สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

Cheap Talk กลยุทธ์ฉบับประหยัดของสหรัฐ

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ ช่วยกันคิด

โดย ดร.ศรพล ตุลยเสถียร, พีระพรรณ สุวรรณรัตน์

หากกล่าวถึงเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาในขณะนี้ คำถามที่ทั่วโลกเฝ้าติดตามรอคำตอบอย่างใกล้ชิด คงหนีไม่พ้นคำถามที่ว่า "เมื่อไหร่ธนาคารกลางสหรัฐจะตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ?" (Federal Funds Rate) เสียที

หลายคนคงสงสัยว่า ทำไมการปรับอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐ เกี่ยวข้องอย่างไรกับคนธรรมดาอย่างเรา ๆ สาเหตุนั่นก็เพราะโลกเราสมัยนี้มันแคบลง ทั้งด้านการค้าขาย ลงทุน ท่องเที่ยว ฯลฯ เป็นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่มีมากขึ้นทุกวัน ยิ่งประเทศไหนมีความเชื่อมโยงมาก ประเทศเหล่านั้นก็จะมีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจโลกมากขึ้นเช่นกัน

การปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินการคลังของประเทศยักษ์อันดับสองของโลกอย่างสหรัฐ จึงย่อมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการเงินทั่วโลกอย่างไม่ต้องสงสัย

สำหรับไทยเอง หากสหรัฐปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ก็ย่อมทำให้ ตลาดหุ้น และ ตลาดพันธบัตร บ้านเราผันผวน เนื่องจากเงินทุนต่างชาติที่ไหลเข้ามาพักในตลาดไทยตั้งแต่ช่วงวิกฤตซับไพรมเป็นต้นมา มีแนวโน้มที่จะไหลกลับเข้าสหรัฐ เนื่องจากจะมีเงินได้เพิ่มขึ้นตามดอกเบี้ยที่สูงขึ้น แถมต้นทุนด้านความเสี่ยงก็ต่ำลงด้วย ซึ่งเงินทุนที่ไหลออกนอกประเทศจะส่งผลให้ค่าเงินบาทบ้านเราผันผวนด้วยเช่นกัน

เจเน็ต เยลเลน

จึงไม่น่าแปลกใจที่ทั่วโลกและไทยเราเองต่างจับตาความเคลื่อนไหวของสหรัฐทุกฝีก้าว โดยเฉพาะผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐ (FOMC) แต่ละครั้ง แต่ด้วยการประชุมดังกล่าวมีเพียง 8 ครั้งต่อปี ทำให้ทั่วโลกเทความสนใจมาฟังคำพูดของ นางเจเน็ต เยลเลน ประธานธนาคารกลางสหรัฐ ในโอกาสต่าง ๆ ที่มีความถี่มากกว่า และทันต่อเหตุการณ์มากกว่า และนำมาวิเคราะห์สัญญาณจากคำพูดของนางเยลเลนทดแทนอีกที

สหรัฐเองก็คงรู้ถึงช่องทางการวิเคราะห์ข้อมูลของตลาดโลกเป็นอย่างดีจึงใช้ประโยชน์จากพฤติกรรมนี้ โดยนำกลยุทธ์ "Cheap Talk" ในทฤษฎีเกมมาใช้อยู่บ่อยครั้ง เนื่องจาก Cheap Talk นี้ไม่ได้ก่อให้เกิดผลกระทบใด ๆ ต่อสหรัฐ และสหรัฐเองก็ไม่ต้องลงทุนลงแรงดำเนินนโยบายใด ๆ แต่กลับได้ผลที่ทรงพลังอย่างมหาศาลในการชี้นำ ความคาดหวัง และ กำหนดการตัดสินใจ ของสังคม ที่เห็นได้ชัดคือกระดานตลาดหุ้นโลกที่กลับเขียวหรือแดงได้ในพริบตา หลังนางเยลเลนให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อเพียงไม่กี่นาที

สหรัฐเริ่มใช้กลยุทธ์นี้อย่างชัดเจน คือช่วงก่อนยุติมาตรการ QE (กลางปีที่แล้ว) โดยสหรัฐเปลี่ยนเกณฑ์การตัดสินใจขึ้นอัตราดอกเบี้ย จากเดิมที่กำหนดไว้ชัดเจนว่าจะขึ้นเมื่ออัตราว่างงานต่ำกว่าร้อยละ 6.5 มาเป็นอัตราจ้างงานเต็มจำนวน ซึ่งก็ไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าอยู่ที่ร้อยละเท่าไหร่

ในช่วงหลัง ๆ มานี้ คำแถลงของสหรัฐจะมี "คำ" หรือ "วลี" ที่เน้นเพื่อส่งสัญญาณต่อตลาด แม้ว่าคำหรือวลีเหล่านั้นจะไม่ได้สื่อความหมายที่ชัดเจนในตัวเองแต่อย่างใด

อย่างคำแถลงหลังการประชุมFOMC ช่วงปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา นางเยลเลนก็เลิกใช้คำว่า "Patient" (อดทน) ทำให้ตลาดตีความไปเองว่า นี่คือสัญญาณที่ชี้ว่า สหรัฐพร้อมจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยแล้ว ถึงขนาดฟันธงกันว่าเป็นช่วงเดือนมิถุนายนนี้แน่นอน ทั้ง ๆ ที่ในเนื้อความคำแถลงไม่ได้กล่าวอะไรในประเด็นนี้ไว้เลย

ตัวอย่างที่ชัดเจนอีกครั้ง คือ ความเห็นของธนาคารกลางสหรัฐ หลังตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐในไตรมาสแรกที่ออกมาไม่ดีนัก โดยนางเยลเลนกล่าวว่า เป็นผล Transitory (ชั่วคราว) ซึ่งทำให้ตลาดสงสัยว่า "ผลชั่วคราว" ที่ว่าคืออะไร ? จะยาวนานแค่ไหน และจะกระทบต่อการตัดสินใจเลื่อนการขึ้นอัตราดอกเบี้ยออกไปมากน้อยเพียงไร ?

จริง ๆ แล้ว สหรัฐไม่ใช่ประเทศแรกที่นำกลยุทธ์ Cheap Talk มาใช้ ยุโรปเองก็นำมาใช้ตั้งแต่ช่วงออกมาตรการแก้วิกฤตหนี้สาธารณะหรือปี 2552 แล้ว และมีเทคนิคแยบคายเพิ่มเติมเข้ามาด้วย อย่างเมื่อช่วงต้นปี ยุโรปเปิดเผยแผนมาตรการ QE ว่า อาจทำให้มีมูลค่าสูงถึง 5 หมื่นล้านยูโรต่อเดือน โดยกล่าวปิดท้ายว่า อาจมีการเปลี่ยนแปลงก่อนประกาศใช้จริง แค่เพียงเท่านี้ ตลาดโลกก็ยึดเอาตัวเลข 5 หมื่นล้านยูโรต่อเดือน มาเป็นหลักในการตัดสินใจเรียบร้อยแล้ว ตลาดหุ้นทั่วโลกที่ตอบรับปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในทันที แต่ 2 เดือนต่อมา วงเงินมาตรการที่ประกาศใช้จริงกลับเพิ่มขึ้นมาเป็น 6 หมื่นล้านยูโรต่อเดือน สร้างความประหลาดใจให้กับตลาดอีกครั้ง

ดังนั้นในฐานะของผู้รับสารอย่างเรา ๆ คงไม่สามารถไปบังคับให้สหรัฐ หรือยุโรป เปลี่ยนกลยุทธ์การสื่อสารต่อสาธารณะได้ แต่สิ่งหนึ่งที่เราสามารถทำได้ คือ การวิเคราะห์ข้อมูลข่าวสารที่ได้รับมาอย่างถี่ถ้วนเสียก่อน ไม่คิดหรือคาดเดาไปเกินกว่าข้อมูลที่มีอยู่ ก่อนที่จะตัดสินใจลงทุนหรือดำเนินกิจการใด ๆ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : Cheap Talk กลยุทธ์ฉบับประหยัด สหรัฐ

view