สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ทุจริตโทษประหาร ภายใต้ละเมิดสิทธิ

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...ไพบูลย์ กระจ่างวุฒิชัย

กลายเป็นประเด็นครึกโครมขึ้นมาทันที ภายหลังมีการประกาศบังคับใช้ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2558

โดยประเด็นสำคัญอยู่ที่มาตรา 123/2 ซึ่งบัญญัติว่า “ผู้ใดเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศ หรือเจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศ เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่ง ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 5 ปีถึง 20 ปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ 1-4 แสนบาท หรือประหารชีวิต”

สำหรับกฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เสนอเข้ามาให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งจริงๆ แล้ว ป.ป.ช.ได้ส่งมาที่ สนช.เป็นแพ็กเกจใหญ่ มีทั้งเรื่องการปฏิรูปกระบวนการทำงานของ ป.ป.ช. และการออกกฎหมายที่ต้องอนุวัติตามอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต ค.ศ. 2003 (ยูเอ็นซีเอซี) แต่ สนช.รับพิจารณาเฉพาะเนื้อหากฎหมายที่ต้องผูกพันตามยูเอ็นซีเอซี ส่วนเรื่องการปฏิรูป ป.ป.ช.นั้น สนช.ยังไม่รับพิจารณาเพื่อรอให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก่อน

ที่สุดแล้ว สนช.ก็พิจารณาให้ความเห็นชอบกฎหมายของ ป.ป.ช.เฉพาะส่วนนี้ โดยที่ไม่มี สนช.ท้วงติงในเรื่องการกำหนดโทษประหารชีวิต ตามมาตรา 123/2

ทวีศักดิ์ สูทกวาทิน  สมาชิก สนช.ในฐานะอดีตเลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นี้ ระบุว่า สาเหตุที่ สนช.ไม่ได้ติดใจเรื่องโทษประหารชีวิต เนื่องจากเห็นว่าเป็นบทกำหนดโทษที่มีอยู่แล้วในระบบกฎหมายของไทย จึงเห็นว่าเป็นเรื่องที่สามารถดำเนินการได้ และไม่ได้ดำเนินการแก้ไขเนื้อหาในส่วนนี้แต่อย่างใด

สรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการ ป.ป.ช. อธิบายว่า เรื่องโทษประหารชีวิตที่อยู่ในมาตรา 123/2 ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว ยืนยันว่า ป.ปช.ไม่ได้อยู่ดีๆ ไปกำหนดขึ้นมาเอง โดยโทษประหารชีวิตสำหรับกรณีของผู้กระทำการทุจริตมีบัญญัติอยู่แล้วในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 อย่างไรก็ตามในการปฏิบัติใช้มาตรา 149 ยังมีช่องว่างอยู่พอสมควร ประกอบกับยูเอ็นซีเอซีได้กำหนดให้ไทยต้องอนุวัติกฎหมายให้มีความเข้มงวดมากขึ้น

“กฎหมายที่ออกมาไม่กระทบสิทธิมนุษยชน แน่นอนเพราะข้อหาเรียกรับสินบนของข้าราชการ หน่วยงานรัฐ ถือเป็นความผิดร้ายแรงอยู่แล้ว ดังนั้นการไม่ทุจริตจึงถือเป็นสิ่งที่ควรทำที่สุด” เลขาธิการ ป.ป.ช. ระบุ

ทั้งนี้ มีรายงานว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช.จะแถลงข่าวในวันที่ 14 ก.ค.เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงและรายละเอียดให้สาธารณะได้รับทราบ

นพ.แท้จริง ศิริพานิช กรรมการสิทธิมุนษยชนแห่งชาติ (กสม.) มีความเห็นว่า ที่ผ่านมา กสม.ได้เสนอให้รัฐบาลพิจารณาว่าควรให้ประเทศไทยยกเลิกโทษประหารชีวิต เพราะในเชิงหลักการแล้วไม่มีใครที่จะสามารถเอาชีวิตของใครได้

“การที่มักจะอ้างว่าโทษประหารชีวิตมีไว้ป้องปรามนั้น ได้มีงานวิจัยทางวิชาการระบุว่า โทษประหารชีวิตไม่ได้มีส่วนช่วยให้การก่ออาชญากรรมลดลงแต่อย่างใด” นพ.แท้จริง กล่าว

เช่นเดียวกับ นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการ กสม.อีกคน ที่ยืนยันว่า การกำหนดโทษประหารชีวิตเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนชัดเจน

“กรรมการสิทธิฯ ไม่ได้ส่งเสริมให้คนทุจริต แต่เราควรมีกระบวนการป้องกันและปราบปรามการทุจริตที่หลีกเลี่ยงการละเมิดสิทธิมนุษยชน เหนืออื่นใดคิดว่าการมีโทษประหารชีวิตก็ไม่ได้ช่วยให้การทุจริตลดลงแต่อย่างใด เพราะถึงอย่างไรคนที่กระทำการทุจริตมักจะเป็นบุคคลที่ไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายอยู่แล้ว” หมอนิรันดร์ กล่าว


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ทุจริตโทษประหา ภายใต้ละเมิดสิทธิ

view