สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

แชร์ข้อมูล-ภาพอย่างไร ไม่ติดคุก

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...จะเรียม สำรวจ / ณัฎฐ์ธยาน์

วันที่ 4 ส.ค.นี้ พวกที่ชอบแชร์ ชอบโพสต์ ชอบก๊อบปี้ โดยขาดความยั้งคิด ไม่ยอมให้เครดิตเจ้าของภาพ คลิป ข้อมูล หรือบทความ พวกท่านมีสิทธิติดคุก 3 เดือน-2 ปี หรืออาจจะโดนปรับตั้งแต่ 1 หมื่น-4 แสนบาทหรือทั้งจำคุกทั้งปรับตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558 มีผลบังคับใช้

ภายใต้กฎหมายลิขสิทธิ์ใหม่ที่เริ่มใช้ดังกล่าว คนในวงการสื่อออนไลน์ สื่อโทรทัศน์ ดูเหมือนว่าจะเตรียมตัวรับมือการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวไว้ระดับหนึ่ง แต่ที่น่าห่วงคือประชากรบนโลกไซเบอร์ บนโซเชียลเน็ตเวิร์ก ที่ผู้ให้บริการเว็บบอร์ดออนไลน์ อย่าง พันทิปดอทคอม และเว็บข่าวอย่างสนุกดอทคอม มองว่า พ.ร.บ.ใหม่จะสร้างปัญหาให้คนไปใช้งานซ้ำ ซึ่งคนกลุ่มนี้จะรู้หรือไม่ว่าสิ่งที่ทำนั้นถูกหรือผิด

ดังนั้น เพื่อไม่ให้เสี่ยงต้องติดคุกติดตะราง หรือโดนปรับจากการแชร์การโพสต์อย่างไม่ยั้งคิด ลองนำแนวทางการปฏิบัติของมืออาชีพเอาไปประยุกต์ใช้ จักรพงษ์ คงมาลัย หัวหน้าฝ่ายธุรกิจเนื้อหา บริษัท สนุก ออนไลน์ ให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า เรื่องของลิขสิทธิ์ของเนื้อหานั้น ทางสนุกได้ระบุภายในองค์กรชัดเจนอยู่แล้ว ซึ่งทางทีมผลิตคอนเทนต์เอง
จำเป็นต้องให้เครดิตกับต้นเรื่องที่มาอยู่เสมอ

“การออกกฎหมายเกี่ยวกับ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์นั้นถือว่าเป็นเรื่องที่ดี ถึงแม้ก่อนหน้านี้จะมีกฎหมายรองรับในระดับหนึ่งอยู่แล้วก็ตาม แต่การออกกฎหมายที่ชัดเจนออกมาจะช่วยเรื่องของความยั้งคิดก่อนที่จะแชร์หรือส่งต่อข้อความใดๆ ที่มีผลกระทบในวงกว้าง รวมทั้งเป็นกำลังใจให้แก่คนที่ผลิตคอนเทนต์ได้สร้างสรรค์เนื้อหาที่เหมาะสมขึ้นด้วย” จักรพงษ์ ให้ความเห็น

ทั้งนี้ ในส่วนของเว็บบอร์ดนั้นระบบการคอมเมนต์ หรือแสดงความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั่วไป ทางสนุกมีการออกระเบียบชี้แจงที่ชัดเจนว่า แสดงความคิดเห็นแบบข้อความได้อย่างเดียว ไม่สามารถโพสต์รูปได้ แต่ทั้งนี้ ในเรื่องของเนื้อหาหรือข้อความ ถ้าหากว่าเป็น Hate Speech ก็ยากที่จะป้องกันได้

“เรามีข้อห้ามที่ชัดเจนตั้งแต่ข้อกฎหมายของ พ.ร.บ.ชุดเก่าอยู่แล้ว แต่การแสดงความคิดเห็นยังถือว่าห้ามได้ยาก อยู่ที่วิจารณญาณในการแสดงความคิดเห็นของแต่ละคนมากกว่าว่าจะเขียนหรือถ่ายทอดเนื้อหาออกมามีความรุนแรงต่อเหตุการณ์ใดๆ มากน้อยแค่ไหน ซึ่งสิ่งที่เรียกว่า วิจารณญาณนี้อยู่ที่แต่ละบุคคล ไม่ใช่กฎระเบียบดังนั้น การออก พ.ร.บ.ใหม่จะช่วยป้องกันการใช้งานโซเชียลมีเดียแบบไม่ยั้งคิดได้มากขึ้น”

อย่างไรก็ตาม หากเป็นเนื้อหาที่เป็นเชิง Creative Common หรือเจ้าของเนื้อหาหรือภาพอนุญาตให้นำกลับมาใช้งานซ้ำได้โดยไม่ต้องขออนุญาตนั้น ผู้ผลิตคอนเทนต์จะสามารถระบุอย่างชัดเจนได้เลยว่านำไปใช้ทำอะไรต่อได้บ้าง ซึ่งสื่อใหญ่หรือคนในกระแสต้องมีความชัดเจนเรื่องนี้

“ถ้าเป็นเว็บใหญ่ให้ระบุเรื่อง Creative Common ชัดเจนไปเลย เพราะมักจะมีการนำไปใช้งานซ้ำหรือเป็นแหล่งอ้างอิงอยู่เสมอ ซึ่งทางเว็บสนุกเองก็ถูกนำไปส่งต่อหรือแชร์คอนเทนต์ซ้ำอยู่บ่อยๆ แต่ไม่สามารถจัดการร้องเรียนใดๆ ได้ สิ่งที่ป้องกันได้มีเพียงแค่ให้ระบุสิ่งที่มา หรือต้นตอของเรื่องให้ชัดเจนก็พอ ส่วนเรื่องการใช้งานรูปนั้น โชคดีที่เรามีเจ้าของภาพบางราย หรือช่างภาพที่ต้องการให้เรานำไปใช้ซ้ำ  เพียงแค่ขึ้นเครดิตให้ก็เพียงพอแล้ว เราจึงไม่ค่อยเจอปัญหาเรื่องการฟ้องร้องภาพ” จักรพงษ์ กล่าว

ขณะที่ อภิศิลป์ ตรุงกานนท์ นายกสมาคมผู้ดูแลเว็บไทยและผู้บริหารเว็บไซต์พันทิปดอทคอม กล่าวว่า โดยส่วนตัวยังไม่เห็นรายละเอียดที่ชัดเจนเกี่ยวกับ พ.ร.บ.นี้ แต่เรื่องกฎหมายคุ้มครองนั้นมีมานานแล้ว ดังนั้นจึงไม่ต้องปรับเปลี่ยนการทำงานใดๆ แค่รอดูว่าจะช่วยแก้ปัญหาในภาพรวมอย่างไร

“สำหรับความคิดเห็นส่วนตัวของผมนั้น คิดว่า พ.ร.บ.ชุดใหม่นี้น่าจะช่วยทำให้มีความชัดเจนมากขึ้น สำหรับผู้ที่นำบทความหรือภาพไปใช้งานต่อ แต่ผมยังไม่ทราบในรายละเอียดทั้งหมด แต่คิดว่าการออกกฎหมายคุ้มครองชัดเจนแบบนี้เป็นสิ่งดี เพราะคนใช้งานโซเชียลมีเดียหรือโลกออนไลน์นั้น ควรจะตระหนักถึงลิขสิทธิ์ในการนำข้อมูลไปเผยแพร่ซ้ำหรือใช้งานต่อมากขึ้น ไม่ใช่ว่าบทความหรือภาพในโลกออนไลน์นั้นฟรีและใช้งานซ้ำได้ทั้งหมด”

นอกจากนั้น ปัญหาเรื่องของการนำภาพหรือคลิปวิดีโอนั้นจะพบเจอเยอะมาก ซึ่งในเว็บพันทิปเองมีความชัดเจนว่าต้องระบุที่มาของภาพหรือลิงก์ต้นทางให้ชัดเจน หากเป็นการนำมาใช้ซ้ำ ซึ่งผู้ใช้งานส่วนใหญ่เข้าใจดี แต่คนที่เข้ามาตั้งกระทู้และมักจะประสบปัญหาส่วนใหญ่คือถูกนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้งานซ้ำในเชิงพาณิชย์มากกว่า

“ปกติสมาชิกในเว็บจะรู้เรื่องข้อกฎหมายกันดีอยู่แล้ว ทำให้เราไม่ต้องไปเพิ่มข้อมูลหรือเอ็ดดูเคทอะไร บางครั้งถึงกับมีทนายหรือนักกฎหมายด้านต่างๆ เข้ามาให้ความช่วยเหลือก่อนทางเราจะทราบด้วยซ้ำ ดังนั้น เราจึงมีคำแนะนำกว้างๆ คือภาพที่โพสต์ต้องใส่ลายน้ำทุกครั้ง เพื่อป้องกันการนำไปใช้ซ้ำ สำหรับเรื่องของภาพที่ถ่ายเอง และหากมีข้อมูลใดที่มีที่มาที่ไปก็ให้เครดิตซะ  แต่ห้ามโพสต์คลิปหรือลิงก์จากแหล่งอื่น”อภิศิลป์ กล่าว

ส่วนมาตรการสำหรับทางเว็บไซต์นั้น โดยภาพรวมคิดว่าทางทีมงานไม่ได้มีกฎข้อบังคับพิเศษเพิ่มเติม นอกจากแค่แจ้งให้สมาชิกทราบว่า การโพสต์ แชร์ หรือพิมพ์ข้อความซ้ำจากแหล่งข้อมูลอื่นโดยไม่ให้ที่มานั้นเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม และควรป้องกันก่อนการถูกฟ้องร้อง และห้ามโพสต์ภาพเชิงลามกอนาจาร ถึงแม้จะเป็นคนดังหรือบุคคลสาธารณะก็ตาม

ด้านสื่อโทรทัศน์ สุรพล พีรพงศ์พิพัฒน์ ผู้อำนวยการฝ่ายการขาย-การตลาด ช่อง One กล่าวว่า การนำคลิปวิดีโอหรือ
คอนเทนต์ต่างๆ ของช่องวันไปใช้ในสื่อสาธารณะต่างๆ หากมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการโปรโมทหรือประชาสัมพันธ์ก็ไม่มีปัญหา เพราะส่วนใหญ่จะเป็นคลิปวิดีโอที่ทางช่องส่งออกไป หรือมีการแชร์ต่อไปเรื่อยๆ โดยมีเครดิตช่องวันแจ้งให้ทราบถึงที่มาและเป็นไปตามกติกาอยู่แล้ว

อย่างไรก็ดี ในกรณีที่มีการนำคลิปวิดีโอหรือคอนเทนต์ช่องวันไปเผยแพร่เพื่อการค้าหรือหารายได้ ทางสถานีก็มีกติกาอยู่ และตอนนี้ก็มีหลายเจ้าที่ติดต่อเข้ามาขอซื้ออย่างเป็นทางการทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทั้งที่นำไปเผยแพร่ออนไลน์และจัดทำในรูปแบบซีดี เช่น ประเทศกัมพูชา ส่วนคลิปวิดีโอประกอบรายการอื่นๆ เช่น คลิปวิดีโอจากต่างประเทศ ทางสถานีก็จัดซื้อมาเผยแพร่อย่างถูกต้อง

นารากร ติยายน ผู้อำนวยการบริหาร ฝ่ายข่าว ช่องวัน กล่าวว่า ในส่วนของฝ่ายข่าวช่องวัน หากมีการนำคลิปจากสื่อสาธารณะที่มีคนแชร์ผ่านทางโซเชียลออนไลน์ต่างๆ มานำเสนอเพื่อประกอบการรายงานข่าวสารให้คุณผู้ชมรับทราบความเคลื่อนไหว ทางทีมงานฝ่ายข่าวช่องวันจะพยายามติดต่อขออนุญาตเผยแพร่จากเจ้าของคลิปโดยตรง พร้อมกับให้เครดิตขอบคุณที่มาและเจ้าของคลิปวิดีโอทุกครั้ง ซึ่งทางช่องได้ปฏิบัติเช่นนี้มาตั้งแต่ต้นแล้ว เท่าที่ผ่านมาก็ได้รับการอนุญาตและให้เผยแพร่ได้อย่างถูกต้อง ไม่เคยเกิดปัญหา

สำหรับมุมมองของนักวิชาการ มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า โดยปกติแล้วภาพยนตร์ ละคร ซีรี่ส์ และรายการต่างๆ ที่ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลนำมาออกอากาศจะเป็นคอนเทนต์ที่ซื้อมาโดยถูกลิขสิทธิ์ แต่ยกเว้นภาพที่นำมาจากสื่อออนไลน์ที่โปรดิวเซอร์นำมาประกอบรายการข่าวหรือรายการต่างๆ ที่อาจจะไปดึงภาพ ซึ่งมีเจ้าของคอนเทนต์โดยพลการมาใช้ ด้วยการลบลายน้ำเจ้าของคอนเทนต์แล้วนำโลโก้ช่องของตัวเองมาใส่แทน

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าว ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลควรระวังการนำคอนเทนต์ดังกล่าวมาใช้  เพราะหากเกิดการฟ้องร้องจะส่งผลเสียต่อสถานี ซึ่งสำนักข่าวส่วนใหญ่ค่อนข้างมีความรู้เรื่องดังกล่าว แต่ในส่วนของสติงเกอร์ที่สำนักข่าวใช้อาจมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องดังกล่าวไม่มากนัก  ด้วยการไปเอาภาพในกูเกิลมาใช้โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ทางแก้จึงต้องมีการตรวจสอบสิทธิ ให้ความรู้กฎหมายใหม่ และผลิตคอนเทนต์เป็นของตัวเอง

มานะ ให้ความเห็นว่า แม้จะมีการปรับเปลี่ยนกฎหมายลิขสิทธิ์ให้เข้มข้นมากขึ้น แต่ก็คงต้องรอดูหลังจากประกาศใช้จริงว่าจะมีผู้เสียผลประโยชน์มาฟ้องร้องมากน้อยแค่ไหน ซึ่งที่ผ่านมากฎหมายลิขสิทธิ์เดิมก็ครอบคลุมการกระทำความผิดอยู่แล้ว แต่ไม่มีใครนำไปปฏิบัติใช้อย่างจริงจัง

เมื่อเป็นเช่นนี้ นักโพสต์ นักแชร์ นักก๊อบ ทั้งหลายควรนำแนวทางของมืออาชีพไปปรับใช้ เพื่อจะได้ห่างไกลคุก


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : แชร์ข้อมูล ภาพอย่างไร ไม่ติดคุก

view