สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

New Normal ชะตากรรมส่งออกไทย

New Normal ชะตากรรมส่งออกไทย

โดย :

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




โลกการค้าในบริบทใหม่ “เศรษฐกิจโตต่ำ” คาดฉุดส่งออกติดลบ 3 ปีซ้อน สัญญาณอันตรายเตือนไทย ‘Change’ สู่ศก.สร้างสรรค์ ใช้นวัตกรรมนำสินค้า-บริการ

ผลกรรมในอดีต ความสุขกับการเติบโตหวือหวา ทว่าไปตามยถากรรม โดยขาด “ความจริงจัง” ในการวางโครงสร้างประเทศในด้านต่างๆ ในระยะยาว ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ “การเมืองเปลี่ยนขั้ว” ทำให้นโยบายต่างๆต้องมาว่ากันใหม่อยู่บ่อยครั้ง 

มาถึงวันนี้ ปรากฏแล้ว ว่าเศรษฐกิจไทย กำลัง “ติดกับดัก” การ เติบโตทางเศรษฐกิจทั้งในและเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะ “การส่งออก” ฟันเฟืองหลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ที่ทำท่าว่ามูลค่าการส่งออกจะติดลบต่อเนื่องเป็น “ปีที่ 3”

ปี 2556 ส่งออกติดลบ 0.32% ปี 2557 ติดลบ 0.43% และปีนี้ กระทรวงพาณิชย์ ออกมายอมรับว่า มีโอกาส “ติดลบ 3%” ที่มูลค่า 220,698 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากที่เคยคาดว่าส่งออกจะขยายตัว 1.2% เป็นเป้าไกลเกินเอื้อมไปแล้ว

ขณะที่ สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) ผู้ใกล้ชิดสถานการณ์ส่งออก เนื่องจากการส่งออกทางเรือ เป็นช่องทางการส่งออกหลักของประเทศ คาดการณ์มูลค่าส่งออกปีนี้ว่า มีโอกาสจะติดลบสูงถึง 4.2% ติดลบสูงสุดในรอบ 6 ปี

ยิ่งมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับ 2 ของโลก อย่างจีน ประกาศปรับลดค่าเงินหยวนครั้งใหญ่ในรอบ 20 ปีของจีน ส่วนหนึ่งเพื่อหวังกระตุ้นการส่งออกที่ชะลอตัว 

โดยในเดือน ก.ค. ตัวเลขส่งออกจีนหดตัวถึง 8.3%  ขณะที่การขยายตัวของภาคการผลิตจีน เดือนก.ค. ขยายตัว 6% ต่ำกว่าคาดการณ์  เช่นเดียวกับการลงทุนในครึ่งปีแรก ขยายตัวเพียง 11.2%  ต่ำที่สุดตั้งต่เดือน ธ.ค. 2543 

สะท้อนภาวะเศรษกิจจีน ที่ชะลอตัว !! ซึ่งอาจจะกระทบต่อภาคการส่งออกไทย ที่สินค้าไทยส่งออกไปตลาดจีน สูงถึง 12-13% ของยอดการส่งออกรวมในปีที่ผ่านมา  

กดให้การส่งออกไทยทรุดหนักไปอีก !

มูลนิธิสถาบันไทยศึกษา มองปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจไทยว่า กำลังเผชิญ “ปัญหาเชิงโครงสร้าง” ที่รับมือไม่ทัน กับบริบทใหม่ ที่เรียกว่า “Thailand 's New Normal”  ซึ่งเป็นการ “ปรับฐาน” สู่ทิศทางเศรษฐกิจเติบโตต่ำ เมื่อเทียบกับในอดีต

จะเห็นได้ว่า การเติบโตของเศรษฐกิจไทย  (จีดีพี) จากที่เคยมีจีดีพีเฉลี่ยปีละ 9% ในปี 2533 จนกระทั่งในปี 2543 เติบโตเฉลี่ย 5%  ล่าสุดในยุคแห่งความวุ่นวายทางการเมือง ตั้งแต่ปี 2553 จนถึงปี 2557 เศรษฐกิจเติบโตเฉลี่ย 3%   

ปัญหาเชิงโครงสร้างที่ว่า โดยเฉพาะ “โครงการการผลิต” เริ่มมีปัญหา แรงงานเริ่มหายจากระบบมากขึ้น เพราะฐานประชากรส่วนใหญ่เข้าสู่ช่วงสูงวัย (Aging Society) 

ตัวเลขการจ้างงานเติบโตช้าลง จากขยายตัว 1.2% ต่อปี เหลือเพียง 0.2% ต่อปี ทำให้ภาคการผลิตเติบโตลดลงจาก 2.3% เหลือเพียง 1.7% ต่อปี ซึ่งเป็นผลกระทบจากการขาดการลงทุนใหม่ๆ ขาดเงินลงทุนใหม่ๆ เพราะประเทศคู่แข่งใหม่เข้ามาดึงดูดการลงทุนใหม่ไปจากไทย อาทิ เวียดนาม

นอกจากนี้ ไทยยังขาดการพัฒนา “ต้นน้ำการผลิต” จนนำไปสู่ในการสร้างสรรค์การผลิต สินค้าและบริการใหม่ๆ

ขณะเดียวกัน “อุปสงค์การบริโภคสินค้าภายในประเทศ” เริ่ม เผชิญปัญหา เพราะราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ สวนทางกับหนี้ครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้นจาก 46% ต่อจีดีพีในปี 2543 เพิ่มเป็น 85% ต่อจีดีพีในปัจจุบัน เมื่อหนี้มาก ทำให้การบริโภคหดตัวตาม 

สำหรับ “ภาคการส่งออก” ปัจจุบันสัดส่วนรายได้ลดลงเหลือ สัดส่วน 62% ต่อจีดีพี จากเดิมมีสัดส่วนรายได้กว่า 70%  ต่อจีดีพี เนื่องจากเผชิญกับปัจจัยรุมเร้าภายนอก เศรษฐกิจโลกผันผวน ประเทศคู่ค้าทุกรายที่เคยนำเข้าสูงขยายตัว กลับนำเข้าลดลง ขณะที่ปัจจัยภายใน สินค้าหลายรายการยังไม่สามารถปรับตัวรับกับเทคโนโลยีของสินค้า และความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนไป 

@ส่งออก“ครึ่งปี”ติดลบเกือบทุกตลาด

ขณะที่ตัวเลขส่งออกในช่วง 6 เดือนแรก (ม.ค-มิ.ย.58) มีมูลค่า 106,858 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ติดลบ 4.84% เป็นผลมาจากตลาดส่งออกหลักสำคัญของไทยติดลบ “เกือบทั้งหมด”

ล่เลียง ตั้งแต่ สหรัฐอเมริกา -0.1% แคนาดา -4.2%  จีน -0.8%  อาเซียน (5 ประเทศ) -11.6% ญี่ปุ่น -4.2%  เกาหลีใต้ -18.2% สหภาพยุโรป (15ประเทศ) -7.1% ตะวันออกกลาง -24%แอฟริกา -22.1% ลาตินอเมริกา -4.2% อินเดีย -8.6% ออสเตรเลีย (-16.1%) CIS (กลุ่มประเทศในเครือรัฐเอกราช ที่มีรัสเซีย และอีก 11 ประเทศ) -26.2% 

โดยมี CLMV (กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม ) เท่านั้นที่เติบโต 10.8% โดยถือเป็นตัวเลขที่ “ต่ำสุด” ในรอบ 3 ปี 6 เดือน นับจากเดือน ธันวาคม 2554 ซึ่งติดลบ 8.15 %

@สู่ยุคบริบท “การค้าใหม่”

นพพร เทพสิทธา ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศ ไทย (สรท.) บอกว่า เศรษฐกิจทุกประเทศที่เป็นคู่ค้าของไทย ต่างเผชิญกับภาวะหดตัวไม่ต่างจากไทย จึงเพิ่มปัจจัยเชิงลบฉุดส่งออก เช็คสุขภาพทางเศรษฐกิจของมหาอำนาจทางเศรษฐกิจแต่ละแห่งในแผนที่โลกต่างเผชิญ กับอาหารป่วยไข้กันถ้วนหน้า เช่น สหรัฐ ญี่ปุ่น และจีน ฯลฯ

เขายังวิเคราะห์บริบทใหม่ของเศรษฐกิจไทย ว่า New Normal เป็นห้วงเวลาที่โลกกำลังปรับฐานการเจริญเติบโตใหม่ หลังจากยุคการเติบโตอย่างก้าวกระโดด ด้วยตัวเลขสองหลัก หันเข้าสู่ยุคแห่งการหยุดการเจริญเติบโตในบริบทเดิม 

“ทุกประเทศ” กำลังเคลื่อนไปหาโลกแห่งบริบทใหม่ พลิกจากรากฐานการผลิตไปสู่อุตสาหกรรมใหม่ๆ ทำให้เกิดความปั่นป่วนไปทั่วโลก

ผลพวงจากเศรษฐกิจโลกบริบทใหม่ ทำให้กำลังเคลื่อนย้ายจากฐานอุตสาหกรรมอุตสาหกรรมหนัก มาสู่ภาคการเงิน ตลาดหุ้น และอสังหาริมทรัพย์

สำหรับไทยก็เช่นเดียวกัน ต้องเผชิญกับโลกภายนอกปั่นป่วนจากการปรับเปลี่ยนฐานเศรษฐกิจใหม่ที่การแข่ง ขันสูงขึ้น ขณะเดียวกันรากฐานการค้าของไทยเป็นกลุ่มสินค้าเกษตร ซึ่งเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodity) อาทิ ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง จึงได้รับผลกระทบจากความผันผวนของราคาในตลาดโลกสูง และยังเผชิญกับมาตรฐานทางการค้าประมง และมาตรฐานการใช้แรงงานมนุษย์ ซึ่งเป็นข้อหนึ่งของมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี ที่ประเทศพัฒนาแล้ว มักนำมาใช้ 

ไทยอยู่ในยุคที่ต้องปรับเปลี่ยนวัฎจักรการผลิตในแบบเดิมๆ ที่เคยรื่นรมย์จากฐานผลิตใช้แรงงาน และทรัพยากรเข้มข้นเพื่อการส่งออก จำเป็นต้องเอาชนะก้าวแสวงหาการค้าในบริบทใหม่ด้วยเทคโนโลยี นวัตกรรม

“เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนอกประเทศ ทำให้โลกปรับตัวสู่บริบทใหม่ ฐานใหม่ทุกประเทศ แม้กระทั่งจีนที่เคยชื่นชมกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ จีนก็ต้องปรับตัวการแข่งขันไปสู่เทคโนโลยี นวัตกรรม สร้างมูลค่า การส่งออกไทยที่เคยเติบโตสองหลัก เป็นไปไม่ได้เห็นอีกต่อไปแล้ว เพราะเมื่อก่อนเราได้เปรียบเรื่องค่าแรง  ได้สิทธิพิเศษทางภาษีเพื่อส่งออก แต่ตอนนี้แรงงานแพง สินค้าที่เคยเติบโตกลับไม่มีการพัฒนากลายเป็นความล้าหลัง ไม่มีสินค้านวัตกรรมแข่งโลก"

นพพร อธิบายว่า ยุคคนนี้เป็นรุ่นเจน 3 ของธุรกิจที่เติบโตมาอย่างพรั่งพร้อม เก็บเกี่ยวความสำเร็จจากรุ่นพ่อและรุ่นปู่  บางส่วนรักทำงานอย่างสบายด้วยการเล่นหุ้น สืบทอดกิจการครอบครัวในยุคเก็บเกี่ยว ไม่ใช่ยุคที่ไม่ต้องก่อร่างสร้างตัว จึงอาจลืมนึกถึงภาคการผลิต เป็นสาเหตทำให้ธุรกิจขาดการพัฒนายกระดับไปสู่นวัตกรรม เพิ่มมูลค่าสินค้า 

เขายังเห็นว่า การสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้า  ต้องดำเนินการใน 3  ระดับ ประกอบด้วย

1.กลุ่มสินค้าเกษตร ที่เป็นสินค้าอุปโภค บริโภค อ่อนไหวตามราคาตลาดโลก โดยเฉพาะข้าว ยางพารา ควรสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยนวัตกรรม เพื่อสร้างกำไรมากกว่าขายวัตถุดิบ โดยสินค้ากลุ่มอาหารควรนำมาแปรรูปเป็นอาหารพร้อมรับประทาน เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม

2.สินค้าเพื่ออนาคต ในอีก 5-10ปี ต้องทำนายแนวโน้มให้ ชัดว่า ในวันข้างหน้าโลกต้องการสินค้าประเภทใด หนีไม้พ้นการพัฒนานวัตกรรม เทคโนโลยี พลังงานสะอาด ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เพื่อความยั่งยืนยาวนาน เช่น ในอุตสาหกรรมยา รถยนต์ไฟฟ้า รวมถึงเทคโนโลยีสื่อสาร ให้สอดคล้องกับการผลักดันดิจิทัล อีโคโนมี นอกจากนี้ไทยต้องเตรียมพร้อมรองรับความต้องการสินค้าใหม่ๆ ของโลกภายใต้บริบทใหม่ เช่น จักรยาน มีการพัฒนาแอพพลิเคชั่นเพื่อบอกเส้นทาง ค้นหาเพื่อนร่วมปั่น เป็นต้น 

3.พัฒนาสินค้าเชื่อมโยงกับบริการ สร้างประเทศให้เกิด การเป็นศูนย์กลางธุรกิจใหม่ ตั้งแต่ การเงิน การบริการ การค้าขาย และธุรกิจดิจิทัล รวมถึงการเชื่อมโยงประเทศไปยังต่างประเทศ เริ่มจากการค้าชายแดนไปถึงประเทศอื่นทั่วโลก ตลอดจนการดึงภาคท่องเที่ยวให้พ่วงมาพร้อมกับการจำหน่ายสินค้าและบริการ

“สินค้าและบริการต้องมาเชื่อมโยงกัน เพราะบริบทใหม่ผูกติดระหว่างสินค้ากับท่องเที่ยว เมื่อนักท่องเที่ยวมาไทยทดลองสินค้าไทย เมื่อกลับบ้านก็ส่งสินค้าไทยกลับไปขาย”

-------------------------------

“เวียดนาม” แชมป์ส่งออกใหม่

ไล่กวดไทย ใน 3 ปี

วัลลภ วิตนากร รองประธานสภาสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) มีมุมมองไม่ต่างกันว่า ไทยกำลังติดกับดักบริบทใหม่ ที่ไม่สามารถหวังให้การเติบโตทางเศรษฐกิจ รวมถึงการส่งออกให้สูงถึง 5-6% อย่างที่เคยเกิดขึ้น เพราะการพัฒนามาถึงจุดเปลี่ยน ติดกับกับดักรายได้ปานกลาง (Middle Income Trap) 

“ไทยกำลังถูกคู่แข่งแซงหน้า จากที่ไทยเคยมีมูลค่าการส่งออกเป็นอันดับ 2 ของอาเซียน เป็นรองเพียงสิงคโปร์ วันนี้ มาเลเซีย แซงหน้ามาแทนที่ไทย ที่หล่นมาอยู่อันดับ 3 ตามมาด้วย อินโดนีเซีย และเวียดนาม อันดับ 4 และ 5” 

ทว่า หากวัดกันที่มูลค่าการส่งออก และจีดีพี ของประเทศที่เติบโตไล่หลังไทย อย่างเวียดนาม และอินโดนีเซีย พบว่ามีโอกาสที่จะขยายการลงทุนใหม่สูงกว่าไทย โดยภาคการส่งออกของเวียดนามเติบโตเฉลี่ย 9-10% ทุกปีในช่วงที่ผ่านมา ในระหว่างที่ไทยเพลี่ยงพล้ำการส่งออกลดต่ำลงติดต่อกันปีนี้เป็นปีที่ 3  โดยเวียดนามมีมูลค่าการส่งออกตีตื้นมาอยู่ที่ 160,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

โดยนับจากปีหน้า เป็นต้นไป เวียดนามจะเพิ่มยอดส่งออกเฉลี่ยปีละ 10% หากทำได้สำเร็จ หมายความว่า ภายใน 3 ปีจากนี้ มูลค่าส่งออกเวียดนามจะมีมูลค่าเท่ากับไทยอยู่ที่ 218,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ บนสมมติฐานว่ามูลค่าส่งออกไทยเพิ่มขึ้นไม่มาก 

--------------------------------------

9 กับดัก เร่งสางก่อน “สายเกินแก้” 

วัลลภ วิตนากร รองประธานสภาสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ยังชี้ปัญหาที่ไทยจะต้องประคับประครอง ให้รอดใน 9 ปัญหา ก่อนนำไปสู่การปฏิรูปเชิงโครงสร้างการผลิต ต่อยอดไปสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ในระดับต่อไป

1.สินค้าเกษตรราคาตกต่ำ ผลกระทบจากสินค้ากลุ่ม Commodity ที่ปรับราคาลดลงตามราคาน้ำมัน ฉะนั้นรัฐบาลต้องขบให้แตก ก้าวให้พ้นเรื่องประชานิยม คิดในเชิงกลยุทธ์เพื่ออัดเกรดสินค้าเกษตรไทยให้ก้าวพ้นจากวังวนเดิมๆ  

2.การบริโภคภายในหดตัว เนื่องจากรายได้ภาคประชาชนชะลอ ต้ว ทั้งราคาสินค้าเกษตร หนี้ครัวเรือน ความเชื่อมั่นภาคประชาชน ส่งผลไปถึงการใช้จ่ายลดลงในกลุ่มประชาชนระดับกลางและระดับกลาง ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ

3.ส่งออกติดลบติดต่อกัน 3 ปีซ้อน (รวมคาดการณ์ปี2558) ไทยต้องหาสินค้าใหม่เป็นตัวชูโรง ชดเชยรายได้ส่งออกที่หายไป ด้านการตลาดกระทรวงพาณิชย์ต้องตะลุยไปเปิดตลาดเพื่อเพิ่มความต้องการใหม่ๆ ทดแทนตลาดเดิมที่หายไป รวมถึงการวางแผนสร้างตลาดใหม่เพื่อการส่งออกใหม่ในระยะยาว

4.เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ปัญหาที่ทั่วโลกต้องเผชิญ ภาครัฐจึงต้องวางกลยุทธ์ฝ่าวิกฤตินี้ไปให้ได้ เช่นเดียวกันกับโมเดลที่ญี่ปุ่น เคยฝ่าวิกฤติเงินเฟ้อ ต้นทุนการผลิตสูง ย้ายฐานการผลิตมาสู่อาเซียน 40 ปีที่ผ่านมา จึงทำให้ญี่ปุ่นขยับตัวเองเป็นผู้นำเทคโนโลยี บริหารจัดการห่วงโซ่การผลิต ได้รับการยอมรับเป็นสินค้ามีคุณภาพ

ฉะนั้นรัฐบาลจึงต้องฉวยวิกฤติเป็นโอกาส ในระหว่างที่ทั่วโลกกำลังปั่นป่วนกับการปรับฐานตามสภาวะเศรษฐกิจโลก เป็นโอกาสของการปรับฐานเศรษฐกิจไทย

5. ปัญหาสหภาพยุโรปให้ใบเหลืองประมงไทย จัดอันดับให้ ไทยเป็นประเทศขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU :Illegal, Unreported and Unregulated Fishing)เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย จนส่งผลกระทบถึงสินค้าประมงที่กำลังจะส่งเข้าสหภาพยุโรป 

ประกอบกับ ปัญหาไทยถูกจัดอันดับ Tier3 เกี่ยวกับรายงานการจัดอันดับสถานการณ์การค้ามนุษย์(The Trafficking In Persons (TIP) Report) ปี 2558 จากสหรัฐอเมริกา ซึ่งมาตรฐานด้านความยั่งยืนด้านการจับปลาย และสิทธิมนุษยชน กลายเป็นประเด็นอ่อนไหวที่กระทบกับสินค้าที่ไทยส่งออกไปยังประเทศคู่ค้าทั้ง ยวง เป็นประเด็นปัญหาที่ไทยจะต้องคิดไปถึงประเด็นผลกระทบให้มากขึ้น พร้อมกันกับการบริการจัดการมาตรฐานด้านดังกล่าว ซึ่งจำเป็นต้องเร่งแก้ไข 

6 องค์การการบินพลเรือนระหว่างประทเศ (ICAO) ติดธงแดงไทย เป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อสินค้าไทยที่ต้องการขนส่งทางการบิน เช่น พืช ผัก ผลไม้ อิเล็กทรอนิกส์ และเสื้อผ้าบางชนิด ที่ต้องการใช้การขนส่งแบบคาร์โก้ เช่า เหมาลำ การจัดอันดับจึงเสียภาพลักษณ์ต่อไทยและทำให้ต้นทุนการขนส่งเพิ่มขึ้น

7.ปัญหาภัยแล้ง โดยต้องเร่งบริหารจัดการน้ำ และลดการเพาะปลูก จัดโซนนิ่ง สินค้าเกษตร เพื่อลดปริมาณการผลผลิตให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำ

8.ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ที่ต้องมีการบริหาร สร้างความสัมพันธ์ในเชิงยุทธศาสตร์กับต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศมหาอำนาจ ตลอดจนการรวมกลุ่มเจรจาการค้า การเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) เป็นต้น 

9.การดึงดูดเงินลงทุนใหม่ๆ  เชื่อมโยงกับการวางแผนส่งออก เช่น ในระยะ 3 ปีอย่างมีเป้าหมาย เช่น การเพิ่มจาก 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็น4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นต้น


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : New Normal #ชะตากรรม #ส่งออกไทย

view