สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

จับตา!งบกทม. ปี 59 กว่า 7 หมื่นล้าน-วิจารณ์ตั้ง ขรก.สนง.เขต ชงเองกินเอง หวั่นผิด ม.100 ปปช.

จากประชาชาติธุรกิจ

จับตา!งบกทม. ปี 59 กว่า “70,700 ล้านบาท”ตั้ง ขรก.สำนักงานเขตปัจุบัน พิจารณากันเอง เหมือน “ชงเองกินเอง” หวั่นผิดกฎหมาย ป.ป.ช.มาตรา 100 เผย สภา กทม. นัดวัน ลงมติเห็นชอบร่างข้อบัญญัติงบกทม. 26 ส.ค. นี้ ด้าน กทม. “ยุคชายหมู” ฝัน ชูมหานคร 'ปลอดภัย ความสุข สีเขียว เรียนรู้ โอกาส อาเซียน'
       
       วันนี้(23 ก.ค.) มีรายงานว่า เมื่อวันที่ 16 ก.ค. ที่ผ่านมา ณ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ร.ต.ต.เกรียงศักด์ โลหะชาละ ประธานสภากรุงเทพมหานคร ได้นัดประชุมเปิดสมัยประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยที่ 3 (ครั้งที่ 3) ประจำปี 2558 โดยมีการพิจารณาร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 ของกรุงเทพมหานคร โดยมี คณะสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร และคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างข้อบัญญัติฯ ร่วมประชุม
       
       มีรายงานว่า ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้เสนอร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 ต่อสภากรุงเทพมหานคร และสภากรุงเทพมหานครได้พิจารณาร่างข้อบัญญัติในวาระที่หนึ่ง โดยมีมติรับหลักการ พร้อมทั้งตั้งคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างข้อบัญญัติฯ จำนวน 35 ท่าน ประกอบด้วย สมาชิกสภากรุงเทพมหานครจำนวน 26 คน ผู้บริหารกรุงเทพมหานคร จำนวน 9 คน จากนั้นคณะกรรมการฯ จะพิจารณาพร้อมข้อสังเกตรายงานต่อสภากทม.เพื่อพิจารณาในวาระที่สองและ พิจารณาวาระที่สามต่อไป
       
       สำหรับงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2559 เป็นการตั้งงบประมาณแบบสมดุล โดยประมาณการรายรับของกรุงเทพมหานคร แบ่งเป็นรายรับที่กรุงเทพมหานครจัดเก็บเอง และรายรับจากการพาณิชย์ของกรุงเทพมหานคร และรายจ่ายแบ่งเป็นรายจ่ายประจำ และรายจ่ายการพาณิชย์ของกรุงเทพมหานคร
       
       “งบประมาณใน ร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครเรื่องงบประมาณรายจ่ายปี 2559 รายรับที่กรุงเทพมหานครจัดเก็บเอง และรายรับจากการพาณิชย์ของกรุงเทพมหานคร รวมแล้วกว่า 70,700 ล้านบาท และรายจ่ายแบ่งเป็นรายจ่ายประจำ และรายจ่ายการพาณิชย์ของกรุงเทพมหานคร จำนวน 70,424,838,000 บาท”
       
       มีรายงานว่า งบดังกล่าว จะถูกจัดสรรและนำไปใช้เพื่อประโยชน์ในการดำเนินงานด้านต่างๆ ของกรุงเทพมหานคร อาทิ การรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อย ด้านการโยธาและระบบจราจร ด้านการระบายน้ำและบำบัดน้ำเสีย ด้านพัฒนาและบริการสังคม ด้านการสาธารณสุข และด้านการศึกษา
       
       สำหรับเงินอุดหนุนที่กรุงเทพมหานครจะได้รับจากรัฐบาล ในปี 2559 กว่า 16,589 ล้านบาทนั้น จะนำไปสนับสนุนภารกิจด้านต่างๆ ของกรุงเทพมหานครตามนโยบายของรัฐบาล อาทิ สนันสนุนการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน การพัฒนาด้านสาธารณสุข การดูแลผู้สูงอายุ เด็ก สตรี คนพิการและผู้ด้อยโอกาส การป้องกัน ปราบปราม และบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด การเพิ่มประสิทธิภาพการคมนาคมขนส่ง เป็นต้น
       
       อย่างไรก็ตาม ระยะเวลาพิจารณางบประมาณ ตามสภากรุงเทพมหานคร ได้กำหนดพิจารณาร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2559 ให้แล้วเสร็จภายใน 45 วัน ตามที่ พ.ร.บ. ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 กำหนด โดยคณะกรรมการวิสามัญ ทั้ง 35 คน จะแบ่งการทำงานออกเป็นคณะอนุกรรมการฯ 16 คณะ เพื่อให้การพิจาณางบประมาณเป็นไปด้วยความรัดกุม ชัดเจนและถูกต้อง โดยจะลงพื้นที่เพื่อพิจารณางบประมาณทุกหมวดรายจ่าย และจัดทำเอกสารต่างๆ เพื่อรายงานผลต่อคณะกรรมการวิสามัญฯ ให้ความเห็นชอบเสนอไปยังสภากรุงเทพมหานครพิจารณาวาระ 2 และวาระ 3 ต่อไป ในวันที่ 26 ส.ค.58
       
       ส่วนแนวทางการพิจารณาร่างข้อบัญญัติงบประมาณประจำปี 59 ของกรุงเทพมหานคร สภากรุงเทพมหานครได้แต่งตั้งคณะกรรมการวิสามัญฯ และคณะอนุกรรมการฯ เพื่อให้การพิจารณารายละเอียดของร่างข้อบัญญัติฯ ให้เป็นไปอย่างถูกต้อง รัดกุม และคุ้มค่า โดยจะมุ่งเน้นเพื่อการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน และให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนชาวกรุงเทพมหานคร เป็นสำคัญ
       
       มีรายงานว่า งบประมาณปี 2559 กทม. จะนำไปพัฒนาด้านต่าง ๆ ดังนี้ 1. มหานครแห่งความปลอดภัย มีการสร้างอุโมงค์ระบายน้ำ การจัดหารถกู้ภัย ติดตั้งกล้องซีซีทีวี ใช้งบประมาณ 2,469 ล้านบาท 2. มหานครแห่งความสุข มีการพัฒนาขนส่งมวลชนให้ทั่วถึง รวมถึงเรื่องการแพทย์ให้มีคุณภาพ ใช้งบประมาณ 4,265 ล้านบาท 3. มหานครสีเขียว พัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน เพิ่มพื้นที่สีเขียว การจัดการขยะ ใช้งบประมาณ 5,506 ล้านบาท 4. มหานครแห่งการเรียนรู้ มีการพัฒนาด้านการศึกษา ภาษาต่างประเทศ กีฬา แก่เด็กและเยาวชน ใช้งบประมาณ 1,986 ล้านบาท 5. มหานครแห่งโอกาสของทุกคน พัฒนาศักยภาพของชุมชนต่าง ๆ ใช้งบประมาณ 786 ล้านบาท และ 6. มหานครแห่งอาเซียน ส่งเสริมการท่องเที่ยวในกรุงเทพฯ ใช้งบประมาณ 53 ล้านบาท
       
       มีรายงานด้วยว่า สมาชิก กทม.ส่วนใหญ่ ไม่เห็นด้วยและ วิพากษ์วิจารณ์การตั้งคณะกรรมการวิสามัญ 35 คน และแบ่งการพิจารณางบเป็นคณะอนุกรรมการ 16 คณะ เนื่องจากมีการตั้งข้าราชการ กทม.ปัจจุบัน เข้ามาเป็นคณะอนุกรรมการพิจารณางบประมาณเนื่องจากไม่เหมาะสม เพราะจะให้ “ผู้ที่ตั้งของบประมาณ” มาทำหน้าที่เป็น “ผู้ตรวจสอบพิจารณารายละเอียดงบประมาณ” ด้วยเป็นเรื่องไม่สมควร เนื่องจากคณะอนุกรรมการพิจารณางบ มาจากข้าราชการ กทม.จากสำนักงานเขต ต่าง ๆ นอกจากนั้นยังมีเรื่องของผลประโยชน์ขัดกันระหว่างในฐานะของผู้ที่พิจารณา และผู้ที่เขียนโครงการเป็นคนใช้งบประมาณนี้ ซึ่งสุ่มเสี่ยงว่างบประมาณที่ผ่านการพิจารณาดังกล่าวมีปัญหาทางข้อกฎหมาย ป.ป.ช.มาตรา 100 ได้
       
       สำหรับ มาตรา 100 แห่งกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต เป็นบทบัญญัติที่อยู่ใน หมวด 9 ว่าด้วยการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและส่วนรวม สาระสำคัญของมาตรา 100 มี 4 เรื่องใหญ่ ๆ ด้วยกัน คือ
       
       1. ห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าเป็นคู่สัญญาหรือมีส่วนได้เสียในสัญญาที่ทำ กับหน่วยงานของรัฐที่เจ้าหน้าที่รัฐผู้นั้นปฏิบัติหน้าที่ในฐานะที่เป็นเจ้า หน้าที่ของรัฐซึ่งมีอำนาจกำกับ ดูแล ควบคุม ตรวจสอบ หรือดำเนินคดี
       
       2. ห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือ บริษัทที่เข้าเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐที่เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้น ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมีอำนาจกำกับ ดูแล ควบคุม ตรวจสอบ หรือดำเนินคดี
       
       3. ห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐรับสัมปทานหรือคงถือไว้ซึ่งสัมปทานจากรัฐ หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจหรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือเข้าเป็นคู่สัญญากับรัฐ หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจหรือราชการส่วนท้องถิ่นอันมีสถานะเป็นการผูกขาดตัดตอนไม่ว่าทาง ตรงหรือทางอ้อม หรือเป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทที่รับสัมปทานหรือ เข้าเป็นคู่สัญญาในลักษณะดังกล่าว
       
       และ4. ห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปมีส่วนได้เสียในฐานะเป็นกรรมการ ที่ปรึกษา ตัวแทน พนักงาน หรือลูกจ้างในธุรกิจของเอกชนซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับ ดูแล ควบคุมหรือตรวจสอบหน่วยงานของรัฐที่เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้นสังกัดอยู่หรือ ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งโดยสภาพของผลประโยชน์ของ ธุรกิจเอกชนนั้นอาจขัดหรือแย้งต่อประโยชน์ส่วนรวมหรือประโยชน์ของทางราชการ หรือกระทบต่อความมีอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้น.


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : จับตา งบกทม. ปี 59 หมื่นล้าน วิจารณ์ ขรก.สนง.เขต ชงเองกินเอง หวั่นผิด ม.100 ปปช.

view