สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

สร้างมูลค่าเพิ่ม สูตรรวย บางกอกแร้นช์

สร้างมูลค่าเพิ่ม สูตรรวย 'บางกอกแร้นช์'

โดย :

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

บมจ.บางกอกแร้นช์ เจ้าของมาร์เก็ตแชร์เนื้อเป็ด 50% โชว์สเต็ปเติบโตปีละ15% 'โจเซฟ สุเชาว์วณิช' หุ้นใหญ่ชาวฮ่องกง เตรียมตะลุยขยายตลาดใน-นอกบ้าน

ความโดดเด่นที่ว่า 'เป็นผู้ผลิตเนื้อเป็ดครบวงจรยักษ์ใหญ่ของเมืองไทย โดยเริ่มตั้งแต่กระบวนการเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ไปจนถึงขั้นตอนชำแหละและแปรรูป' ส่งผลให้ราคาหุ้น บมจ.บางกอกแร้นช์ หรือ BR ในฐานะผู้นำธุรกิจผลิตอาหารจากเนื้อเป็ดครบวงจรที่มีอายุมากกว่า 30 ปี ทะยานเหนือราคาไอพีโอ 8.80 บาท มาตั้งแต่วันแรก (15 ก.ค.2558) ที่เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ปัจจุบันราคาหุ้นซื้อขายเฉลี่ย 10.23 บาท

นอกจาก 'จุดเด่น' เรื่องกระบวนการผลิตครบวงจรแล้ว BR ยังเป็นผู้ประกอบการที่มีอัตรากำไรขั้นต้นดีมาก เมื่อเทียบกับผู้ประกอบการกลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหารรายอื่นๆ โดยตัวเลขอัตรากำไรขั้นต้นในปี 2557 บริษัทสามารถทำได้สูงถึงระดับ 20% ขณะที่ผู้ประกอบการรายใหญ่เจ้าอื่นทำได้เพียงเฉลี่ย 13% บวกลบ

ขณะเดียวกันธุรกิจผลิตเนื้อเป็ด ถือเป็นกิจการที่มีผู้เล่นน้อยราย สวนทางกับอัตราการเติบโตตลาดเนื้อเป็ดในประเทศที่ขยายตัวเฉลี่ยปีละ 3.5% และยอดส่งออกไปในแถบเอเชีย และยุโรปที่ขยายตัวเฉลี่ย 4% และ 2% ตามลำดับ นอกจากนั้นราคาเป็ดยังมีความผันผวนน้อยกว่าผลิตภัณฑ์ประเภทอื่น เพราะอุปสงค์และอุปทานมีความสมดุลกันทั้งตลาดในและนอกประเทศ

ทว่าการเข้ามาเป็นบริษัทจดทะเบียนในครานี้ ไม่ใช่ครั้งแรกของ BR ย้อนกลับไปเมื่อปี 2536 'โจเซฟ และ โรซานน่า สุเชาว์วณิช' นักธุรกิจสัญชาติฮ่องกงที่ใช้ชีวิตอยู่ในเมืองไทยตั้งแต่วัยเยาว์ ในฐานะผู้ก่อตั้งบริษัทเมื่อปี 2527 และยังเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกธุรกิจเป็ดแบบอุตสาหกรรมในประเทศไทย ได้จับมือกับ บริษัท เคซีที อินเตอร์เนชั่นแนล ดิวิลอปเม้นท์ จำกัด และนักลงทุนชาวเยอรมัน เพื่อร่วมกันดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายเป็ดสด และเป็ดสดแช่แข็ง

ต่อมาในปี 2540 กิจการประสบปัญหาทางการเงินอย่างหนัก หลังภาระหนี้สินสกุลเงินเหรียญสหรัฐเพิ่มขึ้นอย่างมาก ส่งผลให้บริษัทต้องเข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการในปี 2542 ด้วยการหาทุนรายใหม่ และกลับเข้ามาซื้อขายปกติในปี 2548 แต่เนื่องจากบริษัทต้องการความคล่องตัวในการบริหารงานจึงตัดสินใจเพิกถอน หลักทัรพย์ด้วยความสมัครใจในวันที่ 5 ส.ค.2552 จากนั้นในปี 2555 บริษัทได้ปรับโครงสร้างบริษัทครั้งใหม่ เพื่อเตรียมตัวเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์อีกครั้งในปี 2558

'บางกอกแร้นช์' ดำเนินธุรกิจ 5 ประเภท ประกอบด้วย ธุรกิจอาหารสัตว์ (Feed) ธุรกิจฟาร์มพ่อแม่พันธุ์ (Parent Stock Farm) ธุรกิจโรงฟัก (Hatchery) ธุรกิจฟาร์มเลี้ยงเป็ดเนื้อ (Commercial Farm and Contract Farm) และธุรกิจโรงงานชำแหละและแปรรูป (Slaughterhouse and Food Processing) โดยมีฐานการผลิตแบบครบวงจรทั้งในเมืองไทยและประเทศเนเธอร์แลนด์เฉลี่ย 22 ล้านตัวต่อปี

ปัจจุบัน BR จำหน่ายผลิตภัณฑ์เป็ดทั้งแบบดิบและปรุงสุกในประเทศ ภายใต้แบรนด์ Bangkok Ranch และ Duck Delight ส่วนในต่างประเทศจำหน่ายผลิตภัณฑ์แบบปรุงสุก และอาหารพร้อมทาน ภายใต้แบรนด์ Dalee และ BR Ready Meal ตามลำดับ สัดส่วนรายได้เฉลี่ย 70:30
สำหรับ ช่องทางการจำหน่ายเป็ดมี 3 ทาง ประกอบด้วย 1.ขายตรงตามร้านโชห่วย 2.ขายผ่านลูกค้าโมเดิร์นเทรด โดยมี Makro เป็นเจ้าใหญ่ในการขายสินค้า และ 3.ขายตรงไปยังโรงแรม หรือ ร้านอาหารต่างๆ ปัจจุบันบริษัทจำหน่ายผลิตภัณฑ์เป็ดมากกว่า 20 ประเทศทั่วโลก ทั้งเอเชีย ยุโรป และตะวันออกกลาง

'โจเซฟ สุเชาว์วณิช' ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บางกอกแร้นช์ เล่าวิธีเพิ่มกำไรในกระเป๋าให้ 'กรุงเทพธุรกิจ Biz Week' ฟังว่า บริษัทวางแผนจะขยายกิจการออกไปทั้งในและนอกประเทศ อย่างตลาดในประเทศ เราจะเข้าไปขยายฐานลูกค้ากลุ่มธุรกิจที่ให้บริการด้านอาหาร หรือ HORECA ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มธุรกิจโรงแรม (Hotel) ภัตตาคาร (Restaurant) และร้านอาหาร (Caterers)

'วันนี้เรามีรายได้จากตลาด HORECA เพียง 15-20% แต่เป้าหมาย คือ 30% ปัจจุบันมียอดขายหลักมาจากตลาดขายส่ง'

ปัจจุบันกลุ่ม HORECA มีมูลค่าตลาดค่อนข้างใหญ่ และมีอัตราการเติบโตสูง วิธีการ คือ เราจะออกผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีความหลากหลาย ตรงตามความต้องการของลูกค้า พูดง่ายๆ เราจะสร้างตลาดของเราเอง ด้วยการคิดค้นเมนูอาหารใหม่ๆ ที่ทำมาจากเนื้อเป็ด เพื่อให้ผู้บริโภครับรู้ว่า เนื้อเป็ดไม่ได้ทำได้เพียงเมนู เป็ดย่าง หรือ เป็ดพะโล้ เท่านั้น แต่เนื้อเป็ดยังสามารถทำเป็นเมนูอื่นได้อีกมากมาย

'ด้วยความที่เราเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายเนื้อเป็ดระดับโลกจึง สามารถมองเห็นเมนูใหม่ๆ ทั่วโลก เป้าหมายของ BR คือ คิดค้นเมนูเป็ด และนำเมนูนั้นขึ้นไปอยู่บนจานอาหารของผู้บริโภค'

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เล่าต่อว่า ตอนนี้กำลังเจรจากับผู้ประกอบการร้านอาหาร หรือ โรงแรม เพื่อที่จะนำผลิตภัณฑ์เนื้อเป็ดเข้าไปจำหน่าย โดยบริษัทจะร่วมคิดค้นเมนูที่ทำจากเนื้อเป็ดให้กับร้านอาหาร เราจะทำตัวเหมือนเป็นผู้ช่วยเชฟคนหนึ่ง วิธีการเช่นนี้ยากที่ใครจะมาเลียนแบบ แต่หากสามารถทำให้ร้านอาหารใหญ่ๆเห็นว่า เมนูเป็ดของเราไม่ธรรมดา เขาก็จะเป็นลูกค้าของ BR ตลอดไป

นอกจากนั้นบริษัทยังมีแผนขยายตลาดออกไปในต่างจังหวัดมากขึ้น โดยจะเน้นหัวเมืองใหญ่ๆ เช่น เชียงใหม่ ,เชียงราย , อุบลราชธานี , ขอนแก่น , อุดรธานี , สงขลา เป็นต้น เนื่องจากเศรษฐกิจในจังหวัดเหล่านี้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยเราจะเข้าไปจำหน่ายผลิตภัณฑ์ตามร้านโมเดิร์นเทรดที่มีการขยายสาขาจำนวน มากในต่างจังหวัด

'โดยปกติเนื้อเป็ดไม่ค่อยได้รับความนิยม นำมาทำอาหารทานภายในบ้าน แต่คนชอบออกมาทานตามร้านอาหารมากกว่า ฉะนั้นเมื่อร้านอาหารมีการขยายตัวมากขึ้น เราเห็นว่า เป็นโอกาสทองที่จะนำผลิตภัณฑ์ไปจำหน่าย แม้ว่า ร้อยคนจะเลือกทานเนื้อไก่ 75 คน และทานเนื้อเป็ด 25 คน แต่เราเชื่อว่า อนาคตผู้บริโภคจะหันมาสนใจเมนูเนื้อเป็ดมากขึ้น'

'เจ้าของมาร์เก็ตแชร์ 50%' เล่าถึงแผนขยายตลาดต่างประเทศว่า เราจะเพิ่มยอดขายในตลาดดั้งเดิมควบคู่กับการเจาะตลาดใหม่ เช่น จีน ญี่ปุ่น เวียดนาม และอินโดนีเซีย เป็นต้น

ล่าสุดอยู่ระหว่างศึกษาตลาดเมืองจีน โดยเราอาจเข้าซื้อกิจการบริษัทที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับเป็ด ปัจจุบันได้เจรจากับเจ้าของบริษัทแล้วหลายราย แต่ยังไม่ได้ข้อสรุป สาเหตุที่สนใจเมืองจีน เพราะจีนถือเป็นประเทศที่บริโภคเป็ดมากที่สุดเฉลี่ย 2 พันล้านตัวต่อปี

ขณะเดียวกันยังอยู่ระหว่างศึกษาแผนการลงทุนในประเทศอินโดนิเซีย คาดว่าจะสรุปได้ภายในปีนี้ ฉะนั้นอาจเริ่มลงทุนได้ในปี 2559 เบื้องต้นบริษัทเตรียมเงินลงทุนไว้แล้วประมาณ 500 ล้านบาท ส่วนการขยายตลาดอื่นๆ ในประเทศใกล้เคียง เช่น เวียดนาม เราอาจส่งสินค้าจากไทยไปจำหน่ายก่อนเป็นการชิมลาง

เมื่อถามถึงเป้าหมายรายได้รวม? เขาตอบว่า อยากเห็นรายได้จากธุรกิจหลัก (Organic growth)เติบโตเฉลี่ย10-15% ทุกปี เบื้องต้นคาดว่า เมื่อโรงงานแปรรูปเนื้อเป็ดแห่งที่ 2 พื้นที่ 100 ไร่ มูลค่าการลงทุน 900-1,000 ล้านบาท จังหวัดสระแก้ว แล้วเสร็จในปี 2559 และสามารถเดินเครื่องได้ในปี 2560

'มั่นใจว่า ในปี 2561 รายได้จะทะยานแตะระดับ 'หมื่นล้านบาท' เทียบกับปี 2557 ที่มีรายได้ 8.5 พันล้านบาท'

ปัจจุบันบริษัทมีกำลังการผลิตประมาณ 22 ล้านตันต่อปี หรือวันละ 5 หมื่นตัว เมื่อโรงงานดังกล่าวแล้วเสร็จจะมีกำลังการผลิตเป็ดเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 30 ล้านตัวต่อปี ซึ่งกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 40-50% จะนำไปรองรับการขยายตลาดทั้งในและนอกประเทศ

ส่วนในแง่ของอัตรากำไรสุทธิ บริษัทจะพยายามรักษาไว้ในระดับ 'ตัวเลขสองหลัก' หรือสูงกว่า 10% จากปีก่อนที่มีอัตรากำไรสุทธิ 7.8% สำหรับตัวเลขอัตราหนี้สินต่อทุน (D/E) หลังนำเงินที่ได้จากการระดมทุนไปชำระหนี้กับสถาบันการเงิน ตัวเลขจะลดลง จาก 1.5 เท่า เหลือ 0.4 เท่า ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสามารถในการทำกำไรให้กับบริษัท และจะลดค่าใช้จ่ายทางการเงิน รวมถึงช่วยให้มีเงินหมุนเวียนเพิ่มขึ้นด้วย

'ปัจจุบัน BR เป็น 1 ใน 3 ผู้ประกอบการผลิตอาหารจากเนื้อเป็ดที่ได้มาตราฐานโลก ฉะนั้นเราจะเดินทางนี้ต่อไป โดยไม่แตกไลน์ไปสู่ผลิตภัณฑ์อื่น เพราะตลาดนี้ยังมีโอกาสสร้างเงินอีกมาก' 'โจเซฟ สุเชาว์วณิช' นักธุรกิจสัญชาติฮ่องกง ผู้มีบัตรประจำตัวประชาชนสัญชาติไทย พูดทิ้งท้าย


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : สร้างมูลค่าเพิ่ม สูตรรวย บางกอกแร้นช์

view