สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เซ็น NDA ก่อนไหมครับ

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ Thai Stratup Cafe

โดย พงศ์พีระ ชวาลาธวัช www.facebook.com/thaistartup

NDA ย่อมาจาก Non-Disclosure Agreement แปลเป็นภาษาไทย ว่า สัญญาปกปิดความลับ นั่นเอง

สัญญาในแบบฉบับนี้ถูกใช้โดยหลากหลายวงการ ไม่ว่าจะเป็น Startup, Agency, วงการวิจัย ไปจนถึงการสมัครงาน ทำงาน หรือรับส่งสินค้าที่อาจจะมีความลับ ที่มีความอ่อนไหวสูง แต่ในวันนี้เราจะมาพูดกันในโทนของ Startup ว่าเขียน NDA อย่างไรให้ครอบคลุมครับ

เพราะการเขียน NDA ที่ดีนั้น คุณจะต้องจ้างทนายที่มีประสบการณ์ด้านธุรกิจพอสมควร เพราะ NDA ต้องเขียนกันตามความอ่อนไหวของธุรกิจนั้น ๆ เพราะฉะนั้น วันนี้เรามาทำความเข้าใจกันว่า NDA ควรจะใช้เมื่อไหร่ ใช้อย่างไร กรณีไหนบ้างถึงจะเป็นการใช้ที่เหมาะและสมควร

ต้องเล่าให้ฟังก่อน ว่าส่วนตัวผมนั้นเคยมีเซ็น NDA ไปบ้าง แต่ไม่เยอะมาก เพราะผมเองจะมีคนมาเล่าไอเดียทางธุรกิจให้ฟังเยอะ ถ้าแค่เล่ารอบแรกแล้วจะมาให้ผมเซ็น NDA ผมคงต้องตอบปฏิเสธและบอกว่าถ้าไม่สบายใจก็ไม่ต้องเล่าครับ นั่นเพราะว่า NDA แต่ละฉบับมีความใกล้เคียงกันมาก บางไอเดียก็คล้าย ๆ กัน ถ้าเซ็นทุกอัน ผมมีสิทธิ์ที่จะทำความผิดโดยสุจริตได้สูง คือ ไม่ได้ตั้งใจเปิดเผยแต่ลืมไปว่าเซ็น NDA ไปแล้ว เพราะฉะนั้นผมจะค่อนข้างเลือกพอสมควร

อ้าว ! แล้วผมมาเล่าแบบนี้ต้องการให้ละเลย NDA หรือ ? คำตอบคือไม่ใช่ครับ แต่ผมต้องการให้ผู้อ่านใช้ให้ฉลาดและเหมาะสมมากกว่า

ในกรณีที่คุณต้องเป็นคนเซ็น NDA ในฐานะผู้รับสัญญา ขอแนะนำให้คุณทำ 3 อย่างต่อไปนี้ คือ ระลึกอดีต มองไปข้างหน้า และมองรอบ ๆ ตัว

ระลึกอดีต คือ ระลึกว่าในอดีตเราเคยเซ็น NDA อะไรที่ใกล้เคียงกับฉบับที่กำลังจะต้องเซ็นในขณะนี้ไหม หรือเคยทำงานอะไรที่ใกล้เคียงกับเรื่องนี้ไหม ถ้าพบว่ามี ให้เจรจาดูก่อน เพื่อป้องกันการผิดใจ และขอให้มีการแก้ไขสัญญา ห้ามเกรงใจคู่สัญญาเด็ดขาด ทะเลาะก่อนเซ็นแก้ง่ายกว่าทะเลาะหลังเซ็นเสมอ

มองไปข้างหน้า คือ ในอนาคตคุณจะต้องทำงานหรือวางแผนงานใกล้เคียงกับเรื่องนี้ไว้ไหม ถ้ามีแน่นอนก็ขอให้เจรจากัน ถ้าไม่ได้ก็แยกย้าย จบกันไปจะดีกว่าครับ

สุดท้าย มองไปรอบ ๆ ตัว คือในบางกรณี NDA จะมีข้อบังคับลามไปถึงคนรอบตัว หรือบุคคลอื่นด้วย ซึ่งกรณีนี้มีไม่เยอะ แต่เคยเจออยู่ครั้งหนึ่ง อาจจะต้องขอให้บีบกรอบให้แคบลงมาที่ตัวเราเท่านั้น ในระหว่างคู่เซ็นสัญญาเท่านั้นจะดีกว่า และที่สำคัญที่สุด คือ อ่านอย่างละเอียด ตัวอักษรเล็ก บาง เอียงยังไงก็ต้องอ่าน ถ้ามีเวลาไม่พอ บอกคู่สัญญาไปเลยว่าขอกลับบ้านไปอ่านก่อน ยังไงคุณก็มีสิทธิ์นั้นอยู่แล้ว ถ้ามาบีบให้รีบเซ็น อย่าเซ็นครับ น่าสงสัยมาก

ในแผนธุรกิจของ Startup หลาย ๆ ทีมที่ผมเห็นมักจะลืมค่าใช้จ่ายด้านกฎหมายด้วย ผมแนะนำให้ใส่ไว้ด้วยนะครับ เงินจำนวนนี้เป็นเปอร์เซ็นต์ที่น้อยมาก อาจจะแค่ 1-5% แต่มันก็ช่วยรักษาผลประโยชน์ของเราจากคนไม่ดีได้เยอะครับ

แล้วถ้าคุณเป็นเจ้าของ NDA ละทำอย่างไรให้ดูฉลาด อันดับแรกก่อนจะคิดถึง NDA คุณต้องคิดถึงว่าเราจะปกป้องมันอย่างไรก่อน เช่น ถ้าคุณเขียน Software มาหนึ่งตัวสำหรับการใช้งานด้านบัญชี แน่นอนว่าเรื่องของโปรแกรมบัญชีนั้นเป็นเรื่องธรรมดามาก เรื่องของฟังก์ชั่นการใช้งานคุณอยากพูดจุดขายเท่าไหร่ก็พูดไปเลยครับ แต่ถ้ามีใครมาถามคุณว่า Source Code คุณเขียนอย่างไรถึงทำฟังก์ชั่นแบบนี้ได้ คุณควรจะเริ่มปกป้องตัวเองก่อน โดยการขอไม่พูดครับ ไม่ใช่เอะอะก็ไปบอกให้เขาเซ็น NDA เลย

เพราะฉะนั้น วิธีใช้ NDA ให้ฉลาด คือใช้ในเวลาที่คุณรู้สึก ว่าคนที่จะเข้ามาเป็นคู่ค้าด้วยดูน่าสงสัยเป็นพิเศษ

แล้วเราจะรู้ได้อย่างไร ว่าคนคนนี้น่าสงสัย ก็ต้องอาศัยถามคนในวงการเอาครับ Google ก็ได้ หรือหาคน Refer แนะนำเรามาก็ได้ ว่าเป็นใคร วงการ Startup เมืองไทยไม่ใหญ่หรอกครับ ถามกันไม่เกินสามช่วงคนก็เจอตัวแล้ว จากนั้นก็สืบประวัติให้ดี ถ้าประวัติไม่ดี แต่ดูดีตรงมีเงินจะลงทุน แน่นอนว่า NDA จะสำคัญมาก เขียนให้กระชับและมีบทลงโทษด้วย เรียกว่าจัดเต็มกันได้เลยครับ

แต่ทีนี้จะมีคนถามอีกว่า ถ้าเช็กประวัติแล้วคนคนนี้เป็นคนมีชื่อเสียง ไม่มีประวัติด่างพร้อยมาก่อน เราไม่ควรจะเซ็นหรือ ? คำตอบคือ ไม่ใช่ครับ แต่ควรจะยื่นให้เซ็นเมื่อการพูดคุยนั้นผ่านขั้นตอนเจรจารอบแรกไปแล้ว เช่น การเข้าหา VC ทั้งหลาย

การนำเสนอรอบแรกนั้นไม่ต้องเซ็นกันหรอกครับ และเขาจะไม่เซ็นกับเราด้วย ซึ่งเหตุผลก็จะคล้ายคลึงกับเหตุผลของผม นั่นคือวัน ๆ VC ฟังไอเดีย โดยเฉลี่ยวันละไอเดีย ปีหนึ่งตั้ง 365 ไอเดีย ปกติ VC จะเป็นกันทีก็เป็นสิบปี เท่ากับ 3,650 ไอเดีย

การที่ VC ถ้าต้องเซ็น NDA แล้วมีสิทธิ์พลาดเอง มีสูงมาก เพราะฉะนั้นถ้า VC ไม่แน่ใจว่าอยากจะทำ Due Diligence และลงทุนกับคุณจริง ๆ เขาจะไม่ให้ NDA เราเซ็น และตัวเขาเองก็จะไม่เซ็นด้วย แต่คุณควรจะสบายใจได้จากสองสิ่งที่ผมจะบอกคุณต่อไปนี้ คือ

ข้อที่หนึ่ง VC นั้น ไม่สามารถเอาไอเดียคุณไปทำได้ครับ เพราะงานของเขาคือการทำ กองทุน ให้โต เป้าประสงค์ของเขานั้นชัดเจนมาก เพราะรายได้ของเขาก้อนใหญ่ ในฐานะ Fund Manager มาจากเป้าการโตของกองทุน สมมุติว่าเขาชอบไอเดียคุณ เขาไม่มีเวลามานั่งทำเองหรอกครับ แต่เขาจะมาลงทุนกับคุณไม่ดีกว่าหรือ ? มีคนทำงานพร้อม Passion ให้เขาด้วย

ข้อที่สอง คือ VC ทุกคนบนโลกใบนี้จะทราบดี ว่า "ไอเดีย" มันก็คล้าย ๆ กันหมดแหละ เพราะฉะนั้นคนสำคัญคือ Founder ที่จะมาทำให้ไอเดียนั้นเป็นความจริงได้ เพราะฉะนั้นสำคัญที่ตัวคุณในการแบ่งข้อมูลของ Startup ของตัวเองให้ดี ส่วนตัวผมจะแบ่งเป็น 3 ระดับ ดังนี้

1.ระดับสาธารณะ ซึ่งเป็นข้อมูลที่เปิดเผยได้ เป็นจุดขายที่อยู่ตาม Website ได้อยู่แล้ว 2.ระดับนักลงทุน ซึ่งเป็นข้อมูล เช่น แผนการขาย การตลาด Forecast ไปจนถึง ระดับการลงทุนที่ต้องการ ซึ่งเราสามารถนำแผนเราใส่พวก Presentation Sharing Platform ที่แชร์ผ่านลิงก์ได้ เพื่อจะได้ดูว่าใครที่เข้ามาดูข้อมูลตรงนี้บ้าง แทนที่จะไปบังคับไม่ให้ VC ส่งข้อมูลต่อ เพราะยังไงเขาต้องส่งต่ออยู่แล้ว 3.ระดับ Due Diligence ก่อนจะมีการลงทุน ข้อมูลตรงนี้จะอ่อนไหวมาก เช่น สูตรลับต่าง ๆ หรือ Source Code แน่นอนว่า ก่อนจะมีการเปิดเผย NDA นั้น VC ต้องเข้ามามีบทบาท ถ้าไม่ได้เซ็นห้ามเปิดปากเด็ดขาดครับ

สุดท้าย ท้ายสุดสำหรับคนทำ Startup ผมแนะนำให้วันนี้คุณลองสำรวจตัวเองดูครับ ว่าเรามี "ทนาย" ที่เราไว้ใจได้หรือยัง ? ถ้ายังไม่มี พยายามลองหาผ่านเพื่อน หรือเพื่อนต่อเพื่อน หรือคนรู้จัก ดูตั้งแต่วันนี้ครับ จะได้ไม่เข้าตำรา เสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียง่าย ไงล่ะครับ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : เซ็น NDA

view