สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

รับมือมังกรฟาดหาง ไทยเสี่ยงมากกว่าได้

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...นันทิยา วรเพชรายุทธ

 

การลดค่าเงินหยวนลงครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 10 ปี ด้วยการประกาศคงอัตรากลางของค่าเงินประจำวันใหม่ที่อ่อนลงจากเดิมเกือบ 2% ภายในครั้งเดียว เมื่อวันที่ 11 ส.ค. ได้ฉุดให้ค่าเงินบาทไทยอ่อนค่าตามทันทีไปแตะระดับ 35.36 บาท/เหรียญสหรัฐ ทะลุจุดต่ำสุดในรอบ 6 ปี ของเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว และทะลุกรอบค่าเงินสิ้นปี 2558 ที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยให้ไว้ที่ 35.25 บาท/เหรียญสหรัฐ

แต่นับเป็นโชคดีที่ตลาดทุนไทยปิดทำการเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาฯ 12 ส.ค. 2558 ค่าเงินบาทและหุ้นไทยจึงแตะเบรกไม่ดิ่งกราวรูดตามภูมิภาค จากการ “ลดค่าเงินหยวนต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 ติดต่อกัน” ซึ่งครั้งนี้ธนาคารกลางจีน (พีบีโอซี) ลดอีกราว 1.6% มาอยู่ที่ 6.3306 หยวน/เหรียญสหรัฐ จาก 6.2298 เมื่อวันก่อนหน้า

ไม่อย่างนั้นเศรษฐกิจไทยที่กำลังอ่อนแอจากการส่งออกและการบริโภคที่ซบเซาเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ย่อมหนีไม่พ้นการร่วงกราวรูดตามเพื่อนบ้านอีกครั้ง เมื่อวานนี้ค่าเงินริงกิตมาเลเซียดิ่งลงไปทำสถิติต่ำสุดในรอบ 17 ปี หรือนับตั้งแต่ช่วงวิกฤตการณ์ค่าเงินเอเชียปี 1998 ทะลุระดับ 4 ริงกิต/เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1 ริงกิต/8.80 บาท จากเดิมที่เคยแลกได้เกือบ 10 บาทเมื่อปีที่แล้ว เช่นเดียวกับ รูเปียห์อินโดนีเซีย ซึ่งทำสถิติต่ำสุดรอบ 17 ปีเช่นกันที่ 13,760 รูเปียห์/เหรียญสหรัฐ 

การฟาดหัวฟาดหางของพญามังกรจีนครั้งนี้ จึงทำให้ทั่วภูมิภาคสั่นสะเทือนไปตามๆ กัน

แต่หากจะถามว่า จีนลดค่าเงินแล้วไทยจะได้หรือเสียอะไรและจะได้หรือเสียมากกว่ากันนั้น เรื่องนี้ต่อให้ 10 ธนาคารโลกก็อาจฟันธงไม่เหมือนกันนอกจากจะเหมือนกันเรื่องเดียวว่า “ตลาดอัตราแลกเปลี่ยนในครึ่งปีหลังนี้จะยิ่งผันผวนหนักกว่าที่คาด การค้าก็จะยิ่งแข่งขันกันยากและรุนแรงขึ้น และแน่นอนว่าภาวะเศรษฐกิจโดยรวมก็อาจไม่เป็นไปอย่างที่คาดเช่นกัน”  

หากการลดค่าเงินหยวนลง 2 ครั้งติดต่อกันมีผลช่วยกระตุ้นให้การค้าจีนกลับมาดีขึ้นได้จริง การลดค่าเงินก็จะไม่มีอะไรให้เราต้องกังวล เพราะต้องไม่ลืมว่าค่าเงินบาทเราก็อ่อนค่าลงตามจีนเช่นเดียวกัน ไม่ใช่จีนที่อ่อนลงทางเดียว หากเศรษฐกิจในบ้านของจีนดีขึ้น การค้ากับไทยและอาเซียนก็จะได้อานิสงส์ตามไปด้วย และทำให้นักท่องเที่ยวจีนยังมีกำลังซื้อมาเที่ยวบ้านเราต่อไป

จันทวรรณ สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการสายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้กล่าวก่อนหน้านี้ว่า การลดค่าเงินหยวนคงมีผลต่อตลาดของไทยในระยะสั้น แต่ในระยะยาวนั้นหากทำให้เศรษฐกิจในจีนดีขึ้นจริง ก็น่าจะเป็นผลดีต่อการค้าภายในภูมิภาคด้วย ซึ่งในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ การค้าระหว่างไทยและจีนมีสัดส่วนสูงเป็นอันดับ 1 ที่ 14.8% ของมูลค่าการค้ารวมและสัดส่วนการใช้เงินหยวนเพื่อการชำระค่าสินค้าและบริการประมาณเกือบ 1% ของมูลค่าการค้าระหว่างไทย

ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) จะออกมาแสดงความเห็นด้วยกับจีนอย่างน่าประหลาดใจ ไม่ต่อว่าจีนว่าปั่นค่าเงินเหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา เพราะไอเอ็มเอฟรู้ดีว่าถ้าการยืดหยุ่นครั้งนี้จะช่วยให้ตลาดนำเข้า-ส่งออกจีน กลับมาดีขึ้นได้จนไม่ต้องลุ้นว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) จะโตได้ 7% หรือไม่ ก็คุ้มค่าพอที่จะยอมให้จีนกดค่าเงินหยวนได้

ขณะเดียวกันในช่วง 1-2 ที่ผ่านมา ซึ่งค่าเงินของตลาดเกิดใหม่ร่วงลงหนักจากผลพวงของราคาสินค้าโภคภัณฑ์และปัญหาเศรษฐกิจในบ้าน จนค่าเงินร่วงเอาๆ ค่าเงินหยวนกลับไม่ได้อ่อนค่าลงเหมือนใครมากนัก เพราะผูกติดตรึงไว้กับเงินเหรียญหสรัฐ ยิ่งเงินเหรียญสหรัฐกำลังอยู่ในช่วงขาขึ้นเพราะธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เตรียมจะขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบ 10 ปี ก็ยิ่งทำให้ค่าเงินของจีนเสียเปรียบการแข่งขันในเวทีโลกตามไปด้วย

อย่างไรก็ตาม ในอีกด้านหนึ่งการเล่นประกาศลดค่าเงินในครั้งเดียวถึงกว่า 1.9% และยังลดต่อเนื่องอีก 1.6% ในวันถัดมาทั้งที่จีนสามารถทยอยทำทีละนิดต่อเนื่องได้ ก็เป็นการส่งสัญญาณชัดเจนเช่นกันว่า “เศรษฐกิจจีนอาจแย่กว่าที่คาด และจีนจะทำทุกอย่าง เพื่อประคับประคองให้เศรษฐกิจตัวเองเติบโตไปได้ในระดับที่ต้องการ”

หากลองย้อนกลับไปดูในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา จะพบว่า จีนดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมาต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ทั้งการลดอัตราดอกเบี้ยรวมแล้วถึง 4 ครั้ง ภายในช่วง 7 เดือน ลดสัดส่วนการกันสำรองของธนาคารลง 2 ครั้ง รวม 1.25% และยังเตรียมเดินหน้าโครงการก่อสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานต่างๆ วงเงินถึง 7 ล้านล้านหยวน จนกระทั่งล่าสุด คือ ลดค่าเงิน เพราะเศรษฐกิจในประเทศซบเซากว่าที่คาด

ลำพังหากดูจากตัวเองการค้าไทย-จีน เองก็เห็นได้ชัดว่าตัวเลขการค้ารายเดือนหรือรายไตรมาสในปีนี้ย่ำแย่ลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ส่งออกไปจีนไตรมาสแรกทรุดลงถึง 14% โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มเกษตร ขณะที่ตัวเลขการส่งออกไทยไปจีนซึ่งเคยอยู่ที่ 7.1 หมื่นล้านบาท ในเดือน ต.ค. 2557 ได้ลดลงมาอย่างต่อเนื่องจนอยู่ที่ 6.46 หมื่นล้านบาท ในเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา

เป็นการทรุดลงทั้งที่เงินบาทของไทยปีนี้อ่อนค่าลงมากกว่าและอ่อนค่ามาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาส 2 เพราะความต้องการสินค้าจากจีนลดน้อยลง ดัชนีภาคเศรษฐกิจจริงของจีนลดลงแทบทุกรายการ ในขณะที่สต๊อกสินค้าคงคลังสูงขึ้น ในเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อของจีน (PMI) ลดลงต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน พ.ย. 2011 อยู่ที่ 47.8 จาก 49.4 ในเดือนก่อนหน้า หรือหดลงแรงกว่าที่คาด ส่วนยอดคำสั่งซื้อใหม่ก็หดตัวลงเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน อยู่ระดับต่ำสุดในรอบ 3 ปีครึ่ง ท่ามกลางตลาดสหรัฐที่นำเข้าจากจีนน้อยลง

เห็นได้ชัดว่าภาคเศรษฐกิจจริงของจีนอ่อนกำลังลงอย่างหนักและยังถูกเขย่าซ้ำจากวิกฤตตลาดหุ้นที่ผ่านมา ซึ่งสะท้อนให้เห็นความเปราะบางส่วนหนึ่งการเก็งกำไรในจีน ที่มีการปล่อยกู้เพื่อให้ทั้งรายใหญ่และรายย่อยไปเก็งกำไรโดยเฉพาะ ดังนั้นปัจจัยเรื่องสต๊อกสินค้าของจีนที่ยังสูงและเศรษฐกิจในจีนที่ยังซบอยู่ จึงมีผลต่อการค้ากับไทยและภูมิภาคมากกว่าค่าเงินที่เคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกัน และแม้ว่าจีนจะลดค่าเงินก็อาจไม่ได้หมายความว่าจะช่วยให้เศรษฐกิจจีนดีขึ้นได้ในทันที  

อีกหนึ่งความกังวลที่ไทยต้องจับตาอย่างยิ่งด้วยก็คือ ผลกระทบทางอ้อมจากการเปิดสงครามค่าเงินของจีน เพราะทุกประเทศพร้อมจะเข้ามาเล่น เพื่อพยุงเศรษฐกิจและขีดความสามารถในการแข่งขันของตัวเองเอาไว้เช่นเดียวกัน

เมื่อวานนี้ เวียดนามประกาศขยายกรอบค่าเงินด่องตามมาทันที จาก 1% เป็น 2% หลังจากที่ได้ลดค่าเงินด่องมาแล้ว 2 ครั้งเฉพาะในปีนี้ คือในเดือน ม.ค. และ พ.ค. ลดลงครั้งละ 1% เพื่อปรับตัวให้ทันกับสถานการณ์ของจีน ส่วนญี่ปุ่นส่งสัญญาณว่าอาจจะต้องมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาอีกรอบ ซึ่งอาจทำให้เงินเยนอ่อนค่าลงอีกเช่นกัน ในขณะที่ไต้หวันและเกาหลีใต้ซึ่งเป็นทั้งคู่แข่งและคู่ค้าการส่งออกของจีน ก็อาจต้องดำเนินมาตรการเพื่อรักษาขีดความสามารถการแข่งขันตามมา

ในขณะที่หลายประเทศข้างเคียงของไทยนั้น ต่างเผชิญภาวะค่าเงินอ่อนค่าอย่างหนักไปแล้ว ริงกิตมาเลเซียอ่อนค่าลงในปีนี้รวมแล้วประมาณ 12.41% รูเปียห์อินโดนีเซียอ่อนค่ารวม 10.03% วอนเกาหลีใต้ 7.61% ต่ำสุดในรอบเกือบ 3 ปี เหรียญสิงคโปร์ 5.93% ต่ำสุดในรอบ 5 ปี และเยนญี่ปุ่น 4.38% ซึ่งหมายความว่าไม่ได้มีแค่ไทยที่ค่าเงินบาทอ่อนค่าซึ่งดีต่อภาคการส่งออก แต่หลายประเทศในภูมิภาคก็อยู่ในภาวะที่ค่าเงินอ่อนค่าเช่นเดียวกัน

กอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า การลดค่าเงินของจีนยิ่งทำให้ภาวะอัตราแลกเปลี่ยนของโลกผันผวนน่ากังวลยิ่งขึ้น เพราะนอกจากค่าเงินหยวนแล้วในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า ธนาคารกลางสหรัฐอาจจะขึ้นดอกเบี้ยอีก ช่วงนี้เศรษฐกิจโลกจึงยังคงชะลอลงอีกและตลาดเงินโลกจะผันผวน

ความผันผวนที่ยากจะคาดเดาได้ชัดเจนและบรรยากาศการค้าที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น จึงเป็นไฟต์บังคับสุดท้าทายที่ไทยต้องติดตามและตั้งรับให้ดีในครึ่งปีหลังที่เหลือนี้


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : รับมือ มังกรฟาดหาง ไทยเสี่ยงมากกว่าได้

view