สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เปิดไส้ใน กฎหมายลิขสิทธิ์ ใหม่ บัญญัติ 8 ประการ สังคมออนไลน์ ต้องรู้

จากประชาชาติธุรกิจ

"กรมทรัพย์สินทางปัญญา" ผลักดันการแก้ไขกฎหมายลิขสิทธิ์มานานนับสิบปี ตั้งแต่ปี 2548 เพื่อให้สอดคล้องกับบริบททางสังคม และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ล่าสุด "พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558" ซึ่งผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะมีผลบังคับใช้วันที่ 4 สิงหาคมนี้ หลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษาตั้งแต่ 5 กุมภาพันธ์ 2558 ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้สั่งให้กรมทรัพย์สินทางปัญญา จัดทำคู่มือเพื่อสร้างความเข้าใจของการแก้ไขกฎหมายลิขสิทธิ์ฉบับใหม่ เพื่อให้ประชาชนรับทราบข้อมูลอย่างถูกต้อง จะได้ไม่ทำผิดกฎหมายจากการใช้อินเทอร์เน็ตหรือโซเชียลเน็ตเวิร์ก ขณะเดียวกัน พ.ร.บ.ฉบับนี้จะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของประเทศที่กำลังขับเคลื่อนตามนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy)




สาระสำคัญ 8 ประเด็นหลัก

สาระสำคัญของกฎหมายใหม่ มีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเดิม 8 หัวข้อหลัก ได้แก่ 1.การคุ้มครองข้อมูลการบริหารสิทธิ 2.คุ้มครองมาตรการทางเทคโนโลยีเพื่อปกป้องงานอันมีลิขสิทธิ์ 3.กำหนดข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์การทำซ้ำชั่วคราว 4.เพิ่มเติมเรื่องการกำหนดข้อจำกัดความรับผิดของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (Liability Limitation of ISP) 5.เพิ่มข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์กรณีการจำหน่ายต้นฉบับหรือสำเนางานอันมีลิขสิทธิ์มือสอง 6.เพิ่มเติมเรื่องสิทธิทางศีลธรรมของนักแสดง (Moral Right) 7.เพิ่มบทบัญญัติเรื่องค่าเสียหายในเชิงลงโทษ ไม่เกินสองเท่าของค่าเสียหาย และ 8.กำหนดให้ศาลมีอำนาจสั่งริบหรือทำลายสิ่งที่ได้ใช้ในการกระทำละเมิด

คุ้มครองเจ้าของลิขสิทธิ์เพิ่ม

นายพิเศษ จียาศักดิ์ ผู้จัดการทั่วไป สมาคมการค้าผู้ประกอบการธุรกิจบันเทิงไทย (TECA) กล่าวว่า สาระสำคัญของ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558 มี 8 เรื่อง แต่สรุปได้ว่าเป็นการเพิ่มประเด็นใหม่ 5 เรื่อง และยืนยันหลักการกฎหมายเดิม 2 เรื่อง

ประเด็นใหม่ที่เพิ่ม 5 เรื่อง ประกอบด้วย 1) การให้ความคุ้มครอง "ข้อมูลการบริหารสิทธิ์" (Right Management Information : RMI) หมายถึง ข้อมูลที่บ่งชี้ถึงผู้สร้างสรรค์ผลงาน เช่น ชื่อผู้แต่ง วันเดือนปีที่ผลิต เลขรหัส ISBN ของหนังสือ เลขรหัส ISRC ของเพลง ชื่อผู้วาดภาพ ชื่อผู้ถ่ายภาพ เป็นต้น กฎหมายกำหนด "ห้ามไม่ให้ผู้ใดเปลี่ยนแปลง ลบ แก้ไข" เพราะข้อมูลนี้เปรียบเสมือนเลขบัตรประชาชนของงานลิขสิทธิ์นั้น ๆ หากผู้ใดฝ่าฝืนมีโทษ 2 กรณี คือ ฝ่าฝืนในลักษณะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ไม่ได้ใช้เชิงพาณิชย์ โทษปรับ 1 แสนบาท หากฝ่าฝืนในลักษณะเชิงพาณิชย์ โทษปรับ 4 แสนบาท หรือจำคุก 2 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ

2) ให้ความคุ้มครอง "มาตรการทางเทคโนโลยี" หมายถึง มาตรการที่เจ้าของสิทธิ์นำมาใช้ปกป้องงานลิขสิทธิ์ เพื่อป้องกันไม่ให้มีการละเมิด เช่น การตั้งรหัสผ่าน (Password) ในการเข้าซื้อ E-Book เป็นต้น หากผู้ใดฝ่าฝืน เช่น ลักลอบทำลายมาตรการทางเทคโนโลยี (Hacking) รหัสผ่าน โดยเจ้าของลิขสิทธิ์ไม่ยินยอม จะมีความผิดโทษจำคุก 2 ปี

3) กฎหมายเพิ่มความชัดเจนเรื่อง "ความรับผิดของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต" หรือที่รู้จักในนามของ Liability Limitation of ISP เช่น ล็อกซอินโฟร์ บีบีบีบรอดแบนด์ ทรู เป็นต้น หากเจ้าของสิทธิ์พบว่ามีการละเมิดงานลิขสิทธิ์ผ่านเว็บไซต์ที่อยู่ภายใต้การดูแลของ ISP ก็สามารถร้องต่อศาล ให้ศาลสั่งให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต "ถอด" งานลิขสิทธิ์ที่มีการละเมิดนั้นออกจากเว็บได้ จากเดิมที่ไม่มีความชัดเจน ทำให้เจ้าของงานลิขสิทธิ์ต้องใช้ระบบการขอความร่วมมือกับ ISP เป็นราย ๆ ไป แต่ในกฎหมายนี้กำหนดชัดเจน หรืออาจเรียกว่า "บังคับให้ฟ้อง"



ไม่แสวงหากำไรให้สิทธิ์ยกเว้น


4) เพิ่มความคุ้มครอง "สิทธิทางศีลธรรมของนักแสดง" (Moral Right) หมายรวมถึง ผู้ที่มีอาชีพนักแสดง ให้มีสิทธิ์ เช่นเดียวกับศิลปิน จิตรกร นักแต่งเพลง ผู้แต่งหนังสือ เป็นต้น ที่เป็น

ผู้สร้างสรรค์ผลงาน สามารถระบุชื่อของตนลงไปในงานลิขสิทธิ์ หากผู้ใดกระทำให้งานลิขสิทธิ์นั้นมีความเสียหาย หรือนำไปเผยแพร่ โดย "ไม่ให้เครดิต" เช่น ลบชื่อนามปากกาออกจากภาพวาด หรือลบชื่อผู้ถ่ายภาพออกจากภาพถ่าย ทางเจ้าของผลงานสามารถร้องต่อศาล เพื่อเรียกค่าเสียหายเพิ่มขึ้น ไม่เกิน 2 เท่า ของค่าเสียหายจากการละเมิดผลงานจริง

5) ให้สิทธิ์ยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ให้กับ "เจ้าหน้าที่ของรัฐหรือสถานศึกษา" สามารถแก้ไข หรือเข้าไปเปลี่ยนแปลงข้อมูล RMI และมาตรการทางเทคโนโลยี หากเป็นการกระทำเพื่อสาธารณประโยชน์โดยไม่แสวงกำไร

ข้อยกเว้นทำซ้ำ-ลิขสิทธ์มือสอง

ส่วนการยืนยันหลักการกฎหมายเดิม 2 เรื่อง เพื่อให้เกิดความชัดเจน ประกอบด้วย 1) การกำหนดข้อยกเว้น "เรื่องการทำซ้ำชั่วคราว" เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการบังคับใช้กฎหมายว่า การทำซ้ำชั่วคราวที่เกิดจากระบบปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ เช่น เปิดเครื่องแล้วระบบดึงโปรแกรมขึ้นมาโดยอัตโนมัติ กรณีนี้ถือว่าเป็นการทำซ้ำชั่วคราวที่ไม่ถือเป็นการละเมิด และ

2) การยกเว้นกรณีการซื้อขายงานลิขสิทธิ์มือสอง โดยจะถือว่าเจ้าของลิขสิทธิ์ขายกรรมสิทธิ์ในงานครั้งแรกให้กับผู้บริโภคคนที่ 1 ไปแล้ว หากผู้บริโภคจะนำงานลิขสิทธิ์ไปจำหน่ายต่อ ก็ได้รับการยกเว้นว่าไม่ผิดกฎหมายฉบับนี้ อย่างไรก็ตาม หากงานลิขสิทธิ์มือสองบางประเภท เช่น ซีดีภาพยนตร์ ก็ไม่สามารถนำไปจำหน่ายต่อได้ เพราะต้องได้รับอนุญาตจากกฎหมาย พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ก่อน

รวบรัดแก้กฎหมายเร่งเข้าภาคี WCT

นายพิเศษกล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐบาลจัดทำร่างแก้ไขกฎหมายดังกล่าวโดยเอกชนไม่ได้มีส่วนร่วมมากนัก สาเหตุสำคัญส่วนหนึ่งมาจากกระทรวงพาณิชย์เร่งแก้ไขกฎหมาย เพราะเตรียมเข้าเป็นสมาชิกภาคีความร่วมมือด้านลิขสิทธิ์ (WCT) องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO) จึงยกร่างเพื่อให้สอดรับกับการเตรียมเข้าภาคีดังกล่าว

แต่ยอมรับว่ามีความจำเป็นที่ต้องแก้ไขกฎหมาย พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ เพื่อให้สอดคล้องกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป โดยในปัจจุบันปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์โดยผ่านอินเทอร์เน็ต ซึ่งสร้างความเสียหายต่องานลิขสิทธิ์มหาศาล ยกตัวอย่าง เช่น ในปีที่ผ่านมาธุรกิจเพลงได้รับความเสียหายจากการละเมิดทางอินเทอร์เน็ต คิดเป็นสัดส่วน 70-80% ของมูลค่าการตลาด (มาร์เก็ตแคป) ที่มีมูลค่า 5,000 ล้านบาท หรือ 3,500-4,000 ล้านบาท แม้การแก้ไขกฎหมายนี้ยังไม่ตรงใจเอกชนมากนัก แต่เชื่อว่าจะช่วยสร้างความตระหนักรู้ให้ประชาชน ช่วยลดปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ เช่น การแชร์คลิป หรือเพลงน้อยลง

หนุนรัฐแก้ไขใหม่อีกรอบ

อย่างไรก็ตาม เห็นว่าควรปรับปรุงแก้ไขบางมาตราของกฎหมายฉบับนี้อีกครั้ง เพราะกฎหมายใหม่ที่ออกมาอาจมีปัญหาในทางปฏิบัติบางมาตรา เช่น มาตรา 53/3 เรื่องการยกเว้นการละเมิดสิทธิ์ให้เจ้าหน้ารัฐ หรือสถาบันการศึกษา เป็นการเปิดกว้างเกินไป เสี่ยงจะเกิดปัญหาการแอบอ้างว่าใช้เพื่อการศึกษา หรือสาธารณประโยชน์ นอกจากนี้ กฎหมายยังไม่ได้ระบุชัดเจนว่า สถาบันการศึกษาหมายถึงอะไร ทำให้ต้องตีความการบังคับใช้กฎหมาย เพราะหากคำว่าสถาบันการศึกษา หมายรวมถึง บุคลากร นักเรียน นักศึกษา จะเกิด "ช่องว่าง" ในการขอยกเว้นการละเมิดมากขึ้น

หรือมาตรา 32/3 เรื่องความรับผิดของ ISP ซึ่งเดิมเมื่อมีการละเมิดเกิดขึ้น เจ้าของสิทธิ์จะใช้ระบบขอความร่วมมือไปยัง ISP ให้ถอดงานละเมิดนั้นออกจากเว็บไซต์ ถือว่าประสบความสำเร็จ 80-90% แต่กฎหมายใหม่ "บังคับให้ฟ้องร้องต่อศาล" ก่อน แล้วแจ้งให้ ISP ให้ยุติการเผยแพร่ ทำให้เกิด "ความล่าช้า" ปัญหาการละเมิดลุกลามบานปลาย สร้างความเสียหายต่อเจ้าของสิทธิ์ และการฟ้องร้องต่อศาลยังสร้าง "ภาระค่าใช้จ่าย" ให้เจ้าของสิทธิ์ หรือหากผู้ละเมิดเป็นเด็กที่กระทำไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ก็อาจเกิดปัญหาภายหลังได้ เป็นต้น


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : เปิดไส้ใน กฎหมายลิขสิทธิ์ ใหม่ บัญญัติ 8 ประการ สังคมออนไลน์ ต้องรู้

view