สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ยุคสื่อหลอมรวม

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์สามัญสำนึก โดย ชลาทิพย์ ถิรสุนทรากุล

ราว 2 ปีก่อนมีผลสำรวจ 70 เปอร์เซ็นต์ของซีอีโอใหญ่ ๆ ของโลกระดับติด Fortune 500 ไม่นิยมใช้โซเชียลมีเดีย โดยมีการวิเคราะห์ว่าบางส่วนเป็นกลุ่มที่ไม่ถนัดกับเรื่องดิจิทัล บ้างเป็นกลุ่มที่กังวลว่าหากนำไปใช้แล้วพลาดจะเป็นเรื่องใหญ่ในสาธารณะ

ปัจจุบันสถานการณ์น่าจะเปลี่ยนไปบ้างน่าเชื่อว่ามีซีอีโอทั่วโลกในบางภาคธุรกิจ และที่ไม่ได้ติดอยู่ใน Fortune 500 ที่ใช้โซเชียลมีเดียเพิ่มขึ้น แม้จะไม่ถี่นักแต่หลายคนน่าจะมีแอ็กเคานต์ของโซเชียลมีเดีย

ในประเทศไทยมีผู้บริหารภาคธุรกิจจำนวนไม่น้อยหันมาสื่อสารเรื่องแบรนด์และแนวคิดของตัวเองผ่านโซเชียลมีเดีย ทั้งในเชิงให้ความเห็น-ข้อมูล บ้างก็อาจมาในสถานะผู้ติดตาม


ผู้บริหาร คีย์แมนจากภาคธุรกิจ การเมือง ภาครัฐ ฯลฯ อาจใช้โซเชียลมีเดียเป็นตัวให้ข้อมูล ชี้แจง และสื่อกระแสหลักนำไปต่อยอดหรือรายงานต่อไปจนเรียกว่าเป็นเรื่องพื้นฐานของสื่อยุคนี้ไปแล้ว

กรณีข้างต้นเป็นการยกตัวอย่างในระดับปัจเจกแต่หากพูดถึงโครงสร้างแล้ว เมื่อเร็ว ๆ นี้มีการนำเสนองานวิจัยที่พูดถึง "สื่อยุคหลอมรวม" ซึ่ง "อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล" หัวหน้าคณะวิจัยผู้จัดทำ "โครงการศึกษาแนวทางการส่งเสริมจริยธรรมจรรยาบรรณ และการกำกับกิจการสื่อใหม่ในยุคหลอมรวมเทคโนโลยี" จากมูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน อธิบายนิยามของสื่อใหม่ในยุคหลอมรวมเทคโนโลยีว่า เป็นสื่อดิจิทัลที่มีลักษณะตอบโต้ได้ เปลี่ยนรูปและถูกส่งต่อไปยังช่องทางอื่นได้ง่าย เชื่อมต่อกันได้ ใช้ได้ทุกที่ รวดเร็ว และไร้พรมแดน หรือเป็นสื่อที่ถูกสร้างโดยพลเมืองทั่วไป

ในคำจำกัดความของคำว่า สื่อใหม่จึงไม่ใช่เพียงการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีเท่านั้น แต่เป็นการหลอมรวมที่ส่งผลเปลี่ยนแปลงถึงประเภทของสื่อ อุตสาหกรรมสื่อ การตลาด พฤติกรรมของผู้บริโภค

ผู้วิจัยชี้ให้เห็นความสำคัญของยุคสื่อหลอมรวม ที่เป็นมากกว่าเรื่องของเทคโนโลยีแต่ส่งผลกระทบทำให้ความสัมพันธ์ระหว่าง บุคคลในสังคมเปลี่ยนแปลงไปด้วย เช่น ปัจจุบันการก๊อบปี้หรือทำสำเนาเพลงทำง่ายกว่าแต่ก่อน ทำให้เกิดการละเมิดลิขสิทธิ์มากขึ้น ส่งผลให้อุตสาหกรรมดนตรีต้องปรับเปลี่ยนตัวเอง และทำให้รูปแบบเปลี่ยนแปลงไปเช่น ต้องจัดทัวร์คอนเสิร์ตมากขึ้น เพื่อทดแทนการเสียรายได้จากการขายเพลง เป็นต้น

ฉะนั้น หากเชื่อว่าทิศทางของสื่อใหม่ในยุคหลอมรวม คือการมีอินเทอร์เน็ตเป็นแพลตฟอร์มหลัก จึงต้องให้ความสำคัญเริ่มตั้งแต่การจัดสรรคลื่นความถี่ให้สอดคล้องกับความสำคัญดังกล่าว และจัดสรรทรัพยากรให้กับสื่อพลเมืองไม่ต่างจากสื่ออื่น ๆ

ขณะที่การกำกับเนื้อหาควรมีหลักเกณฑ์ขั้นต่ำที่ใช้ร่วมกัน คือ สิทธิมนุษยชน และสิทธิพลเมือง และควรมีหลักประกันสิทธิเสรีภาพของผู้ทำหน้าที่ตัวกลางด้วย

จากข้อมูลการกำกับดูแลการใช้อินเทอร์เน็ตใน 7 ประเทศอาเซียนของสมาคมเครือข่ายสื่อมวลชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAPA) พบว่าฟิลิปปินส์มีกฎหมายที่ออกมาเพื่อการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนมากที่สุด แต่ในทางปฏิบัติยังไม่คุ้มครองประชาชนมากนัก

ส่วนสิงคโปร์เป็นประเทศที่มีกฎหมายกำกับควบคุมสื่อใหม่ที่เป็นเหตุเป็นผลมากที่สุด เพราะในกฎหมายไม่ได้ระบุว่าให้ตัวกลางต้องรับผิดชอบจากการกระทำความผิดทางไซเบอร์ ในทางกลับกันแม้สิงคโปร์จะมีคุณภาพด้านกฎหมาย แต่ยังมีการออกใบอนุญาตเฉพาะเนื้อหา กระนั้นสิงคโปร์ยังไม่ใช่ประเทศที่ให้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกแก่พลเมืองอย่างเสรี เช่น กรณีการจับกุมตัวเยาวชนที่วิพากษ์วิจารณ์อดีตผู้นำลี กวนยู


เป็นกรณีที่ยกมาบอกเล่า สำหรับเมืองไทยที่ต้องนำกรณีตัวอย่างหลายประเทศมาปรับตัวบทกฎหมาย ให้เข้ากับสภาวะยุคสื่อหลอมรวมที่ทุกอย่างเป็นดิจิทัล และต้องมองภาพให้ได้แบบไม่แยกส่วน


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ยุคสื่อหลอมรวม

view