สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

7 โอกาสทองของไทย วันเปิดประตูสู่ประชาคมอาเซียน

จากประชาชาติธุรกิจ

เหลือเวลาอีก 6-7 เดือน ประชาคมอาเซียน (ASEAN Community) จะขับเคลื่อนประเทศสมาชิกกลุ่มอาเซียนให้เป็น สังคมภูมิภาคอาเซียน เต็มรูปแบบ ภายใต้ 3 เสาหลัก คือ ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Political and Security Community) ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community) และ ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Socio-Cultural Community) ซึ่งกลุ่มประเทศอาเซียนทั้งหมดต้องยึดเป็น แกนหลัก ในการพัฒนาประเทศ

ความร่วมมือ 3 ภารกิจหลักนี้ในการเปิดประตูอาเซียนเดือนธันวาคมปี 2558 ผู้เขียนมองว่า คือโอกาสทองประเทศไทย ที่ผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนควรตระหนัก และนำมากำหนดแนวทาง กำหนดยุทธศาสตร์พัฒนาประเทศไทยต่อไป

โอกาสทองของไทยมีอะไร ?

1.เป็นศูนย์กลางอาหารอาเซียนของเอเชียและของโลก

ด้วยสภาพภูมิอากาศของโลกที่แปรปรวนและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา อีกทั้งมีแนวโน้มทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น เช่น ภาวะอากาศร้อนของคาบสมุทรอินเดีย กลุ่มประเทศอาหรับ และจีนแผ่นดินใหญ่ การเคลื่อนตัวของเปลือกโลกในอาเซียนและบูเรเซียในคาบสมุทรเกาหลีและหมู่เกาะญี่ปุ่น รวมถึงภูเขาไฟในหมู่เกาะอินโดนีเซีย หมู่เกาะฟิลิปปินส์ ส่งผลให้ประเทศที่อยู่ในพื้นที่ดังกล่าวอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อภัยธรรมชาติ การพัฒนาประเทศโดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจทำได้ลำบากขึ้น ส่งผลต่อการผลิตอาหาร แต่ไทยเราตั้งอยู่ในพื้นที่ค่อนข้างปลอดภัยสูง จะมีบ้างบริเวณภาคเหนือของประเทศที่เสี่ยงต่อการเคลื่อนตัวของเปลือกโลก แต่ยังไม่รุนแรงเหมือนในประเทศเนปาล หรือภาวะแห้งแล้ง แต่ก็ยังไม่รุนแรงเหมือนอินเดีย

ฉะนั้นเมื่อดูสภาพรอบ ๆ ประเทศไทยแล้ว ทุกประเทศอยู่ในภาวะที่โอกาสเผชิญกับภัยธรรมชาติที่ร้ายแรงทั้งสิ้น แต่ไทยเราอยู่ในภาวะที่เสี่ยงน้อยที่สุด จึงเป็นโอกาสทองที่ผู้รับผิดชอบควรวางแผนให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตอาหารของอาเซียน เอเชีย และของโลก โดยวางแผนให้แต่ละภูมิภาคของไทยเป็นแหล่งผลิตอาหารแต่ละชนิด แต่ละประเภท เพื่อส่งออกไปต่างประเทศ เช่น ตลาดเอเชียตะวันตก มีอินเดีย/บังกลาเทศ/ปากีสถาน และกลุ่มอาหรับ ซึ่งมีผู้บริโภคมากกว่า 1,000 ล้านคน ตลาดกลุ่มอาเซียนกว่า 600 ล้านคน ตลาดเอเชียตะวันออกกว่า 1,500 ล้านคน คือ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี ไทเป รวมแล้วเกือบครึ่งหนึ่งของประชากรโลก เป็นตลาดการบริโภคที่ใหญ่ที่สุด ถ้ากำหนดยุทธศาสตร์ดี ๆ จะสอดคล้องกับเป้าหมายในการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษทั่วทุกภาคในขณะนี้

อย่างไรก็ดี ปัญหาที่มีอยู่เวลานี้ คือ การขับเคลื่อนที่ช้าของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งที่รัฐบาลและ คสช.ได้วางแนวทางมาถูกแล้ว แต่ควรกำกับติดตามอย่างเข้มข้น อย่าให้ขั้นตอนราชการเป็นตัวถ่วงให้การดำเนินการล่าช้า

2.เป็นศูนย์กลางด้านการส่งและขนถ่ายสินค้า


ด้วยสภาพทางภูมิศาสตร์ที่ตั้งของประเทศไทย ขนาบด้วยทวีปแอฟริกา มีมหาสมุทรอินเดีย และทวีปอเมริกาเหนือ กลาง และอเมริกาใต้ และมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวเป็นแหล่งที่มีประชากรหนาแน่นของโลก เป็นแหล่งที่เป็นตลาดด้านการบริโภคและต้องการสินค้าต่าง ๆ สูง นอกจากนี้ ที่ตั้งของประเทศไทยไม่อยู่ในเส้นทางยุทธศาสตร์ของโลก แต่มีช่องแคบมะละกาเป็นเส้นทางที่เชื่อมระหว่างทวีปยุโรป-แอฟริกา กับทวีปอเมริกาเหนือ-ใต้

ยิ่งรัฐบาล คสช.กำลังวางแผนกระจายการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะเส้นทางคมนาคมขนส่งทั้งการขนส่งสินค้าทางรถยนต์ และรถไฟ ซึ่งเป็นเส้นทางสำคัญ ประกอบกับพม่ามีโครงการขยายท่าเรือขนาดใหญ่ จุดรับส่งสินค้าจากฝั่งมหาสมุทรอินเดียที่มาจากตะวันออกกลาง ยุโรป แอฟริกา ผ่านไทยไปยังประเทศกลุ่มอินโดจีน และกลุ่มเอเชียตะวันออก คือ จีน เกาหลี ญี่ปุ่น เป็นต้น เพื่อรองรับการขนถ่ายสินค้า

ข้อเสนอ คือการขยายหรือก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกจากจังหวัดระนอง-สู่ทะเลอ่าวไทย ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี พังงา สู่อ่าวไทยที่จังหวัดนครศรีธรรมราช หรือจากจังหวัดสตูลสู่อ่าวไทยที่จังหวัดสงขลา ซึ่งมีท่าเรือน้ำลึกอยู่แล้ว เป็นต้น แม้จะมีการคัดค้านกันอยู่ในบางพื้นที่ แต่รัฐบาลและผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องต้องจัดการทำความเข้าใจแก้ปัญหาอย่างจริงจัง หากเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติของเรา

ถ้ารัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขับเคลื่อนโครงการ หรือเพิ่มจุดรับส่ง-ขนถ่ายสินค้าเพิ่มมากขึ้น จะทำให้ระบบขนส่ง (Logistic) สินค้าประเภทต่าง ๆ เกิดขึ้นเป็นจำนวนมหาศาล ส่งผลให้เกิดธุรกิจต่าง ๆ มากมาย ทำให้คนไทยมีงานทำ ประเทศมีรายได้เพิ่มจำนวนมหาศาล โดยเฉพาะท่าเรือขนถ่ายสินค้าทั้งสองด้านจะเป็นจุดเชื่อมโยงทางเรือที่สำคัญของโลก กลายเป็นยุทธศาสตร์การขนถ่ายสินค้าที่สำคัญของโลก นับเป็นโอกาสทองของไทยอย่างแท้จริง

3.เป็นศูนย์กลางการค้าขายและการลงทุน


ประเทศที่ไทยร่วมค้ามากที่สุด ได้แก่ มาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย รองลงมาคือ ลาว กัมพูชา พม่า ดังนั้นไทยจึงเป็นศูนย์รวมการขนส่งทางบกทั้งรถยนต์ รถไฟ โดยมีโครงการ ASEAN Highway Network เป็นเส้นทางเชื่อมโยงกับประเทศสมาชิกอาเซียน ระยะทางทั้งหมด 38,400 กม. โดยภายในปี 2558 มีการศึกษาเพื่อเชื่อมโยงประเทศที่เป็นเกาะกับแผ่นดินใหญ่ของอาเซียน และเชื่อมโยงทางหลวงไปยังจีน อินเดีย

ส่วนทางรถไฟมีโครงการเส้นทางสิงคโปร์ คุนหมิงของจีน (Singapore Kunming Raillink) เป็นเส้นทางเชื่อมโยง 8 ประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย ไทย กัมพูชา เวียดนาม และจีน (คุนหมิง) และมีเส้นทางแยกไทย-ลาว-ไทย-พม่า โดยใช้ไทยเป็นชุมทางใหญ่ สอดรับกับที่รัฐบาลและ คสช.เร่งผลักดันเขตเศรษฐกิจพิเศษขึ้นทั่วประเทศขณะนี้ และได้ผลักดันสร้างรถไฟทางคู่และรถไฟความเร็วสูง โครงการนี้น่าจะเป็นปัจจัยหลักที่ส่งเสริมให้ไทยก้าวหน้าและมั่งคั่งไม่น้อยทีเดียว

4.เป็นศูนย์กลางทางการเงิน

ถึงแม้ว่าปัจจุบันสิงคโปร์เป็นศูนย์กลางทางการเงินของโลก แต่ด้วยปัจจัย 2-3 ประเด็นข้างต้น ถ้าผู้เกี่ยวข้องด้านเศรษฐกิจและการคลังของไทยมีมุมมองที่ยาวไกล ก็ไม่ใช่เรื่องยากที่จะทำให้ไทยเราเป็นศูนย์กลางทางการเงินโลกได้ในอนาคตอันใกล้นี้ เพียงแต่เรากล้าพอที่จะเตรียมความพร้อม หยุดทะเลาะกันเองของคนในชาติ หยุดโทษใส่ร้ายกัน หยุดแบ่งแยกแบ่งสี หยุดสองมาตรฐานในการพิจารณาความเป็นธรรมของคนในชาติ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับชาวต่างชาติที่จะมาลงทุน และสร้างความคล่องตัวในการลงทุนให้เกิดขึ้น โอกาสทองในประเด็นนี้จึงไม่ยากเลยที่จะเปลี่ยนประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการลงทุนและการเงินของโลก เป็นแห่งที่ 2 รองจากสิงคโปร์

5.เป็นศูนย์กลางเดินเรือและเมืองท่าที่สำคัญ 


 โครงการขุดคอคอดกระเป็นโครงการที่สำคัญ ถ้าสามารถดำเนินการได้จะทำให้จังหวัดระนอง พังงา ภูเก็ต ตรัง สตูล กลายเป็นเมืองท่าขนถ่ายสินค้า และเมืองจุดพักสินค้าด้านฝั่งอันดามัน กลายเป็นแหล่งพักการท่องเที่ยว แหล่งธุรกิจ

ที่หลากหลาย และสามารถเชื่อมโยงไปยังเมืองท่าทวายของพม่า เมืองท่าโคลัมโบของศรีลังกา เมืองท่าปีนังของมาเลเซีย ส่วนชายฝั่งอ่าวไทย ตั้งแต่จังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และสงขลา ก็จะกลายเป็นเมืองศูนย์กลางขนส่งสินค้าบริเวณอ่าวไทย พร้อมที่จะจัดส่งไปยังกลุ่มประเทศอินโดจีนและเอเชียตะวันออก และทวีปอเมริกาเหนือ-ใต้ สามารถเชื่อมโยงไปยังท่าเรือคลองเตย ท่าเรือสัตหีบ เขตนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง เชื่อมโยงเขตเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดตราด เชื่อมโยงเมืองท่าของกัมพูชา เมืองไซง่อน (โฮจิมินห์) เมืองฮาลองเบย์ เมืองเว้ ของเวียดนาม รวมทั้งเมืองท่าของฟิลิปปินส์

6.เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยว

ด้วยสภาพภูมิศาสตร์ของที่ตั้งอีกเช่นกันที่อยู่กลางของอาเซียน และเอเชีย ประกอบกับลักษณะพิเศษของขนบธรรมเนียมไทย นิสัยใจคอเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ยิ้มแย้มแจ่มใส และมีอารยธรรม อาหารเลิศรส ธรรมชาติที่สวยงาม ทั้งทะเลและป่าเขา เป็นเสน่ห์อันล้ำค่าที่จะสร้างรายได้ให้ไทยมหาศาลจากการท่องเที่ยว และยิ่งถ้าในกลุ่มอาเซียนสามารถเจรจาเพื่อยกเลิกวีซ่าในอนาคต คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเที่ยวในไทยยิ่งจะเพิ่มจำนวนมหาศาลตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม คนไทยต้องไม่สร้างเงื่อนไขความขัดแย้งกันเองขึ้นมาอีก ธุรกิจการท่องเที่ยวของไทยน่าจะกลับมาอีกครั้ง

7.เป็นศูนย์กลางทางการบิน

ด้วยสภาพที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของไทยดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ประเทศไทยจึงเหมาะสมทุกประการทางด้านการบิน ถึงแม้เรามีคู่แข่งสำคัญ เช่น สิงคโปร์ เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น แต่ถ้าวางแผนปรับยุทธศาสตร์เสียใหม่ การบริหารจัดการแบบมืออาชีพ มีความโปร่งใส เชื่อว่าไทยสู้ประเทศที่กล่าวมาได้อย่างสบาย ที่สำคัญประเทศไทยไม่มีภัยธรรมชาติที่คอยรบกวน เช่น พายุ แผ่นดินไหว หรือภูเขาไฟระเบิด เราจึงไม่มีอุปสรรคเกี่ยวกับการบินเหมือนในหลาย ๆ ประเทศ

อย่างไรก็ดี การที่ทุกวันนี้ประเทศไทยยังไปไม่ถึงไหน ไม่ประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย น่าจะอยู่ที่การบริหารจัดการของผู้มีอำนาจและมีหน้าที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ยังไม่มีความร่วมมือร่วมใจกันอย่างจริงจัง ไม่เอาใจใส่งานในหน้าที่ตามที่ควรจะเป็น จึงเป็นการสูญเสียโอกาสอย่างที่ไม่ควรจะเป็น แต่ถ้าหากเลิกคิดถึงประโยชน์ส่วนตัว แล้วหันกลับมาบริหารจัดการดังที่กล่าวมาข้างต้น ไม่ยากเลยที่ไทยจะเป็น "ศูนย์กลาง" ของอาเซียน เอเชีย และของโลก ใน 7 โอกาสทองหลังเปิดประตูอาเซียนในเดือนธันวาคม 2558 แล้วเราจะเข้าสู่ประเทศมั่นคง ประชาชนมั่งคั่ง พร้อมที่จะแข่งขันกับโลกภายนอกในศตวรรษที่ 21 อย่างองอาจ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : โอกาสทองของไทย เปิดประตูสู่ประชาคมอาเซียน

view