สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ต้นตอปัญหา แรงงานกัมพูชา มนุษย์ล่องหนในอาเซียน

จากประชาชาติธุรกิจ

ปฏิเสธไม่ได้ว่าแรงงานต่างด้าวสัญชาติต่าง ๆ มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจไทย ซึ่งมีความต้องการแรงงานจำนวนมาก โดยเฉพาะแรงงานในภาคอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม และงานในระดับล่าง แต่เนื่องจากขาดมาตรการและระบบในการควบคุม จึงก่อให้เกิดปัญหาแรงงานย้ายถิ่นที่ผิดกฎหมาย ซึ่งกลายเป็นปัญหาเรื้อรังกระทั่งปัจจุบัน

ที่ผ่านมา คนไทยจะเห็นเพียงภาพแรงงานกัมพูชาอพยพเข้ามาทำงานอย่างผิดกฎหมาย แต่หากมองลึกถึงต้นตอของปัญหาเหล่านี้ว่าเกิดจากอะไร

ในงานสัมมนาเชิงวิชาการ ในหัวข้อ "กุมนึดแขมร์ (คิดแบบแขมร์) และแรงงานย้ายถิ่น" โดย รศ.ดร.สุมาลี ไชยศุภรากุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม เปิดมุมมองอย่างน่าสนใจว่า การย้ายถิ่นในกัมพูชามีสูงมาก เนื่องจากโครงสร้างประชากรส่วนใหญ่เป็นแรงงานวัยหนุ่มสาว ดังนั้นประมาณ 57% จะเป็นการย้ายถิ่นจากชนบทสู่เมือง โดยเฉพาะในกรุงพนมเปญ และอีก 13% เป็นการย้ายระหว่างชนบทสู่ชนบท ส่วนราว 30% เป็นการย้ายไปทำงานในต่างประเทศ โดยมีประเทศไทยเป็นเป้าหมายหลัก ซึ่งมีมากถึง 14% ขณะที่ในมาเลเซียมีเพียง 3% เท่านั้น

ส่วนใหญ่ผู้ย้ายถิ่นในประเทศจะเป็นบุคคลที่มี ระดับการศึกษาที่สูงกว่าผู้ย้ายถิ่นไปต่างประเทศจึงไม่แปลกใจนักหากจะเห็น แรงงานกัมพูชาระดับล่างเข้ามาทำงานในไทยมากขึ้นและยังมีแนวโน้มว่าจะเพิ่ม เพราะระบบการศึกษาที่ยังไม่มีประสิทธิภาพและไม่ทั่วถึง อีกทั้งความยากจนที่เป็นปัญหาหลักของชาวกัมพูชา ส่งผลให้เป็น "ปัจจัยผลัก" จากภายในประเทศมากกว่าเป็นปัจจัยดึงจากภายนอก

ด้วยอัตราค่าจ้างที่ต่ำกว่าเส้นความยากจน เพียง 1.25 ดอลลาร์ต่อวัน บวกกับปัญหาการว่างงานของสังคมวัยหนุ่มสาวกว่า 3 แสนคน ปัจจัยผลักเหล่านี้ทำให้แรงงานจำนวนมาก ลักลอบเข้ามาทำงานในไทยที่มีเศรษฐกิจดีกว่า แม้ว่าจะเสี่ยงถูกเจ้าหน้าที่จับกุมและถูกเอาเปรียบจากผู้ประกอบการก็ตาม แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์รัฐบาลไทยเข้าปราบปรามแรงงานผิดกฎหมายกัมพูชา นำไปสู่ลู่ทางกอบโกยผลประโยชน์ของ "บริษัทจัดหางานกัมพูชา" ที่ปัจจุบันเพิ่มขึ้นต่อเนื่องกว่า 50 บริษัทแล้ว

นายเซง สาระวัน ผู้แทนบริษัทจัดหางานเอ็มโอยูของกัมพูชา กล่าวว่า แรงงานกัมพูชาลักลอบไปทำงานในต่างประเทศ เพราะได้ค่าตอบแทนที่สูงกว่าบริษัทจัดหางาน คือ ตัวกลางสำคัญที่จะทำให้การสมัครงานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศถูกกฎหมาย ตั้งแต่การยื่นเรื่องเป็นแรงงาน จนกระทั่งรอเวลาให้ส่งตัวไปยังประเทศปลายทางอย่างถูกต้อง ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะมีค่าใช้จ่ายราว 20,000 บาทต่อคนต่อครั้ง (ค่าหนังสือเดินทาง 3,300 บาท) ค่าใช้จ่ายในแต่ละบริษัทจะไม่เท่ากัน เพราะยังไม่มีกฎหมายควบคุมชัดเจน

"ยังมีเหตุการณ์แรงงานผิดกฎหมายเข้ามาในไทยต่อเนื่อง เพราะ 1) แรงงานไม่ไว้ใจบริษัทจัดหางานและไม่มีเงิน 2) ตำแหน่งว่างงานในกัมพูชายังมีน้อย และ 3) เกิดการฉ้อโกงเงินจากบริษัทจัดหางานอยู่บ่อยครั้ง" นายเซงให้ข้อมูล

ตัวอย่างจาก นายโสวันโมนี หนึ่งในอดีตแรงงานกัมพูชาที่ถูกโกง หลังจากที่จ่ายเงินลงทะเบียน เพื่อสมัครไปทำงานในนิคมอุตสาหกรรมแห่งหนึ่งของไทย โดยรอเวลานานถึง 8 เดือน ก็ยังไม่มีการเรียกตัว ทั้งยังไม่สามารถเรียกร้องเงินคืนได้

ทั้งนี้ สารพัดปัญหาที่เกิดขึ้นยังสะท้อนให้เห็นว่า วิธีการป้องกันและแก้ไขปัญหาจากรัฐบาลกัมพูชายังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ซึ่งอาจเป็นเพราะนโยบายของนายกรัฐมนตรี ฮุน เซน ที่ต้องการให้ประชาชนทำงานภายในประเทศมากกว่า โดยพยายามใช้นโยบายดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) เพื่อเพิ่มตำแหน่งงานให้แก่ประชาชน

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีบันทึกความเข้าใจ(MOU) ความร่วมมือด้านการจ้างแรงงานระหว่างไทยกับเพื่อนบ้าน ได้แก่ สปป.ลาว กัมพูชา และเมียนมา เพื่อจัดระบบการนำเข้าแรงงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และป้องกันการค้าแรงงานโดยผิดกฎหมาย ตั้งแต่ปี 2546 กลับดูเหมือนจะยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร

เนื่องจากกระบวนการจ้างงานตามที่ระบุไว้ใน MOU มีความยุ่งยาก ทำให้การจ้างงานใช้เวลานาน และมีค่าใช้จ่ายสูงประกอบกับการขาดประสบการณ์ของบริษัทจัดหางานในประเทศเพื่อนบ้าน ความไม่พร้อมของหน่วยงานราชการในการสนับสนุน และการไม่เข้าใจกฎระเบียบของฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

น่าคิดว่าเกือบทุก ธุรกิจในประเทศไทยยังต้องพึ่งแรงงานจากต่างประเทศในการขับเคลื่อนธุรกิจซึ่ง เป็นหัวใจของการพัฒนาเศรษฐกิจหากไทยและเพื่อนบ้าน ไม่ร่วมมือจัดการและบริหารปัญหาเหล่านี้ ผลเสียที่ตามมาจะทวีคูณแน่นอน เพราะหนึ่งในปัจจัยดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศ ที่นอกเหนือการมีตัวเลขเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งแล้ว ความพร้อมของจำนวนแรงงานก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ต้นตอปัญหา แรงงานกัมพูชา มนุษย์ล่องหน อาเซียน

view