สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

สิ่งที่น่าจะเกิดขึ้นต่อไปจากนี้

สิ่งที่น่าจะเกิดขึ้นต่อไปจากนี้
โดย : เสถียร ตันธนะสฤษดิ์

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




เดือนที่แล้วผมได้เรียนเสนอเรื่องของ Euro และ EU ซึ่งเป็นเรื่องที่ฮอตฮิตติดดาว

ในขณะนี้ที่ทุกอย่างดูเหมือนจะสงบลง ก็ขออย่าได้ประมาทนะครับ ผมยังคงเชื่อว่ามันก็แค่ชั่วคราว และในระยะต่อไปผมเชื่อว่าสิ่งที่ผมได้เรียนไว้น่าจะเกิดขึ้นนะครับ มาว่ากันเรื่องของเดือนนี้กันเลยนะครับ อะไรจะเกิดขึ้นจากนี้ นอกเหนือจากเรื่องตลาดจีนซึ่งมีคนให้ความเห็นไปกันมากแล้ว ผมจะไม่ให้ความเห็นอีกนะครับ (ที่จริงก็ไม่ได้อยู่เหนือความคาดหมายเท่าไรนัก) ผมก็อยากจะเรียนเสนอมุมมองไปข้างหน้าของผมนะครับ

ในช่วงที่ผ่านมาผมได้เขียนบทความเกี่ยวกับ Federal Reserve (Fed) มาบ่อย ๆ หากย้อนไปอ่านดูก็น่าจะเข้าใจท่าทีและ “next move” ของ Fed ได้นะครับ และในเดือนนี้ก็จะขอนำเสนอเรื่องเกี่ยวกับ Fed และมุมมองของผมว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นบ้างในส่วนเกี่ยวข้องกับตลาดการเงินของเราอันเนื่องมาจากการกระทำหรือการคาดการณ์ที่ว่า Fed จะทำนะครับ
สิ่งที่เราเรียกว่า Fed Statement อันล่าสุดออกมาเมื่อวันที่ 29 ก.ค.ที่ผ่านมานี้เอง หากเราจะอ่านแบบวิเคราะห์กันก็จะเห็นว่า Fed มีความพึงพอใจกับสภาวะเศรษฐกิจของอเมริกาที่มีการกระเตื้องพอควร(moderate) และเราก็จะรู้ (น่าจะรู้อยู่แล้วนะครับ) ว่าในมุมมองของ Fed นั้นเป้าหมาย 2 อันที่ Fed ต้องบรรลุก็คือ การจ้างงานและอัตราเงินเฟ้อ โดยกำหนดไว้ว่าอัตราการว่างงานต้องไม่เกิน 6.5% และอัตราเงินเฟ้อต้องไม่เกิน 2% ตัวเลขการว่างงานในปัจจุบันนั้นคงไม่ใช่ภัยคุกคามอีกต่อไป ในเดือนมิถุนายนอยู่ที่ 5.3% ปัญหาหลักน่าจะอยู่ที่ภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งมันไม่ "เฟ้อ” เอาซะเลย และ Fed เองก็อยากจะเห็นตัวเลขตัวนี้สูงขึ้นเข้าใกล้ 2% และในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาก็เป็นนิมิตที่ดีที่อัตราเงินเฟ้อกลับเข้ามาอยู่ในแดนบวกอยู่ที่ 0.1% เดือนมีนาคม และเมษายนติดลบอยู่ 0.1% และ 0.2% ตามลำดับ ดังนั้นใน Fed Statement เองให้ความสำคัญกับเรื่องการจ้างงานค่อนข้างมาก เพราะหากมีการจ้างงานมากขึ้น (ซึ่งหากเราติดตามก็จะทราบว่ามันปรับปรุงดีขึ้นมาโดยตลอด) ซึ่งหมายรวมถึงการไม่มีการ Claims ผลประโยชน์จากการว่างงาน (Jobless Claims) ก็จะเป็นตัวจักรสำคัญที่ทำให้ภาวะเศรษฐกิจกระเตื้องขึ้นซึ่ง Fed ก็จะติดตามจากอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นนั่นเอง

ตรงนี้แหละที่งานของ Fed จะยากถึงยากที่สุด และเป็นสิ่งที่ตลาดการเงินของเราเฝ้าติดตามอยู่อย่างใกล้ชิด งานที่ว่ายากก็คือ การ balance ระหว่างภาวะเศรษฐกิจที่กระเตื้องขึ้นกับการยับยั้งภัยคุกคามทางด้านเงินเฟ้อด้วยการขึ้นดอกเบี้ย หากเพลินไปกับตัวเลขการว่างงานที่ดีวันดีคืน และ "ปล่อย” ให้เงินเฟ้อสูงขึ้นไปเรื่อยๆ สุดท้ายก็จะคุมไม่อยู่ แต่หาก "กลัว” "รีบ” ขึ้นดอกเบี้ยก็จะเป็นการไปทำให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหยุดชะงักได้ ปัจจุบันที่ Fed ยืนดอกเบี้ย Fed Fund อยู่ที่ 0-0.25% (ซึ่งในทางปฏิบัติก็อยู่ที่ 0% มาโดยตลอด) ตลาดก็คาดการณ์เหมือนกันว่า Fed จะปรับดอกเบี้ยตัวนี้ขึ้นไป ซึ่งผมเชื่อว่าเขาคงจะปรับ target range มากกว่า เช่นอาจจะเป็น 0.125%ถึง 0.375% เป็นต้น

หากเราสังเกตการเคลื่อนไหวของตลาดอื่น ๆ ในตลาดการเงินคือ ตลาดทุน และตลาดเงินแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดทุนเราก็จะเห็นว่าการเคลื่อนไหวของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ของอเมริกาก็ยังมีความผันผวนไม่มากผิดปกติเท่าไรนัก

หากเราจะไม่พิจารณาตลาดอื่น ๆ นอกจากอเมริกา เช่น จีน และอียูแล้ว ปัจจัยหลักที่ทำให้การเคลื่อนไหวของราคาในตลาดหลักทรัพย์ของอเมริกาเป็นไปในลักษณะดังกล่าวก็น่าจะมีสาเหตุเนื่องมากจากการ "รอ”และ "เก็ง”กับว่าอัตราดอกเบี้ยของอเมริกานั้นจะขยับเมื่อไหร่

หากเราพิจารณาโดยหลัก market sentiment ที่บรรดานักค้าหุ้นหรือนักค้าเงินโดยทั่วไปใช้อยู่กัน ผมเชื่อว่าตลาดยังไม่ได้ fully discount เรื่องดอกเบี้ยอเมริกาไปเท่าไรนัก ซึ่งหมายความว่า หาก Fed จะขึ้นดอกเบี้ยจริง ปฏิกิริยาแรกของตลาดน่าจะเป็นไปในทางลบ (ตลาดลง) ซึ่งจะเป็นเพียงระยะสั้น หลังจากฝุ่นหายตลบแล้ว หุ้นอเมริกาน่าจะวิ่งไม่หยุดเข้าสู่ระยะกระทิง (Bullish) แบบเต็มสูบ เมื่อเราพิจารณา Fed Statement และการประชุม FOMC ที่เหลือของปีนี้ (16-17 ก.ย. , 27-28 ต.ค. และ 15-16 ธ.ค.) ประกอบกับตัวเลขการว่างงานที่ดีวัน ดีคืน ผมก็ขอคาดการณ์ที่ว่า Fed จะเปลี่ยนจุดยืนเรื่องอัตราดอกเบี้ย Fed Fund ในการประชุมเดือนธันวาคม

ผลกระทบอันเนื่องมาจากการปรับจุดยืนเรื่องอัตราดอกเบี้ย Fed Fund นี้ นอกเหนือจากผลบวกต่อตลาดหุ้นตามที่ผมเรียนไว้ข้างต้นแล้ว ผมยังมีความเชื่อว่าค่าของเงินดอลลาร์จะมีค่าสูงขึ้นไปเรื่อย ๆ อย่างค่อยเป็นค่อยไป ในเมื่อดุลยภาพภายในซึ่งได้แก่อัตราการว่างงานและอัตราเงินเฟ้อ สามารถคุมได้อยู่หมัดแล้ว ค่าของเงินดอลลาร์ก็จะต้องสะท้อนความพร้อมของเศรษฐกิจอเมริกา และจะเป็นไปในลักษณะเช่นนี้ต่อไปจนกว่าเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจอื่น ๆ (Economic Engines) ได้แก่การบริโภคภายใน , การลงทุน เป็นต้น จะร้อนแรง ซึ่งน่าจะกินเวลาอย่างน้อย 2 ปีขึ้นไป

ผมจึงมีความเชื่อว่าเมื่ออียูก็ยังง่อยเปลี้ยอยู่อย่างนี้ จีนก็กำลังปรับตัวขาลง ทำอย่างไรไม่ให้ crash landing ผมเชื่อว่าเศรษฐกิจอเมริกาจะเข้าสู่ยุคเข้มแข็งครั้งใหม่ สำหรับเอเชียแล้ว เราคงต้องภาวนาให้จีนลงจอดได้อย่างนิ่มนวล และหวังว่าการกระเตื้องของอเมริกาน่าจะมาทดแทนจีนได้ไม่มากก็น้อย ดังนั้นหากท่านใดจะคิดลงทุนก็คงต้องท่องคำว่าอเมริกาเอาไว้ให้ขึ้นใจนะครับ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องค่าเงิน, ตลาดหุ้น หรือการลงทุนโดยตรง ขอให้โชคดีครับ



สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : สิ่งที่น่าจะเกิดขึ้น ต่อไปจากนี้

view