สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

คาถารอดช่วง เศรษฐกิจขาลง ประหยัด-ออมเพิ่ม-ลดหนี้

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...ชลลดา อิงศรีสว่าง

อัตราเงินเฟ้อที่กระทรวงพาณิชย์ และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประกาศออกมาทุกเดือนลดต่ำลงเรื่อยๆ สะท้อนให้เห็นภาพเศรษฐกิจชะลอตัวลงอย่างชัดเจน การบริโภคของประชาชนไม่ขยายตัว การลงทุนไม่มี การส่งออกหดตัว มีสิ่งเดียวที่ดูเหมือนยังดีคือตัวเลขการว่างงานของคนไทย ที่แม้จะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นแต่ตัวเลขก็ยังต่ำ จนยังไม่เห็นว่าจะสร้างปัญหาให้กับเศรษฐกิจ

ในภาพรวมอาจดูดี แต่ลึกลงไปในระดับครัวเรือนมีปัญหาค่อนข้างมาก จากค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นรายจ่ายในกลุ่มอาหารสำเร็จรูปและค่าบริการต่างๆ ที่ปรับสูงขึ้นเป็นระยะ กลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้สูงไม่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจมากนัก แต่ในครัวเรือนที่มีรายได้ปานกลางและรายได้น้อย รวมทั้งกลุ่มชาวนาและเกษตรกรที่กำลังประสบปัญหาภัยแล้งจนเงินขาดมือต้องพึ่งพาเงินนอกระบบ

ความทุกข์ของคนแต่ละกลุ่มแตกต่างกันไปตามฐานะ กลุ่มผู้มีรายได้สูงประสบปัญหาไม่รู้จะนำเงินออมที่มีอยู่ไปทำอะไรดี เพราะอัตราดอกเบี้ยก็ต่ำ ตลาดหุ้นก็ขาลง ซื้อกองทุนรวมก็ยังเสี่ยงตามภาวะหุ้น ซื้อพันธบัตรและหุ้นกู้ หรือทองคำก็ไม่รู้ว่าจะดีหรือไม่

ส่วนคนชั้นกลางที่ทำการค้าก็วิตกกังวลกับรายได้ที่ลดลงเพราะยอดขายซบเซาตามภาวะเศรษฐกิจ หากเป็นมนุษย์เงินเดือนก็จิตใจห่อเหี่ยวว่าปีนี้จะได้ขึ้นเงินเดือนได้เงินโบนัสหรือไม่ ลูกจ้างบางอุตสาหกรรมคิดว่าไม่ตกงานก็ดีแล้ว กลุ่มนี้จะลดการใช้จ่ายและกอดเงินสดเอาไว้ แต่กอดเงินสดไว้ก็ต้องลงทุนเพื่อให้เงินได้ผลตอบแทนงอกเงยขึ้นมา

ด้านผู้มีรายได้น้อยหรือเกษตรกร เพียงแค่ประคองตัวหาเลี้ยงปากท้องไปวันๆ โดยไม่มีหนี้สินเพิ่มก็ยากแล้ว

ธปท.เป็นห่วงหนี้ครัวเรือนเร่งตัวขึ้นมาก ในปี 2556 หนี้ครัวเรือนก็เพิ่มขึ้นมียอดคงค้างแตะ 10 ล้านล้านบาท ส่วนในสิ้นปี 2557 หนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับ 84% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) หากรวมหนี้นอกระบบเข้าไปด้วยสัดส่วนอาจจะสูงกว่า 100% ของจีดีพี

หนี้ครัวเรือนเหล่านี้แบ่งหลักๆ ได้เป็นสินเชื่อเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ 46% สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ 29% และสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคอื่นๆ รวมสินเชื่อเงินสดมีสัดส่วน 24%

ภาวะเศรษฐกิจที่เป็นจริงในขณะนี้ เกิดหนี้ครัวเรือนสูงทุกระดับ ไล่ตั้งแต่คนชั้นกลางที่มีหนี้รถคันแรก และหนี้บ้านต่อผ่อนส่ง

บุญทักษ์ หวังเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย กล่าวว่า การลดดอกเบี้ยลงมีผลทางด้านจิตวิทยาให้ประชาชนรู้สึกผ่อนคลายลงว่าภาระหนี้จะลดลง เช่น กรณีที่ลูกหนี้ในระบบกู้เงินซื้อบ้านเงินค่างวดที่ผ่อนชำระไม่ได้ลดลง แต่ดอกเบี้ยที่ลดลงจะไปตัดเงินต้นให้ได้มากขึ้น ทำให้อาจชำระหนี้ได้หมดก่อนระยะเวลา

แต่ดอกเบี้ยของไทยก็ผูกพันไปกับตลาดเงินโลก การคาดหวังให้ดอกเบี้ยลดลงในขณะที่ดอกเบี้ยต่างประเทศกำลังจะเป็นขาขึ้น ทำให้คนมีทางเลือกในการออมไม่มากนัก วิธีการลดความเสี่ยงที่ดีที่สุดคือ การกระจายการลงทุนไปให้หลากหลาย

ฉัตรพงศ์ วัฒนจิรัฏฐ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนและให้คำปรึกษาทางการเงินบุคคล ธนาคารกสิกรไทย ระบุว่า อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ (จีดีพี) ในปีนี้จะเติบโตต่ำกว่าคาดการณ์ ดังนั้นจะทำให้ตลาดหุ้นไทยดูไม่น่าลงทุน บริษัทจดทะเบียนจะมีกำไรลดลง อัตราส่วนราคาต่อกำไร (พี/อี) ของตลาดหุ้นไทยเริ่มสูงขึ้นจากในอดีตมาอยู่ที่ 15 เท่า ก็ขาดแรงจูงใจ

ดังนั้นหากจะแนะนำการลงทุน หากใครมีเงินเย็น ขอแนะนำให้ทยอยลงทุนในหุ้นเน้นหุ้นพื้นฐาน ไม่ใช่หุ้นปั่น

นอกจากนี้ นักลงทุนรายใดที่สามารถรับความเสี่ยงลงทุนในหุ้นต่างประเทศได้ ขอแนะนำให้ลงทุนในกองทุนรวมที่จะเข้าไปลงทุนในกลุ่มประเทศยุโรปและจีน เนื่องจากยุโรปมีการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจจำนวนมาก ก็จะเริ่มเห็นผลว่าเศรษฐกิจจะค่อยๆ ทยอยฟื้นตัว และหากพิจารณาจากกองทุนลงทุนในต่างประเทศขณะนี้ พี/อีของกองทุน 2 ประเภทนี้ยังต่ำมาก จึงควรซื้อสะสมไว้เมื่อราคาต่ำ หากซื้อเมื่อราคาขยับขึ้นแล้วก็จะมีโอกาสทำกำไรน้อยลง

“หากนักลงทุนไม่อยากรับความเสี่ยงอะไรเลย ต้องการจะฝากเงินในธนาคารไว้ ก็ต้องยอมรับว่าผลตอบแทนจะต่ำ แถมต้องเสียภาษีดอกเบี้ยเงินฝากอีกด้วย หากจะฝากเงินแช่ไว้จริงก็ขอแนะนำให้ไปออมในกองทุนมันนี่ มาร์เก็ต ฟันด์ ที่จะให้ผลตอบแทนดีกว่าการฝากเงินในบัญชีออมทรัพย์ และไม่เสียภาษีผลตอบแทนการลงทุนเหมือนเงินฝาก” ฉัตรพงศ์ กล่าว

สำหรับคนที่มีหนี้ ฉัตรพงศ์แนะนำว่า ให้ปิดบัญชีหนี้ดอกเบี้ยสูงเสีย เพื่อลดภาระจ่ายลง โดยเฉพาะสินเชื่อส่วนบุคคล และหนี้บัตรเครดิต ยอมเสียดอกเบี้ยในอัตรา 20% ต่อปี เลี้ยงไข้ตัวเองปล่อยให้เงินรั่วไปเรื่อยๆ

การพยายามลดภาระเงินต้นให้ได้มากที่สุดก็ยังเป็นสิ่งจำเป็นอยู่ การเร่งผ่อนหนี้บ้านเป็นเรื่องสำคัญ หลายคนไม่ทราบว่าในช่วงปีแรกๆ ของการกู้นั้น ตัวดอกเบี้ยจะคิดเป็นจำนวนสูงถึงสามในสี่ของเงินผ่อน ส่วนที่เหลือนำไปลดเงินต้นเป็นจำนวนน้อยมาก ดังนั้นหากผ่อนไปเรื่อยๆ ไม่รีบลดเงินต้นแล้วก็ถือว่าเป็นการเลี้ยงไข้การเงินแบบหนึ่ง

เทคนิคการปิดหนี้ให้หมดเร็วแค่เจียดเงินแต่ละเดือนเป็นค่าผ่อนบ้านเพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อยก็ส่งผลดีแล้ว เราเคยแนะนำว่าให้ผ่อนเพิ่มขึ้นอีกเดือนละ 10% ของยอดที่แบงก์กำหนด จะช่วยลดภาระดอกเบี้ยรวมทั้งระยะเวลาการผ่อนลงได้มาก เช่น กู้เงิน 1 ล้านบาท แล้วใช้เวลาผ่อน 20 ปี เราต้องจ่ายดอกเบี้ยรวมทั้งหมดราว 8 แสนบาท (หรือคิดเป็นเกือบหนึ่งเท่าตัวของเงินต้น) แต่การเจียดเงินมาผ่อนเพิ่มนี้ ช่วยลดระยะเวลาการผ่อนลงเหลือเพียง 17 ปี และลดภาระดอกเบี้ยจ่ายลงเหลือเพียง 6 แสนกว่าบาท

สิ่งที่สำคัญอีกประการหนึ่งในการอยู่ให้รอดในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ คือ การรักษาสุขภาพให้แข็งแรง ไม่เจ็บป่วยก็ไม่มีค่าใช้จ่ายสุขภาพ หรือหากไม่อยากเสี่ยงจริงๆ ก็หาเงินมาทำประกันภัย หลายคนปฏิเสธการทำประกันด้วยเหตุที่คิดว่าไม่น่าจะมีอะไรเกิดขึ้น ตามหลักแล้วโอกาสเกิดอาจจะน้อย แต่หากเกิดขึ้นมาทีหนึ่งจะส่งผลรุนแรงอย่างมาก

“ผมก็เคยเจอบางกรณีที่ต้องใช้เงินที่ออมมาทั้งชีวิตจ่ายค่ารักษาพยาบาลไปเกือบหมดด้วยเหตุที่ไม่ได้ทำประกัน ดังนั้นอย่ามองข้ามเรื่องนี้” ฉัตรพงศ์ กล่าว

แม้สถานการณ์เศรษฐกิจจะไม่ดี และไม่มีช่องทางการลงทุนให้เลือกมากนัก สิ่งที่ทำให้คนอยู่รอดได้ทุกสถานการณ์คือประหยัด ไม่ใช้จ่ายในสิ่งที่ไม่จำเป็น เพราะไม่มีใครรู้อนาคต พึงจำไว้ว่า “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตนเท่านั้น”


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : คาถารอดช่วง เศรษฐกิจขาลง ประหยัด ออมเพิ่ม ลดหนี้

view