สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

อียู ฟื้นเศรษฐกิจโลกโต

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...ทีมข่าวเศรษฐกิจโพสต์ทูเดย์

เทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นทำให้โลกเชื่อมโยงกันอย่างไร้พรมแดน ทฤษฎีผีเสื้อกระพือปีกจึงส่งผลเร็วขึ้น ไม่ว่าจะเกิดเหตุการณ์ใดในประเทศหนึ่ง เพียงไม่กี่นาทีก็รับรู้กันทั่วโลก

โลกไร้พรมแดนทำให้การเคลื่อนย้ายเงินทุนเกิดขึ้นอย่างเสรี นักลงทุนจากประเทศที่มีเงินเหลือก็หอบเงินเข้ามาลงทุนในตลาดเงินและตลาดทุนของประเทศกำลังพัฒนาและด้อยพัฒนาอย่างคับคั่ง

ดังนั้น เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศใดประเทศหนึ่ง จะส่งผลเป็นโดมิโนให้ล้มต่อๆ กันไปตามขนาดของเศรษฐกิจ ช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งของไทยในปี 2540 ก็ทำให้เกิดความปั่นป่วนในตลาดเงินตลาดทุนของโลก แต่เศรษฐกิจไทยมีขนาดเล็ก ความเสียหายจึงจำกัดวง แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์เดียวกันขึ้นในสหรัฐอเมริกาในวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ซึ่งเป็นการเริ่มต้นมาจากปัญหาซับไพรม์ แต่ความเสียหายกระจายตัวไปทั่วโลก ทั้ง ยุโรป ญี่ปุ่น ที่ถือตราสารของอเมริกา ต่างเหงื่อตกไปตามๆ กัน เพราะหนี้ที่ปล่อยไปหรือตราสารที่ถือไว้กลายเป็นตราสารด้อยคุณภาพทันที

ในช่วงที่สหรัฐอ่อนกำลังลง จีนกลายเป็นประเทศที่ผงาดขึ้นมาเป็นหนึ่งในมหาอำนาจทางเศรษฐกิจโลกอย่างรวดเร็ว จากการดำเนินนโยบายการค้าที่เสรีมากขึ้น ดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้เข้าไปในจีน ทำให้สินค้าจีนมีราคาถูกและถูกส่งออกไปทั่วโลก จีนได้ดุลการค้ามหาศาลจากสหรัฐอเมริกา มีทุนสำรองประเทศสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก

อันเนื่องมาจากการค้าโลกที่เริ่มเปลี่ยนแปลง เสาหลักเศรษฐกิจโลกไม่ได้มีแค่กลุ่มจี7 อีกต่อไป ทำให้การเมืองระหว่างประเทศมีบทบาทสูงขึ้น สงครามเย็นอาจจะยุติลงแล้ว แต่โลกเปิดสงครามการค้าขึ้น เพื่อใช้เป็นเวทีต่อรองผลประโยชน์ในเรื่องต่างๆ

อรุณ จิรชวาลา กรรมการ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า เกมการค้าของสหรัฐและจีนกำลังสร้างความผันผวนให้โลก ซึ่งจะต้องติดตามดูว่าเกมจะเป็นอย่างไร เดิมคิดว่าสหรัฐจะค่อยๆ บีบให้จีนปล่อยลอยตัวอัตราแลกเปลี่ยน โดยท่าทีของสหรัฐชัดเจนที่จะลดการนำเข้าสินค้าจากจีน ด้วยการหันไปเพิ่มสัมพันธ์ทางการค้ากับประเทศที่ไม่ค่อยถูกกับจีน เช่น เวียดนาม ญี่ปุ่น เกาหลี เป็นต้น

อย่างไรก็ดี จีนเปิดเกมก่อนด้วยการลดค่าเงินหยวนลงเกือบ 5% แล้ว เป็นการลดอย่างไม่มีเหตุผล ดุลการค้ายังเกินดุลจากสหรัฐและมีทุนสำรองสูง แต่เป็นการยอมรับว่าเศรษฐกิจจีนมีปัญหา เป็นการแสดงจุดอ่อนออกมาให้เห็น

“ทางกลุ่มอียูและญี่ปุ่นอ้างเศรษฐกิจตกต่ำฉีดเงินมหาศาลเข้ามาในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นการทำให้ค่าเงินอ่อนนั่นเอง แต่จีนไม่มีเหตุผลอธิบายลดค่าเงินลงดื้อๆ” อรุณ กล่าว

อรุณ กล่าวว่า ในช่วง 2-3 ปี หลังจากวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ค่าเงินเหรียญสหรัฐอ่อนค่าลงดันให้เงินหยวนแข็งค่าขึ้น ทำให้สัดส่วนส่งออกของจีนที่เคยเพิ่มขึ้นในตลาดโลกลดลง จึงเลือกพยุงส่งออกด้วยการลดค่าเงินหยวนเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว แต่เชื่อว่าสหรัฐจะหาวิธีการบีบจีนด้วยมาตรการกีดกันทางการค้าอื่นๆ อีก

สิ่งที่จีนทำนั้น อรุณมองว่าได้สร้างปัญหาให้ตลาดเงินและตลาดทุนอย่างมาก เพราะนักลงทุนต่างชาติพากันเทขายหุ้นและสินทรัพย์ในประเทศที่คาดว่าค่าเงินบาทจะอ่อนค่าลง เนื่องจากเกรงจะขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยนเมื่อนำเงินออก และโยกเงินกลับไปลงทุนในสหรัฐอเมริกา หรือในสินทรัพย์ที่มีความปลอดภัยอย่างทองคำ เป็นต้น

ดังนั้น หากยังไม่รู้ว่าจีนจะลดค่าเงินหยวนไปถึงเท่าไหร่จึงจะพอ เพราะอาการเศรษฐกิจมีปัญหายังไม่รู้ว่าจะรุนแรงแค่ไหน  ฟองสบู่เศรษฐกิจจีนจะเป็นอย่างไร ก็จะทำให้อัตราแลกเปลี่ยนและตลาดหุ้นทั่วโลกผันผวนต่อไป

นอกจากนี้ จะทำให้ประเทศอื่นที่เน้นการส่งออกเป็นหลักจะลดค่าเงินตามจีน เพื่อที่จะรักษาตลาดส่งออกไม่ให้คู่ค้าหนีไปซื้อสินค้าจากจีนแทนเพราะมีราคาถูกกว่า

นั่นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นและจะเกิดขึ้นหลังจากนี้ไป

สมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดีสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ กล่าวว่า ผลกระทบของเศรษฐกิจโลกคงต้องดูที่แนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ว่าจะปรับขึ้นตอนนี้ ซึ่งตอนนี้ก็มีความเป็นไปได้แล้วประมาณ 80-90% คาดว่าประมาณไตรมาส 3 นี้ หรือไตรมาส 4 น่าจะมีการปรับอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น และเมื่อขึ้นแล้วตลาดเงินและตลาดทุนทั่วโลกจะอยู่ในสภาวะปั่นป่วน และเมื่อมาเจอกับกรณีที่ประเทศจีนกำลังอยู่ระหว่างการปลดล็อกค่าหยวน เลยทำให้ค่าเงินของสองตระกูลมีความอ่อนไหว

ทั้งนี้ หากตลาดเงินตลาดทุนมีความผันผวน ธุรกิจที่น่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุดมีอยู่ด้วยกัน 3 กลุ่ม คือ 1.หุ้น 2.ตลาดการแลกเปลี่ยนเงินตรา และ 3.ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น เหล็ก โลหะ ทองคำ และการเกษตร

“ประเทศไทยควรจะเตรียมการตั้งรับให้ดี เพราะหลังจากนี้ไปเศรษฐกิจโลกจะมีความสั่นไหวมากขึ้น ดังนั้นประเทศไทยจึงควรสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประเทศ เช่น ภูมิคุ้มกันทางด้านการเมือง ด้วยการทำให้การเมืองมีเสถียรภาพ และภูมิคุ้มกันทางด้านเศรษฐกิจ ด้วยการเปิดเกมรุกทางเศรษฐกิจมากขึ้น เพื่อให้ทันเกมการแข่งขัน” สมภพ กล่าว

จากปัญหาที่เกิดขึ้นดังกล่าวหากประเทศไหนมีภูมิคุ้มกันต่ำก็จะได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจโลกมาก ซึ่งไทยก็ถือเป็นหนึ่งในประเทศดังกล่าว เช่นเดียวกับสิงคโปร์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย เนื่องจากขณะนี้ภูมิคุ้มกันประเทศเริ่มต่ำ พอเกิดวิกฤตภายนอกจะมีความรุนแรงมากกว่าวิกฤตภายในประเทศที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นภัยแล้งหรือการบริโภคภายในประเทศ

ดังนั้น ประเทศไทยควรหามุขใหม่ๆ มากระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น การท่องเที่ยว เนื่องจากขณะนี้กำลังอยู่ในช่วงของการเติบโต ขณะเดียวกันในส่วนของภาครัฐเองก็ควรเร่งสร้างศักยภาพความยั่งยืน เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจไทยในระยะยาว เมื่อรัฐกรุยทางให้แล้วภาคเอกชนก็จะเดินตามทำให้เกิดการลงทุนในด้านต่างๆ ซึ่งสิ่งดังกล่าวจะทำให้ความเชื่อมั่นกลับคืนมา

ด้าน อุปถัมป์ นิสิตสุขเจริญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไร้ท์แมน กล่าวว่า ภาพรวมเศรษฐกิจโลกที่เกิดขึ้นในขณะนี้ส่งผลกระทบกับภาพรวมเศรษฐกิจของไทยอย่างแน่นอน เนื่องจากหลายเหตุการณ์ได้เกิดขึ้นมาพร้อมๆ กัน ประกอบกับตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาภาพรวมเศรษฐกิจของไทยถูกอัดฉีดด้วยเงินในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นเงินสีเทาหรือเงินที่ได้มาด้วยความถูกต้อง พอเกิดรัฐบาลใหม่และสั่งปรับระบบทุกอย่างใหม่ เช่น ระบบการจัดซื้อจัดจ้าง และระบบราชการ จึงทำให้ทุกอย่างหยุดชั่วขณะ พอเหตุการณ์ในประเทศและต่างประเทศเกิดขึ้นพร้อมกัน จึงทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจของไทยแย่ลง

สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจในภูมิภาคยุโรปตอนนี้ก็ยังอยู่ในภาวะชะลอตัว เพราะจากการได้เข้าไปร่วมทำงานที่ประเทศอิตาลี ภาพรวมกำลังซื้อและเศรษฐกิจก็อยู่ในภาวะนิ่งๆ ขณะที่ภาพรวมเศรษฐกิจอเมริกาและจีนก็กำลังสู้กันในเรื่องของการปรับโครงสร้างอัตราการแลกเปลี่ยนระหว่างเงินหยวนกับเงินเหรียญสหรัฐ เมื่อมีปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นก็ส่งผลกระทบไปทั่วในหลายประเทศ ซึ่งในส่วนของประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบ

การที่เศรษฐกิจโลกมีปัญหาทุกคนก็พอจะมองภาพออก คำถามคือเมื่อไหร่เศรษฐกิจโลกจะดีขึ้น

อรุณ มองว่า เศรษฐกิจโลกจะดีขึ้นเมื่อไหร่ตอบยาก เพราะทางสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ก็ดูดีขึ้นแล้ว แต่ทางสหภาพยุโรปยังมีปัญหากรีซที่ยังแก้ไม่ตก แต่การที่เยอรมนีไม่ปล่อยกรีซให้ออกจากอียู ก็เพราะเยอรมนีได้ประโยชน์ทางการค้าจากค่าเงินยูโรที่อ่อนลง หากอียูตัดกรีซออกจากการเป็นสมาชิกค่าเงินยูโรจะแข็งค่าขึ้นทันที

หากสหภาพยุโรปแก้ปัญหาของกรีซตกเมื่อไหร่ เศรษฐกิจโลกน่าจะกลับมาฟื้นตัวได้ เพราะในประเทศอื่นก็มีสัญญาณว่าเศรษฐกิจดีขึ้นแล้ว ทั้งตัวเลขการบริโภคและการผลิต

อุปถัมป์ มองว่า ภาพรวมปี 2559 ทุกอย่างน่าจะปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะประเทศไทย เนื่องจากภาคเอกชนค่อนข้างมีความแข็งแกร่ง เห็นได้จากโครงการใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในปีนี้และในอนาคต แต่ทั้งนี้เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจซบเซา จึงทำให้ผู้บริโภคไม่มีอารมณ์ที่จะออกมาจับจ่ายใช้สอยทั้งที่มีเงินอยู่ในกระเป๋า


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : อียูฟื้น เศรษฐกิจโลกโต

view