สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

อคติของ แมลงเม่า

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ คิดวิเคราะห์แยกแยะ โดย วีระพงษ์ ธัม www.facebook.com/10000Li

ผมเคยตั้งคำถามว่าสิ่งที่แตกต่างที่สุดระหว่างเซียนกับแมลงเม่าคืออะไร ? ยุคสมัยนี้จะบอกว่าแมลงเม่ามีข้อมูลน้อยกว่า ผมคิดว่าไม่ใช่อีกต่อไป ด้วยกระแสข้อมูลมากมาย แมงเม่าอาจจะมีข้อมูลเยอะกว่า เร็วกว่าเสียอีก เทคนิคและวิธีการลงทุนก็เป็นสิ่งที่เรียนกันทันโดยใช้เวลาไม่นานนัก และดูเหมือนช่องว่างทุกอย่างที่กล่าวมาจะแคบลงเรื่อย ๆ แต่ก็แปลกที่ผมเห็นเซียนหุ้นสามารถทำผลตอบแทนได้สูงอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่แมลงเม่าทำผลตอบแทนได้ต่ำอยู่ตลอดเวลา ข้อสรุปส่วนตัวของผม คิดว่าช่องว่างนี้เกิดจากสิ่งที่เรียกว่า "อคติของแมลงเม่า"

อคติ (Bias) หมายถึง มุมมองที่เรามีต่อสิ่งหนึ่ง และหลายครั้งก็ปฏิเสธการมองมุมมองอื่น นำมาซึ่งการตัดสินใจที่มีคุณภาพแย่กว่า และผลลัพธ์ที่แย่กว่าในระยะยาว โชคร้ายที่การลงทุนในระยะสั้นนั้นมี "โชค" มาเกี่ยวข้องพอสมควร จึงอาจจะเกิดผลลัพธ์ที่ดีในระยะสั้นได้ แม้ว่าจะมีอคติมากแค่ไหน หรือตัดสินใจแย่แค่ไหน อันที่จริงประเทศไทยในช่วงสิบปีที่ผ่านมา มีปัญหาการเมืองสูง ส่วนหนึ่งก็เพราะจากอคติที่มากล้นในสังคมไทย ช่วงที่ผ่านมาเนื่องจากผมต้องเลือกโรงเรียนและดูการศึกษาให้ลูก ผมจึงสังเกตเห็นว่า ระบบการศึกษาไทยมีการเรียนวิชาประเภท "ปรัชญา" หรือ "การตีความ" น้อยมาก แม้กระทั่งยุคปัจจุบัน นี่อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เราไม่รู้จัก "มอง" "คิด" "วิเคราะห์" "แยกแยะ" และทำให้อคติเป็นสิ่งที่คู่กับคนไทยมาอย่างยาวนาน

สำหรับการลงทุนและธุรกิจแล้ว นิตยสาร Harvard Business Review มีการพูดถึงเรื่องการตัดสินใจ (Decision Making) ผลการศึกษาพบว่า เหตุผลหลักของการตัดสินใจที่มีคุณภาพต่ำมีสองเรื่อง คือ การมีแรงจูงใจไม่มากพอ เช่น ความตั้งใจในการลงทุนที่น้อยเกินไป หรือที่ได้ยินบ่อย ๆ คือลงทุนเพื่อหาค่ากับข้าว แทนที่จะลงทุนเพื่อเปลี่ยนชีวิต และสาเหตุที่สองซึ่งเป็นหลักใหญ่คือ "อคติ" ซึ่งมีตัวอย่างอคติตามหมวดหมู่ดังนี้

1.อคติที่เกี่ยวกับการกระทำ เรามีแนวโน้มที่จะ "มองโลกในแง่ดี" มากกว่าการ "มองโลกในแง่ร้าย" (Excessive Optimism) แนวโน้มนี้คือ เราคิดว่าทุกสิ่งทุกอย่างจะต้องเป็นไปตามที่เราคิด เป็นไปตามที่ผู้บริหารพูด ทั้ง ๆ ที่บางครั้งโอกาสสำเร็จอาจจะต่ำมาก อคตินี้เป็นอคติหลักในตลาดหุ้น เพราะคนที่มองโลกในแง่ร้ายมักจะไม่เข้ามาลงทุนในตลาดหุ้น นอกจากนั้นอคติยังทำให้เรามี "ความมั่นใจ" สูงผิดปกติ (Over Confidence) เพราะนักลงทุนย่อมคิดว่า เราลงทุนได้ "เก่งกว่า" กองทุนหรือคนอื่น ๆ (ไม่เช่นนั้นเราคงไม่ลงทุนเอง) แมงเม่าจะมีอคติเรื่องนี้สูง จึงลงทุนในหุ้นที่ "ยาก" และ "เสี่ยง" กว่า (แต่มักจะคิดว่าตัวเองไม่เสี่ยง เพราะการมองโลกในแง่ดีและมั่นใจในตัวเอง) ต่างจากนักลงทุนชั้นยอดที่มอง "ความเสี่ยง" และเน้นความปลอดภัยไว้ก่อน

2.อคติที่เกี่ยวกับวิธีคิด ส่วนนี้จะเป็นส่วนที่ทำให้เรามองมุมมองอื่น ๆ ลดลง เช่น ถ้าเราค่อนข้างเชื่อในความคิดของเรา ก็มักมุ่งที่จะ "เลือก" หาแต่สิ่งที่ "เกื้อหนุน"ความคิดเรามายืนยันสิ่งที่เราคิด (Confirmation Bias) โดยละเลยความคิดอื่นที่หักล้างความคิดหลักของเรา หูเราจะทวนลมหรือมองข้ามถ้าความคิดนั้นเป็นสิ่งตรงข้าม แต่เราจะเลือกจดจ่อรับฟังเฉพาะสิ่งที่เราคิดไว้ หรือเราค่อนข้าง "ยึดติด" ความคิดเดิมของเรา เช่น หุ้นตัวนี้เคยมีราคาเท่านี้ เราไม่ได้ซื้อ ตอนนี้ราคาขึ้นมาแล้ว เราจะยิ่งไม่อยากจะซื้อ เนื่องจากอคติข้อนี้

3.อคติที่เกี่ยวกับกรอบการมองต่าง กรอบที่สำคัญที่สุดของนักลงทุน คือ "ราคาต้นทุน" (Sunk Cost Fallacy) ซึ่งมีผลต่อการตัดสินใจของเราอย่างไม่น่าเชื่อ เรามีแนวโน้มที่จะขายหุ้นได้ง่ายกว่ามากถ้าเรามีต้นทุนที่ต่ำ และเราจะไม่ขายหุ้นถ้ามีต้นทุนที่สูง ซึ่งกรอบความคิดแบบนี้มักจะพาเราสู่ความล้มเหลวอันที่จริงราคาต้นทุนเราแก้ไขไม่ได้แล้ว ถือว่าไม่มีค่า สิ่งที่มีค่าคือราคาปัจจุบันต่างหาก หรือการที่คนเราไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง ทำให้สิ่งนี้เป็น "ต้นทุน" และ "กรอบความคิด" ที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น (Status Quo Bias) เช่น เราชอบหุ้นตัวนี้ กลุ่มนี้ ไม่อยากจะไปศึกษาตัวใหม่ ๆ

นี่เป็นแค่ส่วนหนึ่ง แต่อคติในโลกความเป็นจริงมีมากกว่านี้มาก อคติเป็นธรรมชาติที่ติดตัวเรามาตั้งแต่เกิด สิ่งที่เราทำได้คือให้รู้ว่ามันมีอยู่ในตัวเราเสมอ ๆ พยายามคิดหลาย ๆ ครั้ง หลาย ๆ มุม และตีความไปที่ปัญหา ฝึกเทคนิคในการแก้ไขอคติในแต่ละข้อ และให้พยายามเตือนตัวเองว่า อคติเราจะยิ่งมากขึ้น ถ้าเรามีแรงกดดัน จึงไม่น่าแปลกใจว่า ทุกครั้งที่หุ้นวิ่งและหุ้นลง ตัวกะพริบ ความรู้สึกขาดทุน กำไร ยิ่งทำให้อคติเรามากกว่าเดิม และเป็นจุดเริ่มต้นของอคติขนาดมหึมาของนักลงทุนที่เป็นแมลงเม่าเสมอ ๆ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : อคติ แมลงเม่า

view