สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ผ่าโลกธุรกิจ อีคอมเมิร์ซ

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...ศุภลักษณ์ เอกกิตติวงษ์

ทิศทางตลาดอีคอมเมิร์ซเติบโตสูงขึ้นมากในประเทศไทย โดยเฉพาะหลังจากที่สมาร์ทโฟนเข้ามามีบทบาทในการทำธุรกรรมทางการเงินมากขึ้น อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการรุ่นใหม่ๆ ที่เห็นช่องทางการทำธุรกิจอีคอมเมิร์ซก็ยังต้องเรียนรู้ประสบการณ์และติดตามเทคโนโลยีใหม่ๆ ให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้ประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจ

ปกรณ์ พรรธนะแพทย์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย กล่าวในงานสัมมนา รุกธุรกิจไร้พรมแดนบน Digital Platform กับ KBank ว่า ช่วง 3 ปีที่ผ่านมาธุรกิจอีคอมเมิร์ซมีอัตราเติบโตปีละไม่ต่ำกว่า 20% มีผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซถึง 5 แสนราย ผ่านช่องทางต่างๆ ทั้งโซเชียลมีเดีย เว็บไซต์ และออนไลน์ มาร์เก็ตเพลส ที่สำคัญมีคนไทยหันมาซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ 15 ล้านคน และคาดว่าปีนี้มูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซในส่วนซื้อขายตรงถึงผู้บริโภคจะสูงถึง 2.2 แสนล้านบาท

นอกจากนี้ ฟันเฟืองสำคัญของธุรกิจอีคอมเมิร์ซคงหนีไม่พ้นธนาคารพาณิชย์ ปกรณ์ ระบุว่า ธนาคารกสิกรไทย นอกจากจะร่วมกับเครือข่ายพันธมิตรทั้งระดับประเทศและระดับโลก โดยต่อยอดความร่วมมือที่ริเริ่มไว้กับอาลีบาบาดอทคอมในการสนับสนุนผู้ประกอบการไทยสู่ตลาดอีคอมเมิร์ซในจีนแล้ว ยังจะเร่งพัฒนาช่องทางดิจิทัลเพื่อรองรับการใช้งานที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

บุรินทร์ เกล็ดมณี ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ เรดดี้แพลนเน็ต ตัวแทนอาลีบาบาดอทคอมในประเทศไทย ระบุว่า ขณะนี้ธุรกิจอีคอมเมิร์ซในไทยกำลังเผชิญกับ 5 เทรนด์ คือ “Promotion War” ที่แข่งขันสูงมาก สินค้าเดียวกันจะแข่งกันหั่นราคาอย่างหนัก ทำให้ผู้ประกอบการรายเล็กสู้ยาก “Niche Market” เจาะตลาดเฉพาะกลุ่ม ซึ่งเป็นโอกาสของธุรกิจรายเล็กๆ แต่เอสเอ็มอีต้องหาจุดต่างของสินค้า กำหนดกลุ่มเป้าหมายให้ชัดเจน และต้องเก่งในสิ่งที่ทำอย่างที่รายใหญ่ทำไม่ได้

“Content Marketing” เพราะทุกวันนี้การซื้อสินค้าจะถูกโน้มน้าวจากเพื่อนหรือข้อมูลจากผู้เคยใช้ มากกว่าจากโฆษณาหรือโปรโมชั่น ผู้ประกอบธุรกิจจึงต้องสร้างคอนเทนต์และเกิดการบอกต่อ ทำให้ขณะนี้วิดีโอมาร์เก็ตติ้งมาแรงเพราะอินเทอร์เน็ตเร็วขึ้น

“คิดเพื่อส่งออก” ในไทยมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีกว่า 2.7 ล้านราย แต่เป็นผู้ส่งออกเพียง 1.5 หมื่นราย และยังมีหลายคนที่มีศักยภาพในการส่งออกได้ โดยเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซ เช่น อาลีบาบา เป็นช่องทางสำคัญในการเปิดตลาดส่งออกได้ และ “ระบบขนส่งและระบบชำระเงิน” ที่ต้องง่ายและช่วยสนับสนุนธุรกิจ

ขณะที่ แฮเรียท ชู กรรมการผู้จัดการ ไทย เอ้า ฉี ฟรุ๊ตส์ ที่มีประสบการณ์การใช้ช่องทางอาลีบาบาดอทคอมในการเปิดตลาดส่งออกในจีน ได้มาแชร์ประสบการณ์ว่า ได้ไอเดียและคำแนะนำจากเพื่อนที่จีนให้ส่งออกสินค้าไปจีน โดยเฉพาะผลไม้ ที่จีนนิยมผลไม้ไทยมาก จึงเริ่มต้นจากการส่งออกผลไม้แบบแช่แข็ง ทุเรียน มังคุด แต่การทำตลาดยากมาก เพราะ 12 ปีก่อน ทุเรียนไทยยังไม่เป็นที่รู้จัก ปีแรกจึงขายได้เพียง 1 ตู้คอนเทนเนอร์ แต่เมื่อมีอาลีบาบาเกิดขึ้น ก็มาใช้ช่องทางอาลีบาบา

แฮเรียท ระบุว่า หลังจากที่อาลีบาบาเปิดตลาดสู่สากล บริษัทก็รับออร์เดอร์ผ่านอาลีบาบาเป็นหลักถึง 60% ของคำสั่งซื้อทั้งหมด และยังมีโอกาสเพิ่ม คือลูกค้าจะสอบถามถึงสินค้าไทยอื่นๆ ด้วย จึงได้ออร์เดอร์มาและส่งต่อให้เพื่อนที่ทำธุรกิจนั้นๆ

“กลยุทธ์การทำธุรกิจผ่านออนไลน์ของบริษัท คือ พยายามอัพเดทสินค้าทุกวันให้มีความเคลื่อนไหวตลอด และเมื่อมีการสอบถามจากลูกค้าจะตอบให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้ ช่วยให้ปิดการขายได้เร็ว และสร้างความน่าเชื่อถือได้อีกทางหนึ่ง” เคล็ดลับของ แฮเรียท ชู

นอกจากอาลีบาบาแล้ว เครื่องมือสำคัญที่จะสร้างธุรกิจอีคอมเมิร์ซให้เติบโตได้คงหนีไม่พ้นโซเชียลมีเดียต่างๆ ทั้งเฟซบุ๊ก กูเกิล

สำหรับเฟซบุ๊กนั้น สามารถเป็นช่องทาง 3 ด้านให้กับธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ทั้งการสร้างความรับรู้ การสำรวจและสร้างตลาด และการปิดการขาย ทวีภัทร โอภารัตน์ ผู้จัดการบัญชี กลุ่มเอสเอ็มบี เฟซบุ๊ก ประเทศไทย เปิดเผยผลสำรวจที่พบว่า ผู้ใช้งานสามารถรับรู้แบรนด์จากเฟซบุ๊กเกือบ 60% ใช้สำรวจข้อมูลและตลาดถึง 70% และผู้ใช้เกือบ 50% เคยซื้อสินค้าจากเฟซบุ๊ก จึงถือได้ว่าเฟซบุ๊กเป็นเครื่องมือทำตลาดออนไลน์ที่มีประสิทธิภาพมาก และยังสามารถใช้ข้อมูลที่คนส่วนใหญ่แชร์เรื่องราวและประสบการณ์มาใช้วิเคราะห์กลุ่มเป้าหมายได้ถึงความต้องการต่างๆ

ด้านกูเกิลก็เป็นอีกเครื่องมือหนึ่ง อภิชญา เตชะมหพันธ์ ผู้จัดการฝ่ายพันธมิตรทางธุรกิจกูเกิลเอเชียแปซิฟิก ระบุว่า ผลสำรวจพบว่าธุรกิจเดิมที่เริ่มหันมาทำดิจิทัลมาร์เก็ตติ้งนั้น จะมียอดขายเติบโตขึ้น 50% เพราะการทำธุรกิจแบบเดิมๆ จะเหนื่อยจากการแข่งขันที่สูง และลูกค้ามีความภักดีในสินค้าลดลง เนื่องจากมีทางเลือกมากขึ้น

ทั้งนี้ เครื่องมือสำคัญของกูเกิลในการช่วยผู้ประกอบการที่กำลังเริ่มสร้างตลาดออนไลน์ คือ google trend โดยผู้ที่ต้องการขยายตลาดใหม่ๆ สามารถใช้ค้นหาว่าสิ่งที่จะขายนั้นมีผู้สนใจซื้อหรือไม่ ถือเป็นการชี้โอกาสทางธุรกิจที่กำลังจะทำว่ามีความสดใสมากน้อยแค่ไหนในตลาดออนไลน์ ตัวอย่างเช่น ในบรรดาอาหารสัตว์ที่ขายทางออนไลน์ทั้งหมดนั้น มีผู้ต้องการค้นหาเพื่อซื้ออาหารปลามากที่สุด ไม่ใช่อาหารสุนัข หรืออาหารแมว นั่นเพราะอาหารปลานั้นซื้อได้ยาก และมีความต้องการเฉพาะกลุ่ม นี่คือช่องทางหนึ่ง

ธุรกิจคลังสินค้าออนไลน์ก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่เกิดจากการเติมเต็มช่องว่างการทำธุรกิจสินค้าออนไลน์ที่ไม่มีพื้นที่จัดเก็บสินค้า หรือรับผิดชอบการขนส่งสินค้า

กอสิน ศุภฤทธิธำรง ผู้จัดการ การตลาดออนไลน์และการบัญชี ชิปยัวส์ดอทคอม (Shipyours.com)
ผู้ประกอบธุรกิจคลังสินค้าออนไลน์ กล่าวว่า ธุรกิจนี้เกิดขึ้นจากการมองเห็นช่องทางว่ามีผู้ประกอบการหลายคนต้องการสถานที่เก็บสินค้าและผู้รับผิดชอบเรื่องการส่งสินค้า ซึ่งตัวเองมีปัจจัยพร้อมอยู่แล้ว เพราะทำธุรกิจรับส่งเอกสารมาก่อน สำหรับค่าบริการรับฝากสินค้านั้นตกลูกบาศก์เมตรละ 2,200 บาท ขณะที่ค่าส่งสินค้าทางไปรษณีย์ คิดตามจริงบวก 10%

กอสินถือว่าธุรกิจของเขาช่วยลดต้นทุนแฝงให้แก่คนขายได้อย่างดี ไม่ว่าจะเป็นที่เก็บสินค้า เพราะบางคนอาจจะคิดว่าเก็บสินค้าในบ้านได้ แต่จริงๆ นั่นคือต้นทุนสถานที่ที่เสียไป หรือการเดินทางไปส่งไปรษณีย์เองจะทำให้ต้อง
เสียเวลา เสียค่ารถค่าน้ำมัน และค่าแรงของตัวเอง ทั้งที่เวลาเหล่านั้นสามารถใช้ในการหาลูกค้าเพื่อเพิ่มยอดขายได้

ณัฐวุฒิ อารยะประยูร รองผู้จัดการทั่วไป ยูไนเต็ดไทยโลจิสติกส์ ผู้ให้บริการขนส่งสินค้าเพื่อส่งออกและนำเข้า กล่าวว่า ผู้ส่งออกที่ทำทุกอย่างด้วยตัวเองจะยุ่งยากมากกับเรื่องเอกสารต่างๆ โดยเฉพาะผู้ส่งออกหน้าใหม่จะยิ่งรู้สึกยุ่งยาก บริษัทจึงเข้ามาช่วยลดความยุ่งยากทั้งหมดให้ ขอเพียงลูกค้าไปลงทะเบียนเป็นผู้ส่งออกก่อน จากนั้นจะรู้ว่าจะขายอะไรและส่งไปที่ไหน และส่งแบบใด เช่น ทางเรือ หรือทางเครื่องบิน บริษัทจะเป็นผู้แนะนำว่าต้องใช้เอกสารส่วนตัวอะไรบ้าง ส่วนเอกสารด้านอื่นที่เป็นแบบฟอร์มทางการจะดำเนินการให้ทั้งหมด


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ผ่าโลกธุรกิจ อีคอมเมิร์ซ

view