สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ส่งออกตกท้องช้าง ใช้เวลาปรับฐานใหม่ 2-3 ปี

จากประชาชาติธุรกิจ

โดย วิไล อักขระสมชีพ oilday@yahoo.com

ดูจะหดหู่ใจยิ่งกับตัวเลขส่งออกรายเดือนที่กระทรวงพาณิชย์ประกาศออกมาแต่ละครั้ง เห็นแต่สัญญาณถดถอยลง นับตั้งแต่ปี 2556 มาถึงปีนี้ จากปี 2556 ติดลบ 0.3% ซึมลงมา -0.45% ในปี 2557 และปีนี้มีการปรับคาดการณ์กันว่า ภาคส่งออกทั้งปีจะเห็นติดลบ 1.5% หลังจากกระทรวงพาณิชย์รายงานตัวเลขส่งออกเดือน พ.ค.ตกต่ำต่อเนื่อง โดยติดลบถึง 5% ทำให้ช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา ส่งออกติดลบ 4.2% แม้จะเป็นเรื่องที่รับรู้กันแล้ว และทั้งภาครัฐและเอกชนต่างก็ยอมจำนนกับสถานการณ์นี้อย่างไม่มีเงื่อนไข และปล่อยให้ภาคส่งออกลากเศรษฐกิจไทยโตต่ำ 3% ในแต่ละปี

หากย้อนดูเศรษฐกิจไทยหลังวิกฤตต้มยำกุ้งนับจากปี 2540 เป็นเวลากว่า 18 ปีที่เศรษฐกิจไทยเติบโตจากการพึ่งพิงการค้าระหว่างประเทศ หรือ "ภาคส่งออก" เป็นเสาหลักถึง 60-70% ของจีดีพี ซึ่งเมื่อดูช่วงเวลาที่เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ปีละ 5% นั้น อยู่ในช่วงปี 2542-2547 ซึ่งเป็นช่วงที่เศรษฐกิจไทยตกสู่ฐานต่ำสุดแล้ว และมีภาคส่งออกที่กลับมาฟื้นตัวได้เร็ว เนื่องจากค่าเงินบาทอ่อนค่าอยู่ที่ระดับ 41-42 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ประเทศไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัดเฉลี่ย 6.9% ของจีดีพี (ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย) ถือเป็นจังหวะที่ภาคธุรกิจเอกชนกลับมาเฟื่องฟูอีกครั้ง และภาครัฐเก็บภาษีได้จนมีฐานะเกินดุล เศรษฐกิจไทยเดินหน้าไปตามครรลองเศรษฐกิจโลก แต่เมื่อปี 2550 เกิดวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ขึ้นจากฝั่งสหรัฐอเมริกา ได้ลากภาคส่งออกไทยย่ำแย่ตามไปด้วย เนื่องจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนตัวลง ทำให้เงินบาทไทยแข็งขึ้น และยิ่งถูกกระหน่ำต่อด้วยวิกฤตเศรษฐกิจยุโรป (EU) ที่ลากยาวมาถึงวันนี้ ทำให้ภาคส่งออกไทยในตลาด EU ระส่ำอีกตลาดหนึ่ง ท่ามกลางวิกฤตสหรัฐและยุโรป ส่งผลให้ค่าเงินบาทในช่วงปี 2553-2557 เคลื่อนไหวแข็งค่ามาอยู่ที่ระดับ 31.30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

แต่ปัญหาภาคส่งออกไทยไม่ได้มีเพียงปัจจัยตลาดคู่ค้าเศรษฐกิจโลกเท่านั้น แต่เนื่องด้วยตลอดช่วงที่ไทยผ่านพ้นวิกฤตต้มยำกุ้ง ผู้ส่งออกไทยก็ไม่ได้มีการยกระดับการพัฒนาเชิงโครงสร้างของสินค้าอุตสาหกรรมที่มีการหยิบยกนวัตกรรมใหม่ ๆ มาเป็นตัวสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าแต่อย่างใด จึงทำให้ภาคส่งออกไทยมีการเติบโตที่ลดลงและหดตัวลงในที่สุด เมื่อปี 2556 ภาคส่งออกไทยติดลบ 0.3% และยังต่อเนื่องถึงปี 2557 ที่ติดลบ 0.4% และปีนี้มีแนวโน้มจะติดลบหนักสุด เพราะมีปัจจัยลบเพิ่มจากการที่ถูกสหภาพยุโรปตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) ตั้งแต่ต้นปี 2558 ที่ผ่านมา จึงทำให้ตัวเลขส่งออกช่วง 5 เดือนที่ผ่านมาถดถอยรุนแรง

ทั้ง ๆ ที่ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ คณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (ดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตรระยะ 1 วัน) ลงถึง 2 ครั้ง ในรอบเดือนมีนาคมและเดือนเมษายน ครั้งละ 0.25% ลงมาเหลือ 1.50% ซึ่งหวังผลกระตุ้นเศรษฐกิจและได้อานิสงส์ไปถึงค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง แต่สำนักวิจัยของหลาย ๆ แห่ง อาทิ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เป็นต้น ต่างก็มองว่า ไม่ได้มีนัยสำคัญต่อการหนุนภาคส่งออกได้มากนัก โดยช่วงที่ลดดอกเบี้ยพบว่าค่าเฉลี่ยของเงินบาทในตลาดสปอต อ่อนค่าลงจากช่วงเดือนเมษายน ที่ค่าเงินบาทอยู่ที่ 32.53 บาท/ดอลลาร์ ก็ไหลลงมา 33.51 บาท/ดอลลาร์ ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งอ่อนค่าลงประมาณ 1 บาท หรือ 2.9% และยังไหลลงต่อเนื่องจนล่าสุดช่วงวันที่ 3 กรกฎาคม ค่าเงินบาทลงมาอยู่เกือบแตะ 34 บาทแล้ว

โดยตลาดส่งออกของไทยที่ขายในกลุ่มประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ ก็จะพบว่า ในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา ตลาดส่งออกไปอาเซียน หดตัวหนักสุดถึง 10.5% ตามด้วยตลาดในจีน หดตัวถึง 8.2% ต่อเนื่องจากปีที่แล้วที่หดตัวอยู่ 7.9% ซึ่งเป็นผลจากเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวรุนแรงกว่าที่คาดการณ์ ขณะที่ตลาดญี่ปุ่นก็หดตัว 7.1% และสหภาพยุโรปที่เศรษฐกิจยังย่ำแย่จากกรีซที่หน่วงไว้อยู่ ก็พบว่าตลาดสหภาพยุโรปยอดหายไปถึง 6% ตลาดอาเซียนที่ไทยเคยเน้นส่งออก ก็พบเช่นกันว่าหดตัวลงแรงถึง 10.5%

เสียงสะท้อนจาก "นพพร เทพสิทธา" ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย หรือประธานสภาผู้ส่งออก ตอกย้ำว่า จะเห็นภาคส่งออกเข้าสู่ช่วงของการปรับฐานใหม่ (New Normal) ไปอีก 2-3 ปี เพราะเป็นช่วงของการพัฒนาทั้งด้านตัวสินค้า และการปรับตลาดคู่ค้า ที่ผู้ส่งออกจะต้องเร่งดำเนินการ แทนการรอความช่วยเหลือจากภาครัฐ

แม้ว่าที่ผ่านมา รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ "ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล" พยายามย้ำว่า อยากให้ค่าเงินบาทอ่อน เพื่อช่วยเหลือผู้ส่งออกให้มีความสามารถในการแข่งขัน และผู้ว่าการ ธปท. "ประสาร ไตรรัตน์วรกุล" ก็เดินหน้าลดดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อหวังเป็นอีกแรงส่งให้ค่าเงินบาทอ่อนลง แต่ก็เป็นได้แค่โยนห่วงยางมาช่วยชีวิตให้โต้คลื่นเศรษฐกิจโลก แต่ก็แค่ช่วยได้ผิว ๆ เท่านั้น

เพราะถ้าผู้ส่งออก "ไม่แข็งแกร่ง" พอจะว่ายน้ำช่วยตัวเองได้ตลอดรอดฝั่ง สุดท้ายก็ตาย


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ส่งออก ตกท้องช้าง ใช้เวลาปรับฐานใหม่ 2-3 ปี

view