สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

หลังชนฝา

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ คิด วิเคราะห์ แยกแยะ โดย ชาย มโนภาส (คนขายของ)

เมื่อสี่สิบปีก่อน ดอกเบี้ยฝากประจำ 15% เป็นเรื่องปกติ เมื่อสิบกว่าปีก่อนดอกเบี้ยออมทรัพย์ที่ 5% เป็นเรื่องธรรมดา แต่ในช่วงที่ผ่านมา ดอกเบี้ยเป็นขาลงตลอด จนมาถึงตอนนี้ผู้คนเริ่มรู้สึกว่าผลตอบแทนจากการฝากเงินเพื่อกินดอกเบี้ยอย่างเดียวดูไม่ดึงดูดใจ

ยิ่งหากใครอยู่ในวัยเกษียณ หากต้องการเงินใช้เดือนละ 20,000 บาท ถ้าฝากเงินกินดอกเบี้ยอย่างเดียว เขาเหล่านั้นต้องมีเงินในบัญชีฝากประจำอย่างน้อย 25 ล้านบาทขึ้นไป ซึ่งเป็นเรื่องยากที่คนทำงานเป็นพนักงาน ข้าราชการ ลูกจ้าง จะมีเงินเก็บได้ถึงขนาดนั้น ดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำ ทำให้คนส่วนใหญ่ไม่มีทางเลือก นอกจากต้องออกไปหาการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนซึ่งมากกว่าการฝากเงินในธนาคาร


ทางเลือกหนึ่งซึ่งเป็นที่นิยมกันคือการซื้อพันธบัตรรัฐบาล ซึ่งถ้ามองในเรื่องความเสี่ยงแล้ว คนส่วนใหญ่เชื่อว่าความเสี่ยงของพันธบัตรอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากรัฐบาลเป็นประกัน ตอนนี้พันธบัตรของรัฐบาลไทยให้ดอกเบี้ยอยู่ราว ๆ 3.5-4% แต่ถ้าเป็นพันธบัตรรัฐบาลของต่างประเทศ บางประเทศให้ดอกเบี้ยสูงมากถึง 8-9% แต่ทั้งนี้ผู้ซื้อต้องรับความเสี่ยงเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนเอง

ทางเลือกที่สอง คือการซื้อทองคำเก็บไว้ ด้วยความเชื่อที่ว่าราคาทองคำในระยะยาวจะชนะ "เงินเฟ้อ" ยิ่งถ้ามองย้อนกลับไปในช่วง 15 ปี พบว่าราคาทองขึ้นมามากกว่า 3 เท่า ผู้คนจึงให้ความสนใจ ทางเลือกที่สาม คือการเข้าซื้อหุ้นในกิจการที่เกี่ยวกับสาธารณูปโภค เพราะเชื่อว่าเป็นสิ่งจำเป็น และไม่ว่าภาวะเศรษฐกิจเป็นอย่างไร คนก็ยังต้องกินต้องใช้ ดังนั้นหุ้นที่เกี่ยวกับการผลิตไฟฟ้า ประปา จึงน่าสนใจ

แต่ทางเลือกทั้งสามจะเป็นการลงทุนที่ปลอดภัย 100% ที่นักลงทุนสามารถซื้อและถือลืมไปได้เลย โดยไม่มีโอกาสขาดทุนจริงหรือ ? เราจะย้อนไปดูประวัติศาสตร์เพื่อตอบคำถามเหล่านี้กัน ในหนังสือ This time is different : Eight centuries of Financial Folly ได้รวบรวมการผิดนัดชำระหนี้และการปรับโครงสร้างหนี้ของประเทศต่าง ๆ ในรอบ 200 ปีที่ผ่านมา พบว่ามีถึง 82 ประเทศ ที่มีปัญหาทางการเงิน บางประเทศมีปัญหามากกว่า 5 ครั้ง

ประเทศที่มีความมั่งคั่งสูงอย่าง "เยอรมนี" หรือ "อังกฤษ" ก็เคยประสบปัญหาเหมือนกัน ดังนั้นการลงทุนในพันธบัตร โดยเฉพาะพันธบัตรต่างประเทศ ก็นับว่าไม่ปลอดภัย 100% แล้วทองล่ะ ? ถ้าเราหันมาดูราคาทองคำในรอบ 40 ปีที่ผ่านมาจะเห็นว่ามีรอบการขึ้นใหญ่อยู่สองรอบ คือในช่วงปี 1979-1982 และในช่วง 2000-2012 การจับจังหวะของวัฏจักรเป็นเรื่องสำคัญถ้าคุณพลาดไปซื้อทองในปี 1980 ที่ราคา 700 $/ออนซ์ คุณต้องรอไปอีก 27 ปีถึงจะได้ทุนคืน

หุ้นสาธารณูปโภคที่ดูเหมือนจะปลอดภัยมาก แต่ในสถานการณ์การเงินโลกที่มีความไม่แน่นอนสูง

ในปัจจุบันนี้แม้แต่มืออาชีพอย่างผู้จัดการกองทุนชื่อ John Paulson ก็ยังพลาด ซึ่งนิตยสาร Fortune รายงานว่า เขาได้เข้าไปซื้อหุ้น Athen Water ของกรีซเมื่อปีที่แล้ว มูลค่ากว่า 4,000 ล้านบาท กิจการนี้เป็นกิจการผูกขาด แต่ตอนนี้กิจการมีปัญหาเนื่องจากขายน้ำประปาให้รัฐ แต่รัฐไม่มีเงินจะชำระหนี้ คาดกันว่าตอนนี้ Paulson ขาดทุนไปมากกว่า 50% แล้ว

ดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำอาจจะมีผลดีในแง่กระตุ้นการลงทุนได้มากขึ้น แต่อีกด้านหนึ่งคนที่ไม่มีรายได้ประจำโดยเฉพาะคนวัยเกษียณ ไม่สามารถดำรงชีพได้ด้วยดอกเบี้ยเงินฝากเพียงอย่างเดียว คนกลุ่มนี้ต้องดิ้นรนเพื่อหาผลตอบแทนในการลงทุนที่สูงขึ้น แต่เพราะขาดความชำนาญ ทำให้อาจมองการลงทุนด้วยภาพที่สวยหรูเพียงอย่างเดียว ไม่ได้สนใจความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น บางคนไม่มีความรู้เรื่องการลงทุนเลย แต่ต้องออกไปสู้ในตลาดทุน ตลาดเงิน เพราะรายได้หลังเกษียณไม่พอเลี้ยงชีพ ต้องออกไปสู้เพราะตอนนี้หลังชนฝาแล้ว การตัดสินใจในการลงทุนอาจทำโดยการอ่านข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์มา 2-3 บรรทัดแล้วลงทุนเลย ทำให้ผิดพลาดได้ง่าย เพื่อที่จะฝ่าวงล้อมทุนนิยมนี้ไปได้ ผมใคร่ขอแนะนำให้ทุกบ้านทุกครัวเรือน เริ่มศึกษาหาความรู้ในการลงทุนอย่างจริงจัง หากท่านไม่ถนัดในเรื่องเงินทอง ก็อาจจะมองหาลูกหลานที่มีแวว เพื่อปั้นขึ้นมาเป็นดาวเด่นในเรื่องลงทุนของครอบครัวท่าน ทั้งนี้เพราะในภาวะดอกเบี้ยต่ำที่ยาวนาน ความรู้เรื่องการลงทุนเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกบ้านควรมีเป็นสมบัติของตัวเอง


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : หลังชนฝา

view