สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ไอเอ็มเอฟ ไม่เคยจำ โดย ดร.วีรพงษ์ รามางกูร

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์คนเดินตรอก

ในที่สุดก็เป็นอย่างที่คาด กล่าวคือผลของการลงประชามติของประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงของกรีซ ก็ลงมติไม่ให้ความเห็นชอบที่รัฐบาลกรีซจะลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนง หรือ Letter of Intend ยอมรับเงื่อนไข "รัดเข็มขัดแรงขึ้น" เพื่อแลกกับการได้เงินกู้ใหม่จากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ จากสหภาพยุโรปและจากธนาคารกลางแห่งสหภาพยุโรป เจ้าหนี้ทั้ง 3 ราย เพื่อชำระหนี้เก่า

เมื่อประชาชนกรีกลงมติไม่รับแผนการแปลงหนี้ของไอเอ็มเอฟเช่นนี้แล้ว กรีซก็คงต้องมีมาตรการทางการเงินอื่น ๆ ตามออกมา กล่าวคืออาจจะไม่ยอมให้ผู้ฝากเงินในธนาคารถอนเงินในบัญชีเงินฝากอย่างเสรี แต่อาจจะถอนได้ภายใต้เงื่อนไขบางอย่าง ซึ่งก็คงจะทำให้เกิดความปั่นป่วนไม่น้อย แต่ถ้าเปิดให้มีการถอนเงินจากบัญชีเงินฝาก ธนาคารก็อาจจะทำไม่ได้ เพราะไม่มีทางจะมีสภาพคล่องหรือเงินสดที่จะให้ประชาชนถอนเงินได้อย่างเพียงพอ

ที่ จะต้องติดตามต่อไปก็คือสถานการณ์จะกลายเป็นโรคติดต่อลุกลามไปยังประเทศอื่น ที่มีฐานะทางการเงินอ่อนแอเพราะขาดดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดเรื้อรังมา นาน และอาศัยเงินกู้มาเสริมสภาพคล่อง จากเจ้าหนี้ทั้ง 3 รายนี้อีกหรือไม่ คือ สหภาพยุโรป ธนาคารกลางยุโรป และไอเอ็มเอฟ ประเทศที่ยังยอมรับเงื่อนไข "การรัดเข็มขัด" โดยขึ้นภาษีอากร ตัดงบประมาณรายจ่าย ลดจำนวนข้าราชการ ลดเงินเดือน ลดบำเหน็จบำนาญสวัสดิการต่าง ๆ ในลักษณะเดียวกันกับที่ไอเอ็มเอฟใช้กับกรีซ แบบที่ประเทศไทยเคยโดนมาแล้ว



มาตรการสูตรตายตัวที่ใช้กับลูกหนี้ทุกประเทศของไอเอ็มเอฟนี้ ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากจากกรณี "ต้มยำกุ้ง" ที่รัฐบาลไทยยอมรับเงื่อนไขเพื่อแลกกับเงินกู้จากไอเอ็มเอฟ ว่าเป็นเงื่อนไขที่ไม่ถูกต้อง

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อนายกรัฐมนตรี มหาธีร์ของมาเลเซียออกมาปฏิเสธเงื่อนไขของไอเอ็มเอฟแล้วหันกลับมาใช้ระบบการ เงินที่ใช้อยู่ก่อนการประกาศเสรีทางการเงินโดยกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนตายตัว "Fixed Exchange Rate System" และเข้าควบคุมการเคลื่อนย้ายเงินทุน ซึ่งปรากฏว่าสถานการณ์ทางการเงินของมาเลเซียกลับเข้าสู่ภาวะปกติอย่างรวดเร็ว ต่างกับประเทศไทยที่ยอมรับเงื่อนไขของไอเอ็มเอฟ ประเทศไทยต้องขายทรัพย์สินทางการเงินในราคาถูก ๆ ให้กับต่างประเทศ กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือต้องขายหนี้ของสถาบันการเงิน เช่น ธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน หุ้นกู้ หุ้นสามัญ ขายธุรกิจเกือบทุกอย่างให้กับบริษัทต่างชาติในราคาถูก เพราะรัฐบาลออกกฎห้ามลูกหนี้ซื้อหนี้ตัวเอง เพราะจะผิด "จริยธรรม" หรือ "Moral Hazard" แต่หลังจากที่ต่างชาติได้ซื้อหนี้ไปราคาถูก ๆ แล้ว กลับเรียกลูกหนี้มาเจรจาซื้อหนี้ของตนไปในราคาแพง ๆ ทำให้ประเทศไทยบอบช้ำหนักเข้าไปเป็นรอบที่ 2 อีก เมื่อถึงกำหนดเลือกตั้ง พรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นรัฐบาล จึงแพ้การเลือกตั้งแบบเดียวกับกรีซในการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว

ไอเอ็มเอฟก็เคยตั้งคณะทำงานทำการศึกษากรณี"ต้มยำกุ้ง"ผลสรุปออกมาว่า มาตรการสูตรเดียวใช้กับทั่วโลก หรือ "One Formula Fits All" นั้นผิด แต่ก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่า เหตุใดไอเอ็มเอฟจึงกลับมาใช้เงื่อนไขเดิมที่เคยใช้กับประเทศไทยกับประเทศกรีซอีก ในกรณีของประเทศไทยนั้น เราสามารถใช้หนี้ได้ก่อนกำหนด 2 ปี ในรัฐบาลพรรคไทยรักไทย อีกทั้งประเทศไทยไม่ได้เบิกเงินเต็มวงเงินกู้ประมาณ 17,200 ล้านเหรียญสหรัฐ ที่ได้ทำกับไอเอ็มเอฟ แต่ในกรณีของกรีซ กรีซไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด แต่จัดให้ประชาชนลงประชามติว่าจะยอมรับเงื่อนไขที่รุนแรงกว่าเดิมหรือไม่ ซึ่งกรณีอย่างนี้ยังไม่เคยมี แม้ว่าทั่วโลกจะวิพากษ์วิจารณ์ไอเอ็มเอฟเสมอมา

ถ้าหากสถานการณ์ลุกลามไปที่ประเทศยุโรปทางภาคใต้ เช่น อิตาลี สเปน โปรตุเกส ไอร์แลนด์ อนาคตของไอเอ็มเอฟก็อาจจะสิ้นสุดลง และต้องถือว่าเป็นความล้มเหลวของไอเอ็มเอฟอย่างสิ้นเชิง ที่ไม่ยอมปรับตัวและเปลี่ยนความคิด ผิดซ้ำซาก ไม่เคยจำ

เมื่อทั้งรัฐบาลและประชาชนกรีกเห็นพ้องต้องกัน ไม่ยอมรับเงื่อนไขการรัดเข็มขัดหนักยิ่งขึ้น ซึ่งหมายความว่าอัตราการว่างงานต้องสูงขึ้น ซึ่งขณะนี้สูงถึง 25 เปอร์เซ็นต์ สวัสดิการต่าง ๆ มาตรฐานคุณภาพชีวิตของประชาชนชาวกรีกจะต้องต่ำลง ขณะนี้กรีซก็มีอัตราภาษีสูงกว่าประเทศอื่น งบประมาณก็เกินดุลอยู่แล้ว แต่ยังไม่เพียงพอกับการนำไปชำระหนี้ที่จะครบกำหนด

สื่อมวลชนตะวันตกที่มักจะเข้าข้างเจ้าหนี้ ก็จะกล่าวโจมตีรัฐบาลก่อน ๆ ของกรีซว่าใช้จ่ายเกินตัว จึงต้องกู้ยืมจนไม่สามารถชำระหนี้เมื่อครบกำหนด ก็เป็นการกล่าวหลังจากเหตุการณ์เกิดไปแล้ว หรือเป็น "Ex Post" ก่อนเกิดเหตุการณ์ก็ไม่มีใครคาดการณ์ว่า สถานการณ์จะเป็นอย่างนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดาธนาคารที่เป็นเจ้าหนี้ หรือแม้แต่สหภาพยุโรป ธนาคารกลางของสหภาพยุโรป และไอเอ็มเอฟเอง

ถ้าจะเปรียบกับกรณีลูกหนี้ภายในประเทศ เมื่อเกิดสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้จะพุ่งสูงขึ้น เหมือน ๆ กับกรณีของเราในขณะนี้ ธนาคารเจ้าหนี้ก็ต้องเรียกลูกหนี้มาปรึกษาหารือว่า จะมีแผนการฟื้นฟูบริษัทลูกหนี้อย่างไร การเรียกหนี้คืนทันทีสำหรับเงื่อนไขที่ไม่สามารถปฏิบัติได้ ก็จะยิ่งทำให้สถานการณ์ของบริษัทลูกหนี้เลวร้ายลงไปอีก

ในทางปฏิบัติ เจ้าหนี้ควรจะต้องขายหนี้ออกไปในราคาที่ต่ำกว่าต้นทุน ให้กับบริษัทที่มีความชำนาญในการจัดการบริหารหนี้ ซึ่งสามารถเจรจาฟื้นฟู บางครั้งอาจจะต้องยืดระยะเวลาชำระหนี้ออกไป หรือแม้แต่เพิ่มสินเชื่อให้ลูกหนี้ เพื่อให้ลูกหนี้สามารถอยู่ได้ ซึ่งอาจจะต้องมีสูตรหลายสูตรในการปฏิบัติต่อลูกหนี้ คงต้องติดตามต่อไปว่ากรณีที่กำลังเกิดขึ้นในบ้านเรานั้นกำลังจะพัฒนาไปอย่างไร และคงจะไม่ทำผิดซ้ำรอยเดิม ที่สำคัญอย่าถลำต่อไปจนทุนสำรองร่อยหรอ ให้ต้องบากหน้าไปหาไอเอ็มเอฟอีก

ถ้าสถานการณ์ในยุโรปเลวร้ายลงไปอีก เกิดการระบาดไปยังประเทศอื่น เพราะกรีซไม่อาจจะรับเงื่อนไข "เกินพอดี" ของไอเอ็มเอฟได้ ผลของความผันผวนย่อมกระจายไปทั่วโลก ไม่ใช่เฉพาะสหภาพยุโรปเท่านั้น อาจจะส่งผลเสียหายกับเสถียรภาพทางการเงิน รวมทั้งการส่งออกของเราที่ไปยังตลาดยุโรปด้วย

การที่กลุ่มประเทศใด กลุ่มประเทศหนึ่งมาร่วมกันเป็นระบบเศรษฐกิจเดียวกันไม่มีภาษีศุลกากรและข้อ กีดขวางทางการค้าระหว่างกันตลอดจนพัฒนามาถึงการเลิกใช้เงินสกุลของตน หันมาร่วมใช้เงิน "ยูโร" สกุลเดียว ย่อมต้องเป็นความรับผิดชอบร่วมกันในการรักษา "ความสมดุล" หรือ "ดุลยภาพ" ระยะยาวของกลุ่มที่เข้ามาร่วมกัน เพราะเป็นการกระทำที่ผิดธรรมชาติทางเศรษฐกิจ หรือขัดต่อหลักวิชาเศรษฐศาสตร์อยู่แล้ว การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของกลุ่มประเทศหนึ่งในสภาพที่เป็นกลุ่มใหญ่ ย่อมเป็นการเกินดุลของกลุ่มประเทศอีกกลุ่มหนึ่ง

การขาดดุลของกลุ่ม ประเทศหนึ่งย่อมแสดงให้เห็นว่า กลุ่มประเทศนี้เสียเปรียบอีกกลุ่มหนึ่ง การเกินดุลของประเทศกลุ่มหนึ่งก็ย่อมเป็นความได้เปรียบของอีกกลุ่มหนึ่ง ดังนั้นการเฟื่องฟูทางเศรษฐกิจของยุโรปตะวันตกก็เกิดขึ้นจากการที่ตนสามารถ ขายสินค้าและบริการให้กับกลุ่มประเทศยุโรปให้มากกว่าที่ตนซื้อสินค้าและ บริการจากกลุ่มที่เสียเปรียบ

ถ้าประเทศที่เสียเปรียบไม่ได้อยู่ในกลุ่มสหภาพยุโรปเขาก็อาจจะขึ้นภาษีขาเข้าหรือลดค่าเงินของตนลงเพื่อปรับเปลี่ยนความเสียเปรียบ แต่เมื่ออยู่ในสภาพและใช้เงินตราสกุลเดียวกันจึงทำไม่ได้

จึงเป็น พันธะของประเทศที่เกินดุลและเป็นสิทธิของประเทศที่ขาดดุลที่จะเรียกร้องให้ ประเทศที่เกินดุลในกลุ่มต้องจ่ายชดเชยให้กับประเทศที่เสียเปรียบหากจะยัง ต้องการรักษาประเทศที่เสียเปรียบในการแข่งขันไว้เป็นตลาดสินค้าและบริการ เพื่อการส่งออกของตน มิฉะนั้นก็ไม่มีความเป็นธรรม

คิดว่าเมื่อสหภาพยุโรป ธนาคารกลางยุโรป และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ซึ่งอยู่ในอาณัติของประเทศยุโรปที่เกินดุล และสหรัฐอเมริกา คงต้องคำนวณผลดีผลเสียของการที่กรีซและอาจจะลามไปประเทศอื่น ที่จะต้องออกจากสหภาพยุโรปและเงินยูโร ทั้งในทางเศรษฐกิจและทางการเมือง

คิดว่าไม่น่าคุ้มที่จะลอยแพกรีซ แต่ไอเอ็มเอฟนั่นแหละ ควรจะปรับตัวและเปลี่ยนความคิดเสียใหม่ ไม่ใช่บังคับให้กรีซทำร้ายตัวเองมากขึ้น

เป็นเรื่องที่น่าติดตามกรณี "วิกฤตการณ์โอลิมปิก" หรือ "Olympic Crisis" ของยุโรป


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ไอเอ็มเอฟ ไม่เคยจำ ดร.วีรพงษ์ รามางกูร

view