สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ความลับที่ไม่ลับของคุณ บนโลก Online

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์กระบี่ไร้สาย โดย วิเชียร เมฆตระการ

ผมคงไม่ยกประเด็นดราม่าที่เกิดขึ้นวันละหลายรอบมาเป็นใจความหลักที่จะพูดถึงในครั้งนี้นะครับ เพราะโดยส่วนตัวมองว่า นี่คือปรากฏการณ์ตามพัฒนาการของสังคมที่กำลังหมุนวงล้อไปตามกาลเวลาเท่านั้น !

เมื่อคนไทยตระหนักรู้ เกิดความเคยชิน ก็คงเรียนรู้ที่จะอยู่กับมันไปเองโดยไม่ตระหนกและดราม่ากันง่ายจนเกินไปในบางครั้ง

ในฐานะช่างเทคนิคจึงขอยกประเด็น ข้อมูลส่วนตัวที่อาจจะไม่ได้กลายเป็นความลับเฉพาะตัวคุณอีกต่อไป เมื่อเราใช้ชีวิตบน Online มากขึ้นมาพูดคุยกัน

ทุกวันนี้เราอยู่ในสังคม Online แบบ Seamless ตลอดเวลา เพราะเราสามารถใช้อุปกรณ์พกพาตั้งแต่มือถือ โน้ตบุ๊ก แท็บเลต และอื่น ๆ อย่าง Wearable เชื่อมต่อออนไลน์ เรียกข้อมูลต่าง ๆ มาดู จ่ายเงิน แชต แชร์ บนโซเชียลมีเดียสุดฮิตได้แบบไม่มีข้อจำกัดใด ๆ ทั้งสิ้น

โดยเราเชื่อมั่นว่า การเข้าสู่โลก Online นี้น่าจะมีความเป็นส่วนตัวในระดับหนึ่ง เพราะยังไงก็ต้อง Access ด้วย e-Mail ส่วนตัวของเราอยู่แล้ว

ผมขอบอกว่า ความเชื่อนี้มีส่วนถูกต้องอยู่บ้าง แต่ไม่ทั้งหมดนะ เพราะในทางปฏิบัติแล้วข้อมูลส่วนตัวของเราบางส่วนนั้น มีบุคคลที่สามรับรู้หรือใช้ประโยชน์จากข้อมูลนั้นอยู่ด้วย !!!

ตัวอย่างดังนี้นะครับ

ถ้าเราท่านเข้าหาข้อมูลต่าง ๆ ในเว็บไซต์ หรือแค่เพียงเปิดเข้าไปดูเว็บต่าง ๆ เพียงเท่านี้ท่านในฐานะผู้ใช้จะถูกบันทึก หรือจดจำการใช้งานไว้แล้ว แล้วยังไงล่ะ ? บางท่านก็บอกว่าไม่เห็นน่าจะเป็นห่วง เพราะนั่นเป็นเพียงเบอร์บัญชีการใช้งานของท่านไม่ใช่ตัวตนของท่าน หรือบางท่านก็ว่านั่นเป็นชื่อที่ตั้งขึ้นมาเพื่อใช้งานในเน็ตเท่านั้นเอง ไม่ซี...

ทั้งหมดที่กล่าวมามีเหตุผลทั้งสิ้น แต่สิ่งที่ผมจะอธิบายต่อไปนี้เป็นการอธิบายให้เราผู้ใช้ชีวิตบน Online เข้าใจกลไกของระบบที่เจ้าของเว็บไซต์กำลังพยายามเก็บข้อมูลของผู้เข้าใช้งาน เพื่อเหตุผลต่าง ๆ เช่น เพื่ออำนวยความสะดวกสบายให้กับเราเองในฐานะผู้ใช้ เพื่อให้การเข้าใช้งานในครั้งต่อ ๆ ไปง่ายขึ้น อาทิ ไม่ต้องใส่รหัสผ่าน หรือไม่ต้องล็อกอินเข้าไป เพียงแต่พิมพ์ชื่อเว็บเท่านั้น เป็นต้น

สิ่งที่เจ้าของเว็บไซต์เหล่านั้นใช้ เราเรียกว่าเป็นเครื่องมือในการติดตาม เก็บข้อมูล ทำสถิติการเข้าใช้ ทั้งเวลา ความถี่ในการใช้ ประเภทข้อมูลที่ใช้ ฯลฯ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะถูกนำไปประมวลผล และทำให้สามารถนำผลนั้นมาคาดเดาพฤติกรรมของผู้เข้าใช้เฉพาะเจาะจงได้อย่างแม่นยำ

เราเรียกเครื่องมือนี้ว่า "คุกกี้" ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่ขนมฝรั่งมังค่าที่ไหน หากแต่เป็นตัวอักษร (Text) ของเว็บไซต์นั้น ๆ ที่ผู้ใช้เก็บอยู่ใน Browser ของผู้ใช้เอง ซึ่งเมื่อผู้ใช้เข้าไปใช้งานในแต่ละเว็บ คุกกี้ก็จะจับได้ว่าผู้ใช้ท่านใดล็อกอินเข้าไปใช้งาน เมื่อผู้ใช้เข้าไปแล้วการใช้งานจะถูกบันทึกและนำมาประเมินผลพฤติกรรมต่าง ๆ ดังกล่าวข้างต้น

ยกตัวอย่างเพิ่มเติมอีกก็ได้ เช่น ถ้าเราเข้าเว็บจะซื้อเสื้อผ้า เมื่อเข้าไปดูแฟชั่น Set ในแบบที่ชื่นชอบด้วยสี สไตล์ ขนาด เสร็จแล้วมีการสั่งซื้อหรือไม่ ถ้าซื้อเราซื้อกี่ตัว และที่ระดับราคาเท่าไหร่ เราซื้อเสื้ออย่างเดียว หรือมักจะซื้อกางเกงด้วย ฯลฯ อะไรทำนองนี้

สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือ เมื่อท่านเข้าไปใช้งานเว็บนี้ในครั้งต่อ ๆ ไป หรืออีกหลาย ๆ ครั้งในอนาคต ท่านอาจไม่ต้องใส่รหัสผ่านให้เสียเวลา ท่านจะเจอหน้าเว็บที่ทักทายท่าน จากนั้นก็อาจจะเปิดนำท่านไปสู่สินค้าที่ท่านซื้อประจำได้เลยโดยไม่ต้องไปหน้าแรก พร้อมเลือกหาเสื้อสีและขนาดของท่านมาแสดงให้ดูเลย หรืออาจมีแบนเนอร์แนะนำเสื้อที่มีโปรโมชั่นในแบบที่ท่านเคยซื้อไปแล้วมาเสนอให้ดู

นี่คือสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น โดยเรารู้ตัวบ้างไม่รู้ตัวบ้าง หากมองในแง่ของการให้บริการที่ดีกับลูกค้า ก็ไม่น่าจะเป็นเรื่องที่ต้องกังวล ถ้าการให้หรือความพยายามที่จะให้บริการสิ้นสุดเพียงเท่านี้

แต่จริง ๆ แล้วเจ้าของเว็บหรือบริษัทผู้ให้บริการอาจยังคอยติดตามด้วย "คุกกี้" ต่อไปอีกเพื่อดูว่า นอกจากเว็บนี้แล้วผู้ใช้งานยังต่อไปที่ใดอีก ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อนำข้อมูล Fingerprint ของผู้ใช้แต่ละรายมาปะติดปะต่อกันแล้ว ก็จะเห็นไลฟ์สไตล์ของผู้ใช้ท่านนั้นได้

ส่งผลให้สามารถคาดเดาการใช้ชีวิตของผู้ใช้รายนั้น ๆ ได้ง่ายขึ้นกว่าสมัยก่อน ส่วนจะถูกต้องแม่นยำมาก/น้อยก็ขึ้นอยู่กับปริมาณข้อมูลที่เก็บได้ รวมไปถึงขีดความสามารถของซอฟต์แวร์ที่ใช้ในการวิเคราะห์ว่า จะเก่งพอที่จะตีความพฤติกรรมที่สลับซับซ้อนดังกล่าวได้แค่ไหน

หลายท่านถึงรู้แบบนี้ก็อาจจะบอกว่าไม่เห็นเป็นไร คนรุ่นใหม่ที่ออนไลน์มีการเปิดเผยตัวตนมากกว่านี้ตั้งมากมาย

ถูก ต้องครับ ! ระดับความเป็นส่วนตัวของแต่ละคนนั้นอาจไม่เท่ากัน บางคนว่าถ้าแค่ที่ผมอธิบายมาสามารถยอมรับได้เพื่อแลกกับความสะดวกสบายที่จะ ได้รับ หรือเทียบได้กับการที่ท่านเดินเข้าไปใช้บริการจากภัตตาคารที่ชื่นชอบ และมีพนักงานต้อนรับจนถึงผู้จัดการร้านที่สามารถกล่าวทักทายเรียกชื่อเสียง เรียงนามของท่านได้อย่างถูกต้องแม่นยำให้บริการท่านอย่างดีเยี่ยมด้วยการนำ เมนูสุดโปรดมาให้ได้โดยไม่ต้องสั่งแถมยังรู้ด้วยว่าอาหารของท่านไม่ใส่ผงชู รส ฯลฯ

ระหว่างนั้นท่านก็ทานอาหารด้วยความอร่อย และรู้สึกเหมือนเป็นแขกคนสำคัญของร้าน ถ้านี่คือสิ่งที่ท่านต้องการ ผมคิดว่าท่านได้รับแล้วจากบริการออนไลน์ เพราะท่านอาจไม่สนใจด้วยซ้ำไปว่า เขาอาจเอาข้อมูลนี้ขายให้กับบริษัทต่าง ๆ ที่สนใจจะขายของให้ท่าน เพราะสิ่งที่ท่านต้องการและให้ความสำคัญ คือ ความสะดวกสบาย

ปัจจุบันหลาย ๆ เว็บไซต์เปิดโอกาสให้รายที่สามเข้ามาขายโฆษณาเป็นแบนเนอร์กะพริบอยู่บนหน้าเว็บ เมื่อท่านคลิกเข้าไปก็เท่ากับว่าท่านถูกคุกกี้ติดตามไปเรียบร้อย จากนั้นเว็บโฆษณาก็จะส่งข้อมูลที่ท่านต้องการมาให้พร้อมกับการล้วงข้อมูลต่าง ๆจากเครื่องของท่านไปด้วย

ข้อมูลพวกนี้ตามศัพท์แสงเรียกว่า ฟิงเกอร์พรินต์ (Fingerprint) หรือร่องรอยการใช้งานของท่าน ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะถูกส่งกลับไปยังบริษัทโฆษณา และถูกส่งต่อไปยังผู้ที่มีข้อมูลนี้เก็บอยู่ เช่น ผู้ที่มีข้อมูลในการใช้ชีวิตหรือไลฟ์สไตล์ของท่าน คราวนี้เขาก็รู้แล้วว่าท่านเป็นใคร เดาหรือคาดคะเนเกี่ยวกับตัวท่านและเสนอสินค้าบริการที่คิดว่าเป็นตัวตนของท่านมาให้

ซึ่งแน่นอนว่าโอกาสที่จะได้รายได้จากท่านก็มีมากขึ้น โดยข้อมูลในแต่ละครั้งก็จะถูกบันทึกเพิ่มเติมไปในประวัติการใช้งานของท่าน เพื่อที่หลังจากนี้เมื่อท่านเข้าใช้งานเว็บใด ๆ โฆษณาชิ้นนี้จากบริษัทนี้ก็จะโผล่มาให้ท่านเห็นอีกจนชินตา

จากการทำงานที่ได้ผลอย่างดีมากของ "คุกกี้" ทำให้ผู้ใช้งานที่มีความต้องการเป็นส่วนตัวมาก ๆ เริ่มมองเห็นแนวโน้มด้านไม่ดีของการโดนเก็บข้อมูล จึงมีการรณรงค์ให้เริ่มจำกัดการใช้คุกกี้ เช่น เว็บที่มีการใช้คุกกี้จะมีคำเตือนให้ทราบว่า เขาจะถูกติดตามการใช้งานนะ และถ้าผู้ใช้อยากใช้ต่อก็ต้องทำการล้างคุกกี้ออกไปหลังใช้งานแล้ว เป็นต้น

นอกจากนี้ ก็ยังมีบริษัทซอฟต์แวร์ที่ทำโปรแกรมติดตั้งเพื่อป้องกันการติดตามจากคุกกี้ และลบล้างเว็บที่ผู้ใช้เข้าไปใช้งานและออกมาแล้วเพื่อไม่ให้มีข้อมูลการเข้าเว็บนั้น ๆ ติดตัวมาอีกเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ท้ายที่สุดถึงเราจะโดนเก็บข้อมูล หรือไม่เก็บก็ตาม เราต้องสามารถมั่นใจได้ว่า บริการต่าง ๆ ที่เราได้รับจากเว็บที่เราซื้อของ หรือใช้บริการต่าง ๆ บนโลก Online นั้น ต้องให้ความคุ้มครองข้อมูลส่วนตัวต่าง ๆ ของเรา มีจรรยาบรรณที่จะไม่เอาข้อมูลนี้ไปขายต่อหรือส่งต่อให้บริษัทในเครือไปใช้งาน เพื่อประโยชน์ในการเสนอขายสินค้าและบริการอื่น ๆ ที่เราไม่ได้ร้องขอแต่อย่างใด

"ความเป็นส่วนตัว" ในปัจจุบันจึงมีคำจำกัดความที่แตกต่างจากในอดีตเป็นอย่างมาก เพราะจะมีการจำกัดความที่ชัดเจนยิ่งขึ้น และก็จะมากยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ ในอนาคตอันใกล้ เช่น อาจตีความครอบคลุมถึงเรื่องอื่น ๆ ด้วย อาทิ ความเป็นส่วนตัวที่จะไม่ถูกดักฟัง ดักบันทึกข้อมูลดิจิทัลของเรา หรือของคนใกล้ชิดเรา และหรืออื่น ๆ อีกมากมายเกินการคาดเดา...

ฉะนั้น ผู้ให้บริการทั้งภาคเอกชน รวมถึงภาครัฐ ต้องมีหลักประกันและนโยบายในการรักษาความลับ ข้อมูลส่วนตัวของประชาชน ไม่ให้ตกไปในมือของผู้ไม่ประสงค์ดีหรือผู้ต้องการผลประโยชน์จากการใช้ข้อมูลของเราในทางใดทางหนึ่ง โดยปราศจากความยินยอมของเรา

นี่คือความเห็นของผมเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัวและข้อมูลส่วนตัวในโลก Online ครับ ในโอกาสต่อไปอาจขอพูดถึงข้อมูลส่วนตัวกับความมั่นคงปลอดภัยบ้าง ซึ่งเป็นเรื่องที่ค่อนข้างท้าทายแต่จะพยายามพูดโดยไม่ให้มีผลเสียกระทบกับฝ่ายต่าง ๆ (ถ้าทำได้ !!!)


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ความลับที่ไม่ลับ บนโลก Online

view