สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เมียนมา ไม่หมู 10 เรื่องต้องรู้ก่อนบุก

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย ตะวัน หวังเจริญวงศ์

‘เมียนมา’ ไม่หมู 10 เรื่องต้องรู้ก่อนบุก

เมื่อเมียนมาเข้าสู่สถานะ “Darling of The World” หรือประเทศที่ใครๆ ก็รัก ใครๆ ก็อยากกอดแล้ว เมียนมาในปัจจุบันจึงอยู่ในสถานะ “ผู้เลือก” สามารถเลือกนักลงทุนที่ตัวเองต้องการ ไม่ใช่เป็น “ผู้ถูกเลือก” จากเหล่านักลงทุน ด้วยเหตุนี้นักลงทุนไทยจึง “ต้องรู้” ปัจจัยต่างๆ อย่างรอบด้านก่อนตัดสินใจบุกเมียนมา

เกรียงไกร กาญจนะโภคิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ ฉายภาพว่า เรื่องแรกที่ต้องรู้คือ ความพร้อมของตัวเอง เช่น ภาษา เงินทุน บุคลากร แต่จากประสบการณ์ 4 ปีในเมียนมา ความพร้อมที่สำคัญมากที่สุดในการบุกก็คือ “หุ้นส่วนทางธุรกิจ” เพราะหากได้หุ้นส่วนที่ดี ก็จะกลายเป็นกุญแจสู่ความสำเร็จ ทำให้ทุกเรื่องในเมียนมาเดินหน้าได้เร็วขึ้น

“พันธมิตรธุรกิจจะเป็นทางลัดในการแก้ปัญหาเรื่องที่เราไม่รู้อีกหลายเรื่อง เช่น เรื่องกฎหมาย หากเราไม่รู้ลึก ก็ให้พันธมิตรท้องถิ่นของเราจัดการ”

เรื่องการศึกษาตลาดเชิงลึก ถือเป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากตลาดเมียนมาเปลี่ยนแปลงเร็วมาก ตอนปี 2555 ทุกอย่างอยู่ในย่างกุ้ง แต่พอปี 2556-2557 ตลาดเริ่มขยายไปสู่จังหวัดโดยรอบ นักธุรกิจไทยจึงต้องศึกษาตลาดและพื้นที่ ห้ามใช้สูตรการตลาดแบบไทย เพราะแต่ละพื้นที่ลักษณะตลาดแตกต่างกัน ภูมิอากาศก็ไม่เหมือนกัน จะนำสินค้าหนึ่งอย่างเข้าไปขาย จะใช้สูตรเดียวทั่วประเทศไม่ได้

ต่อมาคือ พฤติกรรมผู้บริโภค วัฒนธรรม ธรรมเนียมปฏิบัติของเขา เช่น เขานิยมแต่งงานกันปลายปี เขานิยมไหว้พระทุกเช้า เกรียงไกร ย้ำว่า เรื่องเหล่านี้ล้วนต้องทำความเข้าใจ เพื่อให้ปฏิบัติกับเขาได้อย่างถูกต้องและต่อยอดกับธุรกิจของตัวเองได้


“พันธมิตรท้องถิ่นของผมนิยมเชิญพระมาสวดทุกงานสำคัญ จนตอนนี้ผมท่องบทสวดของเมียนมาได้แล้ว ขณะที่ของไทยยังจำได้ไม่แม่น”

เกรียงไกร เสริมว่า ประเด็นที่มีความอ่อนไหว ถือเป็นอีกปัจจัยที่มีผลต่อธุรกิจ ก่อนหน้านี้เคยถามชาวเมียนมาว่าค่ายสัญญาณโทรศัพท์มือถือค่ายใดในเมียนมาที่ไม่ดี ชาวเมียนมาตอบชื่อค่ายหนึ่งมา โดยให้เหตุผลว่า เพราะค่ายดังกล่าวเป็นค่ายของคนที่นับถือคนละศาสนากัน นอกจากนี้ เขายังมีความรู้สึกแบ่งแยกกับชนกลุ่มน้อยในชาติของเขาเองด้วย

กษิดิ์เดช จันทร์เจียวใช้ ที่ปรึกษากฎหมาย สำนักงานกฎหมายเมียนมา พรีเมียร์ อินเตอร์เนชั่นแนล บอกว่า เรื่องที่ต้องรู้อีกเรื่องหนึ่ง คือเรื่องกฎหมายและข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจ หน่วยงานราชการของเมียนมายังขาดการบูรณาการร่วมกัน ข้อมูลต่างๆ ยังต้องวิ่งไปหาตามแต่ละหน่วยงานเอง ไม่สามารถเข้าไปดูในราชกิจจานุเบกษาได้เหมือนกฎหมายไทย บางเรื่องประกาศลงราชกิจจานุเบกษา บางเรื่องประกาศลงหนังสือพิมพ์ บางเรื่องแค่ประกาศไว้หน้ากระทรวง

“กฎหมายบางตัวเพิ่งออก เจ้าหน้าที่ของเขายังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเขาต้องรับผิดชอบ เราต้องไปนั่งพูดกับเขาอยู่ครึ่งวัน ว่านี่คือหน้าที่ที่เขาจะต้องดำเนินการ ดังนั้นเราต้องศึกษามามากพอ จึงจะไปคุยกับเขาได้ เพื่อเป็นหลักประกันว่าเราจะดำเนินธุรกิจได้ราบรื่นและถูกต้องตามกฎหมายของเขา”

ต่อมาคือ โอกาสของธุรกิจบริการ เนื่องจากรัฐบาลเมียนมาอนุญาตให้ชาวต่างชาติเข้าไปลงทุนในธุรกิจบริการของเมียนมาเกือบทุกประเภท รวมถึงอนุญาตให้ถือหุ้นได้เอง 100% เรื่องที่ต้องรู้อีกเรื่อง คือ การติดต่อกับหน่วยงานราชการ อาจต้องสร้างความคุ้นเคยให้เขามากหน่อย

เรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร (ซีเอสอาร์) ถือเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญมากในเมียนมา แม้อาจไม่ได้มีเงินมากมาย แต่ก็ถือเป็นเรื่องจำเป็น หากรู้จักตอบแทนสังคม เชื่อว่าวันหนึ่งก็อาจได้รับการตอบรับที่ดีจากคนในสังคมเช่นกัน

สุรวัฒน์ ปิ่นสุวรรณบุตร กรรมการบริหารสมาคมนักธุรกิจไทยในประเทศเมียนมา บอกว่า ความเปลี่ยนแปลงของระบบการขนส่งและโลจิสติกส์ในเมียนมา เป็นอีกเรื่องที่ต้องรู้ สำหรับทางบกนั้นถนนจากเมียวดีไปกอกาเร็ก ถนนมาทวายก็ดีหมดแล้ว เพียงแค่บางส่วนยังไม่ได้ลาดยาง โลจิสติกส์มีการปรับตัวที่ชัดเจนมากขึ้น เรื่องต้องระวังคือ การนำรถใหญ่ไปเปลี่ยนคอนเทนเนอร์ยังไม่ค่อยสะดวก เนื่องจากสะพานยังไม่เสร็จ

ขณะที่ทางอากาศก็มีสายการบินจากไทยไปเมียนมาหลายสายการบิน และไม่ได้ไปแค่ย่างกุ้งเท่านั้น อนาคตอาจมีการเพิ่มจำนวนเที่ยวบินอีกด้วย รวมถึงยังมีไฟลต์บินตรงจากประเทศสำคัญๆ เช่น ญี่ปุ่นและมาเลเซียด้วย ส่วนโลจิสติกส์ทางน้ำก็มีการเชื่อมโยงจากระนองมาย่างกุ้งแล้ว และคนเมียนมาเองก็นิยมขนส่งทางน้ำ เดินทางจากยะไข่ไปเจ้าผิ่วก็เดินทางทางน้ำได้

นอกจากนี้ เมียนมายังมีโอกาสสำหรับผู้จะย้ายฐานการผลิต เนื่องจากได้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร แม้มีปัญหาบ้างเรื่องขาดแคลนแรงงานมีทักษะ แต่ก็อาจนำแรงงานจากไทยมาได้

ขณะที่ พิษณุ สุวรรณะชฎ เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงย่างกุ้ง ระบุว่า โอกาสทำธุรกิจในเมียนมามีอยู่ 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับนโยบายและยุทธศาสตร์ในการพัฒนาประเทศของเมียนมา เช่น โครงสร้างพื้นฐาน พลังงาน การสื่อสารและเทคโนโลยีสารสนเทศ เกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร

2.ธุรกิจที่ได้รับการส่งเสริมในเขตเศรษฐกิจพิเศษทั้ง 3 แห่งของเมียนมา นักธุรกิจไทยต้องรู้ว่าแต่ละเขตเศรษฐกิจพิเศษส่งเสริมอุตสาหกรรมใด เช่น เขตเศรษฐกิจพิเศษติละวาเป็นอุตสาหกรรมสะอาด ธุรกิจไทยอาจเข้าไปทำอุตสาหกรรมสนับสนุนในซัพพลายเชนเหล่านั้น ขณะที่เขตเศรษฐกิจพิเศษทวายเป็นอุตสาหกรรมหนัก

“ในอนาคตเมียนมาจะประกอบรถยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ มีสินค้าภาคการผลิตเกิดขึ้นอีกมากมาย สังคมไทยจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับเขตเศรษฐกิจพิเศษทั้ง 3 เพราะทั้งหมดไม่ได้เกิดขึ้นตามยถากรรม เกิดขึ้นจากการสังเคราะห์แล้วอย่างแยบยล”
3.ธุรกิจที่เป็นผลพวงจากการปฏิรูปสังคมและเศรษฐกิจของเมียนมา ชาวเมียนมาไม่ได้ใช้ชีวิตสมถะอีกต่อไป เนื่องจากชาวเมียนมาเห็นโลกมากขึ้น จึงต้องการสินค้าและบริการที่หลากหลายขึ้น เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป จะขายแต่รสหมูสับเหมือนเดิมไม่ได้ เขามองหารสชาติใหม่ๆ มากขึ้น

ด้าน ณัฐวิน พงษ์เภตรารัตน์ อุปนายกสมาคมนักธุรกิจไทยในประเทศเมียนมา ระบุว่า เมียนมาจะยังเติบโตอย่างก้าวกระโดดได้อีกหลายด้าน เช่น ด้านโทรคมนาคม จากเดิมมีผู้ใช้โทรศัพท์มือถือเพียง 6 ล้านเลขหมาย แต่ปัจจุบันหลังจากเปิดให้มีชาวต่างชาติเข้ามาดำเนินการด้วย ก็เพิ่มเป็น 24 ล้านเลขหมาย เชื่อว่าอีกไม่กี่ปีข้างหน้าจะเพิ่มเป็น 50 ล้านเลขหมาย เท่าจำนวนประชากรของเมียนมา

ทั้งนี้ ข้อมูลของคอลลิเออร์ส เมียนมา ระบุว่า อัตราค่าเช่าสำนักงานในเมียนมาปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็วจาก 16 เหรียญสหรัฐ/ตร.ม. ในปี 2554 กลายเป็น 69 เหรียญสหรัฐ/ตร.ม. ณ สิ้นปี 2557


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : เมียนมา ไม่หมู เรื่องต้องรู้ก่อนบุก

view