สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เปิดผลสำรวจญี่ปุ่นแห่ลงทุนเอสเอ็มอีในไทย

จาก โพสต์ทูเดย์

"เจโทร"เปิดผลสำรวจบริษัทญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนธุรกิจเอสเอ็มอีในไทยมากขึ้นจากเดิมที่เป็นภาคการผลิตและบริษัทขนาดใหญ่

นายมาซายาสุ โฮซูมิ ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) เปิดเผยถึงผลสำรวจแนวโน้มการลงทุนของบริษัทร่วมทุนญี่ปุ่นในประเทศไทย พบว่า มีบริษัทญี่ปุ่นที่ได้รับการยืนยันสถานะการประกอบธุรกิจในประเทศไทยทิ้งสิ้น 4,567 บริษัท เพิ่มขึ้น 683 บริษัท เมื่อเทียบกับการสำรวจก่อนหน้านี้เมื่อ ปี 2551 โดยจำนวนบริษัทที่เข้ามาลงทุนเป็นบริษัทในอุตสาหกรรมการผลิต 2,147 บริษัท คิดเป็น 47% และอุตสาหกรรมบริการจำนวน 2,261 บริษัท หรือ 49.5% ต่างจากเมื่อปี 2551 ที่มีอุตสาหกรรมการผลิตมากกว่า อุตสาหกรรมบริการ

ในการลงทนอุตสาหกรรมบริการส่วนใหญ่เป็นกิจการค้าส่ง ค้าปลีก จำนวน 1,082 บริษัท คิดเป็น 23% ของอุตสาหกรรมบริการ เนื่องจากเปิดกิจการเพื่อรองรับการลงทุนภาคการผลิตที่มีอยู่แล้วในเมืองไทย โดยในช่วงหลังเป็นการลงทุนเพื่อรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ที่มีตลาดใหญ่ บริษัทญี่ปุ่นจึงต้องการเพิ่มช่องทางการจำหน่ายมากขึ้น ซึ่งบางครั้งเป็นการเข้ามาซื้อและควบรวมกิจการ

ขณะเดียวกันยังมีกิจการการบริการเฉพาะกิจ เช่น ธุรกิจที่ปรึกษาด้านกฎหมาย บัญชี ซึ่งเข้ามาให้บริการกับธุรกิจญี่ปุ่นในประเทศไทย อีกทั้งยังมีกิจการด้านการเงิน โดยมีธนาคารจากญี่ปุ่นเข้ามาตั้งสำนักงานในไทย รวมถึงทำธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ ประกันภัย และการบริการขนส่ง เทคโนโลยี  ธุรกิจทดสอบชิ้นส่วน ร้านอาหารและเครื่องดื่ม เป็นต้น

ขณะที่ขนาดการลงทุน พบว่า มีบริษัทขนาดใหญ่จำนวน 1,884 บริษัท คิดเป็น 50.5% เป็นบริษัทขนาดกลางและขนาดย่อมจำนวน 1,427 บริษัท คิดเป็น 38.2% และบุคคลธรรมดาจำนวน 420 บริษัท คิดเป็น 11.3% โดยตั้งแต่ปี 2553-2557 มีการลงทุนของบริษัทขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) เข้ามา 362 บริษัท สูงกว่าบริษัทขนาดใหญ่ที่มีจำนวน 276 บริษัท สะท้อนให้เห็นว่ามีเอสเอ็มอีจากญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยเฉพาะในธุรกิจบริการ

ทั้งนี้ เป็นผลจากประเทศไทยมีประชากรมีรายได้ต่อหัวเพิ่มขึ้น และไทยเป็นศูนย์กลางของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง รวมทั้งมีบริษัทขนาดใหญ่จากญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในไทยอยู่แล้ว ธุรกิจเอสเอ็มอีภาคบริการจึงเข้ามาเป็นธุรกิจสนับสนุนได้เป็นอย่างดี

“ในช่วงก่อนปี 2542 บริษัทญี่ปุ่นส่วนใหญ่ที่เข้ามาลงทุนในไทยจะเป็นบริษัทขนาดใหญ่ในภาคการผลิต แต่หลังจากปี 2542 ได้มีธุรกิจในภาคบริการเข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้น และยังเป็นกลุ่มทุนของบริษัทเอสเอ็มอีที่เข้ามาลงทุน โดยเฉพาะในปี 2555 ที่เงินเยนแข็งค่า บริษัทเอสเอ็มอีญี่ปุ่นจึงจำเป็นต้องออกไปลงทุนในต่างประเทศ โดยมองหาการลงทุนในอาเซียน และกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ ซึ่งไทยมีความพร้อมรับการลงทุน และคาดว่าแนวโน้มจากนี้จะมีเอสเอ็มอีเข้ามาลงทุนเพิ่มในไทย” นายโฮซูมิ กล่าว

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาจากสัดส่วนการลงทุนของญี่ปุ่น พบว่า ในอุตสาหกรรมการผลิตมีสัดส่วนการลงทุนของบริษัทญี่ปุ่น 100% เพิ่มสูงขึ้น เพราะได้รับการส่งเสริมการลงทุน จากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ส่วนในอุตสาหกรรมการบริการ เป็นการลงทุนที่มีสัดส่วนน้อยกว่า 50% สูงถึง 80% เพราะยังมีข้อจำกัดจากการประกอบธุรกิจต่างด้าว

นอกจากนี้ บริษัทเอสเอ็มอีญี่ปุ่นต้องการการสนับสนุนจากรัฐบาลไทยในการประกอบธุรกิจ เช่น การขอคืนภาษีต่างๆ การส่งออกสินค้า ซึ่งหากมีขั้นตอนที่ง่าย จะเป็นประโยชน์ต่อเอสเอ็มอีมากขึ้น


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : เปิดผลสำรวจ ญี่ปุ่น แห่ลงทุน เอสเอ็มอี ในไทย

view