ำกว่าเป้าหมายถึง 1 แสนล้านบาท คาดว่าจะจัดเก็บทั้งปี 2558 จะต่ำกว่าเป้าไม่เกิน 1.6 แสนล้านบาท จากกำหนดไว้ที่ 1.96 ล้านล้านบาท

ในอีกมุมหนึ่งชี้ให้เห็นว่า หากรัฐจัดเก็บภาษีได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย สิ่งที่จะย้อนกลับมาสู่ประชาชน จะได้รับการช่วยเหลือด้านสวัสดิการที่ดีในอนาคตอย่างถ้วนหน้า

แต่หาก พิจารณารูปธรรมในทางปฏิบัติน่าจะทำได้ยากเต็มทีเพราะทุกวันนี้บรรดาภาค ธุรกิจหลากหลายที่อยู่ในระบบการจัดเก็บภาษีของกรมสรรพากรเอง เถ้าแก่รวย ๆ หลายคน หลายบริษัททั้งองค์กรขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็ก ต่างพยายามหาช่องทางซิกแซ็ก หลีกเลี่ยงการจ่ายภาษีอย่างตรงไปตรงมา

ขณะที่อีกหลายอาชีพ "ไร้ใบเสร็จ" ในการตามล้วงลูก โดยเฉพาะอาชีพที่ถูกเรียกว่า "อาชีพของรากหญ้า หาเช้ากินค่ำ" เช่น พ่อค้าแม่ค้าขายส้มตำ ขายก๋วยเตี๋ยว บะหมี่รถเข็นริมถนน อาชีพคนขับวินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง คนขับรถแท็กซี่ ฯลฯ

หลายคนทราบดีว่า ปัจจุบันผู้ประกอบอาชีพอิสระเหล่านี้ หลายคนมี "รายได้ต่อวัน" มากกว่า "มนุษย์เงินเดือน" ที่แต่งตัวหรูหรา ใส่เสื้อผ้าแบรนด์เนมราคาแพงเกินฐานะ นั่งทำงานในห้องแอร์เย็นฉ่ำเสียอีก

ได้เคยคุยกับคนขับมอเตอร์ไซค์รับจ้างในหลายท้องที่ด้วยตัวเอง หลายคนให้ข้อมูลตรงกันว่า "เสื้อวิน" ของมอเตอร์ไซค์รับจ้าง สีส้มเก่า ๆ ขาด ๆ ที่เห็นกันชินตานั้น ในย่านทำเลที่มีผู้โดยสารใช้บริการพลุกพล่านตลอดทั้งวันตั้งแต่เช้าจดดึก เช่น ซอยทองหล่อ แยกห้วยขวาง ซอยโยธี ฯลฯ

"เสื้อวิน" มีราคาแพงกว่า "เสื้อสูท" แบรนด์เนม ยี่ห้อที่แพงที่สุดในโลกเสียอีก เพราะมีการซื้อขายสิทธิ์กันอย่างไม่มี "ใบเสร็จ" ในราคาสูงถึง 300,000-400,000 บาทต่อตัว

แต่จนถึงวันนี้ยังไม่สามารถแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ เพราะ "รายได้" อันหอมหวน ไม่ต่ำกว่า 1,000-2,000 บาทต่อวันในบางพื้นที่

แถมทุกวันนี้ยังมีการรับงานส่งเอกสารไกล ๆ ได้ค่าจ้างเป็นกอบเป็นกำ ทำให้สามารถ "คืนทุน" ค่าเสื้อวินได้ภายในไม่กี่เดือน เป็นเรื่องจริงที่มองเห็น !

แต่ "กรมสรรพากร" ไม่อาจล้วงลูกเข้าไปได้

ดังนั้น การที่จะให้ผู้มีบัตรประชาชนทุกคนมารายงานตัว และยอมกรอกรายละเอียด หรือบอกกล่าวถึงรายได้ที่แท้จริงของตัวเองอย่างตรงไปตรงมา

...อย่างที่ "ลุงตู่" วาดฝันไว้นั้น คงเป็นเรื่องยากเต็มที

เพราะวันนี้หาคนไทยนับถือศาสนาพุทธที่ "ถือศีล 5 ได้บริสุทธิ์" ยากเต็มทีจริง ๆ !


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ต้อนคนไทย เข้าระบบภาษี ฤๅเป็นได้แค่ฝัน

view