สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เงินเยนกับลมหายใจของทศวรรษที่สาบสูญ

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ ช่วยกันคิด

โดย ดร.ศรพล ตุลยะเสถียร, นางสาวภัทราพร คุ้มสะอาด

ในระยะที่ผ่านมาญี่ปุ่นเป็นประเทศที่นักท่อง เที่ยวต่างชาตินิยมชมชอบเดินทางไปดื่มด่ำกับธรรมชาติดอกซากุระและลิ้มรส อาหารอันเกิดจากการรังสรรค์ดั่งงานศิลปะด้วยจุดขายที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ ทำให้ผู้ที่เดินทางมาเยือนติดตรึงใจและแวะเวียนกลับมาญี่ปุ่นอีกครั้งแล้ว ครั้งเล่า ท่ามกลางเศรษฐกิจญี่ปุ่นในปัจจุบันที่ไม่สู้ดีนัก

"การท่องเที่ยว" จึงถือเป็นลมหายใจที่สำคัญของญี่ปุ่น

ในอดีตญี่ปุ่นเคยเป็นประเทศหนึ่งที่มีพัฒนาการทางเศรษฐกิจอย่างน่ามหัศจรรย์โดยได้พลิกผันจากประเทศผู้แพ้สงครามโลกครั้งที่2 มาเทียบรัศมีกับประเทศผู้ชนะ อันได้แก่ สหรัฐอเมริกา ได้อย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม ความยิ่งใหญ่ของญี่ปุ่นที่หลงเหลือในความทรงจำ เป็นเพียงความล้มเหลวทางเศรษฐกิจจากฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่แตกโพละในช่วงปี 1980 ซึ่งนำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาอย่างยาวนานหลายทศวรรษ หรือเรียกว่าเป็น "Lost Decades"

โดยจากเดิมที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นเคยขยายตัวเฉลี่ยกว่าร้อยละ 8.0 แต่กลับเหลือเพียงเฉลี่ยร้อยละ 1.0 เท่านั้น

โครงสร้างทางเศรษฐกิจที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการเติบโต ส่งผลให้ญี่ปุ่นไม่สามารถกลับไปเฉิดฉายได้ดังเดิม อีกทั้ง สังคมผู้สูงอายุ เป็นภาระที่หนักหน่วงแก่ภาครัฐในเรื่องค่าใช้จ่าย และไม่เอื้อต่อกำลังแรงงานในประเทศ ส่งผลโดยตรงทำให้ญี่ปุ่นจำเป็นต้องขยายฐานการผลิตไปในต่างประเทศ กอปรกับอัตลักษณ์เฉพาะของชาวญี่ปุ่นที่มัธยัสถ์อดออม ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อการขยายตัวของการบริโภค ทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นขาดแรงขับเคลื่อนออกจากวงจรเศรษฐกิจที่ชะงักงัน

รัฐบาลญี่ปุ่นหลายสมัยที่เข้ามาบริหารประเทศได้ใช้"นโยบายการคลัง" และ "นโยบายการเงิน" เพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจญี่ปุ่น แต่แม้ว่าจะไร้ผล มาตรการกระตุ้น ยังเป็นความจำเป็น ทั้งด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจและทางการเมือง มาตรการกระตุ้นที่ยาวนานและต่อเนื่องแต่ไร้ผลดังกล่าว ส่งผลให้ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP สูงสุดเป็นอันดับ 1 ของประเทศพัฒนาแล้วในกลุ่ม OECD ภายหลังปี ค.ศ. 2000 เรื่อยมา

เมื่อรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ได้เข้ามาบริหารประเทศตั้งแต่ปี ค.ศ. 2012 ก็ได้สานต่อนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจผ่าน 3 ศร ของอาเบะ ซึ่งประกอบด้วยนโยบายการคลังขาดดุล นโยบายการเงินผ่านมาตรการ QE และการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี มาตรการต่าง ๆ เหล่านี้ไม่สามารถพลิกฟื้นเศรษฐกิจญี่ปุ่นได้เลย คงมีเพียงแต่ผลพวงของมาตรการ QE ที่ส่งผลให้ค่าเงินเยนอ่อนพอที่จะต่อลมหายใจของเศรษฐกิจญี่ปุ่นออกไปเท่านั้น

ค่าเงินเยนที่ถูกลงกว่า1ใน 5 ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา นับเป็นจุดแข็งที่สร้างความได้เปรียบทางการค้าและการท่องเที่ยวให้แก่ญี่ปุ่น กอปรกับนโยบายการยกเลิกวีซ่าให้แก่นักท่องเที่ยวบางประเทศ (รวมทั้งไทย) ยิ่งเป็นแรงสนับสนุนให้บรรดาชาวต่างชาติไม่ลังเลใจที่จะเดินทางไปเยือนแดนอาทิตย์อุทัยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทำให้ในปี2014 ที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไปเที่ยวในญี่ปุ่นทำลายสถิติสูงสุดกว่า 13 ล้านคน หรือคิดเป็นอัตราการเติบโตประมาณร้อยละ 29 เมื่อเทียบกับปีก่อน

โดยตลาดหลักยังคงเป็น ชาวจีน ที่แม้ความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศ คือ จีนกับญี่ปุ่นจะไม่ได้รักกันหวานชื่นนัก ก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่ออุปสงค์การท่องเที่ยวแต่อย่างใด ส่วนตลาดเกาหลี ไต้หวัน และฮ่องกง อยู่ในลำดับที่รองลงมา

แม้ว่าการขับเคลื่อนเศรษฐกิจญี่ปุ่นมิได้มาจากภาคการท่องเที่ยวเป็นหลักอย่างไรก็ดีรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากนักท่องเที่ยวในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งมีมูลค่าเฉลี่ยเกือบ 2 ล้านล้านเยนต่อปี ส่งผลให้ดุลบริการญี่ปุ่นเกินดุลครั้งแรกในประวัติศาสตร์ในเดือนมีนาคม 2015

น่าจะเป็นสัญญาณที่ดีต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาคส่วนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องได้ในระดับหนึ่ง เสมือนช่วยต่อลมหายใจให้เศรษฐกิจในปีนี้มีแนวโน้มไปต่อได้อีก ทั้งนี้ หากเงินเยนยังคงมีแนวโน้มที่อ่อนค่าลงต่อเนื่อง น่าจะช่วยส่งให้ญี่ปุ่นมีรายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วย รวมถึงผลพลอยได้ที่ทำให้ญี่ปุ่นห่างไกลจากแรงกดดันเงินฝืดที่เป็นปัญหาเรื้อรังมายาวนานกว่าหลายทศวรรษ

สำหรับสถานการณ์เศรษฐกิจญี่ปุ่นในปี2015มีสัญญาณดีขึ้นกว่าปีก่อนหน้า

โดย GDP ในไตรมาสแรกขยายตัวเร่งขึ้นร้อยละ 0.6 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน จากการใช้จ่ายภาคครัวเรือนญี่ปุ่นที่เริ่มฟื้นตัว และค่าเงินเยนที่อ่อน จึงส่งผลให้ญี่ปุ่นในช่วง 3 ไตรมาสที่ผ่านมาสามารถส่งออกสินค้าและบริการได้ในระดับสูงติดต่อกัน จึงอาจกล่าวได้ว่า "การรักษาระดับเงินเยนให้มีทิศทางอ่อนค่า"

นับเป็นเงื่อนไขหนึ่งที่ทำให้ภาวะการพึ่งพาตลาดต่างประเทศของเศรษฐกิจแดนซากุระในช่วงเวลานี้ยังพอมีลมหายใจต่อไปได้


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : เงินเยน ลมหายใจ ทศวรรษ สาบสูญ

view