สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

อสมท.ชนะอุทธรณ์คดีพิพาทบ.ไร่ส้มฯ ชวดรับคืนเงิน 55 ล้าน

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

ศาลปกครองสูงสุด พิพากษาแก้ อ.ส.ม.ท. ชนะอุทธรณ์คดีพิพาทไร่ส้มฯ ค่าโฆษณาส่วนเกินรายการคุยคุ้ยข่าวไม่ต้องคืนค่าส่วนลดกว่า 55 ล้าน

ศาลปกครองกลาง ถ.แจ้งวัฒนะ วันที่ 17 ก.ค.58 เวลา 13.30 น. ศาลอ่านคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขดำ 1141/2551 ที่ บริษัท ไร่ส้ม จำกัด โดย นายสรยุทธ์ สุทัศนะจินดา กรรมการบริษัท ยื่นฟ้อง บริษัท อ.ส.ม.ท. จำกัด (มหาชน) เรื่องผิดสัญญาทางปกครอง เพื่อขอให้ชำระเงินคืนจากผิดสัญญา ร่วมดำเนินการรายการโทรทัศน์ “ คุยคุ้ยข่าว ” ที่ออกอากาศสถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ เมื่อปี 2548 - 2549 

โดย บจก.ไร่ส้ม ผู้ฟ้อง กล่าวหา บมจ.อ.ส.ม.ท. ผู้ถูกฟ้อง ผิดข้อตกลงและสัญญาร่วมผลิตรายการ “ คุยคุ้ยข่าว ” จากกรณีที่ บมจ.อ.ส.ม.ท. เรียกเก็บค่าโฆษณาส่วนเกิน จาก บจก.ไร่ส้ม โดยไม่ให้ส่วนลดทางการค้านอัตรา 30 % ตามข้อตกลง และ บมจ.อสมท. ยังได้โฆษณาเกินส่วนแบ่งเวลาตามข้อตกลงอีกด้วย ซึ่ง บจก.ไร่ส้ม เคยมีหนังสือเดือน ก.พ.51 เพื่อขอให้ บมจ.อ.ส.ม.ท. คืนเงินค่าโฆษณาที่ บจก.ไร่ส้ม ได้ชำระเกินไป รวมทั้งให้บมจ.อ.ส.ม.ท.ชำระเงินค่าโฆษณาส่วนเกินให้บจก.ไร่ส้มด้วย แต่ บมจ.อ.ส.ม.ท. กลับเพิกเฉย

ในที่สุดศาลปกครองชั้นต้น มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 25 ก.ย.56 ให้ บมจ.อ.ส.ม.ท. ผู้ถูกฟ้อง ชำระเงิน 55,777,019.14 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันถัดฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จ โดยให้ผู้ถูกฟ้องชำระเงิน ภายใน 90 วันนับจากวันคดีถึงที่สุด 

ต่อมา บมจ.อ.ส.มท. ผู้ถูกฟ้อง ได้ยื่นอุทธรณ์บ.ไร่ส้ม ฯ ไม่มีสิทธิ ได้รับส่วนลดทางการค้า 30 % จากการเรียกเก็บค่าโฆษณาส่วนเกิน และ บมจ.อ.ส.ม.ท. ไม่มีเหตุผลที่ต้องคืนส่วนลดดังกล่าวให้ เพราะ บ.ไร่ส้ม ฯ ผู้ฟ้อง ไม่ได้แจ้งขอซื้อเวลาโฆษณาที่เกินเวลา ด้วยการจัดทำใบสั่งซื้อหรือหนังสือขอซื้อ ยื่นต่อฝ่ายขายสำนักการตลาดของ อ.ส.ม.ท. ซึ่ง บ.ไร่ส้ม ฯ จะต้องดำเนินการ ตามที่เคยปฏิบัติตามสัญญาโฆษณาและใบสั่งซื้อโฆษณา ระหว่าง อ.ส.ม.ท. กับบริษัท ซีเนริโอ จำกัด และ บริษัท เอ็กแซ็กท์ จำกัด จึงขอให้ศาลปกครองสูงสุด กลับคำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้น 

ขณะเดียว บ.ไร่ส้ม ฯ ผู้ฟ้อง ก็ได้ยื่นอุทธรณ์ เช่นกัน ในประเด็นจำนวนเงิน ที่ บ.ไร่ส้ม ฯ เห็นว่า อ.ส.ม.ท. ควรต้องชำระเงิน พร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันที่โฆษณาจนถึงวันฟ้อง จำนวน 197,502,927.74บาท จากการที่ อ.ส.ม.ท. ผู้ถูกฟ้อง ใช้เวลาโฆษณาเกินสิทธิที่มีอยู่ในสัญญาและล้ำเข้าไปในสิทธิของ บ.ไร่ส้ม ฯ ผู้ฟ้อง 

โดยศาลปกครองสูงสุด พิเคราะห์ข้อเท็จจริงจากการไต่สวน และข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้ว เห็นว่า การที่ บมจ.อ.ส.ม.ท. ผู้ถูกฟ้อง ไม่หักค่าส่วนลดทางการค้า 30 % ให้กับ บ.ไร่ส้ม จากการเรียกค่าโฆษณาส่วนเกินนั้น ไม่เป็นการผิดสัญญา และ บมจ.อ.ส.ม.ท.ไม่มีหน้าที่ต้องคืนเงินส่วนลดดังกล่าวให้ บ.ไร่ส้ม ฯ ผู้ฟ้อง เพราะข้อเท็จจริงรับฟังเป็นที่ยุติว่า ตั้งแต่ออกอากาศมีการโฆษณาเกินเวลาที่กำหนดในสัญญาตามที่ บ.ไร่ส้ม ฯ ได้ส่งใบคิวโฆษณาเมื่อเดือน ก.พ.58 ตลอดมา จนถึงเดือน มิ.ย.49 และ บ.ไร่ส้ม ฯ มีหนังสือขอซื้อโฆษณาของเดือน มี.ค.58 เพียงครั้งเดียว โดย บ.ไร่ส้มฯ ก็ไม่มีหนังสือขอซื้อโฆษณาเกินเวลาไปยังสำนักการตลาด อ.ส.ม.ท. รวมทั้งไม่ได้แสดงความประสงค์ที่จะชำระค่าโฆษณาให้ อ.ส.ม.ท.แต่อย่างใด กระทั่งเดือน ก.ค.49 อ.ส.ม.ท. ตรวจพบและมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงขึ้นมา ซึ่งมีการนำคิวโฆษณาของ บ.ไร่ส้ม มารวมคิวโฆษณา อ.ส.ม.ท.แล้ว คิดเป็ค่าโฆษณาเกินเวลา 138,790,000 บาท อ.ส.ม.ท.จึงแจ้งให้ บ.ไร่ส้ม ชำระค่าโฆษณาส่วนเกินเพิ่มเติม 41,637,000 บาท พร้อมภาษีมูลค่าเพิ่มและดอกเบี้ย ซึ่งบ.ไร่ส้ม ผู้ฟ้องก็ชำระเงินโดยไม่โต้แย้งคัดค้าน และเมื่อ บมจ.อ.ส.ม.ท. มีใบแจ้งหนี้เดือน ธ.ค.49 ให้ บ.ไร่ส้ม ฯ ชำระส่วนที่ตกหล่นเพิ่มอีก 60,000 บาท บ.ไร่ส้ม ฯ ก็ชำระโดยไม่คัดค้าน จึงฟังได้ว่า ทั้ง 2 ฝ่าย ไม่ได้ตกลงกันให้หักค่าส่วนลดทางการค้า 30 % ดังนั้น บ.ไร่ส้ม ฯ ผู้ฟ้อง จึงไม่มีสิทธิได้รับส่วนลด

อีกทั้งการที่ บ.ไร่ส้ม ฯ ยอมชำระค่าโฆษณาไปเต็มจำนวนถึง 2 ครั้งโดยไม่โต้แย้งทั้งที่ อ.ส.ม.ท. ก็มีหนังสือวันที่ 20 ต.ค.49 แจ้งว่า ไม่อาจพิจารณาส่วนลดทางการค้าได้เพราะ บ.ไร่ส้ม ฯ ไม่ปฏิบัติตามสัญญา ก็ย่อมแสดงให้เห็นว่า บ.ไร่ส้ม ผู้ฟ้อง ไม่ติดใจส่วนลดทางการค้า เพราะไม่เช่นนั้นก็ไม่ควรชำระเงินดังกล่าวและควรโต้แย้งสิทธิแต่แรก 

ส่วน บมจ.อ.ส.ม.ท. ผู้ถูกฟ้อง มีหน้าที่ตามสัญญา ต้องชำระค่าโฆษณาส่วนเกินให้ บ.ไร้ส้มฯ ด้วยหรือไม่ ศาลปกครองสูงสุด เห็นว่า ตามสัญญาร่วมดำเนินรายการทุกฉบับ ในข้อ 3 กำหนดว่า เวลาแพร่ภาพออกอากาศ ระยะเวลาออกอากาศ และระยะเวลาของเนื้อรายการ จะเปลี่ยนแปลงแก้ไขเวลาได้โดย บมจ.อ.ส.ม.ท. ผู้ถูกฟ้องเท่านั้น และข้อ 6 เป็นการตกลงแบ่งเวลาโฆษณา โดย บ.ไร่ส้ม ตกลงยินยอมชำระเงินกรณีที่มีการโฆษณาเกินเวลา จึงเห็นได้ว่า เมื่อมีการตกลงแบ่งเวลาโฆษณาแล้ว อ.ส.ม.ท. ผู้ถูกฟ้อง ย่อมมีสิทธิจำหน่ายเวลาโฆษณาได้ในเวลาเท่ากัน ลักษณะตกลงกันให้คู่สัญญาทั้ง 2 ฝ่าย มีสิทธิหาประโยชน์จากการจำหน่ายเวลาโฆษณา แบบไทม์แชร์ริ่ง กำหนดส่วนแบ่ง 50/50 ขณะที่ไม่มีการกำหนดในสัญญาให้ บมจ.อ.ส.ม.ท. ผู้ถูกฟ้อง ชำระเงินค่าโฆษณา ให้ บ.ไร่ส้มฯ แต่อย่างใด เพราะเมื่อมีการใช้เวลาโฆษณาเกินกว่า ส่วนแบ่งเวลาที่กำหนดในสัญญาแล้ว ผู้ที่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นคือฝ่าย อ.ส.ม.ท.เอง ที่เป็นเจ้าของสถานีและเจ้าของเวลาออกอากาศ 

ดังนั้นการที่ บ.ไร่ส้ม ฯ เอง ได้จำหน่ายเวลาโฆษณาเกินกว่าเวลาที่กำหนดในสัญญา ก็เท่ากับ บ.ไร่ส้ม ฯ ได้ซื้อเวลาออกอากาศที่ใช้โฆษณาเพิ่มขึ้น บ.ไร้ส้มฯ จึงต้องชำระเงินค่าเวลาตามสัญญา ส่วน อ.ส.ม.ท. ผู้ถูกฟ้อง ก็ถือว่า ใช้เวลาออกอากาศของตัวเอง จึงไม่มีหน้าที่ต้องชำระค่าซื้อเวลาออกอากาศดังกล่าว และข้อเท็จจริงยังปรากฏว่า บ.ไร่ส้มฯ จำหน่ายเวลาโฆษณาได้น้อยกว่า เวลาที่กำหนดในสัญญา ส่วน อ.ส.ม.ท. จำหน่ายเวลาได้มากกว่าที่กำหนดในสัญญาก็เป็นกรณีที่ บ.ไร่ส้มฯ เองไม่มีความสามารถจำหน่ายเวลาได้เต็มตามเวลาที่กำหนด ไม่ได้เกิดจาก อ.ส.ม.ท.จำหน่ายเวลาโฆษณา ล้ำเข้าไปในเวลาของ บ.ไร่ส้มฯผู้ฟ้อง 

ดังนั้น อ.ส.ม.ท. ผู้ถูกฟ้อง จึงไม่มีหน้าที่ต้องชำระค่าโฆษณาส่วนที่เกิน ส่วนแบ่งเวลาตามสัญญา และ บ.ไร่ส้ม ฯ ผู้ฟ้อง มีหน้าที่ต้องชำระเงินส่วนลดทางการค้า 30 % ของค่าโฆษณาส่วนเกินเวลาในเดือน ก.ค.49 หรือไม่ ศาลปกครองสูงสุด เห็นว่า บ.ไร่ส้ม ฯ ได้โฆษณาเกินเวลาใน เดือน ก.ค.49 เป็นเงิน 7,430,000 บาท  โดย บ.ไร่ส้มฯ ได้ชำระเงินที่มีการหักค่าส่วนลดทางการค้าไว้ 30 % คิดเป็นเงิน 2,129,000 บาท ซึ่งแม้จะรับฟังได้ว่า บ.ไร่ส้ม ฯ ไม่ได้แจ้งการโฆษณาส่วนเกินไปยัง สำนักการตลาด อ.ส.ม.ท.ตามที่กำหนดในสัญญา แต่ตามรายงานการสอบสวนของ กก.สอบสวนข้อเท็จจริง พบว่า การทำสัญญาโฆษณาเดือน ก.ค.49 ระหว่าง 2 ฝ่าย ตกลงยินยอมให้ส่วนลดทางการค้า 30 % กับ บ.ไร่ส้มฯ ข้อตกลงดังกล่าวจึงเป็นอันใช้ได้ แม้จะปรากฏตามผลการสอบสวนว่า การทำสัญญานั้นเกิดจากที่ นางพิชชาภา เอี่ยมสะอาด เจ้าหน้าที่ อ.ส.ม.ท. ได้เสนอให้ค่าลดทางการค้า บ.ไร่ส้มฯที่ขัดต่อระเบียบ แต่กรณีดังกล่าวก็เป็นเรื่องภายในของ อ.ส.ม.ท.ในการทุจริตต่อหน้าที่ ไม่มีผลทำให้สัญญาโฆษณาหรือข้อตกลงเป็นโมฆะ 

นอกจากนี้ค่าส่วนลดดังกล่าว อ.ส.ม.ท.ก็ได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลแพ่ง ซึ่งศาลแพ่งก็ให้เจ้าหน้าที่ อ.ส.ม.ท.ชดใช้เงินนั้นให้ อ.ส.ม.ท.แล้วจากกรณีให้ส่วนลดโดยประมาทเลินเล่อ ดังนั้น บ.ไร่ส้ม ฯ จึงไม่มีหน้าที่ต้องชำระเงินส่วนลดทางการค้ากว่า 2 ล้านบาทให้ อ.ส.ม.ท.แต่อย่างใด 

เมื่อพิจารณาแล้วอุทธรณ์ของ บ.ไร่ส้มฯ ผู้ฟ้อง ฟังไม่ขึ้น โดยอุทธรณ์ของ บมจ.อ.ส.ม.ท. ผู้ถูกฟ้อง ฟังขึ้นบางส่วน จึงพิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องทั้งในส่วนของผู้ฟ้องและผู้ถูกฟ้อง โดยบมจ.อ.ส.ม.ท. ผู้ถูกฟ้อง ไม่ต้องชำระเงิน 55,777,019.14 บาท ให้ บ.ไร่ส้ม ฯ ผู้ฟ้อง 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ในส่วนของ บ.ไร่ส้ม ฯ ผู้ฟ้อง นายสรยุทธ์ สุทัศนะจินดา กรรมการบริษัท ไม่ได้เดินทางมาศาล คงมีเพียงนายมนต์อนันต์ เรืองจรัส ทนายความ พร้อมคณะ เท่านั้น เดินทางมาฟังคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ส่วน บมจ.อส.ม.ท. ฝ่ายผู้ถูกฟ้อง มีนายสุขสันต์ เจริญพานิชเสรี ผู้จัดการส่วนคดี เป็นผู้แทน มาฟังคำพิพากษา 

ขณะที่ นายมนต์อนันต์ เรืองจรัส ทนายความของ บ.ไร่ส้ม ฯ กล่าวว่า เราผู้ฟ้องเอง ก็คาดหวังจะได้ผลตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น แต่เมื่อผลคำพิพากษาถึงที่สุด เราก็ยอมรับคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ซึ่งค่าโฆษณาส่วนเกินเวลาระหว่าง อ.ส.ม.ท.นั้น บริษัทได้ชำระหมดสิ้นแล้ว โดยผลคดีปกครองนี้ ก็ไม่กระทบต่อคดีที่อาญาที่นายสรยุทธ์ ถูกฟ้องร่วมกับเจ้าหน้าที่ อ.ส.ม.ท. เพราะเป็นข้อพิพาทคนละส่วน คดีปกครองเป็นการวินิจฉัยประเด็นข้อตกลงตามสัญญาเวลาโฆษณา เรื่องค่าส่วนลดทางการค้าและส่วนเกินเวลาโฆษณา แต่คดีอาญาป็นเรื่องกล่าวหา บ.ไร่ส้ม ฯ สนับสนุนให้ เจ้าหน้าที่ อ.ส.ม.ท. ไม่ทำการรายงานการโฆษณาเกินเวลา ซึ่งบริษัทจะต่อสู้คดีต่อไป


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : อสมท. ชนะอุทธรณ์ คดีพิพาท บ.ไร่ส้มฯ ชวดรับคืนเงิน 55 ล้าน

view